ยุคเปลี่ยนผ่านของเครื่องแบบนักเรียน

ชุดนักเรียนเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในสังคมมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่การแต่งกายด้วยชุดนักเรียนนี้ก็ยังคงถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “ควรที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกกฎระเบียบเหล่านี้หรือยัง”

บางฝ่ายก็กล่าวว่า ไม่ควรจะยกเลิกกฎระเบียบการแต่งกาย เพราะว่าการใส่ชุดนักเรียนทำให้ดูเหมาะสมกับการเป็นนักเรียน เป็นการบ่งบอกว่าบุคคลนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ ในทางกลับกันก็มีอีกฝ่ายที่คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรยกเลิกเพราะการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนนั้นไม่ได้เป็นเครื่องมือวัดคุณค่าของคนและชุดนักเรียนก็ไม่ได้มีผลต่อการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน การมีกฎระเบียบเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของนักเรียน ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของตนมากขึ้นย่อมทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆในอดีตที่ดูจะเก่าเกินไปและควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าสามารถเทียบชั้นกับต่างประเทศที่ยกเลิกกฎการแต่งกายแล้วหันไปพัฒนาด้านการศึกษาให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันสุดขั้วนั้นมาจากกลุ่มคนที่มีอายุห่างกันมากในอนาคตนี้ก็ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่ากฎระเบียบการแต่งกายชุดนักเรียน-ทรงผม นี้จะถูกแก้ไขภายในเวลาอีกกี่ปีหรือจะคงอยู่แบบนี้ต่อไปเหมือนที่ผ่านมา

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อประเด็นเรื่องกฎระเบียบการแต่งกาย-ทรงผมนักเรียน โดยจะศึกษาและวิเคราะห์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ผ่านเหตุการณ์เรียกร้องเรื่องสิทธิและเสรีภาพของนักเรียน ซึ่งสิ่งที่คาดว่าผู้อ่านจะได้รับจากบทความนี้ก็คือ ผู้อ่านจะเกิดการคิดตามและเข้าใจในแต่ละประเด็น รวมไปถึงผู้อ่านจะสามารถให้คำตอบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเรื่องเครื่องแบบ-ทรงผมนักเรียนนั้น ควรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้หรือยัง

จุดเริ่มต้นของชุดนักเรียน

ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าชุดเครื่องแบบนักเรียนนั้นถูกคิดค้นเมื่อใด แต่มีความเชื่อว่าประเทศอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มให้แต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนในปี ค.ศ.1552 ส่วนประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลชุดนักเรียนเข้ามาพร้อมกับการพัฒนาด้าการศึกษาในสมัยรัชกาลที่5 ภายหลังได้เกิดพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียนในปี พ.ศ. 2482 เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้อยู่ในสภาพนักเรียนนั้นแอบอ้าง หลอกลวงผู้อื่น ซึ่งในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียนมีการระบุถึงลักษณะของเครื่องแบบที่ชัดเจนและขึ้นอยู่กับระเบียบที่กระทรวงธรรมการกำหนดภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในพระราชบัญญัติตามยุคสมัย อาทิเช่น ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2ซึ่งทำให้หลายครัวเรือนประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ทางผู้เขียนเองก็คิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงกฎตามสถานการณ์บ้านเมือง เพราะชุดนักเรียนนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญถ้าเทียบกับปัจจัย 4 ที่กำลังขาดแคลนในวิกฤตสงคราม แต่ทั้งนี้เมื่อเหตุการณ์ต่างๆสงบลงแล้วกฎระเบียบการแต่งตัวนั้นก็ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้ง

อิทธิพลของสงคราม

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 รายงานว่า ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวไทย เผยถึงเรื่องความเป็นมาของทรงผมนักเรียนว่า ประเทศไทยรับอิทธิพลเรื่องทรงผมจากประเทศญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่2เมื่อเกิดโรคระบาดที่มีสาเหตุมาจากเหาทำให้ประชาชนในยุคนั้นจึงนิยมตัดผมสั้น ภายหลังได้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนเรื่องความยาวและลักษณะของทรงผมทั้งนักเรียนชายและหญิงอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยไปในทิศทางเดียวกันมากถึง 2 ครั้งซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2515 และ พ.ศ.2518เป็นเวลาที่ยาวนานเกือบ 50 ปีที่ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบเรื่องทรงผมขึ้นอีกครั้ง ในปีพ.ศ.2563ซึ่งใจความสำคัญนั่นคือ นักเรียนชายและนักเรียนหญิงสามารถไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับสถานะความเป็นนักเรียน แต่ไม่อนุญาตให้มีการำสีผม การตัดแต่งทรงผมเพิ่มเติม ในมุมมองของผู้เขียนที่เคยอยู่ในสถานะนักเรียนในช่วงที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงกฎและหลังจากเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแล้วมองว่า กฎที่กระทรวงศึกษาธิการได้ออกเกี่ยวกับเรื่องทรงผมนั้นยังไม่เป็นที่เข้าถึงของทุกโรงเรียน ทุกสถาบัน เพราะมีการใช้คำที่คลุมเครือเกินไปสำหรับบางส่วน เช่น การที่จะให้ไว้ผมได้ในระดับความสั้น-ยาว ที่เหมาะสม สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนที่มีกฎแตกต่างกันไป กรณีที่เห็นได้ชัดจากโรงเรียนตนเองนั้นคือ นักเรียนชายนั้นห้ามตัดผมทรงสกินเฮด เพราะเป็นการทำผิดระเบียบแต่ในโรงเรียนอื่นนั้นสามารถทำได้ตามปกติ แม้แต่ศูนย์ฝึก รด.นี้ก็ยังอนุญาตให้ทรงผมสกินเฮดเป็นทรงผมที่ถูกระเบียบเรียบร้อย ความไม่เท่าเทียมจึงเกิดขึ้นภายใต้กฎที่ไม่ชัดเจนและเกิดการเปรียบเทียบในที่สุด

แค่ตั้งคำถาม

หนึ่งในซีรี่ย์ภาพยนตร์ที่เคยถูกนำเสนอเกี่ยวกับปัญหาการใส่ชุดนักเรียนที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือเรื่อง “ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น” ที่นำเสนอถึงการตั้งคำถามในการใส่ชุดนักเรียนผ่าน “วิน” ตัวละครหลักที่มีแนวคิดสุดโต่งผู้ที่ต้องการปฏิวัติการใส่ชุดนักเรียนภายในโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากที่วินใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียนเพียงคนเดียวเมื่อถูกคุณครูเรียกให้ออกมารับโทษ วินจึงถามคำถามว่าเพราะเหตุใดนักเรียนถึงต้องใส่ชุดนักเรียนสิ่งหนึ่งที่แม้ว่าซีรี่ย์เรื่องนี้จะถูกเผยแพร่ไปแล้วกว่า 10 ปีแต่ค าตอบในมุมมองของผู้ใหญ่ก็จะอธิบายด้วยเหตุผลเดิมๆ อาทิเช่น การใส่ชุดนักเรียนนี้เป็นเรื่องของกฎระเบียบที่คงไว้มาหลายสิบปีแล้ว เป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบทอดกันคำตอบนี้อาจจะยังไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันที่ชัดเจนได้ ฝ่ายวินเองก็ยิ่งสงสัยว่าถ้าสิ่งที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นสิบปีนั้นสามารถคงอยู่ได้เพราะเหตุใด ในมุมมองของผู้เขียนนั้นอาจจะมองว่าวินเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะล้มล้างหรือทำให้กฎระเบียบการแต่งกายชุดนักเรียนหายไป แต่เป็นเพียงการแสดงออกที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้คนในยุคก่อนนั้นสามารถอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมเหล่านั้น แต่ในมุมมองของเหล่าอาจารย์ในภาพยนตร์นั้นกลับมองว่าการกระทำเหล่านี้เป็นความเอาแต่ใจ ตั้งใจแกล้ง เพราะคำตอบที่ให้ไปว่ากฎการแต่งกายนั้นอยู่มาเป็นสิบๆปีโดยที่ไม่มีใครเดือดร้อนก็เพียงพอแล้วสำหรับเรื่องนี้วินได้มีการถามถึงเหตุผลกับอาจารย์เพิ่มเติมว่าเพราะเหตุใดเขาถึงควรใส่ชุดนักเรียน เหตุผลเพิ่มเติมจากฝั่งผู้ใหญ่นั่นคือ การใส่ชุดนักเรียนนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสถานภาพนักเรียน อีกทั้งการแต่งกายด้วยเครื่องแบบของโรงเรียนก็เป็นความภาคภูมิใจด้วยเช่นกัน แต่ในมุมมองของวินก็คิดว่าการได้มาเรียนก็เป็นความภาคภูมิใจแล้ว จึงถูกอาจารย์ฝ่ายวินัยไล่ออกจากห้องไปพร้อมกับตำหนิว่าวินไม่รับฟังเหตุผล ต่อให้จะอธิบายในมุมมองของอาจารย์ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ผู้เขียนมีความรู้สึกเกี่ยวกับซีรี่ย์ในเรื่องนี้ว่าสามารถแสดงให้เห็นถึงความคิดที่แตกต่างกันของคนแต่ละยุค เพราะผู้ใหญ่บางกลุ่มก็ไม่ได้รับฟังหรือสามารถสร้างความกระจ่างให้แก่เด็กยุคใหม่ได้ ดั่งเช่นอาจารย์ฝ่ายวินัยที่ไม่สามารถให้คำตอบที่วินรู้สึกว่าเป็นเหตุผลที่ควรใส่ชุดนักเรียนได้ก็จะไล่วินออกจากห้องไปเพราะคิดว่าเหตุผลของตัวเองเพียงพอผู้ใดฝ่าฝืนกฎการใส่ชุดนักเรียนนั้นยังเปรียบเสมือนการบังคับให้เด็กอยู่ในกฎระเบียบที่วางไว้ ในสถานศึกษาหลายๆแห่งก็ยังมีการละเมิดกฏของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563เช่น การกล้อนผมให้แหว่งเพื่อให้นักเรียนอับอาย ทั้งที่กฎกระทรวงนั้นอาจารย์ไม่มีสิทธิจะกระทำพฤติกรรมเหล่านั้นกับนักเรียน ผมเคยคิดว่าไม่ใช่แค่ฝ่ายนักเรียนที่ฝ่าฝืนกฎแต่รวมไปถึงสถานศึกษาบางแห่งก็เช่นกัน ปัญหาการกล้อนผมการขู่บังคับนักเรียนยังคงมีอยู่อย่างสม่ำเสมอเว็บไซต์ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ว่า ดร.กัลยานี ธรรมจารีย์ ประธานกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน จ.ศรีสะเกษ เผยถึงกรณีที่มีข่าวปรากฏใน facebook ในประเด็นที่มีเด็กนักเรียนหญิงถูกอาจารย์กล้อนผมจนเกิดความอับอายว่า การกล้อนผมนักเรียนไม่ใช่เรื่องใหญ่ เนื่องจากในขณะนั้นเป็นช่วงที่สถานศึกษากำลังเปิดเทอมจึงอยากให้ผู้ปกครองของเด็กและโรงเรียนทำเหมือนไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น อยากให้ฝ่ายนักเรียนปรับความเข้าใจกับทางโรงเรียนเพื่อที่จะเป็นผลดีที่สุดเป็นเรื่องที่ดูย้อนแย้งกับประเทศไทยที่สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมด้านสิทธิและเสรีภาพ เพราะแม้แต่ผู้ที่มีชื่อเสียงมีตำแหน่งนั้นกลับมองว่าการกระทำของอาจารย์ที่ฝ่าฝืนกฎกระทรวงนี้เป็นเรื่องเล็ก อีกทั้งไม่อยากให้เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไปเพราะไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายที่จะกลายเป็นปัญหาการออกมาเรียกร้องในอนาคต ทั้งที่ผู้ที่ทำงานในด้านเด็กและเยาวชนควรจะมีความเข้าใจมากกว่านี้การกล้อนผมเป็นการฝึกให้คุ้นชินกับการละเมิดสิทธิ โรงเรียนเปรียบเสมือนสังคมย่อส่วนที่จะสะท้อนไปยังสังคมใหญ่การลงโทษนักเรียนด้วยการกล้อนผมจึงเป็นการละเมิดสิทธิเหนือร่างกายของผู้อื่น ผู้ที่เป็นครูต้องนึกถึงหลักสิทธิและเสรีภาพ หากมีเหตุการณ์ลงโทษนักเรียนแบบนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อเด็กในอนาคต ดังนั้นเรื่องการละเมิดสิทธิจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรถูกมองข้าม (รังสิมันต์ โรม,2563)อีกหนึ่งประเด็นที่สอดคล้องกับเรื่องการละเมิดสิทธิคือเรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพ เพราะในปัจจุบันแม้จะมีการเรียกร้องความเท่าเทียมให้สำหรับผู้ที่เป็นเพศทางเลือก LGBT+ แล้วก็ตามแต่ก็ยังมีสถานศึกษาหลายแห่งที่ยังละเมิดและมองเรื่องประเด็นนี้เป็นเรื่องตลก การกล้อนผมนักเรียนในบางเคสอาจจะทำให้สูญเสียความมั่นใจ เกิดความน้อยใจที่ตนนั้นกลายเป็นตัวตลกในสายตาผู้อื่นจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายก็มีในหลายเคส ดังเช่นที่คุณรังสิมันต์ได้กล่าวไว้ สถานศึกษาและอาจารย์ควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชน ควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยไม่ใช่ผู้ที่ท าลายความมั่นใจหรือชีวิตของเด็ก

ความสุขของการมาเรียน

หนึ่งในประเทศที่ได้รับการพูดถึงในแง่ความเป็นอยู่ของประชากรที่ดีนั่นคือประเทศฟินแลนด์ นอกจากจะเป็นประเทศที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขมากที่สุดในโลกแล้วยังมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องการแต่งกายไปเรียน นักเรียนควรแต่งกายมาเรียนด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สะดวก ประเทศฟินแลนด์นอกจากจะให้อิสระในเรื่องการแต่งตัวแล้วก็ยังเปิดโอกาสให้ทำสีผมหรือทรงผมที่นักเรียนอยากทำด้วย แม้จะมีผู้คนบางกลุ่มที่คิดว่าการใส่ชุดนักเรียนนั้นจะทำให้เด็กๆไม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆที่ไม่

จำเป็นแต่ประเทศฟินแลนด์ก็สามารถพิสูจน์ให้ทั่วโลกได้เห็นว่าความคิดที่จะปิดกั้นนักเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป อีกทั้งเรื่องการลงโทษนักเรียนก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกยอมรับผู้สอนจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียนทำให้นักเรียนตระหนักถึงความถูก-ผิดได้ด้วยตนเอง(Chidchanoke Kasetpibal,2563) จากเรื่องกรณีของฟินแลนด์นั้นทำให้ทุกคนเห็นได้ว่าระบบในหลายๆด้านของประเทศฟินแลนด์นั้นมีการให้สิทธิและเสรีภาพกับทุกคนอย่างเต็มที่ แต่ในสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นก็จะต้องอยู่ในขอบเขต ในความเหมาะสม อาจจะเป็นเรื่องที่ยากหากจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเพราะวัฒนธรรมของประเทศไทยนั้นถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนาน ในรูปแบบของการบังคับ การข่มให้กลัวโดยที่ไม่มีสิทธิที่จะได้เรียนรู้หรือทดลอง หนึ่งในความคาดหวังของทางผู้เขียนเองก็คาดว่าในอนาคตหากเยาวชนในปัจจุบันได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อาจจะเกิดความเข้าใจและสามารถนำกรณีศึกษาต่างๆที่เคยเกิดขึ้นมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงได้

จุดเริ่มต้นแห่งความหลากหลาย

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเป็นโรงเรียนลำดับแรกๆที่มีการเปิดกว้างเรื่องการแต่งกาย โดยที่ผู้อำนวยการโรงเรียนได้อนุญาตให้เด็กนักเรียนแต่งกายด้วยชุดไปรเวทมาเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้งแม้ว่าในช่วงแรกจะได้รับเสียงวิจารณ์อย่างหนักมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ในระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562จวบจนถึงปัจจุบันในปีพ.ศ.2566ทางโรงเรียนก็ได้ยึดมั่นในคติที่ว่าการให้สิทธิและเสรีภาพแก่ผู้อื่นไม่ใช่ว่าเป็นการปล่อยหรือตามใจแก่อีกฝ่ายจนเสียประโยชน์ แต่เป็นการมอบโอกาสและผู้ที่ได้รับโอกาสนั้นก็จะเกิดความเข้าใจรวมไปถึงการแสดงออกอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนแล้วก็ยังมีสถานศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยที่เริ่มเปิดกว้างในการแต่งกาย เช่นมหาวิทยาลัยขอนแก่นอนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศทางเลือกได้ ในปี พ.ศ.2565แม้แต่โรงเรียนสาทิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีความเชื่อว่าการแต่งกายไม่ได้มีปัญหาต่อการเรียนก็ได้เปิดอิสระให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดไปรเวทมาเรียนได้อีกด้วย ในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงอาจจะยากลำบากแต่ผู้เขียนก็เชื่อว่าระยะเวลานั้นจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้

สรุป

แม้ว่าจะมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องการใส่ชุดนักเรียนก็ตาม ทางผู้เขียนก็ยังคิดว่าชุดนักเรียนนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่จนถึงขั้นรับไม่ได้เสมอไปแต่เพราะวัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังมาเป็นเวลานาน ผนวกกับการปลูกงฝังให้อยู่ในกฎโดยไม่มีเหตุผลที่มาอธิบายหรือไขข้อสงสัยได้ นั่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ผิดหากจะมีผู้ที่เห็นต่างกับเรื่องนี้ แต่การเห็นต่างนั้นไม่ใช่เพื่อความแตกแยกดังนั้นจึงไม่ควรมีบทลงโทษหรือมองว่าผู้ที่เห็นต่างนั้นเป็นคนไม่ดี ในอนาคต ประเทศไทยอาจจะกลายเป็นประเทศที่เจริญเติบโตทางด้านการศึกษาที่มากขึ้น แต่ก่อนที่จะถึงเวลานั้นผู้ใหญ่ควรจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนเยาวชนเพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้าได้ แล้ววันนี้คุณเห็นสิ่งใดที่เปลี่ยนไปจากอดีตบ้างหรือยัง