เพราะเติบโตและใกล้ชิด….เลยติด Friend zone

ความรักคืออะไร?

       นักวิทยาศาสตร์ในหลายสาขา ตั้งแต่มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ไปจนถึงประสาทวิทยาศาสตร์ได้ถามคำถามเดียวกันนี้มานานหลายทศวรรษ แต่โดยคร่าว ๆ เราสามารถนิยามมันได้ว่า ความรักคือชุดของอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมาด้วยความใกล้ชิด ความหลงใหล และความมุ่งมั่น มันเกี่ยวข้องกับการดูแล การปกป้อง การดึงดูด ความรัก และความไว้วางใจ ความรักอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไปและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์เชิงบวกต่าง ๆ รวมถึงความสุข ความตื่นเต้น ความพึงพอใจในชีวิต และความอิ่มอกอิ่มใจ แต่ความรักก็สามารถส่งผลให้เกิดอารมณ์เชิงลบได้ เช่น ความหึงหวงและความเครียด เป็นต้น

แม้จะเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ได้รับการศึกษามากที่สุด แต่ก็ยังมีความเข้าใจน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น การถกเถียงกันว่าความรักเป็นปรากฏการณ์ทางชีวภาพหรือทางวัฒนธรรม โดยนักวิจัยบางคนเสนอว่าความรักเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์เช่นเดียวกับความสุขหรือความโกรธ ในขณะที่คนอื่นเชื่อว่ามันเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเนื่องจากแรงกดดันและความคาดหวังทางสังคม การวิจัยของ Victor Karandashev ดุษฎีบัณฑิตด้านจิตวิทยา พบว่าความรักโรแมนติกมี อยู่ในทุกวัฒนธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความรักมีองค์ประกอบทางชีวภาพที่แข็งแกร่ง เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์ที่จะแสวงหาและค้นหาความรัก อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิธีคิด ประสบการณ์ และการแสดงความรักของแต่ละคน

Friend zone ‘เพื่อนที่แอบรักเพื่อน’

         Friend Zone คืออะไร? หากพูดง่าย ๆ คือ สถานะที่อยากเป็นมากกว่าเพื่อนแต่เป็นไม่ได้ ขอบเขตความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน ที่เกิดขึ้นเมื่อคนที่คุณแอบชอบมองเห็นคุณเป็นเพื่อน มากกว่าคนที่จะเอามาเป็นแฟน หรือจะคิดอะไรเชิงโรแมนติก อีโรติกด้วย หากอธิบายเป็นหลักการหน่อย ๆ ก็คือสถานการณ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความรู้สึกที่มากกว่าอีกฝ่าย เป็นสถานการณ์ที่สองฝ่ายความรู้สึกไม่ตรงกัน เกิดในความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะอธิบายยาก เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจะเริ่มจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกอึดอัด เส้นทางต่อไปก็อาจจะจบไม่สวยเท่าไร

        Friend Zone เกิดขึ้นได้อย่างไร? สถานะเพื่อนบางครั้งมันก็เกิดความดึงดูด โดยจะเริ่มจากความสบายใจ เริ่มมีความผูกพันมากขึ้น ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้ความรู้สึกเริ่มเพิ่มมากขึ้น เพราะเพื่อนสนิทมักมีความชอบและไลฟ์สไตล์หลายอย่างคล้ายกันจนบางครั้งทำให้เกิดความรู้สึกว่าเข้ากันได้ดีและคิดเกินเพื่อน

       

เรารู้สึกเหมือนจะมีสิทธิ์ในชีวิตเขา แต่บางทีก็เหมือนจะไม่มีสิทธิ์ขนาดนั้น เป็นห่วงเขามากเกินไปแสดงออกมากเกินไปก็รู้สึกกลัวว่าจะทำให้เขาอึดอัดและหนักใจ”  (นักศึกษาหญิง พิริยา ใจเที่ยง)

  “เพื่อนชุบแป้งทอด แต่เขาไม่ได้ให้สถานะเรา อารมณ์ประมาณว่า มาทำให้เรารู้สึกพิเศษแต่ความจริงเราไม่ได้พิเศษ ด้วยความที่เป็นเพื่อนมายาวนาน เลยไม่อยากเสียเพื่อนคนนี้ไป อาจจะชอบกันก็ได้ แต่สถานะเพื่อนยืนยาวกว่า” (นักศึกษาชาย สุทธิพงษ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา )

   “เป็นมากกว่านั้นไม่ได้ อยากใส่ใจแต่ก็อยากรั้งตัวเองเอาไว้ ดูอึดอัด” (นักศึกษาชาย นิธินัน เฉลมิฤทธิ์ธนิน)

ระหว่างความรักและมิตรภาพ มันมีเส้นบาง ๆ ที่คั่นเอาไว้อยู่ หากมุมมองของทั้งสองฝ่ายไม่เหมือนกัน คนหนึ่งรู้สึกว่ามิตรภาพที่ผ่านมามีแต่ความสุข จนคิดว่า “ก็จะดีไหมถ้าฉันและเธอจะลองขยับเรื่องราว ถ้าหากฉันไม่ขอเป็นเพื่อนเธอเหมือนเก่า” เพราะอนาคตคงจะไปได้ดี ขณะที่อีกคนหนึ่งไม่อยากเลื่อนสถานะเป็นอย่างอื่น เพราะคิดว่า “เป็นเพื่อนกันมันก็ดีอยู่แล้ว” คงมิตรภาพเอาไว้อย่างนี้ก็ดีพอแล้ว ไม่อยากนำไปสู่ปลายทางที่ต้องเป็นทุกข์ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เมื่อก้าวข้ามความสัมพันธ์ Friend Zone แล้วจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ต่างคนต่างความคิด…จึงกลายเป็นความขัดแย้งทางความคิด ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นความสัมพันธ์จริงจัง

“มึงคือคนสำคัญในชีวิตกูนะเว้ย ถ้าคบกันแล้วเลิกกัน มันจะเป็นยังไงวะ?”

( ภาพยนตร์ Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน )

สมการซับซ้อนของความสัมพันธ์ชายหญิง

           ในโลกของ ‘เพื่อนที่แอบรักเพื่อน’  การเป็นชายหนุ่มที่ดีแสนดี เป็นคนที่คอยอยู่เคียงข้าง คอยเป็นคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างให้อีกฝ่ายมีความสุข แรงจูงใจที่ทำให้ กลายเป็น ‘เพื่อน’ ที่ดี ก็อาจจะตั้งอยู่บนความคิดและสมการสามัญว่า ถ้าเรารักใคร เราทำสิ่งดีให้ ก็จะทำให้ผลที่ออกมาเป็นเรื่องดีไปด้วย การเป็น ‘เพื่อน’ ก็ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘ดี’ รูปแบบหนึ่ง แต่แค่เป็นคนละรูปแบบกับ ‘คนรัก’  ‘อาการดีแสนดี’ ในผู้ชาย ทั้งการอยากจะอยู่ข้าง ๆ คอยแก้ปัญหา ซับน้ำตาและเยียวยาหัวใจ ชายหนุ่มที่มีอาการดังกล่าวนี้อาจมองตัวเองเป็น ‘เจ้าชายขี่ม้าขาว’ (White Knight Syndrome) ตามนิทานที่ตอนจบก็จะต้องลงเอยกับเจ้าหญิง แต่ในโลกความเป็นจริง การกระทำของเจ้าชายมักไม่ค่อยนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้ามากไปกว่าความเป็นเพื่อน

              โดยงานศึกษาในปีค.ศ. 2012 จาก University of Wisconsin-Eau Claire ในสหรัฐฯ พบว่า ภายในความสัมพันธ์ของชายหญิง ผู้ชายมักจะมองว่าเพื่อนหญิงของตัวเองมีความ ‘ดึงดูดใจ’ มากกว่าที่ผู้หญิงมองเพื่อนชาย ผู้หญิงมักจะจำกัดความรู้สึกต่อเพื่อนผู้ชายเอาไว้ ในขณะที่เพื่อนชายมักจะแอบมีความรู้สึกให้เพื่อนตัวเองอยู่บ้างโดยเป็นอาการสำคัญที่ผลักดันให้หลาย ๆ คนตกอยู่ใน Friend zone เราอาจจะต้องลองสำรวจตัวเองก่อนว่า เรามีอาการแบบ “เจ้าชายขี่ม้าขาว” ไหม เป็นคนที่มีหน้าที่คอยกู้สถานการณ์ให้กับคนในหอคอยอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า โดยในระดับจิตใจ อาการเจ้าชายขี่ม้าขาวอาจเกี่ยวข้องกับปมบางอย่าง เช่น บาดแผลในวัยเด็ก พอโตขึ้นก็เลยรู้สึกว่าเรามีหน้าที่จะต้องรักษา เยียวยาแก้ไขปัญหาของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริง ๆ คนอื่นอาจจะไม่ได้มีปัญหาแต่ด้วยปมของเราที่รู้สึกอยากแก้หรือโอบอุ้มคนอื่นอยู่เสมอ หรืออาจจะเคยโดนหักหลัง โดนทิ้ง มี self-esteem ที่ต่ำ

            อาการเจ้าชายขี่ม้าขาว” (White Knight Syndrome) นี้ ถูกเขียนและอธิบายโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ศาสตราจารย์ด้านนักจิตวิทยา Mary C. Lamia และ Marilyn J. Krieger ในโลกนิทาน เจ้าชายขี่ม้าขาวมักเป็นผู้ชายที่ช่วยผู้หญิงที่ประสบปัญหา แต่ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็สามารถเป็นเจ้าชายได้ และเหล่าคนที่มีอาการนี้มักจะมีโอกาสเริ่มความสัมพันธ์กับคนที่มีอารมณ์ที่เปราะบางหรือมีปัญหาต่าง ๆ ในความสัมพันธ์นี้ให้ความรู้สึกเหมือนแต่ละคนได้เติมเต็มและแก้ไขปัญหาของแต่ละฝ่ายแต่ในที่สุด คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันสูง ปรารถนาที่จะเป็นทุกอย่างให้กับอีกฝ่าย พยายามเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าจำเป็น เป็นสารอาหารที่ต้องกินประจำวัน และเป็นอีกครึ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ แต่สิ่งนี้มีแต่จะนำไปสู่ความไม่มีความสุขและความไม่ลงรอยกันในท้ายที่สุดโดยปัญหาของการอยากช่วยเหลือคนอื่น ยิ่งกับคนที่แอบชอบ การที่เราเข้าไปยุ่มย่ามทุกเรื่อง ทำให้ตกสู่สถานการณ์เป็นเพื่อน ถูกจำกัดความรู้สึกเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้เป็นเพื่อนที่แสนดีต่อไป

           ดังนั้น ความชัดเจน ความกล้าหาญ การทำให้เจตจำนงของคุณชัดเจน อาจเป็นสิ่งที่ทำลายกำแพง Friend zone ก็เป็นได้ แต่จำไว้ว่า “ ผิดหวังได้ แต่อย่าปิดกั้นตัวเอง  “  หากก้าวข้าม Friend zone ไปแล้ว เมื่อผิดหวังกับความรัก ก็มักจะปิดกั้นโอกาสที่ตัวเองจะได้เจอใครใหม่ ๆ ยังคงเอาตัวและใจของตัวเองไปผูกติดกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันดีกับการได้พูดออกไปว่าเรารู้สึกอย่างไร เพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องมานั่งทรมาน อึดอัดใจคนเดียว ไม่ว่าจะรักษามิตรภาพต่อไปหรือไม่ ก็เป็นสิ่งดีที่จะก้าวข้ามความเจ็บปวดนี้โดยระลึกไว้ว่า นี่เป็นโอกาสที่ทำให้ได้รู้ว่า เราไม่มีโอกาสได้เป็นคน ๆ นั้นในชีวิตของเค้า เคยได้ยินมาว่า ใครรู้สึกมากกว่า คนนั้นเจ็บกว่า มันก็ใช่ แต่หลังจากที่คุณเจ็บแล้วเท่ากับว่าคุณได้ถูกปลดปล่อยออกจากพันธนาการที่เรียกว่า “Friend zone

Writer : ณัฐดนัย ชัยประเสริฐศิริ

Co-writer : วิทยธรรม ธีรศานติธรรม , ดวงกมล ตามพหัต  

photo : ณัฐภัทร คนสิน