สื่อ…กระจกสะท้อนพฤติกรรมเด็ก

ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย . . .

น่าจะเป็นท่วงทำนองที่ทำให้ปวดหัวเลยทีเดียว หากท่านได้ยินเสียงเพลงเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าเพลงขาดซึ่งความไพเราะ แต่เป็นเพราะเสียงที่ตามมาจะเป็นเสียงของเหล่าเด็ก ๆ ลุกขึ้นมาตะโกนโหวกเหวกโวยวายตามเนื้อเพลงกันโดยมิได้นัดหมาย จนถูกขนานนามว่าเป็นเพลงชาติของวัยรุ่นฟันน้ำนมกันเลยทีเดียว

เพลง ทรงอย่างแบด (Bad Boy) ของวง  Paper Planes เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเด็กที่ฟันน้ำนมยังร่วงไม่หมดปาก … ใช่ หมายถึงเด็กที่ฟันน้ำนมยังร่วงไม่หมดปากจริง ๆ เพราะเพลงนี้ได้รับการขนานนามว่าเพลงชาติของวัยรุ่นฟันน้ำนม ที่พอเพลงขึ้นเด็กทุกคนก็จะร้องได้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้คือพฤติกรรมลอกเลียนแบบในเด็ก

        พฤติกรรมการลอกเลียนแบบ

คือพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ของเด็ก จากการมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัส เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้จึงทำให้เกิดการเลียนแบบเพื่อนำไปใช้ชีวิตประจำวันในสังคมให้เกิดความกลมกลืน โดยเด็กจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งที่ตนเลียนแบบเป็นพฤติกรรมที่เป็นเชิงบวก หรือ เชิงลบ บางครั้งจึงทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรืออุบัติเหตุได้ ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วตอนที่ผู้เขียนยังเด็กก็จำได้ว่าเคยพบเจอเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กันกับแบบนี้

        น่าจะเป็นตอน 6 ขวบ เห็นเพื่อน ๆ ถือไม้หน้าสามวางท่าประกอบแม่ไม้มวยไทยอย่างเก้ ๆ กัง ๆ เล่นกันอยู่โดยมีเรายืนดูอยู่ห่าง ๆ ถ้าจำไม่ผิดในสมัยนั้นมีละครโทรทัศน์เรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ ชื่อว่า “คมแฝก”  ออกฉายเมื่อปี 2551 จำได้คร่าว ๆ ว่าเป็นเรื่องราวการต่อสู้กันด้วยไม้คมแฝก เพราะแบบนั้นเพื่อน ๆ ถึงได้หยิบไม้มาเล่นกันให้เหมือนกับในละครโทรทัศน์ เพื่อที่จะได้ดูเท่อย่างพระเอก จนตีกันหัวร้างข้างแตก เจ็บตัวกันจนถูกคุณครูตำหนิ

        สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่าทฤษฎี Social Learning  เมื่อเด็กมีการเรียนรู้ผ่านสื่อมวลชน เด็ก ๆ จะมีการเรียนรู้จากภาพยนตร์และละครที่ได้รับชม เช่นการรับรู้ว่าการกระทำผิด ไม่ดีเพราะอาจจะทำให้โดจับเหมือนกับในละครที่ตัวร้ายจะโดนตำรวจจับในตอนจบ หรือได้รับผลกรรมในรูปแบบอื่น ๆ

โดย ดร.ปิยะพงษ์ อิงไธสง อาจารย์จาก คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีการสื่อสาร ก็ได้อธิบายถึงตัวแปรในทฤษฎี Social Learning เอาไว้ว่า

        “ตัวแปรที่มัน เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเลียนแบบนี่นะครับ มันก็จะมีตัวแปรอยู่ 3 กลุ่ม

กลุ่มแรกก็คือ ตัวแปรพื้นฐานลักษณะ ของตัวเด็ก อันนี้ก็จะเป็นชุดที่1 องค์ประกอบที่1 เช่น เพศ อายุ ลักษณะการเลี้ยงดูของครอบครัว อันนี้ก็เป็น ลักษณะประชากร ส่วนที่ 2 ก็คือ ลักษณะทางจิตวิทยา ซึ่งประกอบด้วย ทัศนคติ ความเชื่อ ระดับสติปัญญา ของเด็กที่มีผลต่อการที่จะพิจารณา แล้วก็คัดกรองดูว่าตัวที่เราได้ดูจากสื่อ ควรเลียนแบบไหม หรือว่าเขาจะ จดจำได้ดีมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญา หรือว่าพวก IQ หรือ EQ ของเขา อันนี้ก็จะเป็นตัวแปรที่ มีผลที่เกิดจากตัวเด็ก

ตัวแปรที่ 2 คือ ลักษณะของสื่อ ลักษณะของสื่อในที่นี้ ก็ต้องดูว่าประเภทของสื่อเป็นประเภทไหน เช่น เป็นทีวีไหม รายการทีวีไหม หรือเป็นภาพยนตร์นะครับ ตัวนี้ประเภทของสื่อก็จะมีผลต่อการ เลียนแบบของเด็กด้วย อีกตัวหนึ่งก็คือ ลักษณะของเนื้อหา ความสมจริงสมจัง ถ้าเป็นพวกรายการข่าว เขาจะรู้ได้ทันทีว่า สิ่งนี้เป็นพฤติกรรมที่สามารถเลียนแบบได้ เช่น ถ้าทำร้ายคนอื่นแล้วตำรวจจับ อันนี้ก็จะ เป็นลักษณะที่ไม่ควรเลียนแบบ หรือถ้าเกิดว่าเห็นดารา แสดงพฤติกรรมความรักกันต่อหน้าสาธารณะชน เด็กก็ คิดว่า เห้ย อันนี้มันเป็นสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ อันนี้เขาก็จะเลียนแบบ เรียนรู้จากตัวสื่อที่เขาได้ดูนะครับ

ตัวที่ 3 ก็คือ เรื่องของพฤติกรรมการเปิดรับสื่อ ก็คือเด็กเนี้ยไปดูสื่อพวกนี้บ่อยครั้งแค่ไหน แต่ละครั้งที่ดูใช้เวลา ดูนานมากแค่ไหนนะครับ แล้วก็ติดตามพวกนี้มาเป็นระยะเวลายาวนานแค่ไหน ไอ้ 3 ตัวนี้ มันก็จะมีผลว่า เด็ก ได้ดูเยอะ ดูบ่อย ดูนาน มันก็จะมีการซึมซับพฤติกรรมของเขาเข้าไป”

และดร.ปิยะพงษ์ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงทฤษฎีอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ

“ทีนี้ อีกตัวหนึ่งก็คือ ทฤษฏีของพวก Cultivation ก็คือ ถ้าได้ดูมาเป็นระยะเวลายาวนาน เช่น 10ปี 20ปี ขึ้นไป เนี่ยนะครับ เด็กก็จะมีโอกาสซึมซีบแล้วก็เลียนแบบได้ อันนี้ก็จะเป็นตัวทฤษฏีที่เขาได้อธิบายไว้ แล้วก็ นอกจากนี้จะมีตัวอื่นๆเช่น Imitation ก็คือการเลียนแบบที่ดูจากต้นแบบแล้วทำตาม ตอนเด็กๆที่เราดูพวก
ดราก้อนบอล หรือ เซลล่ามูน แฮมทาโร่ เด็กเขาก็จะดูแล้วเลียนแบบตามได้ เพราะว่ามันมีตัวต้นแบบให้เห็น แล้วมันก็มีความใกล้ชิดกับตัวเด็กด้วย เด็กที่ดูอะไรแบบนี้มาก ๆ นาน ๆ ก็จะมีโอกาสเลียนแบบพฤติกรรม เหล่านี้ออกมาครับ”

นี่จึงแสดงให้เห็นว่าสื่อมีิอิทธิพลเป็นอย่างมากที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเลียนแบบ ดังนั้นรายการหรือละครโทรทัศน์ต่าง ที่มีการออกอากาศจึงต้องมีการจัดเรทให้แก่คนดู  คนที่เป็นผู้ปกครองจึงมีหน้าที่ดูแลเด็กในความปกครองของท่านให้ได้รับชมสื่อที่เหมาะสม และให้คำแนะนำในการรับสื่อต่าง ๆ

และในหลาย ๆ ครั้งเมื่อเด็กมีพฤติกรรมการลอกเลียนแบบเชิงลบ การได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ได้ ก็จะทำให้พฤติกรรมนั้นเป็นพฤติกรรมที่ิติดตัว อยากที่จะแก้ไข เพราะตัวเด็กมีความเข้าใจว่า ทำแบบนี้แล้วดี คนรอบข้าง คนในครอบครัวยอมรับ และให้การสนับสนับสนุน

หากบุตรหลานของท่านมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมท่านควรที่จะพูดคุยกับคนในครอบครัวให้มีทิศทางในการแสดงออกที่ไปทางเดียวกัน เคยมีกรณีศึกษา ที่มีเด็กทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผู้ปกครองทำการตักเตือน แต่คนภายในครอบครัวให้การสนับสนุน คอยให้กำลังใจ บอกไม่เห็นเป็นไรเลย ทำให้เด็กเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไรต่อคนในครอบครัว เพราะการสนับสนุนที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ผู้ปกครองจะต้องให้การสนับสนุนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หากไม่แก้ไขพฤติกรรมให้เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว เพราะเด็กสามารถเรียนรู้และเลียนแบบได้ตลอดเวา เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมอาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น การใช้ความรุนแรง เหยียดเชื้อชาติ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่อสังคม ผู้ปกครองที่คอยให้คำแนะนำเปรียบเสมือนภูมิต้านทานของเด็ก ที่คอยแนะนำว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ ควรเลียนแบบหรือเปล่า

เรียบเรียง : พรธวัล ใจเขียนดี, โชติพงศ์ เงาเงิน, ฐิติกร สอดจันทร์, จิตติญาภรณ์ แสงหาญ