EVOLUTION: ผ้าฝ้ายเชิงดอย สู่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม

ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว ผ่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่เราสวมใส่กันอยู่ทุกวัน

หากแต่ยังมีหมู่บ้านเล็ก ๆ ในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อย่างกลุ่มวิสาหกิจผ้าฝ้ายของชุมชนบ้านเชิงดอย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดสายใยเชื่อมโยงระหว่างชาวบ้านและธรรมชาติเข้าด้วยกัน 

นางสาวทัญกานร์ ยานะโส ผู้ริเริ่มและประธานโครงการวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนจนได้รับรางวัล Green Product มาอย่างต่อเนื่อง

“การประกอบอาชีพทุก ๆ อย่าง หรือการดำเนินชีวิตของเราก็ตาม มีส่วนทำให้โลกร้อนอยู่แล้ว เพราะงั้นเราเชื่อมั่นว่า การทำแฟชั่นของเรามีกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราทำแบบทะนุถนอมให้อยู่ควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน”

กว่าจะเป็นผ้าฝ้ายหนึ่งผืน 

ผ้าฝ้ายเชิงดอยมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลัก 4R ประกอบไปด้วย Reduce, Reuse, Recycle และ Repair ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด เริ่มตั้งแต่วัสดุที่นำมาใช้อย่างฝ้าย เป็นฝ้ายพื้นเมืองที่ชาวบ้านปลูกเอง และรับซื้อจากที่อื่นมาบางส่วน 

เอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายเชิงดอยคือ กระบวนการย้อมสีธรรมชาติแบบเย็นจากหินโมคคัลลาน ที่ทำให้ผ้าแต่ละผืนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่าย นอกจากนี้สีที่ได้ยังเป็นสีชนิดเดียวที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ด้าน คือ ทนต่อการออกแดด ทนต่อการซัก อยู่ได้นานไม่เปลี่ยนสี มีคุณสมบัติเทียบเท่าสีเคมี โดยมีหัวใจหลักของการย้อมผ้าให้สีติดทนได้ดีคือ ‘หยวกกล้วย’ ซึ่งวิธีนี้ถูกริเริ่มมาจากคุณตาอินตา นันต๊ะเล ชาวบ้านในชุมชน 

“เราก็เอาต้นกล้วย เอามาหั่น ๆ แล้วก็มาตำ ๆ เอาน้ำสดมาบีบใช้สองลิตร ทำให้เนื้อฝ้ายติด มีหลุดแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะอยู่ตามสภาพของมันเลย ทุกวันนี้เราใช้ยางกล้วยเป็นตัวนำของกลุ่มเราเลย แล้วมันก็ประสบความสำเร็จ”

หลังจากย้อมสีก็เข้าสู่กระบวนการทอผ้า หมู่บ้านเชิงดอยใช้ช่างฝีมือจากชาวบ้านกันเอง ซึ่งมีทักษะการทอผ้าที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ประธานโครงการวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอยได้กล่าวว่า ทางหมู่บ้านใช้กรรมวิธีทอมือ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาลายผ้าล้านนาดั้งเดิมไว้ มักเป็นลวดลายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และวิถีชีวิตของชาวบ้าน 

“เราเริ่มศึกษาการทำผ้าจกล้านนา เมื่อก่อนในชุมชนจะมีการทออยู่ 2 แบบ คือทอลายพื้นฐานธรรมดา ก็คือเป็นผ้าพื้น สีพื้น ๆ แล้วก็อีกลายหนึ่งจะเป็นลายยกดอก ก็จะเป็นลวดลายที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของเรามากกว่า แล้วก็เป็นลวดลายที่มาจากการนับถือพระพุทธศาสนาค่ะ”

ภาพผ้าฝ้ายพื้นเมือง โดย ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์
ภาพผ้าฝ้ายลายยกดอก โดย นัทธมน กุลชานันท์

นอกจากการนำผ้าฝ้ายมาทอ และพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า ผ้าพันคอ ฯลฯ ยังมีการนำเศษผ้าที่เหลือมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ในทุกกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายแทบจะไม่มีขยะเหลือใช้เลย 

“ตั้งแต่การตัดผ้า พอมีเศษผ้าเราก็นำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างอื่นจนเหลือทิ้งน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเศษผ้าชิ้นใหญ่ เศษผ้าชิ้นเล็ก หรือเศษผ้าที่ใช้ทำอะไรไม่ได้แล้ว เราก็นำเอาไปให้เขาทำเป็นกระสอบมวย” 

ผ้าฝ้ายทอมือยกระดับชุมชน

ประธานโครงการมีแนวคิดยกระดับผลิตภัณฑ์นำออกสู่สายตาของชาวโลกมากยิ่งขึ้น ผ่านการออกบูธ และมักจะใช้ช่างฝีมือชาวบ้านในทุกขั้นตอนการผลิต เกิดเป็นรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน ไม่เพียงเท่านั้นองค์กรยังมีการสนับสนุน และให้สวัสดิการดูแลชาวบ้าน เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งในที่สุด

“เราต้องการที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกฝ้ายมากขึ้น ซึ่งเราส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกและรับซื้อ แล้วก็เอาดอกฝ้ายมาทำเส้นฝ้ายให้มีจำนวนเยอะพอที่จะไม่ต้องไปซื้อเพิ่ม เงินมันก็จะไหลเวียนในชุมชนมากขึ้น แล้วชาวบ้านก็จะมีรายได้มากขึ้น” 

นอกเหนือจากนี้คุณตาอินตาวัย 71 ปี ปราชญ์ชาวบ้านได้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตก่อนที่จะได้มาทำธุรกิจผ้าฝ้ายว่าเมื่อก่อนคุณตาเคยทำงานอยู่ในเหมืองแร่ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น อาชีพเดิมที่เคยทำก็ไม่สามารถกลับไปทำได้ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ แต่ก็เพราะการรวมตัวของกลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย จึงทำให้คุณลุงสามารถกลับมาประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และเลี้ยงตัวเองได้อย่างเคย 

“คนบ้านเฮาพื้นเพเราก็เล่นกับฝ้ายมานานละ พ่อแม่เขาก็อยู่กับฝ้าย ทอฝ้าย ปั่นฝ้าย คนที่แข็งแรงก็ไปทำงาน ที่แก่เฒ่าก็มาประกอบอาชีพกับกลุ่มเรา พอเลี้ยงตัวได้ ไม่ถึงขึ้นรวยมาก แต่ว่าพออยู่ได้ พอกิน“

ก้าวต่อไปของผ้าฝ้ายเชิงดอย

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอเป็นต้นเหตุหลักของการทำลายสิ่งแวดล้อม จากการประชุม COP26 Fast Fashion ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเหลือทิ้งที่นำไปรีไซเคิลได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด 10 ล้านตัน และโรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 8-10 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งมีปริมาณมากกว่าอุตสาหกรรมการบินและขนส่งรวมกัน อันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดก๊าซเรือนกระจก

การผลิตผ้าฝ้ายในวิถีของกลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยมีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยมลพิษน้อยที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยลดปัญหาจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้า และในอนาคตทางกลุ่มวิสาหกิจต้องการขยายกลยุทธ์ธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งต้นปลาย – กลางน้ำ – ปลายน้ำ ผ่านการส่งเสริมการปลูกฝ้ายให้มากขึ้น เพื่อให้กลายเป็นชุมชนผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่สมบูรณ์

แผนภาพแสดงแผนธุรกิจภายในชุมชน โดย ณิชาพร ฉ่ำวารี

“เราเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากชุมชน เราอยากให้คนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำมากขึ้น ส่วนในอนาคตเราจะส่งเสริมการปลูกฝ้ายให้มากขึ้น ให้เป็นฝ้ายจากเชิงดอย ในอนาคตเราจะกลายเป็นฝ้ายเชิงดอยที่พูดได้เต็มปากว่าออร์แกนิก”

นอกจากนี้ได้มีหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอยกล่าวว่าต้องการให้กระทรวงวัฒนธรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ ซึ่งนั่นก็คือการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม และส่งเสริมให้ผ้าฝ้ายเชิงดอยได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ว่าใครก็ต่างเห็นคุณค่า ไม่ให้หายไปตามกาลเวลา

ปัจจุบันแม้จะมีวิธีการผลิตเสื้อผ้าที่รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ แต่กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยยังจะคงรักษาวิถีชีวิตของชุมชนต่อไป ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตาม Green Product และ BCG Models

แหล่งข้อมูล

คุณตา อินตา นันต๊ะแล ปราชญ์ชาวบ้าน (การสื่อสารส่วนบุคคล, 21 กุมภาพันธ์2567)

นางสาวทัญกานร์ ยานะโส ผู้เริ่มและประธานโครงการวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอย (การสื่อสารส่วนบุคคล, 21 กุมภาพันธ์
2567)

วารสารการพิมพ์ไทย ฉบับที่ 139. (20 ธันวาคม 2065), “Green Product” ผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ แก้ไขวิกฤตขยะล้นประเทศ. สมาคมการพิมพ์ไทย. https://www.thaiprint.org/2022/12/vol139/industrial139-02/

Pat. (1ธันวาคม 2564), ‘แฟช่นัหมนุเวียน’ ทางออกวกิฤต Fast fashion. Workpoint Today.
https://workpointtoday.com/%E0%B9%81%E0%B8%9F%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%9
9%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8
%A2%E0%B8%99-%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD/

Techsause Team, (21 กรกฎาคม 2565), Fast Fashion ตัวร้าย มาไวไปไวแต่ทิ้งร่องรอย ผลเสียต่อโลกเพียบ.
Techsauce Knowledge Sharing Platform. https://techsauce.co/sustainable-focus/fast-fashion-and-sustainable-choice

รายชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลงานชิ้นนี้:

ข้อมูล : โญสิตา จงใจ

เขียน : โญสิตา จงใจ

พิสูจน์อักษร : ณิชาพร ฉ่ำวารี

ภาพ : นัทธมน กุลชานันทน์, ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์, ณิชาพร ฉ่ำวารี