“India in Chiang Mai” เสพศิลป์ กินอาหาร วิถีชีวิตผสมผสานอินเดียเชียงใหม่

ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาของชาวต่างชาติ หนึ่งในนั้นคือ “อินเดีย” ที่ได้อพยพเข้ามาในไทยนานแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นคริสศตวรรษที่ 20 โดยเมื่อเวลาผ่านไปคนอินเดียส่วนหนึ่งก็ได้มาสร้างถิ่นฐานในเชียงใหม่เกิดการแลกเปลี่ยนการผสมผสานที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในสังคมพหุวัฒนธรรม แต่ยังคงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมตนเองไว้ ซึ่งในชุมชนนั้นก็มีวัฒนธรรม ศิลปะ เรื่องราวต่างๆ ที่สืบทอดกันมาหลากหลายรูปแบบที่น่าทำความรู้จัก

ชิมอาหารอินเดียต้นตำรับจากเดลี

      นั่งลงในร้าน Taste of Punjab By Sarita’s Kitchen ร้านอาหารอินเดียขนาดหนึ่งคูหาไม่เล็กไม่ใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในซอย 2 ถนนราชมรรคา ในตัวเมืองเชียงใหม่ เสียงเพลงอินเดียที่เปิดผ่านโทรทัศน์สร้างบรรยากาศครึกครื้นเป็นกันเอง นั่งอยู่สักพักเจ้าของร้านได้เดินเข้ามาแนะนำและรับออเดอร์อย่างเป็นมิตร ก่อนจะกลับเข้าไปทำอาหารทั้งสามเมนูที่เราได้สั่งไป Butter Chicken แกงไก่ใส่เครื่องเทศรสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อนกำลังอร่อยทานคู่กับ Naan Garlic แป้งนานรสชาติกระเทียมเหนียวนุ่ม และ Chicken Biryani ข้าวหมกไก่สไตล์อินเดียเสิร์ฟกับแตงกวาหั่นแว่นที่คุ้นตาในอาหารตามสั่งไทย ที่คุณสาริตาเจ้าของร้านทำเองอย่างพิถีพิถัน สดใหม่จานต่อจาน

“เป็นไงบ้างคะ ทานอาหารอินเดียกันครั้งแรกหรอ ร้านเราทำสดใหม่จานต่อจานเลยแต่ช่วงนี้บางเมนูอาจจะไม่มีนะ พึ่งกลับมากันจากเดลี กลับไปเดลีมาเดือนนึง”

คุณสาริตาพูดคุยด้วยหลังจากทานอาหารคาวเสร็จ แต่ได้มาทานอาหารอินเดียทั้งทีแล้วไม่ควรพลาดลิ้มลองของหวานจึงได้สั่ง Rasmalai ขนมหวานอินเดียที่ลักษณะเป็นก้อนชีสแช่ในนม ซึ่งตัวน้ำทำมาจากครีมที่ทำจากน้ำตาลขาวและลูกกลมที่เป็นตัวขนมทำมาจากถั่วลูกไก่แช่อยู่ในน้ำครีมเมื่อทานเสร็จก็ได้เดินทางต่อไปยังย่านชุมชนอินเดียจากการคำบอกเล่าของคุณสาริตา

“จริง ๆ แถวร้านตรงนี้มีอยู่ไม่เยอะ ที่เขาอยู่กันเยอะ ๆ คือตรงที่เขาขายผ้า ตลาดวโรรส กาดหลวงนู่น”

ชุมชนอินเดียกลางเมืองเชียงใหม่

      ชาวอินเดียที่เข้ามาในไทยและได้กระจายตัวไปยังจังหวัดต่างๆ มีที่มากคือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งก่อนจะมาที่นี่ได้เราก็ได้หาข้อมูลและจากคำบอกเล่าของเจ้าของร้านอาหารอินเดีย จึงไม่ลังเลที่จะเดินทางมายังกาดวโรรสหรือกาดหลวง ซึ่งถือเป็นตลาดที่เก่าแก่และรวบรวมหลากหลายผู้คน เชื้อชาติ และวัฒนธรรม ไว้ด้วยกัน จากทั้งกาดวโรรส พาหุรัด สำเพ็ง มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ร้านขายผ้า ซึ่งอาชีพหนึ่งที่คนอินเดียทำหลังจากเข้ามาในไทยคือการขายผ้า

รวมไปถึงเครื่องประดับ และอัญมณีต่าง ๆ หลากหลายร้านขายผ้าเรียงรายไปตามสองข้างทางท้องถนนเเละที่จะพลาดไม่ได้เลยคือคาเฟ่สไตล์อินเดียที่บางคนอาจจะยังไม่รู้จัก

      คาเฟ่ลับสไตล์อินเดีย ในเมืองเชียงใหม่ที่หลายๆคนยังไม่รู้ ที่เด่นสะดุดตาจนอดไม่ได้ต้องแวะเข้าไปชมคือร้าน Thamel coffee เเละ Kilim coffee house คาเฟ่สุดเก๋เเปลกตาสไตล์อินเดีย มาเริ่มกันที่คาเฟ่เเรกอย่างร้าน Thamel coffee ซึ่งตกแต่งสไตล์อินเดีย เนปาล ข้างล่างร้านชั้นหนึ่งขายผ้า เครื่องแต่งกาย ของที่ระลึก และมีร้านกาแฟอยู่ชั้นสอง ซึ่งมีภาพวาดสไตล์อินเดียที่ฝาผนัง และเต็มไปด้วยของประดับตกแต่ง โต๊ะเก้าอี้ต่าง ๆ ที่เเสดงถึงบรรยากาศของความเป็นอินเดีย เมื่อเข้าไปในร้านก็ได้ชิมชาและเสพบรรยากาศความเป็นศิลปะอินเดียได้อย่างเต็มอิ่ม

     ร้านถัดมานั่นก็คือ Kilim coffee house ค่าเฟ่อินเดียที่ผสมผสานกับการตกเเต่งเเบบตรุกี ซึ่งจะมีความคล้ายกับคาเฟ่เเรกตรงที่ด้านล่างนั้น จะเปิดเป็นร้านเช่าเเละขายเสื้อผ้าสไตล์อินเดีย เเต่ความอลังการนั้นอยู่ที่ชั้นสองเเละสาม ที่ตกเเต่งทั้งพื้นเเละผนังด้วยพรมหลากสีหลากลวดลาย“Kilim” เป็นภาษาตุรกี แปลว่าพรม ร้านจึงเต็มไปด้วยพรมตุรกีสีสันจัดจ้าน สวยงามแปลกตา เเละเครื่องประดับสไตล์ตุรกี อาหรับ เปอร์เซีย นอกจากนี้ยังมีหลากหลายเมนูให้เราได้ลิ้มลองไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มอย่างชาอินเดียเเละกาแฟตุรกี หรือของกินอย่าง Chicken Masala เเละเมนูของหวานที่ไม่ควรพลาดนั่นก็คือ กุหลาบจามุน เป็นขนมของประเทศอินเดียทำจากแป้งผสมนม ปั้นกลมๆ ทานคู่กับชาหรือกาเเฟเข้ากันอย่างมาก

     เมื่อนั่งพักชมบรรยากาศจนหายเหนื่อยก็มาเดินชมร้านขายผ้าไปตามถนน โดยร้านขายผ้าของคนอินเดียที่เห็นกันในไทยหรือในเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่นับถือศาสนาซิกข์ที่เดินทางมาจากภาคกลางของประเทศอินเดีย เนื่องจากสมัยก่อนทางราชสำนักสยาม จะสั่งผ้าจากอินเดียมาก เช่นผ้าลายอย่าง ผ้าลายนอก ผ้าอัตลัต เป็นต้น ซึ่งทางราชสำนักสยามจะออกแบบลายแล้วส่งลายไปสั่งทอ และเขียนลายมาจากทางอินเดีย เพราะทางราชสำนักสยามไม่ได้ทอผ้าเอง แต่สั่งทอมาจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นข้อมูลว่าทำไมชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาในไทยถึงขายผ้ากันมาก

วิถีฮินดู-พราหมณ์ ณ วัดเทพมณเฑียร

      หนึ่งวันในการเรียนรู้และเปิดใจรับวัฒนธรรมอินเดีย จนเวลาที่ล่วงเลยมาจนถึงช่วงบ่ายแก่ ก็ได้เดินทางมายังวัดเทพมณเฑียร วัดตามแบบฉบับฮินดู-พราหมณ์ เป็นเทวสถานของอินเดียฝ่ายเหนือ ที่แตกสาขาออกมาจากวัดเทพมณเฑียร ที่กรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ของศาสนิกชนฮินดู-พราหมณ์ ซึ่งจุดหนึ่งที่คนนิยมไปไหว้โดยเฉพาะคนโสดไม่มีคู่ คือ “พระกฤษณะ” และ “พระแม่ราธาเทวี” จากความเชื่อในเรื่องราวที่ว่า พระกฤษณะมีความรักที่มั่นคงต่อพระนางราธาเทวี ซึ่งเป็นหญิงเลี้ยงวัว และเป็นรักแรกและรักเดียวของพระองค์ จึงเป็นความรักที่ฝังแน่นอยู่ภายในจิตใจของพระองค์จนชั่วอายุขัย จึงขอพรความรักต่อหน้าพระกฤษณะ เชื่อว่าจะเจอความรักที่มีความสุขและมีคู่ครองที่ดี ซึ่งในโถงวิหารยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ให้สักการะ ภายนอกรูปแบบการสร้างตึกและตกแต่งมีความเป็นสถาปัตยกรรมแบบอินเดียสวยงามเดินเข้าไปในโถง เจอกับผู้หญิงดูแลสถานที่คนนึงที่ให้คำแนะนำกับคนที่ไม่มีประสบการณ์เข้าวัดอินเดียมาก่อน กำลังนั่งพับดอกบัวอยู่

“ซื้อดอกบัวถวายได้นะหนูดอกละ 5 บาท กี่ดอกก็ได้ตามศรัทธาเลย แต่มันอาจจะดอกเล็กหน่อยนะ เอามาจากกรุงเทพเลยถึงจะดอกเล็กหน่อยแต่ราคาถูกเอามาขายต่อถูกให้คนซื้อไปบูชาได้ ราคานี้หาในเชียงใหม่ไม่ได้เลย”

      เมื่อทำการซื้อดอกไม้แล้วก็นำใส่พานเพื่อสักการะ ตามคำแนะนำเมื่อสักการะเสร็จก็ได้เดินชมรอบๆ ถือเป็นการจบหนึ่งวันที่ได้ประสบการณ์ใหม่ในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเป็นอินเดียที่สวยงาม มนต์เสน่ห์ของสภาพแวดล้อมที่ดูขลังและน่าตื่นตาตื่นใจอย่างเหลือเชื่อ อีกทั้งเรื่องของอาหารอินเดียที่เราคิดว่าแย่แต่พอเปิดใจลอง รสชาติกลับดีจนน่าประหลาดใจ ซึ่งมันทำให้เริ่มหลงรักความเป็นอินเดีย ทำให้อยากรู้จักวัตนธรรมอินเดียมากขึ้นไปอีก

     สิ่งที่เคยได้เห็น ได้ดูผ่านตา อาจไม่เท่าการสัมผัสด้วยตนเอง ซึ่งมันทำให้รับรู้ถึงเสน่ห์ชวนหลงใหล เมื่อเราได้เข้ามาเรียนรู้ ทำความรู้จักวิถีชีวิตผสมผสานอินเดียเชียงใหม่ ในเวอร์ชั่นที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน สังคมพหุวัฒนธรรมที่รวบรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา วิถีชีวิต ของกลุ่มคนในสังคม ที่มีการแบ่งปันผสมผสานแต่ก็ยังคงปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยและรักษาความเป็นตัวตนของตัวเองไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ 

เรียบเรียง วรินกร กั้วกำจัด

ภาพประกอบ เปรมสิณี กลิ่นหอม

แหล่งอ้างอิง

การสื่อสารข้ามชาติระหว่างคนไทยและคนเชื้อสายอินเดีย

Kad Luang Market in Chiang Mai (Warorot Market)

ลิตเติ้ลอินเดีย : พาหุรัดที่ไม่ได้มีแค่ผ้า สนทนาชาวไทยเชื้อสายอินเดียเจนฯ 3

เที่ยว “เชียงใหม่” ขอพร “ความรัก” @ วัดเทพมณเฑียร จุดเช็คอินที่คนโสดห้ามพลาด

รายการ Checkin ถิ่นสยาม ตอน พาหุรัด

สัมภาษณ์ คุณสาริตา เจ้าของร้าน Taste of Punjab By Sarita’s Kitchen