กำแพงที่มองไม่เห็นและเสียงที่ไม่ได้ยิน…ของแรงงานข้ามชาติ
แรงงานข้ามชาติมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคการผลิต ก่อสร้าง เกษตรกรรม และบริการ สถิติจากกระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยประมาณ 3.9 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แม้ว่าแรงงานเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มกำลังแรงงานในประเทศ แต่พวกเขายังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคทางด้านสิทธิและกฎหมายรวมถึงอคติจากคนในสังคม นำไปสู่การเลือกปฏิบัติและถูกกีดกันในที่สุด
ข้ามชาติ หรือ ต่างด้าว..ใครบัญญัติ?
หนี่งในอคติที่เราอาจไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน คือคำว่า “แรงงานต่างด้าว” แม้คำนี้จะถูกใช้โดยทั่วไปในประเทศไทยและถูกบัญญัติไว้โดยกระทรวงแรงงานว่า บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่ได้เดินทางมาทำงานในแผ่นดินประเทศไทย โดยใช้กำลังกายความรู้ความสามารถเพื่อประสงค์ผลตอบแทนเป็นค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใด แต่หากสังเกตให้ดีคำเหล่านี้มักจะใช้เรียกกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มทักษะต่ำ ในขณะที่แรงงานชนชั้นอื่นหรือแรงงานจากประเทศอื่นไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือแรงงานจากฝั่งยุโรปและอเมริกา จะถูกเรียกว่า “ต่างชาติ” ทั้งที่พวกเขาก็คือแรงงานเช่นเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคและอคติอย่างแรกที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญ ซึ่งถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ในอดีตโดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลาย ๆ ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคม พยายามสร้างชาติด้วยลัทธิชาตินิยม แนวคิดนี้ทำให้เกิดการจำกัดเชื้อชาติ โดยเฉพาะคำเรียกขานที่สร้างความแปลกแยกอย่างคำว่า “ต่างด้าว” ที่ฟังแล้วเกิดความรู้สึกห่างเหินก็เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างชาตินิยมเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของกันของรัฐ ทำให้คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นคนนอกกลุ่มมากกว่าจะเป็นเพื่อนร่วมสังคมไม่ใช่เพียงแต่คำเรียกขานที่สร้างอคติเท่านั้น แต่ในบทเรียนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเองก็ยังคงปลูกฝังความเป็นชาตินิยมทำให้เรามองประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าเป็นศัตรู
ในองค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมิใช่องค์กรของรัฐ (NGO) หลายแห่ง มักใช้คำว่า “แรงงานข้ามชาติ” เพื่อเน้นย้ำถึงความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมของแรงงาน แต่ในภาษาราชการไทยยังคงใช้คำว่า “แรงงานต่างด้าว” อย่างไรก็ตามเอกสารราชการภาษาอังกฤษกลับเลือกใช้คำว่า “foreign workers” แทนที่จะใช้ “migrant workers” การเลือกใช้คำนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูให้เกียรติแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสหภาพยุโรป (EU) (Pipob Udomittipong, 2567) เช่นนี้เราอาจตั้งคำถามได้ว่าต้นตอของอคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติมีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐตั้งแต่แรกหรือไม่
(ภาพขณะพี่คำอิน แรงงานข้ามชาติ กำลังทำงาน โดย ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์)
แค่ “ต่างแดน” ทำไมถูกแบ่งให้ “ต่างกัน”
“ตอนมาแรก ๆ คนก็มักจะดูถูกค่ะ ต่างด้าวบ้าง ทำไมพูดไม่ชัดล้อเลียนเรา มาทำไม มาทำอะไร ในประเทศนี้”
เสียงของพี่คำอิน หนึ่งในแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ที่อพยพจากสงครามในประเทศพม่าเพื่อมาสร้างชีวิตใหม่ในประเทศไทย พี่คำอินเล่าถึงความยากลำบากขณะที่อาศัยอยู่ในพม่าว่า ในช่วงแรกไม่มีแม้กระทั่งน้ำและไฟให้ใช้ แม้ภายหลังน้ำและไฟเริ่มเข้าถึงแต่ชีวิตความเป็นอยู่กลับไม่ดีขึ้น เนื่องจากค่าแรงที่ต่ำเกินไป จึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อมาสร้างชีวิตใหม่ แต่เมื่อมาถึงก็ต้องเผชิญกับอคติและคำดูถูกจากคนในพื้นที่
เสียงของพี่คำอินเป็นหนึ่งในเสียงเล็ก ๆ ของแรงงานข้ามชาติและยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมเดียวกัน จากบทความ “อคติที่สร้างระยะห่างระหว่างคนไทยและแรงงานข้ามชาติ” โดย The 101 กล่าวว่า ในสังคมไทยความเข้าใจและทัศนคติต่อแรงงานข้ามชาติมักถูกครอบงำด้วยอคติและความเข้าใจผิด โดยข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ UN Women ระบุว่า คนไทยร้อยละ 40 เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 53 ยังมองว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะต่ำ (low-skilled workers) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
คนไทยจำนวนไม่น้อยมองแรงงานข้ามชาติผ่านภาพจำเชิงลบ ทัศนคติแบบนี้อาจถูกสร้างขึ้นและผลิตซ้ำผ่านสื่อหรือประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของคนไทยเอง รวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดความกังวลว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาแย่งงาน หรือก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม จากบทสัมภาษณ์ของ ดร.พัชชา ศิวพรพิทักษ์ อาจารย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติไว้ว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งเป็นสายงานที่คนไทยไม่นิยมทำกันแล้ว ความเข้าใจที่ว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาแย่งงานจึงเป็นความเข้าใจที่ผิด
“…เวลาประเทศเติบโตต้องมีตึกเพิ่มขึ้น ต้องมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ถ้าเราอยู่ในที่ที่การบริการหาคนงานไม่ได้ การก่อสร้างหาคนงานไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น?
ค่าแรงของคนกลุ่มนี้มันจะแพง อะไรที่ขาดแคลนราคาจะแพงขึ้น มันจะกระทบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการที่เรามีคนงานจำนวนมากเป็นข้อดี มันทำให้การก่อสร้างถูก การบริการถูก ต้นทุนทางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะน้อยลง”
แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในระดับมหาภาค แต่การขาดความรู้ ความเข้าใจต่อเรื่องนี้ ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งทางด้านสิทธิ กฎหมาย และสังคม การปรับตัวของพวกเขาในสังคมไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
(ภาพ ดร.พัชชา ศิวพรพิทักษ์ ขณะกำลังให้สัมภาษณ์ โดย ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์)
รอยแผลที่มองไม่เห็น
อคติเรื่องเชื้อชาติ เพศ และมุมมองต่องานบางประเภทที่ถูกมองว่าไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานบางส่วนได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ และทำงานเกินเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน นอกจากอคติแล้วแรงงานเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางกฎหมายซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานและไม่ได้รับการคุ้มครองที่ครอบคลุม
“ส่วนมากคนไทยได้เงินเยอะกว่าค่ะ คนไทยได้รายวันเยอะกว่า ส่วนงานนี่เขาจะโยนมาให้เราทำเยอะมาก ถ้าทำงานกับคนไทย บางคนก็ใจดี บางคนก็เห็นแก่ตัว”
พี่คำอินเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในประเทศไทยซึ่งมีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี นอกจากค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกับคนไทยแล้ว สังคมในที่ทำงานก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่พี่คำอินต้องเจอ พี่คำอินเล่าว่าถูกกลั่นแกล้งและต่อว่าในที่ทำงานหลายครั้ง และในหลายครั้งนั้นก็มักจะถูกเมินเฉยจากผู้ว่าจ้างเพียงเพราะเป็นแรงงานข้ามชาติ
“…ไม่เชื่อค่ะ ไม่เชื่อเลย เราก็ให้เขาไปดูกล้องวงจรปิด เขาก็เห็น แต่เขาไม่เอาออก เขาให้เราออก เพราะเขามาอยู่นานกว่าค่ะ เขามาอยู่เป็นสิบกว่าปี เราเพิ่งมาอยู่แค่ไม่เกินสองปี เขาไม่เชื่อเราค่ะ เขาเชื่อคนที่ทำกับเรา”
อคติส่งผลให้แรงงานข้ามชาติถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่แตกต่างจากคนในประเทศ ถูกกีดกันจากสังคมไทย ทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน ทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะและความก้าวหน้าในอาชีพ และถูกตีตราว่าเป็น “ปัญหา” หรือ “ภัยคุกคาม” ต่อสังคม
นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและคำพูด อคติที่ฝังลึกในสังคมไทยทำให้พวกเขาเป็นเป้าหมายของการเหยียดหยามหรือการทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติ การถูกละเมิดสิทธิโดยนายจ้าง การถูกข่มขู่จากชุมชน หรือการใช้กำลังจากผู้มีอำนาจ เช่น ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
(ภาพป้ารำผู้ว่าจ้างและพี่คำอิน โดย ณิชาพร ฉ่ำวารี)
ก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
อคติจากคนในพื้นที่ทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิของพวกเขาถูกมองข้ามไป หลายครั้งแม้จะไม่ได้แสดงออกเชิงลบ แต่กลับเพิกเฉยต่อปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องเผชิญ การยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสังคมที่น่าอยู่
การแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนานโยบายที่ชัดเจนและครอบคลุม การดำเนินนโยบายที่เน้นการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างเท่าเทียมกับแรงงานในประเทศและการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างเป็นเรื่องที่ไม่อาจละเลยได้ นโยบายเหล่านี้ควรสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติมีโอกาสในการทำงานตามศักยภาพของตนเอง โดยได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรม
“…ถ้ามีโอกาสเราสามารถรับแรงงานที่มีศักยภาพจากประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ว่าไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ citizenship(สัญชาติ) เค้าอยู่ไทย 30 ปี ใช้ของแบบไทยทุกอย่าง ลูกเค้าเรียนโรงเรียนไทย แต่เค้าอยู่ด้วยความไม่มั่นคง ต้อง register(ลงทะเบียน) ใหม่ทุกปี อาจารย์คิดว่ามันเป็นโอกาส ถ้าเราเปลี่ยนนโยบายตรงนี้ก็อาจจะดึงดูดคนที่มีศักยภาพมาเป็นประชากรประเทศเราได้…”
ข้อเสนอแนะจาก ดร.พัชชา ศิวพรพิทักษ์ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มประชากรวัยทำงานโดยเฉพาะในสังคมที่กำลังเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุ ประเทศไทยเองก็ยังต้องการประชากรคุณภาพ และแรงงานข้ามชาติโดยเฉลี่ยแล้วมักเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพมากกว่าคนทั่วไป เพราะกว่าจะได้ชื่อว่าข้ามชาติต้องอดทนต่อความยากลำบากและต้องอาศัยความมั่นใจอย่างมาก ประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นแรงงานที่อายุน้อย อย่างไรก็ตามในการพัฒนานโยบายต้องอาศัยมุมมองที่รอบด้านและการจัดการอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะเรื่องของสังคมวัฒนธรรมที่อาจจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
การยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและลดอคติทางสังคมต่อแรงงานข้ามชาติเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทย เมื่อสามารถเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกกีดกันหรือกดดันจากอคติทางสังคม สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
หากประเทศไทยสามารถพัฒนานโยบายที่ครอบคลุมและลดอคติทางสังคมต่อแรงงานข้ามชาติได้สำเร็จ นี่จะเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความเป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมและความยั่งยืนในอนาคต สิ่งเหล่านี้คงต้องมองย้อนและตั้งคำถามกลับไปถึงรัฐบาลว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึกในสังคมได้อย่างไร และก้าวต่อไปของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
แหล่งอ้างอิง
ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ. (2552). บทสังเคราะห์นโยบายยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและแรงกดดันในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติของประเทศไทย.
ไทยพีบีเอส. (2567). ไทยติดอันดับ 6 ประเทศน่าอยู่-ทำงานมากสุดในโลก. ค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/341764
workpointtoday. (2564). Thailand Policy Lab x TFF: “ลดอคติ เพิ่มศักยภาพ” นโยบายเพื่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง. ค้นจาก https://workpointtoday.com/thailand-policy-lab-x-tff-lesson-from-the-crisis-migrant-labour-th/
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว. (2567). พิพัฒน์แก้ปัญหาคนต่างด้าวลักลอบเข้าทำงาน ตรวจด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เน้นห้ามประกอบอาชีพสงวนคนไทย. ค้นจาก https://www.doe.go.th/prd/alien/news/param/site/152/cat/7/sub/0/pull/detail/view/detail/object_id/84413
สำนักงานจัดหางานจังหวัดสิงห์บุรี (2559) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคนต่างด้าว ค้นจาก https://doe.go.th/prd/singburi/service/param/site/144/cat/17/sub/0/pull/detail/view/detail/object_id/99
The 101 .Word (2560) อคติที่สร้างระยะห่างระหว่างคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ค้นจาก
Pipob Udomittipong. (2567, กันยายน 7). “แรงงานข้ามชาติ” เป็นคำที่เอ็นจีโอใช้ “แรงงานต่างด้าว” เป็นคำที่ราชการใช้ แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ราชการจะใช้ว่า “foreign workers” ไม่ใช้ “migrant workers” ด้วยซ้ำ เพื่อโชว์ต่างชาติ โชว์ EU ว่าเราให้เกียรติเขา ส่วนคำว่า “แรงงานอพยพ” เท่าที่ทำงานแปลมา ไม่ค่อยมีคนใช้ เพราะคำว่า “อพยพ” มันจะทำให้คนนึกถึง refugee/asylum seeker [คอมเมนต์จากโพสต์ของ Yingcheep Atchanont เนื้อหาเกี่ยวกับคำเรียกแรงงานข้ามชาติ]. Facebook . https://www.facebook.com/100000620045796/posts/pfbid0sPmyLwArBmXtM7s2oiAMag3c4WtGJ8ntH54HyE1ZS6JLbvDUkQkh5wgoJNg59nE8l/?
รายชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลงานชิ้นนี้
ข้อมูล : มัลฑิกานต์ หลักฐาน, ณิชาพร ฉ่ำวารี , ฐิตารีย์ ลอยพริ้ง, โยสิตา จงใจ
เขียน : มัลฑิกานต์ หลักฐาน , ณิชาพร ฉ่ำวารี
พิสูจน์อักษร : ณิชาพร ฉ่ำวารี , ณัฐชา เครื่องคำ
ภาพ : ภูมิพัฒน์ ใจมาสิทธิ์ , ณิชาพร ฉ่ำวารี