Keep your laws off my body” sex worker อาชีพที่รัฐไทยไม่ยอมรับ
การขายบริการทางเพศขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพนี้อย่างถูกกฎหมาย ได้รับสวัสดิการอย่างเป็นธรรม ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เฉกเช่นในสังคมไทยที่อาชีพขายบริการทางเพศนั้นยังถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังถูกตรีตราจากสังคม
ปัจจุบันที่สังคมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงและตระหนักถึงการให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพทางเพศและสิทธิการประกอบอาชีพ จึงทำให้เราได้เห็นภาพการเรียกร้องความเท่าเทียมของผู้ที่ประกอบอาชีพการขายบริการทางเพศนี้มากขึ้น
เราได้คุยกับคุณ ต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ในประเด็นนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น
Sex Worker ไม่ได้มีแค่การสอดใส่
เมื่อพูดถึง Sex Worker เชื่อว่าความหมายแรกในหัวของหลายคนคงจะหนีไม่พ้น อาชีพที่ต้องมีการบริการและการร่วมเพศเกิดขึ้น
จริง ๆ แล้ว sex worker ไม่ได้จำเป็นจะต้องมีการร่วมเพศและสอดใส่เสมอไป เพราะอาชีพนี้เป็นงานบริการที่ใช้เรื่องเพศเป็นตัวดึงดูดหรือเริ่มต้นในการบริการโดยใช้เนื้อตัวร่างกาย มีทั้งแบบการเจอกันต่อหน้า อย่างเช่น เด็กเอ็น เด็กนวด หรือผ่านทางออนไลน์ อย่างอาชีพ content creator ที่ผลิตเนื้อหา 18+ อาชีพเหล่านี้นั้นก็ถือว่าเป็น sex worker เช่น
กันนั่นเอง
การมีอยู่กฎหมายกับการขายบริการทางเพศในไทย
คุณรู้หรือไม่ว่าสังคมไทยเคยยอมรับการค้าประเวณีเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย?
ในช่วงปี พ.ศ.2411-2503 มีการเก็บ ‘ภาษีบำรุงถนน’ โดยให้ผู้ค้าประเวณีจ่ายภาษีให้กับรัฐ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการเก็บภาษีเพื่อนำมาสร้างถนน ขยายเมืองนั่นเอง
ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้มีนโยบายรณรงค์ให้ความสำคัญกับผู้หญิงและเด็กเป็นหลัก ทำให้ในปี พ.ศ.2503 ได้ออกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ซึ่งมีแนวคิดที่ว่าการค้าประเวณีเป็นอาชญากรรม หรือผิดกฎหมาย ทำให้อาชีพขายบริการถูกมองว่าเป็นอาชญากรและมีบทลงโทษจำคุกอย่างชัดเจน
เมื่อการมีอยู่ของพ.ร.บ.ก่อนหน้าก็ไม่สามารถปรามการค้าประเวณีได้หมด จึงออก พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ตามมาติด ๆ เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 นี้ ได้มองคนค้าประเวณีว่าเป็น “เหยื่อ” และต้องได้รับการดูแล และยังมองว่าผู้ค้าประเวณีนั้น “เป็นผู้ด้อยสติปัญญาและการศึกษา” เช่นนี้เราสามารถตั้งคำถามว่า การตรากฎหมายถูกตราขึ้นมาโดยยึดหลักความเท่าเทียมแล้วหรือยัง เพราะแม้แต่ในระบบกฎหมายที่ควรพิทักษ์สิทธิ์ของประชาชนก็ยังมองประชาชนบางกลุ่มไม่เท่ากันเลย
รัฐไทยปิดตาข้างเดียวเลือกที่จะไม่ยอมรับอาชีพขายบริการทางเพศ
ด้วย พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณีของไทยที่ยังมีอยู่ บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นข่าวจากหลายสำนักกับการลงตรวจสอบการค้าประเวณีในย่านท่องเที่ยวดังอย่างพัทยา แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่เจอการค้าประเวณี แต่ผลการสำรวจของเว็บไซต์ Havescope ชี้ว่าอุตสาหกรรมทางเพศในไทยสร้างรายได้ประมาณ 6.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่เพราะการค้าบริการทางเพศในไทยก็ยังเป็นอาชีพใต้ดินจึงไม่ถูกนำมาคิดรวมใน GDP ทั้งที่สร้างรายได้มากขนาดนี้ ภาครัฐไทยก็ยังไม่ยอมรับของการมีอยู่ของอาชีพ sex worker
“อย่างในช่วงโควิดที่มีเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน ก็ไม่มีใครมายืนข้างทาง ตำรวจโทรหาหญิงขายบริการเหล่านี้แล้วบอกว่า ไม่มีใครมายืนเลย ช่วยออกมายืนให้หน่อย แล้วมาเสียค่าปรับ พอเราไม่ออกมาเขาก็ไม่มีผลงาน ก็เลยโทรหาเรา ค่าปรับตำรวจก็ออกให้”
ตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์คุณต้นบอกว่า พนักงานขายบริการในไทยมีประมาณ 3 แสนคน ทั้งการทำงานในบาร์เบียร์ สถานบันเทิงต่าง ๆ หรืออย่างถนนท่าแพ เชียงใหม่เองก็ยังมีหญิงขายบริการอยู่ แต่เมื่อ พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณียังมีอยู่ ตำรวจก็ต้องทำตามหน้าที่ตามกฎหมาย โดยที่ตำรวจนั้นจะมีทำเนียบรายชื่อและเบอร์โทรติดต่อเพื่อที่จะเรียกขอเก็บส่วยได้ทุกเมื่อ ทำให้หญิงขายบริการเหล่านี้ไม่มีทางเลือก ถ้าไม่จ่ายก็จะต้องโดนจับในข้อหาการค้าประเวณี เป็นกฎหมายอาญาที่คดีจะติดตัวไปตลอด จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่วันละ 2-3 ร้อยบาท หรือ จะเห็นได้ว่ากฎหมายเหล่านี้มันไม่ได้ออกมาเพื่อปราบปรามอย่างจริงจังแต่กลับเป็นช่องโหว่งสร้างรายได้เข้ากระเป๋าของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เป็นธรรม
ศีลธรรมอันดีที่บดบังอนาคตสดใสของคนชายขอบ
“ศีลธรรมมันก็คือการตรีตราคนที่ประกอบอาชีพนี้ เราทำงานหาเลี้ยงชีพ ใช้ร่างกายแลกเงิน มันผิดศีลธรรมเหรอ”
“ขัดต่อศีลธรรมอันดี” ประโยคสวยหรูที่รัฐใช้ในการอ้างเหตุผลในการปิดกั้นการกระทำบางอย่างของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การสั่งปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาผู้ใหญ่ กฎหมายเบียร์ กฎหมายทำแท้ง หรือแม้กระทั่งสิทธิในการใช้เรือนร่างของตนเองในการหาเลี้ยงชีพ ทุกอย่างล้วนเป็นการสร้างกรอบของการกระทำบางอย่างซึ่งส่งผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยมีคำว่าศีลธรรมมาเป็นตัวกำหนด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตรากฎหมายของรัฐไทยนั้นล้วนมีเจตนารมณ์มาจากคำว่าศีลธรรม ความเชื่อทางศาสนา ไม่ได้ถูกตรามาจากสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อีกทั้งในปัจจุบันสังคมไทยที่เป็นอยู่ยังมีกรอบศีลธรรมอันดี ครอบงำอยู่ เห็นได้จากการตรา พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี 2539 ที่เคยกล่าวไปข้างตน ที่มีการมองคนที่มาประกอบอาชีพค้าประเวณี เป็นเหยื่อ ด้อยสติปัญญาและการศึกษา แต่ไม่ได้มองเห็นถึงเบื้องหลังชีวิตของคนที่จะมาประกอบอาชีพนี้ รัฐไทยได้แต่ปฏิเสธปัญหาและให้ความสำคัญแค่ศีลธรรม สุดท้ายก็จะเป็นการผลักคนกลุ่มหนึ่งในสังคมให้กลายเป็นคนชายขอบ ทำให้ต้องประสบปัญหาอื่นๆตามมา
ทำไม Sex Worker ถึงต้องถูกกฎหมาย?
จากบทสัมภาษณ์ของมูลนิธิ Empower Foundation ให้สัมภาษณ์กับทาง The Matter นั้นกล่าวว่า เป้าหมายแรกในการผลักดันคือ การทำให้อาชีพขายบริการเป็นอาชีพที่ “ไม่ผิดกฎหมาย” ต้องไม่เป็นอาชญากรอีกต่อไป
เราต้องสร้างความเข้าใจใหม่ก่อนว่า “ไม่ผิดกฎหมาย” ไม่เท่ากับ “ถูกกฎหมาย” เพราะการถูกกฎหมายนั้นหมายถึงจะต้องมีการร่างกฎหมายฉบับอื่นมารองรับ
“เราอยากทำงานเหมือนคนปกติ อย่างแม่ค้าส้มตำยืนขายก็ไม่เห็นจะต้องมีกฎหมายมารองรับเขาเลย ถูกไหม”
คุณต้นยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เขาอยากจะยกเลิก พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณีออกไป เพราะจะได้ไม่ต้องถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง หรือผู้มีอิทธิพล ทั้งการกดขี่ การบังคับจ่ายส่วยเพื่อที่จะได้ไม่ต้องโดนจับ และถึงแม้พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณีจะถูกยกเลิกไป ผู้ประกอบอาชีพขายบริการก็จะไม่ได้มีอิสระเสรีในการทำอาชีพนี้ขนาดนั้น เพราะในไทยก็ยังมี พ.ร.บ.ตัวอื่น อย่างเช่น พ.ร.บ.ปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.แรงงาน พ.ร.บ.แอลกอฮอล์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่จะเข้ามาควบคุมดูแลได้ สุดท้ายเมื่อยกเลิก พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณีออกไป พนักงานบริการเหล่านี้ก็จะสามารถเข้าระบบตามกฎหมายแรงงานของไทยโดยอัตโนมัติ มีการคุ้มครอง ไม่โดนเอาเปรียบ และมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องได้
“เรายินดีที่จะทำตามกฎหมายทุกอย่าง แต่จะต้องทำตามกฎหมายแรงงานเท่ากับคนอื่น”
อ้างอิง
The Matter. (2563).เรามีสิทธิเลือก sex worker เป็นอาชีพ คุยเรื่องกฎหมายลดทอนคุณค่าคนกับมูลนิธิ Empower. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://thematter.co/social/sex-work-is-work/130075
The Matter : ถ้า sex worker ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมาย
Havocscope, “Remittance from Sex Workers in Thailand”
themomentum : ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน : วาทกรรมในการสร้างอำนาจรัฐ
คุณ ต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน