TRIAL NOT ERROR MATCHA : การเริ่มต้นครั้งใหม่กับร้านมัทฉะ

0

   

   กลิ่นชาลอยเข้ามาในจมูกทันทีเมื่อเปิดประตูร้าน ภายในร้านนอกจากฉันแล้วยังมีกลุ่มลูกค้าตรงหน้าที่กำลังสนทนากับชายผู้เป็นเจ้าของร้านเกี่ยวกับมัทฉะ

   

   น้ำเสียง ท่าทาง สีหน้า เจ้าของร้านที่เต็มไปด้วยความหลงใหลใน ‘มัทฉะ’ อย่างเต็มเปี่ยม ‘น้ำเสียง เปรียบเหมือนโฮจิฉะ’ ‘อูจิ มัทฉะ เปรียบท่าทาง’ และ ‘สีหน้า อิ่มใจเหมือนตอนที่ชงชา’ จนทำให้บรรยากาศรอบตัวของเขานั้น อบอวลไปด้วยกลิ่นใบชาอ่อน ๆ และไอน้ำอุ่น ๆ

   

บทเรียนจากการลองผิดลองถูก 

   นอร์ท – นวพล ณ ลำพูน เจ้าของร้าน TRIAL NOT ERROR MATCHA บัณฑิตจากรั้วมหาลัยเชียงใหม่ ผันเปลี่ยนจากการดูแลธุรกิจที่บ้านสู่การทำธุรกิจที่เกิดจาก ‘ความชอบ’ ต่อชา  ‘หลงคาเฟ (Long cafe)’ ร้านแรกหลังตัดสินใจหันมาทำธุรกิจส่วนตัว เขาจึงไม่ลังเลที่จะเปิดร้าน ชานมไข่มุก ตามกระแสของโซเชียลที่ผู้คนเริ่มดื่มชานมวันละหนึ่งแก้ว แต่เพราะเป็นการเริ่มธุรกิจที่เกิดจากการทำกระแส พร้อมกับมรสุมโควิด จึงไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าที่คิด 

   

   แม้ร้านแรกไม่เป็นตามที่หวัง แต่เขายังมีความเชื่อว่า หากเป็นธุรกิจที่เริ่มจากสิ่งที่ชอบ (อิน) ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องทำให้ธุรกิจไปต่อได้ ตลอดช่วง 2 ปี ที่ทั้งโลกได้หยุดชะงัก เขาได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชา การชงชา รวมถึงการทำธุรกิจ เพื่อที่จะได้พร้อมเปิดร้านอีกครั้งเมื่อโควิดเริ่มทุเลาลง 

   

   จนเมื่อปี 2022 เขาตัดสินใจเปิดร้านคาเฟอีกครั้งหลังจากได้บทเรียนจากร้านเดิม และบทเรียนครั้งนั้นทำให้เขาตัดสินใจตั้งชื่อร้านว่า ‘TRIAL NOT ERROR’ มีที่มาจากพฤติกรรมเรียนรู้ของมนุษย์อย่างหนึ่งในทางจิตวิทยา ซึ่งมีชื่อว่า TRIAL AND ERROR หรือ พฤติกรรมการลองผิดลองถูก ยิ่งผิดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใกล้คำตอบมากเท่านั้น เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราผิดมันไม่ใช่ความผิดพลาดเสมอไป 

   

   

จากความชอบ สู่การส่งต่อสิ่งดี ๆ 

   การกลับมาเปิดคาเฟอีกครั้งของเขานั้น ไม่เพียงคำนึงถึงความชอบอย่างเดียว แต่เขายังอยากให้ทุกคนที่มาเยี่ยมเยือนร้านได้ดื่มมัทฉะที่ดี ผงมัทฉะที่นำมาใช้ในร้านจึงเป็นมัทฉะออร์แกนิกที่คัดสรรโดยนอร์ทเองทุกชนิด  เงื่อนไขหลัก ๆ ที่เขาตัดสินใจเลือกมาจากรสชาติที่คิดว่าคนไทยน่าจะชอบ คุ้นเคย รวมถึงได้รับประโยชน์จากการดื่มชาในแต่ละแก้วจากร้านนี้ 

   

   ‘ความชอบมาก่อนเลยครับ แล้วเหตุผลที่ให้กับตัวเองมันจะมาทีหลัง’ 

   

   เมื่อเราคิดถึง ‘มัทฉะ’ เรามักจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ซึ่งไม่ต่างจากนอร์ท เพราะเขาเองก็คิดถึงประสบการณ์ดี ๆ เมื่อได้จิบชาจากญี่ปุ่น ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจ และตามหาผงชาสำหรับร้านของเขา นอกจากคุณภาพชาญี่ปุ่นที่ได้รับการการันตีจากแวดวงผู้ชื่นชอบชาแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ชาญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักแม้ในต่างประเทศ คือการสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้จากการปลูกชาของรัฐบาลญี่ปุ่น 

   

   จากรายงานประจำปีเกี่ยวกับชาของ GLOBAL JAPANESE TEA ASSOCIATION ระบุไว้ว่า แม้จำนวนผู้บริโภคชาในประเทศญี่ปุ่นลดลง แต่จำนวนพื้นที่ปลูกชากลับเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเล็งเห็นถึงการส่งออกใบชาไปสู่ประเทศอื่น ๆ  โดยประเทศไทยเองก็ติด 1 ใน 5 ของประเทศที่นำเข้าชาจากญี่ปุ่นมากที่สุด 

   

   เพื่อมอบสิ่งดี ๆ ให้กับลูกค้านั้น นอร์ทจึงเริ่มจากการเลือกใบชาจากประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตชาที่ดีที่สุด  ด้วยส่วนประกอบทางธรรมชาติย่อมส่งผลให้คุณภาพของชา สี กลิ่น และรสชาติ แตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดออกมา 

   

   บทความของ MATCHAZUKI ได้เขียนสาเหตุที่ทำให้ชาที่ปลูกจากญี่ปุ่นนั้นต่างจากที่อื่น เนื่องจากสภาพอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น และความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ต่างกัน ทำให้ชาญี่ปุ่นแตกยอด และเติบโต จนมีรสชาติที่กลมกล่อมกว่าชาของไทย นอร์ทจึงเลือกใบชาออร์แกนิก และไร่ชาที่สนับสนุนความยั่งยืนของเกษตรกรรมเป็นตัวหลักในการเสิร์ฟให้กับลูกค้า เพื่อให้ได้ลิ้มลองชาที่กลมกล่อมที่สุดจากสิ่งที่เขาคัดสรรมา 

   

   

เคล็ดลับสำหรับนักดื่ม (มัทฉะ) มือใหม่ 

   ‘มัทฉะมีคาเฟอีน เหมือนกาแฟ คนดื่มไม่ได้ดื่มเพราะอร่อยอย่างเดียว แต่เพื่อให้มีเอเนอร์จีเหมือนกาแฟ’ 

   

   เมื่อเราพูดถึงชาเขียวนั้น สำหรับใครหลาย ๆ คนก็คงคิดว่าชาเขียวไม่มีคาเฟอีน หรือ เป็นเครื่องดื่มที่ไม่สามารถดื่มแทนกาแฟได้ สำหรับคนที่อยากดื่มคาเฟอีนที่กระตุ้นให้มีแรงในการทำงานก็จะเลือกดื่มกาแฟมากกว่าชาเขียว ซึ่งสัดส่วนคาเฟอีนในกาแฟนั้นมีปริมาณมาก ผู้ที่ลองดื่มในครั้งแรกอาจทำให้เกิดอาการใจสั่นได้  

   

   ‘มัทฉะ’ ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่เริ่มดื่มคาเฟอีน ‘คนที่กินคาเฟอีนแล้วใจสั่น เราก็อยากแนะนำโฮจิฉะ’ เป็นมัทฉะที่ผ่านการคั่วทำให้คาเฟอีนลดลง และเหมาะสำหรับคนที่เริ่มเข้าสู่วงการคาเฟอีน 

   

   จากเพจเฟซบุ๊คของร้าน TRIAL NOT ERROR MATCHA ได้ให้ความรู้เรื่อง โฮจิฉะ ว่าเป็นการนำมัทฉะไปคั่วความร้อนสูงกว่า 200 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนในระดับนี้ทำให้คาเฟอีนในมัทฉะระเหิด จึงนิยมดื่มเพื่อความผ่อนคลาย รวมถึงเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มดื่มมัทฉะ 

   

   

แนวคิด ความตั้งใจ และเป้าหมาย 

   ‘การทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ได้ยึดติดความสำเร็จจากการมีหลายสาขาเสมอไป’  

   

   บทเรียนที่นอร์ทได้ก้าวข้ามมาในอดีตนั้น ทำให้เขาเกิดไอเดียในการทำธุรกิจที่ตีตลาดโซเชียลควบคู่กันไป เพราะร้านเขาเน้นไปที่การเสิร์ฟมัทฉะที่ดี เป็นเมนูเฉพาะกลุ่ม การยิงโฆษณารวมถึงให้ความรู้เพื่อขยายกลุ่ม และสร้างฐานกลุ่มลูกค้าจึงสำคัญ  

   

   ‘การทำธุรกิจยุคนี้ คือการต้องทำสื่อไปด้วย’  

   

   การทำคอนเทนต์ที่ให้ความรู้และสาระดี ๆ กับคนที่สนใจในมัทฉะเป็นจุดที่ทำให้ร้านของเขามีชื่อเสียงในโซเชียลและหน้าร้าน ด้วยการให้คำแนะนำ รวมถึงตอบคำถามกับคนที่สงสัยเกี่ยวกับมัทฉะ และจาก GOOGLE FOR SMALL BUSINESS กล่าวว่า การโปรโมทผ่านโฆษณาออนไลน์ไม่ใช่เรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่เสมอไป  2 ใน 3 ของธุรกิจขนาดเล็กหันมาโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากควบคุมปริมาณรายจ่าย ยอดการเข้าถึงและเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้ 

   

   ตลอดการสัมภาษณ์มีกลุ่มลูกค้าแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือนร้าน มีทั้งกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาซื้อเครื่องดื่มมัทฉะเมนูโปรด มีทั้งคนที่เข้ามาสอบถามเรื่องการชงชา กลุ่มบุคคลที่เข้ามาซื้ออุปกรณ์ชงชา อย่างชาเซน (Chasen) ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นและจีน รวมถึงผงชาชนิดต่าง ๆ ที่วางขายอยู่หน้าร้าน เพราะร้านนี้ไม่ได้ขายเฉพาะเครื่องดื่ม แต่พร้อมให้ความรู้เรื่องชากับทุกคนที่อาจตั้งใจเข้ามา หรืออาจหลงเข้ามา แต่อย่างไรนอร์ทตั้งใจที่จะทำให้ทุกคนที่เข้ามาในร้านกลับออกไปพร้อมกับความรู้เรื่องชา 

   

   ‘อยากจะเป็นแบบคนแรก ๆ ที่คนคิดถึง(เวลาพูดเรื่องชา)ในประเทศ’  

   

   ความปรารถนาที่ส่งมาถึงเรานั้น มันทำให้เรารู้สึกได้เลยว่า ผู้ชายคนนี้ไม่ใช่ทำธุรกิจเพียงเพราะความชอบหรืออยากลองอีกต่อไป เพราะตอนนี้เขามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ TRIAL NOT ERROR MATCHA ไปสู่ร้านที่ใครหลาย ๆ คนคิดถึงเมื่อพูดถึง ‘มัทฉะ’ 

   

   

   

   

   

   

   

   

Writter Teerada Jiwsaijaem

Rewrite Suraiya Binyoh

Photo Thanyaporn Suwannahong, Teerada Jiwsaijaem, Suthasini Patthananitiphokinkul

Graphic design Thanyaphon Sophahui

Source Nawapol Na Lamphun (Norh) Owner of TRIAL NOT ERROR MATCHA

Hojicha ไม่มีคาเฟอีน?
ไขข้อสงสัยทำไมชาไทยจึงต่างจากชาญี่ปุ่น
Why advertise online?
Tea Reports by the Japanese Government

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *