“เหนื่อยแบบอยากนอนพักประมาณแบบเข้าห้องมาเห็นเตียงแล้วทิ้งทุกอย่างลงนอนแบบไม่อยากทำอะไร”หลังจากทำงานติดต่อกันมาหลายชั่วโมงเมื่อกลับถึงบ้านหลายคนคงคิดเหมือนกัน การทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงนอกจากทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายปวดเมื่อยเหนื่อยล้าแล้วยังเกิดปัญหาสุขภาพจิต ความเครียดอีก

การทำงาน ถือเป็นกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญต่อการใช้ชีวิตของเรา ในแต่ละวันเราใช้เวลาอยู่กับที่ทำงานประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน การค้นหาบรรยากาศการทำงานที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้รวมไปถึง “เพื่อนร่วมงาน” คนที่อยู่รอบข้างเราด้วย โดยปัญหาสำคัญที่มักพบบ่อย ๆ คือ บรรยากาศที่เรียกว่า Toxic ในที่ทำงาน ที่มีแต่พลังงานลบนั่นเอง

สุขภาพจิตที่เกิดจากการทำงานเป็นปัญหาที่เกิดได้หลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน หรือปัญหาของงานที่ทำเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตโดยปัญหาสุขภาพจิตเหล่านีเมื่อสั่งสมไปเรื่อยๆก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือการทำงาน

เครียดสะสม

การใช้ชีวิตบนความกดดันและความคาดหวังหลายชั่วโมงนานถึง 5-6 วันต่อสัปดาห์ มักจะเป็นสาเหตุของอาการเครียดสะสม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนเป็นแต่อาจจะไม่รู้ตัวกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างไปเสียแล้ว และจากผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2564 พบว่า1ใน3ของคนวัยทำงานประสบปัญหาความเครียดสูง

อาการความเครียดสามารถสังเกตุได้จากพฤติกรรมของเจ้าตัวที่เปลี่ยนไป ทั้งอารมณ์ การใช้ชีวิต เช่น เบื่อหน่าย ชีวิตเศร้าหมอง นอนไม่หลับ ตี่นกลางดึก นิ่ง เงียบ เป็นต้น หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดสุขภาพทางกายตามมาได้ อาทิเช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิต เครียดไมเกรน เครียดลงกระเพาะ

ภาวะหมดไฟในการทำงาน

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome มันคือภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียด จนบางครั้งทำให้หมดแรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในการทำงาน บางรายอาจเกิดความรู้สึกเหินห่างจากเพื่อนร่วมงาน

ในการอาการเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มอาการที่ยังไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้าแต่ถ้าหากปล่อยไว้ อาจทำให้เราไม่อยากทำงานจนขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง ร้ายแรงที่สุดอาจคิดอยากจะลาออกจากการทำงานก็เป็นได้

ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ

หลายๆคนอาจจะเผชิญกับภาวะนี้มันคือการที่เราไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไปแล้วเสียใจว่าตัวเอง รู้สึกไม่มีคุณค่า รับปัญหามาและกล่าวโทษตัวเองไม่ดีพอ คิดแต่เรื่องด้านลบเสมอ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการซึมเศร้ามาก กลัวการเข้าสังคมเพราะกลัวที่ต้องถูกมองว่าแปลก ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าปฏิเสธคำขอของผู้อื่นเนื่องจากกลัวไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน โดยอาการเหล่านี้เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวเองที่มีการสะสมมาเนิ่นนาน

โรคซึมเศร้า

เกิดจากความไม่สมดุลของเส้นประสาทในสมอง มีผลกระทบโดยรวมต่ออารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ไปจนถึง สุขภาพกาย สภาพสังคม พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมนั้นล้วนมีส่วนส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าด้วยลักษณะของอาการซึมเศร้าจะมีความรู้สึกหม่นหมอง หดหู่ เก็บเนื้อเก็บตัว รู้สึกเบื่อหน่ายกับ สิ่งที่เคยทำให้มีความสุข อาจรุนแรงไปจนถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเอง

กลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิค

เกิดจากการที่ระบบประสาทอัตโนมัติที่คอยควบคุม ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ รวมถึงการมีความเครียดและแรงกดดันเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นมักจะแสดงอาการได้หลายรูปแบบเช่นหายใจหอบอาเจียนวิงเวียนแบบ ฉับพลัน ตัวชา หัวใจเต้นแรง ใจสั่น เหงื่อออกมาก ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไปจนถึงการหวาดกลัวสิ่งรอบตัวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

อารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นหลังวันหยุดพักผ่อน

หรือเรียกว่า PostVacationBlue มีลักษณะเหมือนกับอารมณ์เศร้าโศกเสียใจที่เกิดจากการที่เราเจอเหตุการณ์เครียดในชีวิตอารมณ์เศร้าเหล่านี้มักมีความเศร้าปนตึงเครียดสับสน เป็นอาการที่ส่งผลให้เกิดอาการคาดหวังในวันที่ต้องกลับเข้าสู่ชีวิตประจำวันเดิมที่แย่ๆ ในเมื่อคนเรามีความคิดอย่างไรก็มักจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ตามความคาดหวังไปด้วย วิธีการสังเกตอาการนี้ได้แก่ความรู้สึกไม่สดชื่น อาจมีปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว มีความกังวลเรื่องทุกอย่างจนเกินเหตุ เหนื่อยง่าย พักผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่พอ รู้สึกหลับไม่อิ่ม การจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีสมาธิ หงุดหงิดง่าย

Toxic people

Toxic people หรือคนเป็นพิษ เป็นคำที่ใช้เรียกคนที่มีนิสัยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ชอบควบคุมบงการคนอื่น เจ้าอารมณ์ และบ่อยครั้งที่คำพูดและการกระทำของของคนเหล่านี้ทำร้ายคนรอบตัวให้รู้สึกแย่ เครียด และเจ็บปวด การอยู่ใกล้คนเป็นพิษจึงทำร้ายเราทั้งทางร่างกายและจิตใจ นิสัยของ Toxic People อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยสันนิษฐานว่านิสัยด้านมืด (Dark Triad) ของคนอาจมีส่วนทำให้เกิดนิสัยเป็นพิษต่อคนอื่น โดยนิสัยด้านมืดแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

แมคคิเวลเลียน (Machiavellianism) มีนิสัยชอบเอาเปรียบ หลอกใช้ และควบคุมคนอื่น

ไซโคพาธี (Psychopathy) มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเห็นแก่ตัว

หลงตัวเอง (Narcissism) สนใจแต่ตัวเอง และคิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น

นิสัยของ Toxic People อาจเกิดในผู้ที่มีโรคทางจิตเวช เช่น ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ โรคไบโพลาร์ และโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) หรือมีนิสัยก้าวร้าวฉุนเฉียว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และต้องการได้รับคำชมเสมอ เป็นต้นนอกจากนี้ การเติบโตมาในครอบครัวที่ปกป้อง ตามใจ และชื่นชมมากเกินไป ครอบครัวที่มีปัญหา การใช้สารเสพติด และการผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจในอดีต อาจเป็นปัจจัยที่บ่มเพาะนิสัย Toxic People และหากไม่สามารถรับมือกับความเครียดจากประสบการณ์เหล่านี้ อาจทำให้แสดงนิสัยและพฤติกรรมที่เป็นพิษกับคนรอบข้างได้

Toxic people มักทำให้คุณและคนรอบข้างรู้สึกโทษตัวเอง รู้สึกด้อยค่า และเจ็บปวดจากเรื่องที่ไม่ได้ทำผิด หากใช้วิธีที่กล่าวมาแล้วยังไม่สามารถรับมือได้ การเดินออกมาและตัดคนเหล่านั้นออกจากชีวิตอาจทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นนอกจากนี้ หากไม่สามารถรับมือกับ Toxic People ด้วยตัวเอง รู้สึกเครียด หรือถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ควรขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจได้ แจ้งความดำเนินคดี และไปพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

อ้างอิง

It’s a New Era for Mental Health at Work (hbr.org)

5 ปัญหาสุขภาพจิตคุกคามชีวิตวัยทำงาน

กรมสุขภาพจิต

เครียดเกินไป ระวัง BURNOUT SYNDROME ภาวะหมดไฟในการทำงาน

สุขภาพคนไทย 2565

Writer : ชนกนันท์ บุญมี

Co-writer : ดวงกมล ตามพหัต, เมขลา พนรัญชน์