HIV ติดง่าย รักษาไว เชื้อหมดฤทธิ์

                

HIV ติดง่าย รักษาไว เชื้อหมดฤทธิ์

                 เอชไอวีใคร ๆ ก็เป็นได้ คนส่วนใหญ่ละเลยกันไป คิดเพียงแค่ว่า “ไม่ใส่ถุงยาง แค่กินยาคุมก็ไม่ท้องแล้ว” แท้จริงแล้วการใช้ถุงยางอนามัยนั้นสามารถป้องกันได้มากกว่าแค่การตั้งครรภ์ เพราะอาจมีโรคที่ติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ตามมาได้เช่น เอชไอวี เอดส์ ซิฟิลิส และหนองใน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี และตระหนักเพียงแค่จะท้องหรือไม่ท้อง หรือวัยรุ่นบางคนรักสนุก มีคู่นอนหลายคน แต่ไม่เคยตรวจเชื้อเอชไอวีเพราะคิดว่าคงไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ เอชไอวีจะไม่ใช่โรคที่น่ากลัว หากได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุดหลังจากรู้ผล แต่หากใช้เวลานานกว่าจะทราบว่าติดเชื้อเอชวี อาจทำให้เกิดโรคฉวยโอกาสอื่น ๆ ตามมา

ในปัจจุบันโรคเอชไอวีไม่ใช่โรคที่น่ากลัวเหมือนเมื่อก่อน เพราะมีนวัตกรรมการรักษาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการตรวจเชื้อทำได้อย่างรวดเร็วที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน อีกทั้งยังมีชุดตรวจเชื้อเอชไอวีด้วยตัวเอง ทำให้ลดระยะเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาลได้ และการรักษานั้นจะรักษาด้วยการทานยาต้านเชื้อไวรัสที่จะช่วยฟื้นฟูภูมิคุ้มกันของร่างกายกลับมาเป็นปกติ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป

เชื้อเอชไอวีคืออะไร?

                  HIV ย่อมาจาก  “Human Immunodeficiency Virus” แปลว่า ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสอื่น ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม เป็นต้น รวมทั้งมะเร็งบางชนิดที่มีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งอาการจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจเป็นสาเหตุสู่การเสียชีวิต อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายดีก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้าผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง หรือเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมเท่านั้น เราจะเรียกระยะนี้ว่า “ผู้ป่วยเอดส์” หากป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว ต้องรับการรักษา รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดเป็นซ้ำ จนกว่าระดับภูมิคุ้มก้นโรคหรือ CD4 จะสูงขึ้นเพียงพอที่จะป้องกันร่างกายจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

และเพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อเอชไอวีได้ในระดับหนึ่งด้วยภูมิต้านทางของร่างกายตัวเอง

เชื้อไวรัสเอชไอวีติดต่อได้อย่างไรบ้าง

                  การแพร่เชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อเอชไอวีผ่านทางเยื่อบุ หรือผิวหนังที่มีบาดแผล ทำให้เกิดโอกาสการติดเชื้อเอชไอวีได้ สามารถเกิดขึ้นได้ 3 ทาง ได้แก่ การแพร่เชื้อทางเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงทางทวารหนักและทางปาก ถัดมาคือการแพร่เชื้อผ่านเลือดที่มีเชื้อปนเปื้อน ในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นกับบางคนที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดและมีการใช้เข็มร่วมกัน และสุดท้ายคือการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก หากมารดาที่ได้รับเชื้อขณะตั้งครรภ์ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเด็กในครรภ์ก็จะไม่ติดเชื้อ ซึ่งโอกาสที่ทารกจะติดเชื้อมีเพียง 25% ของจำนวนผู้ตั้งครรภ์ทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

เชื้อเอชไอวีไม่ติดต่อผ่านการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น การจับมือ การกอด การจูบ การรับประทานอาหารร่วมกัน การใช้สิ่งของร่วมกัน ยกเว้นแปรงสีฟันหรืออุปกรณ์อื่นที่อาจสัมผัสเลือด เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ เป็นต้น

ป้องกันอย่างไรบ้างไม่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี

                 การป้องกันไม่ให้วัยรุ่นติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ สามารถป้องกันได้โดยการให้ความรู้ และสร้างทัศนคติให้ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพราะนอกจากจะป้องกันการตั้งครรภ์ ก็ยังสามารถป้องกันการติดต่อโรคอื่น ๆ ทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย หรือหากเกิดกรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน และคิดว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยผลตรวจและพิจารณาการทานยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้

                 ยาต้านไวรัสมีอยู่ 2 ชนิดที่ป้องกันก่อนการติดเชื้อเอชไอวี คือ เพ็พ (Pep) สามารถทานหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยให้ทานยาต้านไวรัสชนิดนี้โดยเร็วที่สุดภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังจากการสัมผัสเชื้อแล้ว และเพร็พ(Prep) ยาต้านไวรัสที่ต้องรับประทานทุกวัน หรือรับประทานเฉพาะช่วงก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ รับประทาน 2 เม็ดในช่วงเวลา 2 ถึง 24 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์ และให้รับประทานยาเม็ดที่ 3 หลังจากรับประทานยาครั้งแรกไปแล้ว 24 ชั่วโมง และรับประทานยาเม็ดที่ 4 ในอีก 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามยาสองชนิดนี้อยู่ในการควบคุมโดยแพทย์ ไม่สามารถซื้อมาทานเองได้เลยทันที

การติดเชื้อเอชไอวีรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

                 ในปัจจุบันมีวิธีเดียวเท่านั้นในการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี คือ การทานยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งราว ๆ ในปีพ.ศ. 2537 เชื้อเอชไอวีระบาดหนักมากไปถึงขั้นที่มีผู้คนที่ติดเชื้อโรคฉวยโอกาสมากมาย มีคนเสียชีวิตในทุก ๆ วันเพราะค่ายาค่อนข้างสูง ทำให้บางคนไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงไม่ได้รับการรักษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 มีการพัฒนายาต้านไวรัสที่เข้าถึงฟรี ตัวยาจะไปยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไม่ให้เพิ่มขึ้น ไม่ไปทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งในอดีตต้องทานยาหลายเม็ด และหลายชนิดในการรักษา แต่ปัจจุบันสามารถทานวันละ 1 ครั้ง

“เอชไอวีเหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่”

ในอนาคตอาจมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นในการรักษาเชื้อเอชไอวี เช่น ยาชนิดฉีด หรือ ยาฝัง ที่ทำให้สะดวกมากขึ้นกว่าการทานยาทุกวัน ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย เคยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนไม่มากที่รักษาหายขาด แต่เป็นการรักษาด้วยวิธีการพิเศษ เช่น ปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นต้น ดังนั้นในปัจจุบันเป้าหมายในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงมุ่งเน้นที่คุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ป่วยไปถึงโรคเอดส์ รวมทั้งไม่แพร่เชื้อไปที่ผู้อื่น โดยเน้นการทานยาต้านไวรัสต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกวัน 

บทสัมภาษณ์จากโครงการนับหนึ่ง

                  จากการสัมภาษณ์โครงการ นับหนึ่ง โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ให้ข้อมูลและตรวจเชื้อโรคติดต่อต่าง ๆ ได้ข้อมูลว่า มีผู้มาใช้บริการรับการตรวจเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก มีทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น คู่รักชายหญิง, คู่รักชายชาย, คู่รักหญิงหญิง และอาชีพขายบริการ ซึ่งจากข้อมูลทางกรมควบคุมโรค กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้เผยข้อมูลไว้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี ข้อมูลปี พ.ศ. 2565 มีจำนวนมากที่สุดของผู้ติดเชื้อ ผู้ใช้บริการกับทางโครงการมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและคนรอบข้าง จึงรีบมาตรวจเชื้อและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

“มีคู่รักชายหญิงคู่หนึ่งที่เข้ามาตรวจกับทางโครงการพบว่าฝ่ายชายติดเชื้อเอชไอวี แต่ทั้งคู่ยังอยากสร้างครอบครัวด้วยกันก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติที่ต้องการ ฝ่ายชายทานยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ ควบคู่กับฝ่ายหญิงทานยาเพร็พ ทั้งคู่ก็สามารถมีบุตรและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตามปกติได้ ผู้ใช้บริการที่ประกอบอาชีพขายบริการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อเป็นอย่างดี เนื่องด้วยอาชีพของเขาที่ต้องพบเจอหลากหลายผู้คน จึงมาตรวจเชื้อเอชไอวีกับทางโครงการ เพราะเขารักตัวเองและอยากมีสุขภาพที่ดี ไม่เป็นโรค”

                  การติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ยิ่งรู้ว่าตัวเองติดเชื้อไวมากเท่าไหร่ และได้รับการรักษาด้วยการทานยาต้านไวรัสที่เหมาะสม ก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ และป้องกันการดำเนินสู่ระยะเอดส์ที่ร่างกายจะแย่ลง การรักษาด้วยการทานยาต้านไวรัสจะต้องทานสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อลดการเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกาย และเพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายฟื้นฟูดีขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสให้ออกจากร่ายกายได้ทั้งหมดหรือการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้

                  อยากให้ทุกคนเข้ารับการตรวจเชื้อเอชไอวี เพราะเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าคู่นอนของเรานั้นไม่เป็นโรค เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าคนรักของเราจะไม่ไปนอนกับคนอื่น ท้ายที่สุดแล้วการตรวจเชื้อเอชไอวีมีผลประโยชน์ต่อตัวเองที่สุด หากเรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก็จะนำไปสู่สิ่งดี ๆ หลายอย่าง และหากคนในสังคมเปิดใจยอมรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็จะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น เพราะผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ผู้เขียน ประภาพรรณ ลอยจิระ
เรียบเรียง ณัฐธยาน์ แท่นทอง
พิสูจน์อักษร ปวริศา อนุขุน
ภาพปก พัทธ์ธิรา สุริยะวงค์

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลนิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ  

HIV INFO HUB

NHS

นับหนึ่ง

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

โครงการนับหนึ่ง คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่