แรงงานข้ามชาติ : กุญแจสู่ความสำเร็จเศรษฐกิจไทย
ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่สังคมและเศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงกัน การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศกลายเป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาแรงงานข้ามชาติอย่างมากโดยเฉพาะในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ แรงงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่เข้ามาทำงานเพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาจำเป็นต้องจากบ้านมาทำงานด้วยหลากหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า หรือหลีกหนีจากความยากจนและไม่มั่นคงในบ้านเกิด แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือพวกเขาได้กลายทเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆของเศรษฐกิจไทย แม้จะมีข้อถกเถียงว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานหรือทรัพยากรจากคนไทย แต่ในความเป็นจริงหลายการศึกษาชี้ให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติมีบทบาทที่สำคัญในงานที่คนไทยไม่สนใจ ทำให้ประเทศสามารถเติบโตได้โดยไม่ติดขัด
จากถิ่นยากไร้ สู่ไทยสร้างฝัน
“ เพราะว่าที่ประเทศบ้านหนูนะคะมันเป็นแบบ เรื่องรบ เรื่องทหารอะไรอย่างงี้ ลําบากค่ะ เพราะว่าต้องเข้ามาหาตังค์และก็หนีเกณฑ์ทหารกันมาเยอะ พม่านี่ส่วนมาก…ชีวิตความเป็นอยู่อะไรพวกนี้ไม่ดี เดี๋ยวนี้น้ำไฟเริ่มมีแล้วแต่เงินอะไรพวกนี้มันมันหายาก ประเทศไทยนี่ดีนะมาอยู่นี่..ถ้าเจอเจ้านายดีๆ ”
– นางสาวคำอิน แรงงานข้ามชาติผู้ลี้ภัยมาทำงานในประเทศไทย –
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันให้แรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยคือ “ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน” ในประเทศต้นทางโดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา ประเทศเหล่านี้กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ สภาพการจ้างงานในประเทศไม่มั่นคง รายได้ต่ำ และขาดโอกาสในการพัฒนาอาชีพ ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะเดินทางออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า และประเทศไทยก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญด้วยเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและความต้องการแรงงานในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการสูง แต่นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้วแรงงานข้ามชาติหลายคนยังต้องเผชิญกับ “ความไม่มั่นคงทางการเมืองและสังคม” ประเทศเหล่านี้มีความขัดแย้งทางการเมือง ความไม่สงบในพื้นที่ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนจำเป็นต้องหลบหนีออกมาเพื่อหาที่หลบภัยและสร้างชีวิตใหม่ที่ปลอดภัยกว่า ประเทศไทยซึ่งมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีกว่า จึงกลายเป็นที่พึ่งพิงของพวกเขาเหล่านี้ ดร.พัชชา ศิวพรพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ยังได้ให้ความเห็นในประเด็นความสำคัญของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไว้ดังนี้
(ภาพขณะ ดร.พัชชา ศิวพรพิทักษ์ ให้สัมภาษณ์ โดย ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์)
“ แรงงานระดับล่างก็คืองานประเภทงานก่อสร้าง งานแม่บ้าน งานพี่เลี้ยง งานทำความสะอาด หรือว่างานใช้แรงงานทั้งหลายรวมไปถึงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรกรรม หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานต่างชาติเยอะนั่นก็คืออุตสาหกรรมประมง ร้อยทั้งร้อยเลยคือแรงงานข้ามชาติหมดเลย เค้านั่งทำงานให้แต่ว่าเป็นผลผลิตของประเทศเรา เพราะฉะนั้นแรงงานข้ามชาติตรงนี้เนี่ยจำเป็นมากเลย “
– ดร.พัชชา ศิวพรพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา –
และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “โอกาสในการสร้างรายได้และการพัฒนาชีวิต” แม้ว่าค่าจ้างในประเทศไทยจะไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติ ค่าจ้างที่ได้รับยังคงสูงกว่ารายได้ในประเทศของพวกเขาอยู่มาก เงินที่หามาได้นี้ไม่เพียงแต่เพียงพอสำหรับเลี้ยงชีพ แต่ยังสามารถส่งกลับไปช่วยเหลือครอบครัวที่บ้านเกิดได้อีกด้วย แรงงานหลายคนมองว่าการเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นการลงทุนในอนาคตของตนเองและครอบครัว อย่างไรก็ตามเส้นการเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พวกเขามักเผชิญกับความท้าทายทั้งในด้านกฎหมาย การปฏิบัติทางสังคม และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ในขณะเดียวกันยังมีการถกเถียงในสังคมเกี่ยวกับผลกระทบที่แรงงานข้ามชาติมีต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยแม้จากการศึกษาในหลายด้านจะชี้ให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในหลากหลายมิติ ดังนั้น การส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงบทบาทและคุณค่าของแรงงานข้ามชาติในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย หรืออย่างน้อยที่สุดในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น
แย่งงานหรือเสริมสร้างสมดุล?
ประเด็นที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในสังคมไทยคือ “แรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานและทรัพยากรณ์ของคนไทยหรือไม่?” คำตอบที่ชัดเจนคือ ในหลายภาคส่วนแรงงานข้ามชาติไม่ได้แย่งงานจากคนไทย แต่กลับมาช่วยเติมเต็มในงานที่คนไทยไม่สนใจหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ในปี 2021 แรงงานข้ามชาติประมาณ 2.8 ล้านคนทำงานในประเทศไทย โดยประมาณ 70% ของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ทำงานในภาคการก่อสร้างและเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการขาดแคลนแรงงานไทยอยู่แล้ว หรือรายงานจากธนาคารโลกในปี 2018 ระบุว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยช่วยเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตรและการก่อสร้างประมาณ 1.5% ของ GDP ซึ่งแสดงถึงการมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ งานในภาคการเกษตรหรือการก่อสร้างที่ต้องการแรงงานที่มีความอดทนและพร้อมที่จะทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยากลำบากแรงงานข้ามชาติได้กลายเป็นกำลังหลักในงานเหล่านี้ เพราะแรงงานไทยจำนวนมากเลือกที่จะทำงานในภาคที่ต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้นและได้รับค่าตอบแทนที่ดีกว่า แม้แต่ในด้านทรัพยากร การกล่าวว่าแรงงานข้ามชาติแย่งทรัพยากรจากคนไทยนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากแรงงานข้ามชาติไม่เพียงแต่เติมเต็มช่องว่างในตลาดแรงงาน แต่ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ อ้างอิงจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมถึง 2.7 ล้านล้านบาทต่อปี และเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในอุตสาหกรรมการเกษตรและบริการ นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติช่วยสนับสนุนการสร้างงานให้กับคนไทยมากขึ้น ในขณะที่พวกเขาทำงานในตำแหน่งที่คนไทยไม่สนใจหรือไม่เพียงพอ การมีแรงงานข้ามชาติช่วยให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้ ส่งผลให้มีการสร้างงานใหม่ ๆ และเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้รับการจ้างงานมากขึ้น อย่างไรก็ดี การสนับสนุนแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่สมควร แต่รัฐบาลไม่ควรละเลยที่จะดูแลแรงงานไทยด้วยเช่นกัน การพัฒนาทักษะเพื่อรองรับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นนโยบายสนับสนุนแรงงานไทยมากมายยังคงต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน และการละทิ้งแรงงานในประเทศอาจส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ตามมา เช่น ปัญหาแรงงานไทยตกงานจำนวนมาก ปัญหาแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาการเข้าไม่ถึงสวัสดิการ ฯลฯ การสนับสนุนแรงงานทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยอย่างเท่าเทียมจึงเป็นเรื่องที่รัฐไม่ควรมองข้าม
ฟันเฟืองแห่งการเปลี่ยนแปลง
ในยุคแห่งโลกาภิวัฒน์ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คงปฏิเสธได้ยากว่าแรงงานข้ามชาติเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ทั้งในงานที่ต้องใช้แรงกายมาก เช่น การก่อสร้าง การทำงานในโรงงาน และการเกษตร ซึ่งเป็นงานที่ต้องการกำลังคนจำนวนมาก หากปราศจากแรงงานเหล่านี้ภาคการผลิตและการบริการของไทยอาจประสปัญหาการขาดแคลนแรงงานและส่งผลให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการดำเนินธุรกิจต่างๆต้องชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ปี 2016 ซึ่งศึกษาผลกระทบของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย งานวิจัยนี้ระบุว่าแรงงานข้ามชาติมีส่วนช่วยให้ภาคเศรษฐกิจที่ต้องการแรงงานมาก เช่น ภาคการก่อสร้างและการเกษตร สามารถรักษาต้นทุนการผลิตในระดับที่ต่ำได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงปี 1990-2010 การไหลเข้าของแรงงานข้ามชาติช่วยเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทยขึ้นร้อยละ 3-5 การศึกษาเพิ่มเติมในรายงานนี้ยังกล่าวถึงว่าแรงงานข้ามชาติทำให้ภาคอุตสาหกรรมและการบริการในไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น สินค้าเกษตรและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเบา
(ภาพแรงงานกำลังทำงานในไซต์ก่อสร้าง โดย ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์)
“ยิ่งถ้าเราต้องการให้เศรษฐกิจพัฒนามากขึ้นใช่ไหมคะ ก็แปลว่าอุตสาหกรรมพวก service หรือว่า industry ต่างๆเนี่ย มันยิ่งต้องแบบขยายใหญ่กว่านี้อีก แต่เรากำลังหาคนที่พร้อมจะทำงานรับ minimum wage น้อยลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเนี่ยเราต้องการแรงงานข้ามชาติมากขึ้นเรื่อยๆนะ ซึ่งพวกเค้าก็จะมากขึ้นไปพร้อมๆกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”
– ดร.พัชชา ศิวพรพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา –
อาจารย์พัชชายังได้กล่าวถึงแรงงานข้ามชาติที่ยังมีส่วนช่วยให้การผลิตสินค้าและบริการในประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก สินค้าหลายชนิดของไทยได้รับความนิยมจากนานาชาติ เนื่องจากคุณภาพและราคาที่เหมาะสม และไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กระบวนการผลิตสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
รัฐบาลไทยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านแรงงานข้ามชาติ
เป็นที่รู้กันว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาช้านานแล้ว รัฐบาลไทยเองตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานกลุ่มนี้ และได้พยายามออกมาตรการและนโยบายเพื่อคุ้มครองและสนับสนุนแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือ การลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานเหล่านี้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ มาตรการนี้ช่วยลดปัญหาแรงงานเถื่อนลงอย่างมาก และเปิดทางให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆที่ควรได้รับ นโยบายนี้ยังมุ่งเน้นไปที่การให้การศึกษาขั้นพื้นฐานแก่บุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ ให้พวกเขาได้รับโอกาสในการเติบโตอย่างมีคุณภาพในสังคมไทย การสร้างสังคมที่ยุติธรรมและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ
(ภาพขณะนายสามแรงงานข้ามชาติกำลังให้สัมภาษณ์ โดย ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์)
“..อยู่ที่บ้านทำไร่ทำนาก็อยากมาเมืองไทยเพื่อหาเงินครับ ในอนาคตก็อยากเก็บเงินไว้ซักหน่อยแล้วเปิดกิจการ เปิดร้าน หรืออะไรก็ได้ที่เป็นของตัวเอง แล้วก็วางแผนว่าจะให้ลูกเรียนที่ไทย อยากให้ลูกได้สัญชาติไทย ลูกก็เกิดเมืองไทยครับ”
– นายสาม แรงงานข้ามชาติ –
เสียงจากนายสาม แรงงานข้ามชาติประจำไซต์ก่อสร้างได้เล่าถึงความฝันในอนาคตของตนเอง แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มาทำงานในประเทศไทยด้วยความฝันที่เรียบง่าย นั่นคือการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับตนเองและครอบครัว แม้จะมีนโยบายมากมายที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาล แต่ในทางปฏิบัติแน่นอนว่ายังมีอุปสรรคและความท้าทายอยู่มาก แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังคงต้องเผชิญกับสภาวะการทำงานที่ไม่เป็นธรรม แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังคงได้รับค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต และการก่อสร้าง ข้อมูลจาก ILO ระบุว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มักได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ประมาณ 313-336 บาทต่อวัน โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่มีเอกสารหรือทำงานอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งรวมถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานโดยไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลา การขาดสิทธิประกันสังคม และการไม่มีการคุ้มครองด้านสุขภาพและความปลอดภัยทางการทำงาน ในปี 2019 ILO รายงานว่า 80% ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล และยังมีสถิติที่สำคัญเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย พบว่ามีเพียง 20% ของแรงงานข้ามชาติที่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและสิทธิทางกฎหมายได้ งานว่าการตรวจสอบแรงงานที่เป็นธรรมยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากมีจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอในการตรวจสอบสถานประกอบการขนาดเล็กที่มักใช้แรงงานข้ามชาติ
แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่สมควรได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่า การที่พวกเขาได้ทำงานเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาเศรษฐกิจของเราคือบทบาทที่ไม่อาจมองข้าม รัฐบาลจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการดูแลพวกเขา ให้ได้รับสิทธิและโอกาสที่สมควร และในฐานะประชาชน ผู้อ่านทุกท่านก็ควรให้การสนับสนุนแรงงานข้ามชาติในสังคม ไม่เพียงเพราะพวกเขามีส่วนช่วยเหลือเศรษฐกิจของเราเท่านั้น แต่เพราะพวกเขาคือเพื่อนมนุษย์ที่สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม การสร้างสังคมที่ยุติธรรมและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ พวกเขาคือกำลังหลักที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า แม้จะมีความท้าทายและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสังคม แต่ข้อเท็จจริงคือ แรงงานข้ามชาติไม่ได้แย่งงานหรือทรัพยากรของคนไทย แต่กลับมาเติมเต็มในงานที่ขาดแคลน แรงงานเหล่านี้สมควรได้รับการคุ้มครองและยอมรับในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมั่นคง
แหล่งอ้างอิง
Human Rights and Development Foundation. (2023, August 15). **แรงงานข้ามชาติ: ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ถูกมองข้าม**. Human Rights and Development Foundation. https://hrdfoundation.org/?p=3765
Charamporn Holumyong. (2016). **Migrant workers and social welfare in Thailand**. Institute for Population and Social Research, Mahidol University. https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/1.1_Charamporn_IPSR2016_fulltext.pdf
Bank of Thailand. (2021). **แรงงานข้ามชาติกับเศรษฐกิจไทย: บทบาทและความสำคัญ**. Bank of Thailand. https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-64-2/the-knowledge-64-2-6.html
Faculty of Mass Communication, Chiang Mai University. (n.d.). **แรงงานข้ามชาติ: ชีวิต สิทธิ และการต่อสู้**. Faculty of Mass Communication, Chiang Mai University. https://www.masscomm.cmu.ac.th/
Charamporn Holumyong. (2016). **Migrant workers and social welfare in Thailand**. Institute for Population and Social Research, Mahidol University. https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/1.1_Charamporn_IPSR2016_fulltext.pdf
Manager Online. (2023, September 15). **สถิติแรงงานข้ามชาติในไทยตลอด 15 ปี**. https://mgronline.com/daily/detail/9660000099130
Sajirawattanakul, A. (2024, April 10). **แรงงานข้ามชาติ: ความเหลื่อมล้ำที่ต้องได้รับการแก้ไข**. ThaiPublica. https://thaipublica.org/2024/04/foreign-worker-statistics-for-15-years-in-thailand/
The 101 World. (2020, September 14). **ช่องว่างระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ**. The 101 World. https://www.the101.world/the-gap-between-thais-and-migrant-workers/
Voice TV. (2021, August 10). **แรงงานข้ามชาติในไทย: เสียงที่ไม่เคยได้ยิน** [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=VFNqS8WySDY
รายชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลงานชิ้นนี้
ข้อมูล : ฐิตารีย์ ลอยพริ้ง, โญสิตา จงใจ, ณิชาพร ฉ่ำวารี
เขียน : ฐิตารีย์ ลอยพริ้ง
พิสูจน์อักษร : ณัฐชา เครื่องคำ, ณิชาพร ฉ่ำวารี
ภาพ : ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์