ศิลปะภาพเปลือย กับการยึดหลักจารีตประเพณีของไทย
ศิลปะภาพเปลือย กับการยึดหลักจารีตประเพณีของไทย
บทนำ
ศิลปะภาพเปลือย หรือศิลปะที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นโดยใช้รูปทรงโครงสร้างหรือร่างกายของมนุษย์ มาใช้เป็นสื่อในการแสดงออก มีการผสมผสานความคิดของศิลปินเข้าไปในตัวของผลงาน งานประเภทนี้ไม่ได้จำกัดไว้แค่การเปลือยของผู้หญิงเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงการเปลือยการของผู้ชายด้วย มีได้ทั้งในรูปแบบของจิตรกรรม ประติมากรรมหรือรูปถ่ายก็ได้ ซึ่งมีมาทุกยุคทุกสมัยทั้งในศิลปะตะวันตกและศิลปะตะวันออก
การตีความผลงานประเภทนี้มักจะอาศัยหลักทฤษฎีในการช่วยตีความ อีกทั้งยังนำกรอบจารีตประเพณีของประเทศนั้น ๆ มาช่วยในการตีความอีกด้วย แต่ผลงานที่มุ่งเน้นไปทางด้านโชว์เรือนร่างของรางกายหรือแสดงให้เห็นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งที่ส่อให้เกิดการยั่วยุทางกามารมณ์และผิดต่อศีลธรรมจารีตประเพณีของไทยที่สืบต่อกันมายาวนานนั้น ล้วนไม่ใช่งานศิลปะ เพราะงานศิลปะจะต้องทำให้เกิดการคิดที่สามารถยกระดับจิตใจของผู้ชมผลงานเหล่านั้นได้
ศิลปะและศีลธรรม
ศิลปะมีความเกี่ยวข้องกับจารีตประเพณีและศีลธรรมเพราะว่างานศิลปะนั้นมีแนวของผลงานที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศ รูปร่างของร่างกาย อย่างเช่นงานศิลปะภาพเปลือย และรวมไปถึงผลงานจิตรกรรมเชิงสังวาสต่าง ๆ โดยรากฐานและอิทธิผลของจารีตประเพณีไทยก็คือศาสนาพุทธที่มีศีล 5 เป็นที่ยึดเหนี่ยวและปฏิบัติต่อกันมา ศีลข้อที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องเพศและเกี่ยวเนื่องกับผลงานศิลปะภาพเปลือยก็คือศีลข้อที่ 3 “กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ”
ซึ่งข้อนี้ไม่ได้ตีความหมายแค่การประพฤติผิดในกามที่หมายถึงการนอกใจ นอกกายหรือคบชู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังตีความรวมไปถึงการเปลือยกายต่อที่สาธารณะอีกด้วย ซึ่งผลงานในศิลปะประเภทนี้นั้นล้วนมีการแสดงให้เห็นเรือนร่างในที่สาธารณะอยู่แล้วในส่วนใดส่วนหนึ่งหรืออาจจะทั้งร่างกาย ทั้งในส่วนของการผลิตผลงาน เช่นการเป็นแบบให้กับผลงานภาพวาดเหมือนจริงในงานประเภทภาพวาด หรือการเป็นแบบในงานศิลปะประเภทภาพถ่าย
การปิดกั้นที่ถูกเผยแพร่
ในสังคมไทยนั้นมองว่าการเปลือยร่างกายในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถพบเห็นได้ตามสถานที่ต่าง ๆ หรือในวัดบางแห่งในประเทศไทยที่มีผลงานจิตรกรรมเชิงสังวาสให้เราได้เห็นและตั้งข้อคำถาม ซึ่งงานเชิงสังวาสในสังคมไทยนั้นมีการพบว่าเกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงช่วงรัชกาลที่ 3 อาจมีมาถึงในช่วงรัชกาลที่ 4 บ้างในบางผลงาน ซึ่งผลงานเชิงสังวาสเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตหรือการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสมัยนั้นได้ ซึ่งผลงานเหล่านี้ศิลปินมักจะได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างในสมัยนั้น หรืออาจจะจากในวรรณกรรมต่าง ๆ
ในงานศิลปะเชิงสังวาสนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ที่เป็นภาพชายกับชาย หญิงกับหญิงหรือชายกับหญิงเท่านั้น ในบางชิ้นงานยังมีที่เกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ ร่วมเพศกัน หรือแม้แต่คนกับสัตว์ร่วมเพศกันก็ยังมีให้เห็น ผลงานเชิงสังวาสเด่น ๆ ในไทยที่เด่น ๆ และพบเห็นได้ง่ายอย่าง ภาพวาดฝาผนังพระอุโบสถวัดบางยี่ขัน ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคารามเป็นต้น ถึงอย่างไรก็ตามผลงานศิลปะเปลือยนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดเวลา บ้างก็หาว่างานแบบนี้คืออนาจรบ้างก็ว่างานประเภทนี้คือศิลปะที่สะท้อนแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งของศิลปิน หรืออาจจะนำมาใช้ในด้านของการเสียดสีสังคมด้วย ซึ่งในจุดนี้เองก็มีข้อกฎหมายและจารีตประเพณีเป็นจุดที่ช่วยในการแบ่งแยกหรือช่วยในการขัดกรองตีความให้สามารถแยกประเภทว่าเป็นงานศิลปะหรืออนาจาร โดยมีความเกี่ยวเนื่องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287ที่ว่าผู้ใดที่มีประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้าเพื่อแจกจ่ายหรือแสดงแก่ประชาชน ผลิต ส่งออกหรือนำเข้าราชอาณาจักรซึ่งภาพเขียน ภาพระบายสี ภาพพิมพ์ เอกสาร รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียงหรือสิ่งอื่นใดอันเป็นลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ถ้ามีการโพสต์ลงโซเชียลก็จะทำให้มีความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุมาตรา 4 อีกด้วย ถึงอย่างไรก็ตามผลงานภาพเปลือยในไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในแบบของภาพวาด ภาพเขียน หรือรวมไปถึงภาพถ่ายด้วย ถึงอย่างนั้นผลงานส่วนใหญ่ก็อยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรม ไม่ไปถึงขั้นระดับที่มีการก่อให้เกิดการยั่วยุอารมณ์ทางเพศ หรือเกิดการเป็นสื่อลามกอนาจาร
ประตูที่ค่อยๆเปิดกว้าง
ในไทยผลงานประเภทนี้ที่ถ้าไม่นับเชิงสังวาสตามวัดต่าง ๆ ศิลปะภาพเปลือยมักจะจัดแสดงตามงานเทศกาลต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันนั้นผลงานศิลปะภาพนู้ดในสังคมไทยนั้นเริ่มมีการเปิดกว้างมากขึ้นทั้งในเรื่องของพื้นที่การจัดแสดง หรือการให้ความสนใจในผลงานของคนสมัยใหม่ ทั้งในส่วนของผุ้ชมเอง ในส่วนของศิลปินก็มีการผลงานประเภทนี้กันออกมามากขึ้นอีกด้วย