เกษียณ (ก็อยาก) สำราญ

   “ถ้าแก่ไปแล้วพวกเรายังไม่มีแฟนสักที ก็ไปอยู่ด้วยกันที่บ้านพักคนชราแล้วกันเนอะ” ประโยคที่กลุ่มคนโสดทั้งหลายมักใช้หยอกล้อกันเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่เจอคนรู้ใจเสียที แต่พวกเขาจะรู้บ้างไหมว่า การไปอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าตามประสาคนโสดที่บ้านพักคนชราในช่วงบั้นปลายชีวิต มันไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น เพราะคนเรามีเงื่อนไขก้อนใหญ่ที่เรียกว่า ต้นทุนชีวิต

   จากรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำโลกปี 2565 หรือ World Inequality Report 2022 ของ World Inequality Lab ระบุว่า ในปี 2564 โลกของเราประสบปัญหาช่องว่างของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น กลุ่มคนที่รวยที่สุดในโลกมีเพียง 10% ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมด ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นส่งผลให้ทรัพยากรที่มีคุณภาพกระจุกอยู่กับคนแค่บางกลุ่ม ประเทศไทยเองก็ขึ้นชื่อเรื่องความเหลื่อมล้ำเช่นกัน คนจนเข้าถึงทรัพยากรที่มีคุณภาพได้ยากกว่าคนรวย แม้จะพยายามขวนขวายหาลู่ทางเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมากแค่ไหน ก็ไม่อาจเอาชนะปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยที่บิดเบี้ยวมาตั้งแต่แรกได้เลย ปัญหาของ ‘ความจนตั้งแต่เกิดยันแก่’ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนชราในไทยมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่

   เมื่อต้นทุนไม่เท่าคนอื่น หนทางในบั้นปลายชีวิตของคนจนวัยชราจึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะถึงแม้จะได้รับการยกเว้นภาษี (ในกรณีที่มีรายได้ไม่เกิน 190,000 บาทต่อปี) ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ  ข้าว-ปลายังต้องซื้อกิน น้ำ-ไฟก็ยังต้องจ่าย ยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ และไม่มีบุตรหลานมาคอยเลี้ยงดู ยิ่งน่าห่วง แม้ว่าจะมีเบี้ยยังชีพเดือนละ 600-1,000 บาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ดี

ผู้สูงอายุไทยได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง?

   สวัสดิการที่รัฐบาลไทยมีให้กับผู้สูงอายุ ประกอบด้วยสวัสดิการด้านสาธารณูปโภค เช่น การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐแก่ผู้สูงอายุ การลดค่าโดยสารยานพาหนะสาธารณะครึ่งราคา และการจัดสรรพื้นที่ให้กับผู้สูงอายุ เช่น ห้องน้ำ ลิฟต์ ทางลาด ราวบันได เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีเงินเบี้ยเลี้ยงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดำรงชีพให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงจำนวน 600-1,000 บาท ต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้สูงอายุแต่ละคน

   “ถ้าจะให้เขาอยู่ด้วยเงินเเค่นี้นะมันไม่พอหรอก รัฐอาจจะต้องเข้ามาช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาลด้วย คือ 600 บาท อาจจะเป็นค่าอาหาร  เเต่ค่ารักษาพยาบาล ค่าที่อยู่อาศัย รัฐอาจจะให้สนับสนุนเพิ่มเข้าไปอีกโดยมีการคัดกรองฐานะของเเต่ละคน เพราะบางคนเขาก็อยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงินรัฐ เเต่บางคนก็เข้าใจเลยว่าแม้กระทั่งเงินจะกินก็ยังไม่มี”

   ศิริกุล ซื่อต่อชาติ หรือ ป้าป้อม ผู้สูงอายุวัย 65 ปี กล่าวถึงสวัสดิการ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ว่าสวัสดิการดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยมากนัก เพราะปัจจุบันนี้ไทยมีค่าครองชีพที่สูงมาก จึงทำให้เงินแค่ 600 บาท ไม่สามารถใช้ดำรงชีวิตได้ทั้งเดือน ป้าป้อมได้ให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ โดยจัดสรรสวัสดิการเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง นอกจากนั้นควรจัดสรรสถานที่พักอาศัยราคาถูกเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยตัวคนเดียว

อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในไทยสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด

   ในปี 2506 – 2526 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินล้านคนต่อปี โดยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยในปัจจุบันกลายเป็น ‘สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์’ จากการคาดการณ์ของ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ระบุว่า ปี 2576 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด และ ณ ตอนนั้นประเทศไทยจะกลายเป็น ‘สังคมสูงอายุระดับสุดยอด’ อย่างเต็มรูปแบบ

   ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของผู้สูงอายุในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี แต่จากข้อมูลของ สอวช. ระบุว่า ในปี 2568 อายุเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 85 ปี เมื่อมีแนวโน้มว่าประชากรจะมีอายุที่ยาวนานขึ้น รัฐบาลจึงควรวางแผนและกำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาสังคมสูงอายุในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีอย่างปัจจุบัน อีกทั้งปัญหาสังคมสูงอายุยังเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายต้องเตรียมตัวรับมือและวางแผนอย่างจริงจัง

ผู้สูงอายุญี่ปุ่นได้รับการดูแลอย่างไรในสังคมสูงอายุระดับสุดยอด?

   ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และยังเป็น สังคมสูงอายุระดับสุดยอด เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด เมื่อมีประชากรสูงอายุมาก รัฐบาลญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญในการดูแลคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยจัดสรรผู้ดูแลเพื่อให้คำแนะนำและช่วยวางแผนการใช้ชีวิตในวัยชราให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งจะพิจารณาจากงบประมาณของแต่ละคน ร่วมกับองค์ความรู้ของหน่วยงานในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ตัวอย่างของบริการที่พวกเขาได้รับก็จะมี การจัดหารถวีลแชร์ ติดตั้งราวจับหรือทางลาดไว้ที่บ้าน ช่วยจ้างรถ Ambulance Taxi สำหรับไปโรงพยาบาล ตลอดจนการจัดหาอาหารการกิน และบริการอาบน้ำให้โดยพยาบาลมืออาชีพ

   นอกจากนี้ยังกำหนดนโยบายที่ช่วยขยายโอกาสในการทำงานให้กับผู้สูงอายุ โดยจัดตั้งศูนย์จัดหางานในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานพาร์ทไทม์และงานชั่วคราวที่ค่าตอบแทนไม่ได้สูงมาก แต่เป้าหมายหลักคือการสร้างกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้บริหารสมองและออกกำลังกาย ไม่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพัง ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะทางเศรษฐกิจของประเทศที่ดี ทำให้ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ “แก่แต่มีเงิน” ในขณะที่ประเทศไทยต้องพบเจอกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาอย่างยาวนาน ผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่จึง “แก่แต่จน”

ผ่านโลกนี้มาก็มาก ขอสำราญบ้างได้ไหม…

   “การที่จะให้คนสูงวัยมีชีวิตที่มีความสุขได้ อย่างน้อยความรื่นรมย์ทางด้านอารมณ์จิตใจ เป็นคนแก่ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจับเจ่าอยู่แต่บ้าน เลี้ยงหลาน หรือปลูกผักอย่างเดียว คนแก่ก็มีสังคม เขาควรได้ออกไปเริงลีลาศกันบ้าง ไม่จำเป็นว่าแก่แล้วฉันจะต้องอยู่บ้านอย่างเดียว”

   ป้าป้อม ยังได้เล่าแนวคิดเกี่ยวกับความสุขในชีวิตของคนสูงอายุว่า พวกเขาเองก็ต้องการความรื่นรมย์ในชีวิตไม่แพ้คนวัยหนุ่มสาว ด้วยความที่คนวัยชรานั้นเป็นวัยที่ผ่านโลกมามาก และได้ใช้ชีวิตกันมาอย่างโชกโชน ก็แปลกอะไรที่พวกเขาจะอยากพักผ่อนและได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในช่วงโค้งสุดท้ายของพวกเขา ชีวิตที่ควรจะเป็นสุขและไม่ต้องลำบากอะไรอีกแล้ว

   แม้จะผ่านโลกมามาก แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะรู้เท่าทันโลกในทุกเรื่อง คนชราบางส่วนใช้เครื่องมือสื่อสารหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสมาร์ทโฟนไม่เป็น การรับรู้ข่าวสารส่วนใหญ่จึงมาจากการบอกเล่าของคนใกล้ชิดหรือข่าวสารจากการประชาสัมพันธ์ของคนในชุมชน จะเห็นได้ชัดว่าการเริ่มใช้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาที่ตามมามากมาย เช่น การหลอกขอข้อมูลส่วนตัวจากผู้สูงอายุเพื่อแอบอ้างใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีผู้สูงอายุหลายรายที่ถูกหลอกเพราะไม่รู้วิธีการใช้งาน ดังนั้น รัฐบาลควรตระหนักถึงปัญหานี้และหาวิธีการแก้ไข เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องสูญเสียสิทธิของตัวเอง

   หากผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึงจะทำให้ปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยลดลง ซึ่งรัฐบาลคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้สังคมผู้สูงอายุเหล่านี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับสากล ดังนั้น จึงต้องตระหนักและตื่นตัวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น นอกจากนั้นประชาชนไทยก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยปัญหาเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญ เพราะสุดท้ายแล้ว เราทุกคนล้วนต้องกลายเป็นคนแก่ ที่ต้องใช้ชีวิตในประเทศนี้ต่อไป

   เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือสัจธรรมข้อหนึ่งของชีวิต คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องมีวันที่จะแก่ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครที่จะอยากแก่ไปอย่างไร้คุณภาพและไร้ความสุข ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทุกช่วงวัย จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งหาแนวทางแก้ปัญหา เพราะคนแก่ในวันนี้ก็คือเด็กในวันวาน การสร้างรากฐานชีวิตของประชาชนที่มั่นคงจะนำไปสู่การเป็นคนแก่ที่มีประสิทธิภาพอนาคต

อ้างอิง

nso.go.th

nxpo.or.th

portal.info.go.th

stat.go.jp

ThaiEldery2019_EBOOK

wir2022.wid.world

เขียน ชลธิฌา สุนันท์เสวก, สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

เรียบเรียง นลินี ค้ากำยาน

ภาพ สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

พิสูจน์อักษร กัลย์ธิดา สิริจรรยากร, ชลธิฌา สุนันท์เสวก