“Empower” เพราะว่าเราเป็นพนักงานบริการ

       

“แม้วันเวลาแห่งการต่อสู้จะเป็นเวลากว่า 38 ปี

พวกเราก็จะยังเดินหน้าอย่างมีความหวัง เพื่อสิทธิของเรา”

       เอ็มพาวเวอร์ ผู้บุกเบิกการรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิของพนักงานบริการในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 ทางมูลนิธิมีภารกิจหลักที่จะต่อสู้กับอคติของสังคม เสริมอำนาจให้พนักงานบริการเข้าถึงสิทธิแรงงานที่จำเป็น โดยมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้ให้บริการทางเพศทั่วทุกมุมโลกถูกยอมรับจากสังคมมากขึ้น 

       

       เป้าหมายสูงสุดของเราคือ “อยากให้พนักงานบริการ (ทางเพศ) เข้าถึงสิทธิเหมือนคนอื่น”

       คุณชัชราวรรณ เมืองกัน นักกฎหมายของเอ็มพาวเวอร์ และ คุณไหม (ไม่เปิดเผยชื่อ-สกุล) พนักงานบริการ หนึ่งในสมาชิกเอ็มพาวเวอร์ ที่มุ่งพัฒนามูลนิธิยาวนานกว่า 14 ปี อีกทั้งร่วมทำงานกับพนักงานทางเพศทั่วประเทศไทย จะเล่าให้ฟังถึงการทำงาน และการเดินทางแห่งความหวังของเอ็มพาวเวอร์ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีเป้าหมายอะไร ที่รออยู่ข้างหน้า

       

ภาพโดย ธีรดา จิ๋วใสแจ่ม

       

การเดินทางแห่งความหวัง

       เหตุเพราะทุกคนล้วนพึงได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน อีกทั้งถูกปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างเท่าเทียม เฉกเช่นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง นั่นจึงเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดในการจัดตั้งองค์กร เพื่อให้พนักงานบริการเข้าถึงสิทธิ และถูกคุ้มครองเหมือนอาชีพทั่วไป เพราะการทำงานด้านนี้ ยังคงถูกตีตราว่าร้ายจากสังคมไทย ด้วยคำกล่าวที่ว่า “ขายตัวแลกเงิน” 

       เป้าหมายต่อมา คือ การยกเลิกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี พ.ศ. 2539 ว่าด้วยเรื่องไม่ให้อาชีพนี้เป็นอาชญากรรมและถูกต้องตามกฎหมาย โดยทางองค์กรได้มีการสื่อสารกับสังคมในเชิงสัญลักษณ์ งานศิลปะ การแสดง ถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สังคมได้ตระหนัก เคารพในการทำงานบริการทางเพศอย่างเสมอภาค

       ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การเคารพในความเท่าเทียม ถูกสื่อสารไปยังกลุ่มสังคมโดยกว้างอย่างช้า ๆ แต่กลับเป็นแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ตระหนักถึงสิทธิในร่างกายของมนุษย์ว่า เป็นเรื่องที่เราต้องเคารพการตัดสินใจของผู้อื่นให้มากขึ้น คนที่ทำอาชีพนี้ควรได้รับการยอมรับ ความเข้าใจ และความปลอดภัย ไม่ควรถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างที่เป็นอยู่ จึงกล่าวได้ว่าการที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และประชาชนบางส่วน พยายามรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิของพนักงานบริการ ตลอดระยะเวลากว่า 38 ปีที่ผ่านมา มีคุณค่าอย่างดงามไม่สูญเปล่า

       

หญิงงามเมือง ผู้ถูกกลืนกินทางสังคมไทย 

สมัยก่อน ผู้หญิงโง่ ยากจน ไม่มีการศึกษา เท่ากับ  ขายตัว
ตอนนี้ ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษา ก็กลายเป็นเหยื่อของทุนนิยมแต่ก็ เท่ากับ ขายตัว อยู่ดี”

ภาพโดย ธีรดา จิ๋วใสแจ่ม

                 

       เมื่อการซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมของคนทั่วไปเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยกย่อง ในทางกลับกัน หากคนซื้อเป็นโสเภณี จะถูกผู้คนตำหนิว่าเป็นสิ่งที่ “ผิด” ไม่ก็ถูกสังคมเพ่งเล็ง อย่างไร้ความเห็นใจ ตัดสินพวกเขา เพียงเพราะอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเอง ยิ่งเป็นประเด็นเรื่องผู้หญิง สังคมก็ยิ่งอ่อนไหวเป็นพิเศษ หรือแม้แต่การคิดนอกกรอบที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานทางสังคม

       คำว่า “พนักงานบริการทางเพศ” คือ การให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของลูกค้า เหมือนอาชีพทั่วไป ที่ทำงานเพื่อได้รับสิ่งตอบแทนเป็น “เงิน” ซึ่งผู้หญิงในสังคมไทยส่วนใหญ่ ถูกอบรมสั่งสอนด้วยค่านิยมตั้งแต่โบราณกาลว่า “ผู้หญิงที่ดี” ต้องมีสามีเพียงคนเดียว รักนวลสงวนตัว กราบไหว้สามีเช้าเย็น “พี่ว่าเราต้องก้าวลงไปลึก ๆ เลยว่า ผู้หญิงเราถูกกดทับด้วยค่านิยมแบบนี้กันมาตลอด” ถ้าคุยกันในเรื่องของงานบริการ แค่รับจ้างพาคนไปมีความสุขในจุด ๆ นึงก็แยกย้าย เมื่องานเสร็จก็ไม่สานต่อความสัมพันธ์ เพราะสิ่งที่พนักงานบริการทางเพศทำ คือ “งาน” แต่หากสังคมจะหาว่าใครผิดสักคนหนึ่ง คงต้องตกเป็นของหญิงสาวใบหูประดับทัดด้วยดอกไม้สีสัน หรืออาชีพดั้งเดิมอย่างกะหรี่ที่ “ถูกเป็นเหยื่อ” ทางอารมณ์ ไปโดยปริยาย

       สิ่งที่องค์กรพยายามขับเคลื่อนคือ การสร้างคลื่นพลังให้สังคมได้รู้ว่า “พนักงานบริการทุกคนไม่ได้ยากจน ด้อยการศึกษา หรือเป็นเหยื่อของทุนนิยม อย่างที่สังคมตีตราเรา” ทางเอ็มพาวเวอร์ ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ และพัฒนาทักษะการทำงานให้กับผู้ที่ทำงานบริการ กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นจากความต้องการของพนักงานบริการทุกคน โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านเวลา และความสะดวก แม้คนกลุ่มนี้จะทำงานบริการทางเพศ ที่ถูกมองว่าใช้เพียงร่างกาย แต่ความรู้ ความสามารถก็สำคัญเช่นกัน เพราะทุกอาชีพต้องฝึกฝนสั่งสมประสบการณ์ แรงกายและแรงใจ ไม่เว้นแม้แต่กะหรี่

       

ล่อซื้อ ส่วย ตำรวจ 

       “การทำงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบพี่ว่ามันเกิดขึ้นกับทุกอาชีพนะ แต่สำหรับอาชีพนี้ก็จะถูกบังคับหักเงิน ล่อซื้อ ถ้าทำงานภายในร้านก็จะเจอนายจ้างหักค่าจ้างเราไปจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ร้านไม่ถูกตรวจสอบ หรือถ้ารับงานอิสระบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็จะถูกตำรวจล่อซื้อ”

       พี่ไหมได้เล่าถึงเหตุการณ์การล่อซื้อ ที่ตนเคยได้ยินจากคนในวงการนี้ว่า “การล่อซื้อจากตำรวจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เขาก็จะติดต่อเหมือนเป็นลูกค้า นัดเจอแล้วก็จับเราการที่เขาจับมี 2 แบบ แบบแรกคือจับแล้วพาเราไปลงบันทึกประจำวันแล้วปล่อยตัว แต่อีกแบบคือการจับเพื่อคอรัปชั่นให้เราไปต่อรอง โดยไม่ดำเนินคดีเพิ่มแต่จะค่าปรับเราไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่ใช่คนไทยก็จะปรับเพิ่มอีก 10,000 ปัสสาวะมีสีม่วงเพิ่มอีก 10,000 ธุระจัดหาอย่างเราชวนเพื่อนไปด้วยเพิ่ม 10,000 ตรวจค้นโทรศัพท์พบว่ามีภาพอนาจาร หรือเผยแผ่สื่อลามกก็จะปรับเพิ่ม 20,000 – 30,000 แล้วแต่เราต่อรอง”

“ตำรวจขอความร่วมมือกับพนักงานบริการ

ให้จับสลากเลือกว่าใครจะโดนจับ เพื่อที่เขาจะทำผลงาน”

       การคอรัปชั่นของตำรวจเขามีหลายรูปแบบนะ เอาเราเสร็จแล้วค่อยดำเนินคดี แอบมาใช้บริการแต่ไม่จ่ายเงิน เขียนใบสั่งเป็นจำหน่ายสลากเกินราคา ตลกจะตาย เขาจะมีโควตาแต่ละเดือนว่าต้องจับกี่คน เขาก็ขอความร่วมมือให้เราจับสลากเลือกกันเองว่าใครจะไปเสียค่าปรับ ถ้าในมุมตำรวจเขาก็โดนเรียกร้อง ก็ต้องมาจับ ดังนั้นเราเจอมาทุกรูปแบบ มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้ถ้าเราไม่มีคำว่า “ค้าประเวณี” เรื่องพวกนี้ก็จะหมดไป

       

CAN DO BAR บาร์แห่งเสรีทางเพศที่ถูกลิดรอน และหล่นหาย.

       จุดยืนขององค์กรเอ็มพาวเวอร์ ต้องการเรียกร้องให้เปิดไฟเขียวสำหรับอาชีพหญิงงามเมือง หรือโสเภณี แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการแก้ไขปัญหาสถานที่บริการ หรือสำหรับลูกค้า สิ่งที่องค์กรจะเรียกร้องต่างมีข้อปฏิบัติที่คำนึงอย่างรอบด้าน อย่างเรื่องของวุฒิภาวะ  

       สิ่งที่เอ็มพาวเวอร์คาดหวังคือ กฎหมายยอมรับคนทำงานอาชีพนี้ ในฐานะ “แรงงาน” ได้รับประกันสังคม และรัฐสวัสดิการ เพราะโสเภณีต่างก็ลำบากพอ ๆ กับแรงงานอื่น สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ ไม่ว่าเศรษฐกิจ การเมือง สังคมความเป็นอยู่ ทุกอาชีพล้วนพบเจอปัญหาความทุกข์เหมือนกัน แต่โสเภณีกลับทุกข์กว่า เหตุเพราะโสเภณีที่มีมาตั้งแต่/อดีต ถูกผลักให้กลายเป็นกลุ่มชายขอบ ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม ประชาชนรู้ว่ามี แต่ตำรวจไม่เคยเจอ พี่ไหมเผยความเศร้าตรมในใจว่า


“ถ้าปลดล็อกกฎหมาย ฉันก็จะได้ทุกข์เท่าเทียมกับพวกเธอ

       

ภาพโดย ธีรดา จิ๋วใสแจ่ม

       

       เราเลยจัดตั้งบาร์นี้ขึ้นมาจากความคิดของโสเภณีรุ่นก่อตั้ง กฎหมายการทำสถานบันเทิงมันก็เยอะ เราก็เลยประชดด้วยการทำบาร์ของตัวเอง จึงตั้งชื่อว่า “Can Do Bar” ทำตามระเบียบกฎหมายทุกอย่าง ไม่มีการจ่ายส่วยหรือทำผิดกฎหมายใด ๆ ถ้าพนักงานบริการที่ทำงานกับเราออกไปกับลูกค้าก็จะเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เราจัดการบริการเหมือนบาร์ทั่วไป มีวันหยุดพนักงาน ห้องพัก ทำตามกฎหมายแรงงาน ถ้าเขาจะมากล่าวหาเรา เราก็เอากฎหมายแรงงานมากางเลยว่า “เราทำถูกต้องหมด”

       บาร์เล็ก ๆ ที่รวมเงินกันเพื่อสร้างมันขึ้นมารุ่นแรกเขาก็ยกกลุ่มกันไป 30 คนว่า Can Do Bar เป็นนายจ้างมีพนักงาน 30 คนไปเข้าประกันสังคม บาร์เล็ก ๆ เท่าแมว เขาคงสงสัยทำไมถึงมีพนักงานเยอะจัง เงินเดือนก็พันกว่าบาท แต่ผ่านมา 10 ปีแล้ว มันก็ทำได้จริง ๆ ด้วยมือของเราเอง

       ทุกคนที่อยากทำงานไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน อายุเท่าไหร่ ขอแค่คุณทำงานบริการทางเพศ เราก็พร้อมช่วยเหลือ มันก็เลยเป็นไอเดียบาร์ตัวอย่าง แต่จะทำงานแยกกับมูลนิธิ เพราะบาร์เป็นการแสวงหาผลกำไร บริหารจัดการกันเองโดยสมาชิก

       แสงไฟสลัวจากดวงไฟสะท้อนเข้านัยต์ตา “Can Do Bar” เป็นบาร์ถูกกฎหมายที่บริหารจัดการจากพนักงานบริการทางเพศ โดยเอ็มพาวเวอร์ ได้ย้ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เดิมเคยตั้งอยู่สันติธรรม โยกย้ายมาทิพย์พระเนตร และสุดท้ายที่เชียงใหม่แลนด์ เวลานั้นมีประกาศให้แบ่งพื้นที่ เป็นสัดส่วน เช่น คาราโอเกะ ผับ บาร์ ที่นี่จึงเป็นสถานที่บันเทิงเริงใจให้กับเหล่านักท่องราตรี องค์กรจึงเล็งเห็นว่าที่แห่งนี้น่าสนใจ ท้ายที่สุด ปรากฏว่ากฎหมายสถานที่การตั้งบาร์ไม่ผ่าน แต่ก็สามารถย้ายไปไหนได้

“บาร์ที่ไม่ใช่แค่การแสวงหาผลกำไร แต่สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น”

       บาร์ที่เราทำมาก็ใช้เป็นที่ตั้งมูลนิธิร่วมด้วย ชั้นล่างเป็นบาร์ ชั้นบนเป็นนิทรรศการที่เกี่ยวกับ สิ่งของ ถ้อยคำว่าร้ายของสังคม ตัวกฎหมายจำลองที่เรานำมาจัดเพื่อเป็นนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ให้กับคนที่สนใจ ว่าสิ่งที่พนักงานบริการอย่างเรา ๆ ต้องเจอกับอะไร ทำงานอย่างไร

       บาร์ของเราก็ยังเป็นสถานที่แจกจ่ายถุงยางอนามัย และสารหล่อลื่น สำหรับคนที่ทำงานบริการฟรี พร้อมให้คำปรึกษากับผู้ทำงานด้านสุขภาพ การเงิน เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่ของตนเอง สิ่งต่าง ๆ ที่เรานำมาแจกจ่ายก็ทำงานร่วมกับมูลนิธิ M Plus และสาธารณสุข โดยเขาแบ่งถุงยางอนามัย และสารหล่อลื่นบางส่วนมาให้กับเรา เพราะมูลนิธิของเราทำงานด้านกฎหมายจึงไม่ได้รับทุนการสนับสนุนด้านสุขภาพ แต่เราก็พยายามหาแหล่งสิ่งของเพื่อช่วยผู้ทำงานบริการอย่างถึงที่สุด

       

ภาพโดย ธีรดา จิ๋วใสแจ่ม

       

ไฟเขียวคือเสรี ไฟแดงคือประเทศไทย

“พี่คิดว่ามันเป็นเหมือนไฟจราจร ไฟแดงคือประเทศไทย ที่ห้ามทุกอย่าง

ไฟเหลืองคือยังมีข้อจำกัดอยู่ และไฟเขียวคือเสรี”

       เราเรียกร้องไฟเขียวสำหรับโสเภณี ไม่ได้เรียกร้องให้กับสถานบริการ หรือสำหรับลูกค้า สิ่งที่เราเรียกร้องก็ไม่ใช่ว่าอายุเท่าไหร่ก็ทำได้ เพราะ เอ็มพาวเวอร์ เห็นตรงกันว่า จะทำงานหรือตัดสินใจเกี่ยวกับตัวเองต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป สิ่งที่เราหวังคือ กฎหมายให้เราถูกยอมรับในฐานะ “แรงงาน” เข้าประกันสังคมได้ถ้าทำงานในร้านก็ได้รับสิทธิเข้าประกันสังคมที่มีนายจ้าง ถ้ารับงานอิสระก็ให้เหมือนอาชีพฟรีแลนด์ 

       เรื่องที่พวกเราถูกล่อซื้อก็จะหมดไป ผู้หญิงจะกล้าแจ้งความมากขึ้น มีอำนาจในการต่อรอง ถ้าเรื่องที่สังคมกลัวว่าถ้าถูกกฎหมาย ไปไหนก็จะเจอแต่คนทำงานบริการ “พี่มั่นใจว่าไม่ใช่แบบนั้น การทำงานมันไม่ได้ง่ายอะแบบนั้น และที่สำคัญถ้าไปถามตัวโสภาณีเอง เขาก็ไม่ได้อยากป่าวประกาศให้ใครรู้ว่าเขาทำงานอะไร ถ้าอนาคตถูกกฎหมายจริง ๆ มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรอก เพราะขนาดกฎหมายควบคุมขนาดนี้ยังมีคนทำได้เลย แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปเลยก็คงเป็นเรื่องอำนาจการต่อรองที่โสเภณีจะไม่ตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป

“ถูกกฎหมายแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าโสเภณีจะเพิ่มขึ้น

       

กฎหมายแห่งความ (สิ้น) หวัง 

       “หากกฎหมายมันเสร็จ ก็จะส่งเข้าการประชุมของคณะรัฐมนตรี แต่พอเข้าไปตรงนั้นแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะยกมือเห็นชอบให้เราไหม เราก็ต้องมาลุ้นเอา แต่สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ รับรู้กันอย่างชัดเจนว่า ผลกระทบ และตัวแบบกฎหมาย เป็นเหตุที่ทำให้ล่าช้า ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ ไม่เห็นด้วย หรือต่อต้านการค้าประเวณี ถูกต้องตามกฎหมาย พี่คงไม่ได้ไปต่อ แต่ในตอนนี้ฉบับร่างล่าสุด เป็นฉบับที่ดีที่สุด เพราะก่อนที่จะทำการร่างล่าสุด ได้มีการปรึกษากับประเทศที่การค้าประเวณีถูกกฎหมาย ซึ่งกฎหมายของเราอาจจะดีกว่าเขาด้วยซ้ำ

       ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ยกมือเห็นชอบร่างกฎหมายของเราก็จะตกไป เหมือนเราต้องเริ่มต้นใหม่ สู้ใหม่ คนสำคัญที่พวกเราเฝ้ารอคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม เพราะเขาเป็นคนเสนอเรื่องกับคณะรัฐมนตรี ถ้าไม่เสนอกฎหมายนี้เข้าไป ก็จะช้าไปอีก ร่างกฎหมายของเราจะเสร็จเดือนสิงหาคม พอเสร็จก็ต้องรอรัฐมนตรีเซ็นรับเรื่อง รอเสนอญัตติ พี่ก็ลุ้นตัวเกร็งกับรัฐบาล” นักกฎหมายของเอ็มพาวเวอร์กล่าว

       หญิงสาวตรงหน้าเพิ่มเติมข้อมูลว่า “ร่างกฎหมายฉบับนี้มัน 5 ปีแล้ว ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ “พี่ก็คงหมดหวัง Empower ก็จะไปลงถนน ไปด่า เพราะกฎหมายฉบับนี้กว่าจะได้มา พวกเราต้องเสียน้ำตากันมาเท่าไหร่” เพราะร่างแรกแย่มาก จะจดทะเบียนคุณก็ต้องไม่แต่งงาน ต้องมีใบรับรองแพทย์จิตเวช เพราะเขาคิดว่าคนทำงานแบบนี้เป็นโรคซึมเศร้า เสียสติ เราก็ต่อรองกันมาจนได้ร่างที่ 2 ที่เราพยายามกันมา 5 ปีเต็ม กว่าจะได้ร่างกฎหมายที่พวกเขาได้เห็นคุณค่าในงานของเราจริง ๆ”

       หลังจากความวุ่นวายในสังคมการเมืองได้ยุติลง ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2566 เมื่อวันเวลาผ่านไปเกือบเดือน ในวาระการประชุมสภาก็ยังคงไร้การเอ่ยถึง ร่างกฎหมายของความหวังฉบับนี้ ทำให้ผู้คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของเขา ได้แต่รอคอยอย่างไม่มีเป้าหมาย หรือจุดจบที่เขาปรารถนา ทำได้เพียงแค่อยู่เงียบ ๆ ในพื้นที่ที่สังคมให้อยู่

       “พลังของพวกเราตลอดระยะเวลา 38 ปี มันจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยถ้าไม่เกิดจากความพยายาม ยุคสมัย และจังหวะเวลาที่เหมาะสม สิ่งที่เราทำมันค่อย ๆ เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมทีละนิด เพื่อให้พวกเราพนักงานบริการได้มีตัวตนในฐานะ “แรงงาน” อย่างถูกกฎหมายสักวัน

เขียน ธีรดา จิ๋วใสแจ่ม

เรียบเรียง ธันยชนก อินทะรังษี

กราฟิก ธัญญาภรณ์ โสภาฮุย