ของมันต้องมี และโลกต้องการ : เสื้อตัวเก่าช่วยโลก ธุรกิจแฟชั่นที่ยั่งยืน

   

    

    1 2 3 แชะ!

    เสื้อผ้าสุดจึ้ง สีสันสดใส เหมาะสำหรับการถ่ายรูปเก๋ ๆ ลงโซเชียลอวดชาวโลก ให้เห็นว่าเรามีสไตล์ ตามกระแสในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะ Y2K วินเทจ เมกันสไตล์ หรือ Old Money ก็เป็นแฟชั่นที่มาไวไปไว บางครั้งกระแสเปลี่ยนไวจนตามไม่ทัน และเสื้อผ้าที่เคยใส่ถ่ายรูปลงโซเชียล 1 ครั้ง ก็อาจเรียกได้ว่าเอ้าท์ไปแล้ว…

    

แฟชั่น Fast Fast ทำร้ายธรรมชาติ 

    

    Fast fashion กระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความรวดเร็วฉับไว แนวคิดใหม่เกี่ยวกับแฟชั่นที่เน้นผลิตจำนวนมาก และลดรายละเอียดของเสื้อผ้าลงเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ แต่เบื้องหลังของแฟชั่นที่รวดเร็วนี้ ก็อาจจะไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เพราะนอกจากมันจะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังไม่เป็นธรรมกับคุณภาพชีวิตของแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้

    

    จากบทความในเว็บไซต์ International Law and Policy Brief (ILPB) ระบุว่า บริษัทแบรนด์เสื้อผ้าหลายแห่งหาวิธีลดต้นทุนการผลิตด้วยการจ้างแรงงานจากประเทศที่กำลังพัฒนา อย่าง บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย จีน พม่า หรือกัมพูชา เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานที่ถูกและกฎระเบียบที่น้อยลง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้บริษัทฟาสต์แฟชั่นส่วนใหญ่เลือกวิธีที่ผิดจรรยาบรรณ ทั้งเรื่องค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม และการใช้สารเคมีปริมาณมากในการผลิต

    

    และข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุไว้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน ด้วยกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1.2 พันล้านตันต่อปี สร้างปัญหาน้ำเสียกว่า 20% ของอุตสาหกรรมทั้งหมดในโลกรวมกัน

  

    

มีสไตล์แบบยั่งยืน

    

    Sustainable fashion หรือ แฟชั่นที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับฟาสต์แฟชั่นที่เน้นส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสินค้าแฟชั่นสู่ความสมดุลของระบบนิเวศและเป็นมิตรต่อสังคม จากบทความ Gentlewomen ได้กล่าวว่า กระแสของแฟชั่นที่ยั่งยืนเกิดขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า รวมถึงกระบวนการทางเกษตรที่อาจมีการใช้ยาฆ่าแมลงในการปลูกพืชเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อคนและสัตว์อีกด้วย

    

    

    กรณีศึกษาเรื่องแฟชั่นที่ยั่งยืนที่ได้รับการชื่นชมมากมายคือ โครงการ ABCs ของแบรนด์ Kotn จากประเทศแคนาดาที่ร่วมมือกับมูลนิธิ Misr El Kheir Foundation ซึ่งเป็นองค์ไม่แสวงหาผลกำไร ในแต่ละการสั่งซื้อไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือออฟไลน์ รายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปสมทบทุน สร้างโรงเรียนให้กับพื้นที่ชนบทในประเทศอียิปต์ รวมถึงการจัดซื้ออุปกรณ์ในการเรียนการสอนให้แก่โรงเรียน และช่วงวัน Black Friday ทางแบรนด์ได้นำยอดขาย 100% มอบเป็นทุนการศึกษาแก่ โรงเรียนถึง 13 แห่ง 

    

    

    ไม่เพียงแค่ร้านค้าหรือแบรนด์ที่หันมาผลิตและส่งต่อรายได้จากการขายมาส่งต่อสังคม แต่แนวคิดนี้ยังส่งอิทธิพลไปยังกลุ่มผู้บริโภค ผู้บริโภคจำนวนมากตระหนักถึงกระแสการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้กระเป๋าผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก การเลือกสินค้าที่ไม่ส่งมลพิษต่อโลก หรือการส่งต่อเสื้อผ้าแก่ผู้ยากไร้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการปรับตัวของทั้งสองฝ่ายเพื่อช่วยให้โลกดีขึ้น

    

               

                 

    

เปลี่ยนเสื้อตัวเก่า เป็นเสื้อตัวใหม่ (THRIFT FLIP) 

    

    การหยิบเสื้อตัวเก่าในตู้เสื้อผ้ามาแปลงโฉม ตัดแต่งดีไซน์ให้มีรูปร่างต่างไปจากเดิม ทำให้เราสนุกกับการคิด New Look โดยไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ ถือเป็นวิธีรักษ์โลกไปอีกแบบ Thrift flip คือไอเดียการนำเสื้อผ้ามา D.I.Y โดยมอบชีวิตใหม่ให้กับเสื้อผ้าที่อาจจะถูกกลบทิ้ง และเปลี่ยนให้เป็นเสื้อผ้าที่มีชิ้นเดียวในโลก

    

    

    ซื้อให้น้อยลงและใช้เสื้อผ้าที่มีอยู่ให้ยาวนานที่สุด ทิศทางในอนาคตอุตสาหกรรมแฟชั่นจะเปลี่ยนฟาสต์แฟชั่นสู่เทรนด์ยั่งยืนมากขึ้น บทความ Sustainability trends 2023: 7 ways retailers will make a difference จาก The Future Of Commerce เขียนโดย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ พูดถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าจำนวนเกินครึ่ง (55%) ของผู้ที่ทำแบบสำรวจจากเว็บไซต์ Deloitte เลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ 

    

     

    เมื่อผู้บริโภคต่างสนใจแฟชั่นที่ยั่งยืน ธุรกิจเสื้อผ้ามือสองหรือเสื้อผ้าวินเทจจึงไม่ใช่สิ่งที่เฉพาะกลุ่มอีกต่อไป มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แม้ตอนนี้ตัวเลขรายได้จะยังไม่มากนัก แต่ก็มากพอที่จะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจใหม่ป้ายแดง 

    

ธุรกิจแฟชั่น(รักษ์)โลก   

    จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในบรรดาของเหล่านักช็อปสายกรีน ไม่เพียงเฉพาะแค่ในตัวเมือง แต่อำเภอรอบข้างต่างก็มีร้านค้าที่เน้นการทำธุรกิจแบบยั่งยืน และหากเป็นนักช็อปสายงานคราฟต์ที่ชอบบรรยากาศธรรมชาติ อบอุ่น น่ารัก สไตล์เมืองเชียงใหม่ ต้องรู้จัก ‘บ้านข้างวัด’ อย่างแน่นอน

    

    “ก็เหมือนการหยิบเอาของเก่ามาเปลี่ยน ให้เป็นของใหม่”

    

เจ้าของร้านเพ้นท์ 24 Nara พูดถึงการเปลี่ยนเสื้อตัวเดิม ให้เป็นเสื้อตัวด้วยวัสดุธรรมชาติ เสื้อผ้าทั้งหมดในร้านเป็นการนำวัตถุดิบส่วนที่ดีที่สุดของเสื้อตัวเดิมแต่ละตัวอย่างละนิดละหน่อยมารังสรรค์ใหม่ ด้วยไอเดียและความตั้งใจที่อยากเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

    

    Eco Print การพิมพ์ลายเสื้อผ้าจากวัสดุธรรมชาติ สร้างสรรค์ผลงานด้วยฝีมือตัวเอง ที่สามารถสร้างเอกลักษณ์เฉพาะถูกใจกลุ่มลูกค้า เทคนิคการพิมพ์ลายผ้าแนวนี้ค่อนข้างมีความหลากหลายแบบ แม้ว่าจะใช้วัสดุเดียวกันแต่เมื่อสีต่างกัน ความรู้สึกที่ได้ออกมาก็จะแตกต่างกัน ซึ่งเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าลายที่ออกมาจะเป็นในลักษณะไหน ทำให้เป็น หนึ่งเสน่ห์ของงานพิมพ์ลาย และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้านั้น ๆ

    

         

    

    “จริง ๆ เราแค่เอาวัตถุดิบท้องถิ่นมาแปรรูป”

    

    อีกหนึ่งร้านค้าในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ตระหนักถึงปัญหาของฟาสต์แฟชั่น คือ Kaptor Store โดยเจ้าของร้านพูดถึงเอกลักษณ์ของร้านว่าเป็นการนำวัตถุดิบจากท้องถิ่น เช่น ‘ผ้าฝ้ายเมือง’ ที่ผลิตจากอำเภอเชียงดาว และอำเภอสันกำแพง มาทำเป็นกระเป๋าถัก เสื้อผ้า รวมถึงเครื่องประดับที่เป็นรูปคาแรกเตอร์ ตัวการ์ตูนโดยเฉพาะของทางร้าน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

    

    อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนผันไปตลอด และมนุษย์เองก็ยังคงต้องพึ่งพาแฟชั่นเพื่อเป็นตัวบอกให้รู้ว่าเรายังคงอยู่ในกระแส บางครั้งก็แต่งตามแฟชั่นในอดีต อย่าง Y2K, บางครั้งก็แต่งตัวตามศิลปินที่ชื่นชอบ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้โลกได้รับผลกระทบกับแฟชั่นที่เราสร้างขึ้นน้อยที่สุด เราจึงต้องคงแนวคิดอย่าง Sustainable fashion และ THRIFT FLIP ตลอดการสร้างเทรนด์ในแต่ละเทรนด์

    

    และสุดท้ายเทรนด์แฟชั่นมักจะหวนกลับคืนสู่เทรนด์ในอดีตเสมอ หรือที่เรารู้จักในนามของ กลไกแฟชั่นรักษ์โลกแบบครบวงจร (Back to Basic Fashion) เพื่อให้อนาคตมีแฟชั่นที่ยั่งยืนรวมถึงการแปลงเสื้อผ้าตัวเก่า ตอนนี้เราจึงต้องตระหนักถึงแนวคิดดังกล่าว เพราะปัจจุบันในตอนนี้ คือ อดีตของอนาคต…

    

    

    

    

    

    

    

    

    

    

Writter Natthakan Thamsakulsiri

Rewrite Suraiya Binyoh, Teerada Jiwsaijaem

Photographer Thanyaporn Suwannahong, Suthasini Patthananitiphokinkul, Chutamanee Fumin

Graphic design Thanyaphon Sophahui, Nittaya Aupping

Source Owner of print 24 Nara , BanKangwat , Kaptor Store

International Law and Policy Brief (ILPB)

Gentlewomen

Sustainability trends 2023

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

โครงการ ABCs ของแบรนด์ Kotn