Period Poverty ภาระของผู้มีประจำเดือน
“เราจะต้องเสียเงินไปกับผ้าอนามัยอีกเท่าไหร่ ?”
คำถามซึ่งไร้คนตอบนี้ มักถูกผู้หญิงหลายคนบ่นระหว่างที่อยู่ในภาวะมีประจำเดือน โดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาของรอบเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 4-7 วัน หากต้องใช้ผ้าอนามัยตามปริมาณที่เหมาะสม เราต้องใช้ผ้าอนามัยประมาณ 4-7 ชิ้นต่อวัน ซึ่งเท่ากับว่าเราต้องเสียค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยในแต่ละเดือนราว ๆ 200-400 บาท
ต้องบอกก่อนเลยว่า มีผู้คนถึง 1.8 พันล้านคนทั่วโลกอยู่ในภาวะมีประจำเดือน แต่มีผู้หญิงหลายล้านคนที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดการเรื่องรอบเดือนของตนเองได้อย่างถูกหลักอนามัย จากการรายงานของยูนิเซฟ (UNICEF) หรือองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติพบว่า สาเหตุดังกล่าวมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ (Gender Inequality) บรรทัดฐานของสังคมที่เลือกปฏิบัติ (Discrimination) และการขาดบริการขั้นพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำสะอาดและผลิตภัณฑ์สุขอนามัย เป็นต้น หรือตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ความยากจนในช่วงมีประจำเดือน” (Period Poverty)
ในความเป็นจริงแล้ว การขาดแคลนการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือสวัสดิการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนเป็นปัญหาที่มีมานานและเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก แม้ฉันจะเป็นผู้หญิง แต่ต้องยอมรับว่าพึ่งเคยได้ยินคำว่า period poverty เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากกระแสการเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีในมิติต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการขับเคลื่อนเรื่องการเข้าถึง ‘ผ้าอนามัย’ สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้หญิง
ทำไม Period Poverty ถึงเป็นปัญหา?
ปัญหา Period Poverty ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศยากจนเท่านั้น ประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักข่าวรอยเตอร์ก็เคยรายงานการสำรวจว่า ผู้หญิงที่มีรายได้น้อยในเมืองใหญ่เกือบสองในสามไม่สามารถจะหาซื้ออุปกรณ์เพื่อสุขอนามัยสำหรับช่วงมีประจำเดือนได้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัยแบบแผ่นหรือแบบสอด
ในบทความชิ้นหนึ่งของ workpointTODAY ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของ Period Poverty เอาไว้ว่า นอกจากจะทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้แล้ว ยังส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้มีประจำเดือนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านสุขอนามัย เนื่องจากหลายคนเลือกที่จะใช้ผ้าอนามัยซ้ำ ๆ หรือใช้วัสดุอื่นแทน ซึ่งการใช้ผ้าอนามัยโดยที่ไม่เปลี่ยนเป็นต่อเนื่องเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อตามมา
นอกจากนี้ การที่ผู้หญิงมีประจำเดือนมักถูกมองว่าเป็น ‘ข้ออ้าง’ ในการเรียนหรือการทำงาน แต่ในความเป็นจริงมีคนจำนวนมากที่ต้องขาดเรียนและลางานเนื่องจากปัญหา Period Poverty รวมถึงอาการอื่นจากการมีประจำเดือนด้วย
จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีประจำเดือนไม่เพียงแต่ต้องแบกรับภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ แต่ภาระนั้นยังครอบคลุมไปถึงปัญหาระดับสุขภาพและสังคมของตัวผู้มีประจำเดือนเอง
การเข้าถึงผ้าอนามัยเหลื่อมล้ำแค่ไหนในสังคมไทย?
ในระหว่างที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงผ้าอนามัย ฉันได้มีโอกาสร่วมเสวนากับ ผศ.ดร.ปีดิเทพ อยู่ยืนยง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ดำเนินการวิจัยเรื่อง “การศึกษาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยของกลุ่มสตรี ศึกษากรณีนักเรียนหญิงในจังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งได้ศึกษากรอบแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยประจำเดือนของกลุ่มเด็กผู้หญิงและสตรี รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างจาก 8 โรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ในเมือง ชานเมือง และชนบทห่างไกล ใน จ.เชียงใหม่
จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กนักเรียนหญิงในงานวิจัยดังกล่าว พบความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผ้าอนามัยที่แตกต่างกันของนักเรียนหญิงในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอใกล้เคียง และอำเภอห่างไกล ดังนี้
“คิดว่าเป็นราคาที่พอจะจ่ายได้นะคะ แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เวลาขอเงินซื้อผ้าอนามัยแม่ก็ให้หรือบางทีแม่ก็ซื้อให้เลย ซื้อห่อใหญ่เลย เพราะยิ่งซื้อห่อใหญ่ราคาก็จะถูก” เด็กนักเรียนหญิง อายุ 16 ปี, โรงเรียนในอำเภอเมืองเชียงใหม่
“หนูคิดว่าผ้าอนามัยตอนนี้ ราคาแพง แพงมาก แพงเว่อร์ ๆ ผ้าอนามัยเป็นของใช้จำเป็นที่ผู้หญิงทุกคนต้องใช้ทุก ๆ เดือนไม่ควรราคาแพงขนาดนี้” เด็กนักเรียนหญิง อายุ 16 ปี, โรงเรียนในอำเภอใกล้เคียง
“ถ้าอยู่ที่โรงเรียนจะไม่มีความลำบากในการซื้อมากนักค่ะ เพราะที่โรงเรียนจะมีร้านค้าใกล้ ๆ ที่สามารถซื้อได้ แต่ถ้าหากกลับบ้าน (บนดอย) จะหาซื้อได้ลำบาก เพราะไม่ค่อยมีร้านค้า หรือร้านค้าไม่ค่อยนำมาขาย บางทีถ้าจะกลับบ้านก็ต้องซื้อกลับบ้านไปด้วย” เด็กนักเรียนหญิง อายุ 14 ปี, โรงเรียนในอำเภอห่างไกล
ผศ.ดร.ปีดิเทพ ได้แสดงความคิดเห็นต่อผลการสัมภาษณ์เชิงลึกดังกล่าวในระหว่างการเสวนาเอาไว้ว่า ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมาจากรายได้หรือฐานะที่แตกต่างกันของแต่ละครอบครัว
“จะสังเกตเห็นได้ว่าคนเหล่านี้เกิดมาก็มีฐานะครอบครัวที่แตกต่างกันออกไป บางคนเกิดมาฐานะดี คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้เงินพอที่จะใช้จ่ายได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีเด็กเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เกิดมาในครอบครัวยากจนหรือขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งอาจจะไม่มีเงินเพียงพอจะไปหาซื้อผ้าอนามัยเพื่อรองรับการมีประจำเดือนในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติบัญญัติเอาไว้” อ.ปีดิเทพ กล่าว
สวัสดิการผ้าอนามัยของไทย ทำไมไม่เหมือนต่างประเทศ?
ปัจจุบัน รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขอนามัยในเรื่องประจำเดือนมากขึ้น ยกตัวอย่างประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่บุกเบิกนโยบายเพื่อลดภาระทางการเงินของผู้มีประจำเดือน โดยมีโครงการจัดสรรผ้าอนามัยให้กับสตรีและเด็กหญิงที่มีรายได้ต่ำ ด้วยการให้เงินสนับสนุนโครงการประมาณ 163,432,120 บาท นอกจากนี้ยังกำหนดให้โรงเรียนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลต้องจัดสรรผ้าอนามัยสำหรับนักเรียน รวมทั้งในหอพักสำหรับนักเรียนประจำอีกด้วย
ขณะที่ประชาชนในประเทศไทย ยังคงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิพื้นฐานนี้ให้กับผู้มีประจำเดือนทุกคน โดยต้องการให้รัฐบาลจัดหาผ้าอนามัยฟรีและยกเลิกการเก็บภาษี เพราะผ้าอนามัยยังคงมีราคาสูงเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทย จนทำให้เป็นสินค้าที่สร้างความเหลื่อมล้ำและปัญหาความไม่เท่าเทียม อีกทั้งผ้าอนามัยถูกจัดอยู่ในภาษีสีชมพู (Pink Tax) ซึ่งเป็นภาษีที่ทำให้ผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าผู้ชาย
ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลก็ได้ออกมาร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ และส่งเสริมให้มีสวัสดิการเกี่ยวกับผ้าอนามัยเพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยได้มากขึ้น โดยพรรคเพื่อไทยได้จัดนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘นิทรรศกี’ เป็นการผลักดันให้มีการศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้าเพื่อลดรายจ่ายของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการทดลองโครงการดังกล่าวภายในพรรค เพื่อเป็นการนำร่องและนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงนโยบายเพื่อพัฒนาต่อไป ด้านพรรคก้าวไกลก็ได้เรียกร้องให้ลดภาษีผ้าอนามัย โดยมีข้อเรียกร้องให้มีการจัดสรรผ้าอนามัย 3-5% กระจายเสริมไปให้บริการฟรีตามสถานที่ต่าง ๆ และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
“ปัญหาของประเทศไทยคือเราไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะสำหรับเรื่องนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ส่วนมากถูกจัดเป็นหมวดเครื่องสำอาง แม้ไม่ได้ถูกจำแนกให้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ก็ต้องจ่าย VAT อยู่ดี ถ้าหากภาครัฐหรือหน่วยงานของรัฐส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึง ก็น่าจะต้องมีการแจกฟรีหรือควรจัดเก็บ VAT ร้อยละ 0 ซึ่งจะทำให้สินค้าดังกล่าวไม่ตกเป็นภาระของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนทุนทรัพย์” อ.ปีดิเทพกล่าว
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในผ้าอนามัย อาจไม่ได้มากเกินไปสำหรับใครหลายคน แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายราคาแพงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนอีกมากเช่นเดียวกัน ผ้าอนามัยจึงถูกผลักให้เป็นภาระของผู้มีประจำเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จนกลายเป็นปัญหา Period Poverty ในที่สุด ด้วยเหตุนี้ในบางประเทศจึงมีการผลักดันให้ผ้าอนามัยเป็นรัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐาน
“ถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่จะมีจุดแจกผ้าอนามัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยหน่วยงานของรัฐต้องเป็นแกนนำหลักในการรณรงค์ส่งเสริมให้มีจุดแจกผ้าอนามัยและสนับสนุนงบประมาณ รวมไปถึงหน่วยงานท้องถิ่นด้วย ซึ่งเหล่านี้ต้องควบคู่ไปกับการสร้างความรู้และการตระหนักเรื่องการจัดการสุขอนามัยประจำเดือนให้กับทุกเพศทุกวัยในสังคม” อ.ปีดิเทพ กล่าวทิ้งท้าย
Period Poverty ยังคงเป็นปัญหาสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่เรื่องของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ยังส่งผลต่อสุขภาวะของผู้หญิง ดังนั้นการเข้าถึงผ้าอนามัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างไรก็ตามผ้าอนามัยจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนก็ต่อเมื่อเรื่องนี้ถูกผลักดันให้เกิดการสนับสนุน ซึ่งย่อมเกี่ยวข้องกับการเมืองและสวัสดิการจากรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การขาดแคลนผ้าอนามัยไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะเพศหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในประเทศได้อีกด้วย
อ้างอิง
เขียน นลินี ค้ากำยาน
เรียบเรียง ชลธิฌา สุนันท์เสวก, นลินี ค้ากำยาน, สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
พิสูจน์อักษร กัลย์ธิดา สิริจรรยากร, ชลธิฌา สุนันท์เสวก