ฤดูกาลที่กลืนกินหัวใจ – โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล Seasonal Affective Disorder

        “อยากหลับ แล้วไม่ต้องตื่นขึ้นมาอีกเลยจัง…”

       

        ลมหนาวที่พัดผ่านเข้ามาบ่งบอกถึงการมาเยือนของฤดูหนาว อากาศที่ราวกับจะแช่แข็งหัวใจให้หยุดนิ่ง

คุณเคยไหมที่อยากจะหลับตาลงในหน้าหนาวแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย (?) . . .

       

        ฤดูกาลเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หมุนเวียนไปพร้อมกับกาลเวลาโดยที่เราไม่ทันจะรู้ตัว นึกได้อีกครั้งฤดูกาลก็เปลี่ยนไปเสียแล้ว ตลอดชีวิตของคนเราต้องพบกับฤดูกาลเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาเสียจนไม่รู้จบ และฤดูหนาวเองอาจจะเป็นฤดูที่เข้ามาพร้อมกับความเหงาและความอ้างว้างสำหรับใครหลายคน หลายครั้งที่ได้หลับตานอนในฤดูหนาวแล้ว ก็ไม่อยากที่จะลืมตาตื่นขึ้นมาพบกับวันใหม่

        ฤดูกาลเป็นสิ่งที่มีผลต่อหัวใจจริง ๆ น่ะหรือ (?) . . .

        เดิมทีสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งบนโลกมีความสัมพันธ์กับฤดูกาลทั้งสิ้น พืชยังต้องการแสงแดดเพื่อการเจริญเติบโต สัตว์หลายชนิดต้องรอเวลาเข้าจำศีลในฤดูหนาว ดังนั้นฤดูกาลเองก็คงมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ไม่น้อย หากจะให้อธิบายในรูปแบบของวิทยาศาสตร์คงต้องของอ้างอิงข้อมูลจากบทความของ เทคเซีย อีแวนส์ นักจิตวิทยาคลินิกในซานฟรานซิสโกของสหรัฐ อธิบายไว้ว่า

“การที่สภาวะอากาศส่งผลต่อความรู้สึกของมษุย์ โดยหลักแล้วเป็นเพราะร่างกายมนุษย์จะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เซโรโทนิน (Serotonin)” เป็นสารเคมีที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ เซโรโทนินจะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อมนุษย์ได้รับคาร์โบไฮเดรตหรือแสงแดด และจะลดลงเมื่อมีท้องฟ้ามืดครึ้มหรืออยู่ในช่วงฤดูหนาวที่กลางวันมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางคืน”

กล่าวโดยง่ายคือ มนุษย์จะรู้สึกกระปรี่กระเปร่าในเวลากลางวันที่มีแสงแดด อากาศอบอุ่น ในทางตรงกันข้ามวันที่อากาศเย็นจัดและเมฆอึมครึม จะทำให้คนรู้สึกเฉื่อยชา

        อาการเหล่านี้เป็นหนึ่งในอาการของ “โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเภทของโรคซึมเศร้า โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่าSeasonal Affective Disorder : SAD ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลจะมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตและอาการแตกต่างกันออกไปในแต่ละฤดู

ฤดูฝนและฤดูหนาว

  • นอนหลับเยอะผิดปกติ
  • ความอยากอาหารเปลี่ยนไป มีการรับประทานอาหารมากเพิ่มขึ้น
    โดยเฉพาะอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (เพราะร่างกายต้องการสร้างเซโรโทนิน)
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น
  • เหนื่อยง่าย และไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง

ฤดูร้อน

  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ อาจจะมีอาการนอนไม่ค่อยหลับ
    หรือนอนได้เพียงชั่วครู่ก็จะตื่นขึ้นมา
  • ไม่อยากอาหาร
  • น้ำหนักลดลง
  • มีความวิตกกังวลสูง รวมถึงความเครียด
  • หงุดหงิดง่าย

อาการในฤดูหนาวและฤดูฝน บางครั้งถูกเรียกในชื่อ Winter Depression หรืออาการซึมเศร้าในหน้าหนาว และอาการในช่วงฤดูร้อนก็เรียกอีกว่า Summer Depression ด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากอาการข้างต้นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลยังมีอาการอื่น ๆ เช่น จะมีอารมณ์ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีความสนใจในการจะทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งยังไม่มีความสุขในการจะทำกิจกรรมด้วย ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความนับถือในตนเองที่ค่อนข้างต่ำ รู้สึกผิดและไร้ค่าอยู่เสมอ อีกทั้งยังไม่ค่อยมีความต้องทางเพศ และไม่ต้องการเข้าสังคม

ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในไทยมากนัก เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีการวินิจฉัยเมื่อไม่นานมานี้ ในวงการทางการแพทย์ของต่างประเทศค่อนข้างให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ในด้านของการรักษา สถาบันแห่งชาติเพื่อการดูแลสุขภาพและความเป็นเลิศ : The National Institute for Health and Care Excellence (NICE) แนะนำว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคซึมเศร้าประเภทอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการพูดคุยเพื่อบำบัด เช่น การบำบัดพฤติกรรมทางความคิด (CBT) หรือการรับยาต้านอาการซึมเศร้า และการบำบัดด้วยแสงที่เป็นที่นิยมสำหรับโรค SAD แม้ว่าทาง NICE เองจะยังบอกไม่ชัดเจนว่าจะได้ผลหรือไม่

แต่อาการเหล่านี้ก็สามารถบำบัดด้วยตัวเองได้ เช่น การพาตัวเองไปพบปะแสงแดดอ่อน ๆ จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น แม้แต่การเดินเล่นในช่วงพักกลางวันก็เป็นประโยชน์ได้  หรือจะเป็นการจัดสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือสถานที่ทำงานให้มีความสว่างปลอดโปร่ง หาเวลาว่างไปนั่งใกล้หน้าต่าง รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสุดท้ายหาเวลาคุยกับคนใกล้ชิดนั่นเอง

แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าใจถึงความรู้สึกของคุณได้แต่ว่าอาจจะมีอีกหลายคนที่พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจ หากคุณได้พบกับอากาศหนาวแล้วรู้สึกหมดความหมายในชีวิตลองหาอะไรอุ่น ๆ รับประทานเปิดม่าน เปิดแสงไฟให้สว่าง และหวังว่าคุณจะอยากตื่นมาพบกับโลกที่สดใสอีกครั้ง

ราตรีสวัสดิ์. . .

อ้างอิง : Seasonal affective disorder (SAD) – Symptoms and causes – Mayo Clinic

Overview – Seasonal affective disorder (SAD) – NHS (www.nhs.uk)

ไขข้อสงสัย “สภาพอากาศ” มีผลต่ออารมณ์อย่างไร (bangkokbiznews.com)

เขียนโดย : พรธวัล ใจเขียนดี

เรียบเรียง : ฐิติกร สอดจันทร์, โชติพงศ์ เงาเงิน

ภาพ : pixabay.com