Self-Caring หมอคนแรกที่เป็นเรา, เรื่องราวของการประยุกต์การรักษาสุขภาพสู่ชีวิตประจำวัน โดย โรงพยาบาล เชียงใหม่ ฮอสปิทอล


            “อย่างโรคฟัน มันไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงถึงเสียชีวิต ‘เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต’ เช่น ผู้สูงอายุ คุณภาพชีวิตดีก็คือสามารถเคี้ยวอาหารได้ กลืนอาหารได้ หรือเป็นเรื่องของความสวยงาม เวลเนส (Wellness) ปัจจุบันมันคู่กับ เวลบีอิ้ง (Well-being) ก็คือการดูดี การดูหล่อดูสวย อันนี้ก็จะเป็นเรื่องของความสวยงาม เรื่องของการจัดฟัน เรื่องของการ เคลือบฟัน เรื่องของการครอบฟัน เรื่องของการฟอกสีฟันอะไรต่าง ๆ นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นด้าน Wellness (รักษาสุขภาพ)”

               ผมได้ยกคำพูดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าความเป็นจริงแล้วโลกเราก็เป็นแบบนี้แหละครับ

               การดูแลสุขภาพที่จริงแล้วมันก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่เรา ๆ ทำกันไม่ว่าจะเป็นการเรื่องง่าย ๆ อย่างแปรงฟัน ก็ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นนั่นคือ เวลบีอิ้งที่ผมได้รู้หลังจากการนั่งสนทนากับคุณหมอ                วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ณ เวลา 11.23 น. เริ่มการสัมภาษณ์ นายแพทย์ บัญชา ใจตรง ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ฮอสปิทอล เขาเดินเข้าในห้องมาอย่างใจเย็นจนทำให้คนที่นั่งสัมภาษณ์อย่างเราเริ่มประหม่า ผมเปิดด้วยคำพูดทักทายก่อนที่จะให้คุณหมอพูด

ให้คุณหมอเกริ่นถึงโรงพยาบาลได้เลยครับ
               “เราคือโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปขนาดกลาง “เชียงใหม่ ฮอสปิทอล” นะครับ เป็นโรงพยาบาลที่ดําเนินธุรกิจ สถานพยาบาลภายใต้ โครงสร้างการกํากับดูแลกิจการของบริษัทที่ชื่อว่า Everland จํากัด มหาชน ซึ่งเป็นบริษัทที่ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นะครับ”

               คุณหมอพูดไปพรางมองผม และ ผู้ที่นั่งฟังการสัมภาษณ์รอบ ๆ ผมนั่งฟังอย่างใจจดจ่อพรางคิดคำถามที่จะถามคุณหมอได้เป็นคำถามแรก

ทำไมถึงศึกษาเรื่องการดูแลสุขภาพหรอครับ
               “สิ่งที่เราคํานึงถึงแล้วก็พัฒนาขึ้นมาในส่วนของ Wellness ก็เพราะว่า เราเป็น โรงบาลขนาดเล็กแค่ห้าสิบเตียง เราไม่สามารถแข่งขันในเรื่องของการรักษากลุ่มที่เป็น เขาเรียกว่า Acute Care หรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มาก เท่ากับโรงพยาบาลใหญ่ใหญ่ แต่เราสามารถส่งเสริม ป้องกันโรค ไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ เราเลยเน้นมา มันตั้งต้นมาจากการที่เรา ได้เริ่มมีแผนกแพทย์แผนไทยก่อน เมื่อประมาณเจ็ดแปดปีที่ผ่านมาเพื่อการนําเอาแพทย์แผนไทย ศาสตร์ของแพทย์แผนไทย มาประยุกต์ใช้ในเรื่องของการดูแลรักษา รวมถึงการป้องกันส่งเสริมไม่ให้เกิดโรค หลังจากนั้นพอมีแพทย์แผนไทยปุ๊บ เราก็เริ่มมีแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนจีน เราเคยมีแพทย์แผนอินเดียด้วย อายุรเวชนะครับ แล้วก็มีเครื่องต่าง ๆ หลายเครื่องที่เข้ามาช่วยในการดูแลสุขภาพ”

พอจะบอกว่าเครื่องอะไรได้ไหมครับ

               “เครื่อง Colon Cleansing หรือเครื่องส่วนล้างลําไส้ เครื่องไฮโดรเจนเทอราพี มีเครื่องผลิตแก๊สไฮโดรเจนสําหรับสูดดม เป็นเรื่องของการแอนตี้เอจจิ้ง (Anti-aging) หรือ แอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอย่างหนึ่ง มีเครื่อง soft wave ในเรื่องของการบําบัด ฟื้นฟู โรค และ ก็ระบบไหลเวียนเลือด และ ก็อีกอันหนึ่งก็คือ ร่วมกับทางกายภาพบําบัดต่าง ๆ ในการฟื้นฟู ผู้ป่วยนะครับ นอกจากนี้เนี่ย อีกอันนึงที่เป็นจุดเด่นของโรงบาลอยู่แล้วก็คือเรื่องของฟัน เดิมทีเนี่ยโรงพยาบาลเชียงใหม่ ฮอสปริทอลในอดีต ตั้งแต่เริ่มต้นเนี่ย เราคือโรงพยาบาลโรคฟันเชียงใหม่ดังนั้นเราจะ ปัจจุบันยัง ยังมีแผนกทันตกรรมพิเศษ ที่รับดูแลผู้ป่วยชําระเงินเอง ผู้ป่วยสิทธิ์ประกันสังคมที่เป็นสวัสดิการต่าง ๆ อยู่ ดังนั้น ตรงเนี้ย ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็น Wellness ได้”

               คำตอบอันน่าพึ่งพอใจที่ผมได้รับทำให้ผมเริ่มนั่งไม่ติด และ คำถามภายในหัวค่อย ๆ พรั่งพรูออกมา ผมเอ่ยถามด้วยความอยากรู้อยากเห็น

พอจะบอกแนวคิดของคุณหมอได้ไหมครับว่าทำไมเราถึงต้องดูแลตัวเองเพราะทุกวันนี้การรักษาในโรงพยาบาลก็ดีขนาดนี้แล้ว

               “เพราะว่าด้วยวิสัยทัศน์ของ โรงพยาบาล เราอย่างที่บอก หนึ่งเราไม่ต้องการแข่งกับโรงพยาบาลใหญ่ เราต้องการหาจุดเด่นของตัวเอง ซึ่งปัจจุบัน จุดเด่นของเราก็ต้องสอดคล้องกับกระแส หรือ Global Issue (ปัญหาระดับสากล) ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันคนกลับมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น โดยเฉพาะหลังช่วงโควิดใช่ไหมครับ? ทุกคนกลับมา Retreat (การดูแลตัวเอง) กลับมาฟื้นฟูตัวเอง เราจะได้ยินคําว่า work life balance หลังจากในช่วงโควิดที่ผ่านมา ดังนั้น จะเป็นสิ่งที่ทําให้โรงพยาบาลของเราตั้งเข็มมุ่ง เขาเลยตั้งวิสัยทัศน์ก่อนแล้วก็ตั้งเข็มมุ่งให้มันสอดคล้องกับ กระแสของ Global Issue ตอนนี้นะครับ วิสัยทัศน์หรือ vision ของโรงพยาบาล เราต้องการเป็น โรงพยาบาลคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล แล้วก็บริการประทับใจ แต่เราจะเชื่อมโยงกับการดูแลแบบ Wellness เพิ่มมากขึ้นด้วย ทําให้เกิดเป็นพันธกิจหรือมิชชั่นของเรา มิชชั่นข้อที่หนึ่งก็คือ เราจะต้องการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ”

คุณหมอพูดไปพรางเปิดสไลด์แนะนำให้ผมดู

               “อันนี้เป็นแบบ Illness เป็นแบบการรักษาโรคนั่นแหละ ก็ต้องมีคุณภาพ ตามมาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ข้อที่สองก็ยังเกี่ยวข้องกับ Illness อยู่ เป็นเรื่องของพัฒนาศักยภาพบุคลากร สถานที่ เทคโนโลยี เครื่องมือ และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอเหมาะสม และ ทันสมัย แต่ว่าด้าน Wellness นี่แหละเป็นข้อสาม ตอนเนี้ยพี่กําลังพัฒนาบริการแพทย์ทางร่วม ให้เอามาใช้สนับสนุนการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ดังนั้นแผนกแพทย์ทางร่วมของเราถึงแม้จะมีแพทย์แผนจีนอยู่ประจํา แพทย์แผนไทยอยู่ประจำ แต่ก็จะมีคุณหมอ อย่างเช่นที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน คอยกํากับดูแล คอยดู ดูเคสร่วมกัน เช่นคนไข้คนหนึ่ง ให้คุณหมอประจําดูก่อน แต่ทุกคนมีคอนเซ็ปต์เหมือนกันว่าสามารถใช้แพทย์ทางร่วมในการดูแลรักษาได้ ดังนั้นเขาจะไม่ แบบว่า ‘ไม่เอา ไม่ฝังเข็ม ใช้แต่ยา’ อันนี้คอนเซ็ปต์จะไม่ใช่แบบนั้น คอนเซ็ปต์จะเปลี่ยนละ แผนปัจจุบันทําอะไรได้บ้าง ทางร่วม พี่เลยใช้คําว่าทางร่วม คือไม่ได้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งครับ แต่เอามาใช้ร่วมกันอย่างน้อยคนหนึ่ง สมมุติเรามีปัญหาสุขภาพหนึ่งปัญหา แผมปัจจุบันใช้ ทําอะไรบ้าง แผนจีนทําอะไรบ้าง แผนไทยทําอะไรบ้าง หรือส่วนล้างลําไส้มีส่วนช่วยหรือเปล่า นวดบําบัดมีส่วนช่วยหรือเปล่า อันนี้คือการใช้บริการร่วมกัน”

ทำไมต้องที่นี่ล่ะครับ หมายถึงทำไมต้องเป็น เชียงใหม่ ฮอสปิทอล

            “ก็อย่างที่บอก เรายังเป็นโรงพยาบาลเอกชนในเชียงใหม่ โรงพยาบาลต้น ๆ ที่เริ่มเอาเรื่องของแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ เข้ามาผสมผสานเข้ามาดูแลรักษาคนไข้ร่วมกันซึ่งปัจจุบัน เรามีโครงการหนึ่งที่เห็นผลชัดเจนก็คือคนไข้กลุ่ม โรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มสโตรก น้องเคยได้ยินไหมครับ หลังจากเป็นสโตรกแล้ว จริงจริง เดิมทีก็คือแค่กายภาพบําบัดธรรมดา แต่ปัจจุบัน สพสช. หรือสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เขาดูแลศิษย์บัตรทอง เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับคนไข้อีกหนึ่งข้อ ซึ่งมันเกิดจากการที่เขาศึกษาวิจัยกันมาชัดเจนแล้วล่ะ ว่ามันได้ผลจริง ๆ  นั่นก็คือการฝังเข็ม ฝังเข็มต่อเนื่องยี่สิบครั้ง ร่วมกับการกายภาพบําบัดฟื้นฟูคนไข้ ปรากฏว่าตอนนี้ คนไข้หลายคนกลับมาเดิน กลับมาใช้ชีวิตประจําวันได้เร็วขึ้น จากเมื่อก่อนประมาณต้องหกเดือนถึงหนึ่งปีกว่าจะดีขึ้น ตอนนี้ใช้เวลา ระยะเวลาสั้น ๆ บางคนถ้าตั้งใจทําจริง ๆ สามเดือนถึงหกเดือนก็ดีขึ้น อันนี้เรามีตัวอย่างคนไข้อยู่ ที่จากกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุก็มีนะ ก็มาฝังเข็มต่อเนื่องทุกวันฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า เพราะที่นี่มีกระตุ้นไฟฟ้าด้วย ดังนั้นถามว่าทําไมด้าน Wellness ถึงต้องเป็น เชียงใหม่ ฮอนปิคอล เพราะหนึ่งเราเริ่มที่แรก ๆ ของเชียงใหม่ สองเรา
เป็นโรงพยาบาล ฮอสปิทอลเบส (Hospital based)”

คืออะไรหรอครับ

            “คำว่า hospital based มันมีข้อดีกว่าคลินิกอย่างไร ก็คือหากเกิดปัญหาฉุกเฉินต่าง ๆ เราสามารถมีทีมของฝั่ง critical care หรือว่าฝั่ง acute care ดูแล support ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นทําฟันแล้วมีภาวะแพ้ยาชา ล้างลําไส้ออกมาแล้วเสียน้ำเยอะ หรือฝังเข็มแล้วมีอาการภาวะแทรกซ้อนอะไรต่างต่างพวกนี้ มันสามารถมีทีมห้องฉุกเฉินของเราเนี้ย ดูแลต่อเนื่องได้เลย หรือถ้าจะต้องนอนโรงบาลก็ดูแลต่อในแผนกผู้ป่วยแรงได้ มันจะไม่เหมือนคลินิก เพราะคลินิกมันจะไม่สามารถ on stop service ได้ที่นั่น หากเกิดภาวะฉุกเฉินอะไรต่างต่าง คลินิกก็ต้องนําส่งโรงพยาบาลใหญ่ ดังนั้นคลินิก Wellness ในเชียงใหม่ก็เยอะ อันนี้ไม่ได้โจมตีแต่หมายถึงว่า ข้อดีของเราคือเราเป็น hospital base พื้นฐานเราเป็นโรงพยาบาล”

               คุณหมอพูดเก่งจนผมประหลาดใจ ข้อมูลหลังไหลเข้าหัวแบบที่ผมไม่ทันตั้งตัว ผมเลยใช้คำถามง่าย ๆ ในการพักสมองลงหน่อย

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการอะไรบ้างหรอครับ

               “ส่วนใหญ่นะครับ เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็นป่วยเรื้อรัง รุนแรงมากในกลุ่มคนหนุ่มรุ่นใหม่ด้วยซ้ำ อายุน้อย ๆ ที่เขามีปัญหาสุขภาพบางอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น ออฟฟิศซินโดรม มันอาจจะเรามองเป็นเล็กน้อย เพราะยังไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ถามว่าในมุมมองของคนที่เขาป่วยมันถือว่าเขาทรมาน แล้วก็รบกวนชีวิตประจําวันเขาเยอะ ออฟฟิศซินโดรม ไมเกรน อย่างเช่นพวกกลุ่ม ส่วนล้างลําไส้ก็เป็นกลุ่มพวกท้องผูกเรื้อรังหรือพวกลําไส้แปรปรวนกรดไหลย้อน อะไรอย่างนี้ เป็นกลุ่มโรคพวกนี้ จะทําให้ ได้ประโยชน์มากมาก เพราะว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่ใช่กลุ่มป่วยหนัก ยังเป็นกลุ่มอายุน้อย พอเขามา เริ่มมาบําบัด มาดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ  เนี่ยโอกาสที่มันจะฟื้นฟูบาลานซ์กลับคืนมา มันเร็วขึ้น มันดีขึ้นกว่าคนที่แก่มากละ เราจะมาฟื้นฟูอะไรต่าง ๆ บางอย่างมันทําได้ยากแต่ถามว่าไม่มีคนแก่เลย ไม่ใช่นะครับ ก็มี กลุ่มผู้สูงอายุก็มี”

               เมื่อได้ฟังที่คุณหมอพูดผมก็รู้ปวดหลังขึ้นมาทันที

เรื่องผลงานวิจัยที่ได้รางวัลน่ะครับจากงานลานนาเอ็กโปร ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหมครับ

            “เรื่องของ เวลเนส ที่ได้งานลานนาเอ็กซ์โปที่ผ่านมา เกิดจากการที่ทางตอนนี้ ทางสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดําเนินโครงการ ศูนย์ wellness ประเภทสถานพยาบาลหรือ wellness clinic เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพครับ ดังนั้นเขาก็เลยเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลแต่ละโรงพยาบาลหรือแม้กระทั่งคลินิกสถานพยาบาลต่าง ๆ ทุกรูปแบบละกันนะครับ ที่มีบริการต่าง ๆ ที่เข้าได้กับเกณฑ์ของ ศูนย์ wellness ของสํานักงาน สสจ. เชียงใหม่ เข้าร่วมตรวจประเมิน แล้วก็ส่งเหมือนคล้าย ๆ ส่งผลงาน ส่งโปรไฟล์เข้าไปนะครับ ซึ่งของเราทําอยู่แล้วเป็นระยะเวลาน่าจะประมาณเกือบสิบปีที่ผ่านมา อย่างที่พี่บอก มันไต่เริ่มระดับมาจากแพทย์แผนไทยก่อน จีนเข้ามาเสริม มีเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาเสริม. ดังนั้นเราก็ส่งเข้าไปครับ เขาก็เข้ามาตรวจเยี่ยมประเมิน ก็ดูสถานที่ต่าง ๆ ว่า สะอาดไหม? มีพื้นที่รับรองไหม? มีการให้ความรู้ให้สื่อต่างๆ รวมถึงมีเรื่องของห้องบําบัดต่าง ๆ ได้มาตรฐานหรือเปล่า มีการรองรับด้านเรื่องของภาวะฉุกเฉินหรือเปล่า มีเครื่องกระตุกหัวใจไหม มีทีมช่วยเหลือฉุกเฉินไหม ซึ่งอย่างที่บอกเราเป็นโรงพยาบาลอยู่แล้ว เรามีตรงนี้คอยรับรองนะครับ และ ที่สําคัญก็คือมีเรื่องของห้องพักผู้ป่วยมีรับรองไหม ซึ่งเราก็มีถามว่าทําไมถึงได้รางวัลลานนาเอ็กซ์โป ก็เกิดจากการที่ โรงพยาบาลของเรา ทําอยู่แล้ว แล้วก็พอมีโอกาสที่เขาให้เราเนี่ย เข้าร่วมตรงนี้เราก็เลยส่ง profile เราเข้าร่วม”

               ก่อนจะถามคำถามส่งท้ายคุณหมอปิดสไลด์นำเสนอ และ เก็บของอย่างใจเย็น

ช่วงสุดท้ายแล้วครับ (คุณหมอหัวเราะ) ความคาดหวังของโรงพยาบาลคืออะไรหรอครับ

            “ก็คือ ไม่ได้คาดหวัง ว่าจะเป็นโรงพยาบาลอันดับหนึ่งอะไรในเชียงใหม่ เพราะว่า โรงพยาบาลมันค่อนข้างเยอะมาก แต่เราขอเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงใหม่เรา เพราะว่าเชียงใหม่ตอนนี้ทั้งจังหวัดเขาตั้งเข็มมุ่งแล้วว่าเราอยากเป็น เวลเนส ซิตี้ (Wellness-city) อันนี้คือโจทย์ที่ลานนาเอ็กซ์โป เขาก็คุยกันมาตลอด ถือว่าโรงพยาบาลเราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เป็นส่วนหนึ่งที่ถ้านักท่องเที่ยวมา ก็อาจจะนึกถึงว่า ‘อ้าว! มาทําอะไรบําบัดอะไรหลายหลายอย่างที่โรงพยาบาลของเราได้”

ผู้เขียน : สโรชา สิริทับทิม

แหล่งอ้างอิง

บทสัมภาษณ์จาก นายแพทย์ บัญชา ใจตรง ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ฮอสปิทอล