Green Market : พื้นที่สร้างสรรค์ธุรกิจของคนรัก(ษ์)โลก
.
Green Market ความหมายแบบตรงตัวก็คือตลาดสีเขียว หากพูดถึงสีเขียวก็แน่นอนว่าสิ่งที่นึกถึงจะต้องมีเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นแน่ แล้วตลาดกับสิ่งแวดล้อมมันมีความเกี่ยวข้องกันยังไง วันนี้เราจะไปเปิดโลกของ Green Market ไปด้วยกัน พร้อมทั้งพาไปส่องแหล่งช้อปสินค้ากรีน ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่กัน
ทุกวันนี้ปัญหาที่เรากำลังพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนอย่างหวนกลับคืนได้ยาก ทรัพยากรธรรมชาติที่ลดน้อยถอยลงอย่างน่าเป็นห่วง แต่กลับสวนทางกับโลกของธุรกิจที่เจริญเติบโตก้าวหน้าจนมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมายบนโลก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น
Green Market คือ ตลาดแหล่งขายสินค้าที่มีระบบการจัดการที่ช่วยส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะให้กับโลก และเลือกใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคที่สามารถปรับให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดโลกร้อนได้ แน่นอนว่าการจะช่วยลดโลกร้อนได้นั้น คือการลดใช้ ใช้ให้น้อย ใช้เท่าที่จำเป็น แต่กลับสวนทางของโลกของธุรกิจที่ต้องการให้เกิดการซื้อ-ขายจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงนำมาซึ่งการก่อเกิดของ Green market ที่ดำเนินการภายใต้คอนเซ็ป Zero Waste แนวทางการจัดการกับขยะให้เป็นศูนย์ ถึงแม้ความเป็นไปได้ที่จะไม่เกิดขยะในตลาดเลยจะน้อยก็ตาม แต่ก็มีระบบในการจัดการที่ค่อย ๆ ปรับเพื่อให้ปริมาณขยะลดลงกว่าตลาดปกติ เช่น ตลาดที่ขายสินค้าและมีมาตรการให้คนซื้อนำภาชนะมาเอง หรือจะเป็นการลดใช้พลาสติก มาใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ใบตอง ถุงกระดาษ
เมื่อตลาดเป็นสีเขียวแล้วสินค้าภายในตลาดย่อมต้องคุมโทนให้เป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวให้มากที่สุด การคุมโทนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสี แต่เป็นกระบวนการในการผลิต ทรัพยากรที่นำมาใช้ผลิต กระบวนการซื้อ-ขายของสินค้านั่นเอง ในปัจจุบันมีธุรกิจ SME ที่ผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Green Product เช่น ผักออร์แกนิก ที่ใช้การปลูกพืชแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังใส่ใจกับสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย หรือจะเป็นสิ่งของใช้ออร์แกนิกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภคเช่นกัน
.
ช่องว่างระหว่างสังคมกับการเลือกซื้อสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม
ตลาดสีเขียวสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกันเองของชุมชน ชาวบ้าน หรือมีนายทุนมาจัดโครงการขึ้นโดยเฉพาะและรวบรวมสินค้าเพื่อคนรักษ์มาไว้ที่นี่ หากมองตลาดออกเป็นสองแง่มุม อย่างแรกคือตลาดสีเขียวในชนบท กับตลาดสีเขียวกับคนเมือง ตลาดสีเขียวในชนบทอาจมองได้ว่าเหมือนตลาดทั่วไปที่ชาวบ้านก็เอาของที่ทำเองหรือนำผักปลอดสารมาขาย แต่ตลาดสีเขียวในเมืองนั้นเป็นตลาดที่มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้คนในเมืองได้เข้าถึงแหล่งซื้อขายสินค้าที่มีความเป็น Local ได้เช่นเดียวกัน อีกแง่มุมหนึ่งคือเรื่องของทัศนคติในการซื้อและขายสินค้า คนชนบทที่ไม่ได้มีรายได้มากนัก ก็จะใช้สินค้าทั่วไปที่หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ซึ่งสินค้าที่เป็นออร์แกนิกที่นอกจากผักปลอดสารแล้วนั้นส่วนใหญ่ราคาจะสูง เพราะจะเป็นสินค้าที่ทำเอง มีกระบวนการผลิตที่ยากกว่าสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ส่วนคนที่มีรายได้มั่นคง จะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและบริโภคสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนชนบท ช่องว่างระหว่างฐานะทางการเงินจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้าเพื่อคนเฉพาะกลุ่ม และความเป็นผู้บริโภคสีเขียวอย่างเต็มตัวนั้น จึงต้องแลกมาด้วยราคาที่ยอมจ่าย
ปัจจุบันตลาดสีเขียวจำกัดอยู่เพียงกลุ่มผู้รักสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีน้อยแต่ต้องการการดูแลอย่างดี ทำให้สินค้ามีราคาสูง แต่ถ้ามีผู้สนใจจับจ่ายซื้อของในตลาดสีเขียวเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าออกมาขายมากขึ้น ราคาก็จะถูกลงตามกลไกตลาด มีพื้นที่ในการพบปะกันมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้มีหัวใจสีเขียวเลือกซื้อของกันอย่างสบายใจ เพราะสินค้าที่ไม่เป็นพิษภัยกับผู้ซื้อ ผู้ขาย สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ ใคร ๆ ก็อยากได้ทั้งนั้น
.
.
Green market กับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน
ตลาดสีเขียวในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นตลาดที่ตั้งอยู่ในที่ชุมชน หรือเป็นตลาดที่อยู่ตามห้าง หันมาใส่ใจกับผลิตภัณฑ์จากชุมชนมากขึ้น แทนที่จะมองหาแหล่งผลิตรายใหญ่ เพราะชุมชนนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มาจากฝีมือของชาวบ้าน ยังมีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนอีกด้วย การเกิดขึ้นของตลาดสีเขียวช่วยผลักดันการเพิ่มพื้นที่ทางธุรกิจให้กับทางชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือการที่ชุมชนได้นำเสนอสินค้าผ่านตลาด มีรายรับเข้าสู่ครัวเรือนของชาวบ้าน ส่วนทางอ้อมก็คือการที่ผู้คนได้รู้จักพื้นที่นั้น ๆ เพิ่มมากขึ้น และบางพื้นที่ก็ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวตามมาอีกด้วย
“คือแต่ละบ้าน เค้าจะมีผลิตภัณฑ์ของเค้าอยู่แล้ว เราแค่เป็นอีกแรงที่ทำให้เค้ามีรายได้ คือถ้ามันมีนักท่องเที่ยวมา อย่างน้อยก็มีคนได้เห็นสินค้า ได้รู้จักร้านค้า ซึ่งตัวเราเองก็มั่นใจว่าตัวสินค้าของทุกบ้าน มีคุณภาพมากพอที่ลูกค้าจะซื้อ” ส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ของคุณน้ำ ดวงกมล มังคละคีรี ผู้จัดการตลาดฉำฉา ซึ่งถือเป็นตลาดที่พึ่งพากันของชุมชนกับหน่วยงานอย่างแท้จริง ทำให้เห็นว่าการทำตลาดและชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน
.
ความร่วมมือของภาคธุรกิจเพื่อชุมชน
ทุกวันนี้ผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความตระหนักอย่างจริงจังเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต และภาคธุรกิจเองก็หันมาให้ความใส่ใจกับการผลิตสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญคือไม่ใช่แค่การแอบอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองนั้นรักโลก แต่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยแท้จริง ซึ่งในงานวิจัยของ คุณกนกพร ดิษริยะกุล ได้กล่าวไว้ว่า “ร้านที่เป็นแหล่งเชื่อถือของชุมชนหรือคนหมู่มากนั้น จะมีแนวโน้มทำการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ มากกว่าร้านที่กระจายอยู่ในตลาด” ดังนั้นการที่ภาคธุรกิจเข้ามาร่วมมือกับชุมชนนั้น เป็นส่วนที่ช่วยให้ชุมชนได้มีพื้นที่ในการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น และการยื่นมือมาช่วยต้องเป็นไปเพื่อความโปร่งใสและไม่ฉาบฉวย เพราะชุมชนถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับ Green Business เป็นอย่างมาก ชุมชนคือรากฐานของการผลิต ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งนอกจาก Green Business จะเล็งเห็นความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังให้คุณค่ากับความเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอีกด้วย แต่เนื่องจากรูปแบบการทำมาหากินที่เปลี่ยนแปลงไป การทำให้ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นเศรษฐกิจชุมชนและเป็นการสร้างรายได้นั้น จึงเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาช่วยชุมชนอย่างจริงจังนั่นเอง
.
แหล่ง Green Market ในจังหวัดเชียงใหม่ เมืองที่ใคร ๆ ก็โหยหาความเป็นธรรมชาติ
การเดินทางขึ้นเหนือมาที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนอยากมาสัมผัสบรรยากาศ กลิ่นอายความเป็นเมืองเหนือ กลิ่นภูเขา กลิ่นธรรมชาติ และอารยธรรมของภูมิภาคนี้ ซึ่งเชียงใหม่เองก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าออกกันเป็นจำนวนมาก หากพูดถึงแหล่งช้อปสายกรีนในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เราต้องคิดถึงการเดินกาดนัดท้องถิ่นเป็นแน่ ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่เองมีกาดนัดที่เรียกได้ว่าเป็น Green Market หลายแห่ง วันนี้เราจะมาเช็คลิสต์ว่ามีที่ไหนกันบ้าง
ที่แรกคือกาดจริงใจ จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 06.30 – 13.00 น. เป็นตลาดนัดที่มีการจัดการอย่างเป็นระเบียบ มีทั้งของกิน เช่น ร้านผักออร์แกนิกที่ชาวบ้านปลูกเอง ร้านอาหารพื้นเมือง และของใช้ เสื้อผ้า สินค้า Handmade ต่าง ๆ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่นี่จะเป็นงานคราฟต์ สนับสนุนการสร้างรายได้และความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของชุมชน
ที่ต่อมาเป็นกาดฉำฉา เป็นตลาดนัดที่จัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์เช่นเดียวกับกาดจริงใจ เพื่อให้คนมาเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด ตลาดจะตั้งอยู่ภายใต้ต้นฉำฉาทั้งหมด 3 ต้น สินค้าภายในตลาดมีทั้งของกินและของใช้เช่นเดียวกับกาดจริงใจ แต่มีความเป็นสายกรีนที่ผู้ซื้อสามารถนำภาชนะมาใส่อาหารที่ตัวเองซื้อได้ และลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด
ที่สุดท้ายคือกาดข่วงเกษตรอินทรีย์ ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ เวลา 14.00 – 18.00 น. แหล่งขายสินค้าทางการเกษตรของชาวบ้านทั้งผักตามฤดูกาล ของแปรรูป และมีผักพื้นบ้านมากมายให้เลือกซื้อ
.
.
เส้นทางในอนาคตของ Green Market
ในตอนนี้หากจะเรียก Green Market ก็ยังเรียกได้ไม่เต็มตัว เนื่องจากในมุมมองของการจัดการกับขยะ เราเลี่ยงได้ยากที่จะไม่ใช้พลาสติกเลย หรือแม้กระทั่งการแยกขยะภายในตลาด ก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป การทำงานกับปัจเจกชนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก ตรงกับการให้สัมภาษณ์ของคุณน้ำ เกี่ยวกับ Green Market ในอนาคตว่า “ก็คงจะดีขึ้นเรื่อยๆมันอยู่ที่คนด้วย ไม่ใช่อยู่ที่เราคนเดียว ถึงเราออกกฎมาบังคับ บางคนก็แอบใช้พลาสติกก็ยังมี อยากให้เค้าเข้าใจถึงข้อดีของการรักษาสิ่งแวดล้อมจริงๆก็ค่อยๆทำไป” การก่อเกิดของตลาดสีเขียวก็เรียกได้ว่าเป็นอีกหนทางหนึ่งให้กับผู้คนและโลกใบนี้ ได้มีการพึ่งพาซึ่งกันและกันแบบยั่งยืน ในอนาคตตลาดธรรมดาอาจจะมีมาตรการเช่นเดียวกับตลาดสีเขียว และกลายเป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมได้โดยทั่วกัน ซึ่งการทำตลาดสีเขียวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันสามารถส่งผลเชิงบวกในระยะยาวให้กับโลกใบนี้ได้ไม่มากก็น้อย
.
Green Market พื้นที่สร้างสรรค์ธุรกิจของคนรัก(ษ์)โลก
นอกจากผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจโลกใบนี้แล้ว ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ก็ยังสามารถนำความรู้ และความสามารถของตนนั้นมาต่อยอดเพื่อผลิตสินค้าเพื่อโลกใบนี้ ถ้าหากนำสินค้าที่เป็น Green Product ไปวางจำหน่ายท่ามกลางสินค้าทุนนิยมทั่วไป ก็อาจจะสร้างความโดดเด่นแต่ไม่ชวนให้ซื้อ เพราะผู้บริโภคนั้นอาจจะมองว่าราคาแพง มีตัวเลือกอื่นที่คุ้มค่ามากกว่า แต่ถ้าหากสินค้าประเภทนั้นมาอยู่ใน Green Market ก็เปรียบเสมือนชุมชนหนึ่งที่ผู้คนมีความสนใจร่วมกัน และสินค้านั้นก็จะสร้างคุณค่าให้กับตัวเองมากขึ้นได้ รวมไปถึงเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
.
เขียน ปัทมพร อิ่มขันต์
เรียบเรียง รินรดา ศรีเรือง และรัญชนา เกียรติอำไพ
ออกแบบปกโดย ไพลิน จิตรสวัสดิ์
.
อ้างอิง
คุณดวงกมล มังคละคีรี (ผู้จัดการตลาดฉำฉา)
Anupam Pareek , Neha Mathur. (2020). GREEN MARKETING : A SUSTAINABLE CHANGE IN MARKET
กนกพร ดิษริยะกุล. (2556). แนวโน้มนวัตกรรมการสื่อสารการตลาดเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ระหว่างปี 2558 – 2567.
คมศักดิ์ สว่างไสว. (2559). ธุรกิจสีเขียว.
ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP. (2565). ผลิตภัณฑ์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม.
อาจารย์ ดร. ธนภูมิ, อาจารย์ ดร.ล่ำสัน เลิศกูลประหยัด, อาจารย์รสิตา สังข์บุญนาค. (2555). แนวทางการพัฒนาตลาดนัดสีเขียวสำหรับคนเมือง.