Change : จากขยะพลาสติก สู่ถนนสัญจร

       

       เป็นธรรมดาที่คนเรามักจะทิ้งของบางอย่างเมื่อใช้ประโยชน์จากมันจนหมดแล้ว เพราะมองว่าของสิ่งนั้นกลายเป็นสิ่งที่ ‘ไร้คุณค่า’ เป็นเพียง ‘ขยะ’ ที่บางคนก็ทิ้งลงถัง โดยไม่ได้ใส่ใจว่าหลังจากที่ทิ้งไปแล้ว ขยะเหล่านั้น จะมีจุดจบอย่างไร

       ปัจจุบันปัญหาขยะล้นเมืองถือเป็นปัญหาที่ใกล้ตัว และกำลังได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน เนื่องจากขยะเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหามลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ และยังเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรคต่าง ๆ อีกด้วย

       คนส่วนใหญ่ติดนิสัยทิ้งขยะอย่างมักง่าย เพราะคิดแค่ว่าเมื่อทิ้งขยะลงถุงขยะแล้ว ก็ถือว่าเสร็จสิ้นต่อหน้าที่ หากแต่การจัดการขยะในภาคครัวเรือนไม่ได้จบลงที่การทิ้งขยะให้ลงถังเท่านั้น ยังมีเรื่องของการแยกขยะเพื่อที่จะสามารถนำขยะเหล่านั้นไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากกว่าการนำขยะไปเผาหรือฝังกลบลงดิน

       แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนยังคงขี้เกียจหรือไม่รู้วิธีการคัดแยกที่ถูกต้องอยู่ดี อาจเป็นเพราะว่าในสังคมไทยไม่ได้ปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะอย่างจริงจังเท่าที่ควร ปัญหานี้จึงยังส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบันและไม่สามารถแก้ไขได้อย่างแท้จริงเสียที  

       จากข้อมูลสถิติปัญหาขยะระดับโลก จัดทำโดย Verisk Maplecroft Environment Dataset (2019) ระบุว่า สถานการณ์ขยะโลกกำลังน่าเป็นห่วง เนื่องจากในแต่ละปีมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นมากกว่า 2.1 พันล้านตัน แต่กลับมีแค่ 323 ล้านตันเท่านั้นที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แล้วแบบนี้เราจะจัดการกับขยะที่ไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้อย่างไรบ้าง ?

       

ข้อมูลประเภทถังขยะในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เปลี่ยนขยะให้มีค่า

       กระบวนการจัดการขยะพลาสติกหรือปลายทางของขยะเหลือทิ้งเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการตัดสินว่าขยะชิ้นนั้นจะกลายสภาพเป็นอะไรต่อ อย่างที่เราพอจะทราบกันมาว่า วิธีการจัดการขยะมีหลายวิธี อาทิ การฝังกลบ การใช้เตาเผาที่มีระบบบำบัดอากาศ การใช้เตาเผาเพื่อผลิตพลังงาน การทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น แต่ส่วนมากมักจะใช้วิธีเทกอง ฝังกลบ หรือเผากลางแจ้ง ซึ่งวิธีที่กล่าวข้างต้นล้วนเป็นการจัดการขยะที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก เนื่องจากเป็นการสร้างมลพิษทางอากาศและสร้างก๊าซเรือนกระจก จึงมีการวิจัยเพื่อหาวิธีการในการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

       หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาขยะที่นำเสนอโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และเอสซีจี (SCG) คือ ‘การทำถนนจากขยะพลาสติก’

       

ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี อดีตผู้อำนวยการสถานบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์

       “พลเมืองมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งนักศึกษา บุคลากร ผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีประมาณ 50,000 คน ทำให้มีขยะมากกว่า 10-20 ตันต่อวัน”

       ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการริเริ่มโครงการวิจัยถนนจากขยะพลาสติก ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เดิมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการคัดแยกขยะแต่ละประเภทออกจากกัน โดยขยะชีวมวลอย่างเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมูลสัตว์ จากคณะเกษตรศาสตร์ เศษกิ่งไม้ ใบไม้ และขยะอินทรีย์จากอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ขยะรีไซลเคิลจะนำเข้าสู่โครงการธนาคารขยะ ขยะติดเชื้อจะถูกส่งไปคณะแพทย์เพื่อทำการเผา ส่วนขยะอันตรายจะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตในการกำจัดขยะ

       ซึ่งขยะที่เหลือจากการคัดแยกข้างต้นส่วนมากจะเป็นขยะพลาสติก ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาโยธา จึงเกิดไอเดียแปรรูปพลาสติกให้เป็นถนน เนื่องจากพลาสติกเกิดจากการกลั่นน้ำมันดิบ เช่นเดียวกันกับยางมะตอย หรือ แอสฟัลต์ (Asphalt)  ทำให้สามารถใช้กระบวนการเฉพาะทางเคมี การควบคุมปัจจัยต่าง ๆ อาทิ อุณหภูมิ สัดส่วน ชนิดของพลาสติก เพื่อผสมผสานสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน และใช้ทดแทนกันได้

       จากผลการพิสูจน์ทางวิศวกรรมศาสตร์ พบว่าถนนที่มีส่วนประกอบของขยะพลาสติกมีคุณสมบัติแข็งแรงกว่าถนนยางมะตอยอย่างเดียวร้อยละ 15-30 โดยเพิ่มการยึดเกาะและรองรับต่อการเสียดสีได้ดีกว่า ช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานถึง 8 ปี ซึ่งยังลดต้นทุนในการซ่อมบำรุงถนนถึงประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้ยางมะตอย 4-5%

       “ถนนยาว 1 กิโลเมตร คือ กว้าง 6 เมตร หนา 10 เซนติเมตร จะมีขยะฝังอยู่ประมาณ 400-600 กิโลกรัม” ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี อธิบายให้ฟังถึงปริมาณของขยะที่ลดลง

       ปัจจุบัน ถนนจากขยะพลาสติกต้นแบบตั้งอยู่ที่บริเวณ ศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ เปิดให้ชุมชนโดยรอบได้ใช้สัญจรเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งช่วยลดขยะได้ถึง 1.2 ตัน เมื่อลองเปรียบเทียบกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004 (ถนนศรีวิชัย) เริ่มตั้งแต่ประตูเมืองเชียงใหม่ ผ่านสวนสัตว์เชียงใหม่ สวนรุกขชาติห้วยแก้ว อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ยาวไปถึงพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร หากเปลี่ยนเป็นถนนจากพลาสติกจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะได้มากถึง 19,200 กิโลกรัม

       นอกจากนี้การนำพลาสติกมาทำเป็นถนนจะช่วยฝังคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในถนน แทนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจากขั้นตอนการจัดการขยะด้วยการเผา หรือการฝังกลบ

       

การคัดแยกขยะของสถานบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ขั้นต้นจะแบ่งออกเป็นขยะแห้ง และขยะเปียก

       

เปลี่ยนพลาสติกในต่างแดน

       แม้การนำขยะพลาสติกมาทำเป็นถนนยังคงเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ไม่ใช่ที่เจนไน (Chennai) เมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) ประเทศอินเดีย ที่มีการนำขยะพลาสติกมาเป็นวัตถุดิบในการทำถนนตั้งแต่ค.ศ. 2004 ระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร บทความชิ้นหนึ่งของ iGreen เขียนอธิบายไว้ว่า ถนนพลาสติกเกิดขึ้นครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียเมื่อค.ศ. 2001 ก่อนที่ผู้คิดค้นจะมอบลิขสิทธิ์เทคนิคการปูถนนด้วยพลาสติกให้เป็นของสาธารณะเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ในค.ศ. 2006

       จากบทความ From trash to treasure: The untold story of India’s plastic roads ระบุไว้ว่า ข้อมูลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 กรมทางหลวงอินเดียเริ่มมีการนำโครงสร้างถนนพลาสติกไปใช้กับถนนทางหลวงแผ่นดินเป็นระยะทางกว่า 703 กิโลเมตร หลังจากที่ก่อนหน้าโครงสร้างนี้มักจะใช้กับถนนเส้นรอง การเปลี่ยนแปลงของภาคคมนาคมนี้ทำให้หลายคนมั่นใจกับถนนพลาสติกมากยิ่งขึ้น

       นอกจากประเทศอินเดียที่มีการสร้างถนนโดยใช้พลาสติกเป็นระยะทางเกือบ 1 แสนกิโลเมตรแล้ว ยังมีหลาย ๆ ประเทศที่ให้ความสนใจต่อการสร้างถนนประเภทนี้ อาทิ แอฟริกาใต้ แม็กซิโก สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงประเทศอาเซียนอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

       “หวังว่าความสำเร็จเหล่านี้จะให้ภาครัฐทำตาม ถ้ารับรู้องค์ความรู้เหล่านี้ ชุมชนก็จะเริ่มเห็นคุณค่าขยะ แยกขยะเพราะมีความต้องการจากผู้รับเหมา เมื่อเกิดวงจรนี้ขึ้นมาพลาสติกก็จะหายไปจากประเทศไทยอีกหลายล้านตันต่อปี แปลว่าโอกาสที่มันจะไปปะปนอยู่ในน้ำทะเล ไปอุดตันกระเพาะปลา กระเพาะเต่ามันก็น้อยลง” ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี เล่าให้ฟังความหวังที่อยากเห็นหลายภาคส่วนนำแนวคิดนี้ไปใช้ เพราะจากการทดสอบพลาสติกที่ถูกเสียดสีด้วยล้อรถยนต์ไม่แตกเป็นชิ้น จึงไม่ทำให้เกิดเป็นไมโครพลาสติก

       

ถนนจากขยะพลาสติกต้นแบบตั้งอยู่ที่บริเวณ ศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ
       

เปลี่ยนสังคมให้มีจิตสำนึก

       “ลองนึกภาพตามว่ากรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศเขาเอาแนวคิดนี้ไปใช้มันจะสร้างอิทธิพลมโหฬารมาก ๆ ”

       ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มขยายโครงการด้วยการนำยางมะตอยที่ผสมขยะพลาสติกมาใช้ซ่อมแซมถนนภายในมหาวิทยาลัย และหากมีการตัดถนนเส้นใหม่ ก็จะใช้ผลิตภัณฑ์จากโครงการนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ และเป็นเมืองต้นแบบของถนนพลาสติกในประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่า ในอีก 15 – 20 ปี ข้างหน้าจะต้องมีถนนจากขยะพลาสติกในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

       แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ  แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความท้าทายให้กับพฤติกรรมอันเคยชินของคนในสังคมไทย และอาจเป็นแรงกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมของเรา ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากพฤติกรรมของเราทั้งสิ้น ดังนั้นเราทุกคนจึงมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน

       “คุณเกิดมา คุณปล้นโลกมากเท่าไหร่แล้ว ใช้ทรัพยากรมามากเท่าไหร่แล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง โลกจะเอาคืนเราในเร็ว ๆ นี้” ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสีทิ้งท้าย

       ขยะ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกเรา และไม่มีทางหายไปอย่างสมบูรณ์ สุดท้ายแล้วขยะเหล่านั้นก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในชีวิตของเรา ถ้าเรายังคงใช้ชีวิตแบบเดิม ยังคงทิ้งขยะโดยไม่สนใจว่าปลายทางของมันจะไปจบที่ตรงไหน ขยะ ก็จะกลายเป็นมลพิษที่คงอยู่กับเราไปตลอด แต่หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ ด้วยการเริ่มแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง ขยะ ก็จะถูกแปรรูปให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และย้อนกลับมาหาเราอย่างเป็นมิตร 

       

อ้างอิง

Chiang Mai University

ERDI CMU

HT School – Hindustan Times

iGreen

MRG online

Verisk Maplecroft Environment Dataset

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี (การสื่อสารส่วนบุคคล, 22 กันยายน 2566)

       

ข้อมูล วิลาวัณย์ ปัญโญ

เขียน ซูไรญา บินเยาะ, สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

พิสูจน์อักษร เกตุปัญญา ยั่งกุลมิ่ง

ภาพ ธนรัชต์ ใจดี