“ศิลปินอิสระ”ดนตรียุคใหม่ ความหวังสู่ความสำเร็จ
อุตสาหกรรมดนตรีในยุคปัจจุบันมีการเติบโตขึ้นมาก เนื่องมาจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องฟังเพลงกันเพียงแค่จากสถานีวิทยุและไม่ต้องชมมิวสิกวิดีโอจากสถานีโทรทัศน์อีกต่อไป การใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารใหม่อย่าง อินเทอร์เน็ต ทำให้รู้ว่าเราควรใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไรจึงทำให้สามารถเข้าถึงคนฟังเพลงได้ ข้อดีของการมีอินเทอร์เน็ตคือ ก่อให้เกิดช่องทางการเผยแพร่ผลงานเพลง ซึ่งทำให้ผู้ฟังสามารถเลือกฟังได้หลากหลายช่องทาง เช่น YouTube, Spotify, Apple music ฯลฯ โดยช่องทางที่กล่าวมาข้างต้นนั้นศิลปินสามารถเผยแพร่ผลงานเพลงของตนเองได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลางหรือค่ายเพลง ศิลปินสามารถรับรายได้จากเพลงนั้น ๆ ได้ในจำนวนเต็ม ส่งผลให้เกิดความสะดวกต่อศิลปินเองโดยไม่ต้องพึ่งต้นสังกัดในการทำเรื่องเหล่านี้ ปัจจุบันศิลปินหลายคนจึงผันตัวมาเป็นศิลปินอิสระกันมากขึ้น
ศิลปินอิสระ” คือยุคใหม่ของดนตรี
ศิลปินอิสระกำลังได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันที่วงการเพลงมีศิลปินอิสระหน้าใหม่เกิดขึ้นมาก เพราะคำว่า “อิสระ” อิสระในที่นี้หมายถึงในอิสระในการทำงาน การสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินอิสระสามารถควบคุมทิศทางของเพลงได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้พวกเขายังสามารถควบคุมการจัดจำหน่าย การตลาด งานศิลปะและการออกแบบ การกำหนดระยะเวลา และอื่น ๆ ด้วยตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ศิลปินอิสระยังมีอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ความเป็นตัวตนของพวกเขาเอง ซึ่งมักจะเผยแพร่ตัวตนนั้น ๆ ออกมาผ่านบทเพลงของพวกเขา
ศิลปินอิสระสามารถรักษาผลประโยชน์ของตนเองได้ 100% ทั้งผลประโยชน์นี้ที่เกิดจากการขายเพลงบนสตรีมมิ่ง ข้อตกลงสิทธิ์ใช้งาน สินค้า และแหล่งรายได้อื่น ๆ ศิลปินสามารถจัดการได้อิสระโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากคนกลาง
มีความเป็นเจ้าของเพลง 100% ศิลปินอิสระเป็นเจ้าของสิทธิ์หลักในเพลงของพวกเขาและพวกเขายังมีอิสระในการเจรจาทำข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์เพลงและการเผยแพร่ผลงานของพวกเขาด้วย
การเป็นศิลปินอิสระมีข้อดีมากมาย ไม่แปลกใจเลยที่ศิลปินส่วนมากผันตัวมาเป็นศิลปินอิสระกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตามการเป็นศิลปินอิสระก็ไม่สามารถการันตีการประสบความสำเร็จและความมั่นคงในอาชีพ เมื่อเทียบกับศิลปินที่อยู่ภายใต้สังกัด เพราะการเป็นศิลปินอิสระต้องการมีพัฒนา เรียนรู้ การจัดการด้วยตัวเอง และการแข่งขันกับศิลปินอื่น ๆ อยู่เสมอ
ศิลปินในยุคนี้ ที่ใครก็เป็นได้
การเป็นศิลปินในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดเพียงแค่คุณมีความรู้เรื่องดนตรี มีคอมพิวเตอร์สักเครื่อง มีลำโพง หูฟัง ก็พร้อมที่จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ทันทีเพราะโปรแกรมทำเพลงในสมัยนี้ฉลาดมาก มันสามารถช่วยแบ่งเบาภาระศิลปินได้มากขึ้นโดยไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสียงจำลองของเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วไม่จำเป็นต้องไปต่อกับเครื่องดนตรีให้ยุ่งยาก นอกจากนี้ยังมีตัวช่วยในการมิกซ์เพลงให้เพลงมีมิติ ซึ่งเราสามารถทำเพลงได้ภายในเครื่องได้ครบทุกขั้นตอน
การที่จะทำเพลงขึ้นมาสักเพลงต้องมีความคิดสร้างสรรค์สำหรับเพลงใหม่ มีอะไรที่น่าตื่นเต้นอยู่เสมอ สามารถสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกจากผู้เขียนส่งถึงผู้ฟังได้ดี ไม่ว่าจะเป็นทำนองหรือเนื้อเพลงที่เผยแพร่ไปนั้นสามารถทำให้ผู้ฟังคล้อยตามเป็นหนึ่งเดียวกับเพลงได้
การพาตัวเองเข้าร่วมงานดนตรีต่าง ๆ เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนะคติ กับศิลปินอื่น ๆ เป็นการสร้างสังคมทางดนตรีรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้การเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
ศิลปินอิสระจำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับการเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จักสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook, Twitter ฯลฯ เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะทำให้ผู้ฟังเข้าถึงผลงานของเราได้มากขึ้น
ศิลปินต้องวางแผนสำหรับกิจกรรมที่ส่งเสริมการขายผลงานเพลง ไม่ว่าจะเป็น วีดีโอทีเซอร์ รูปภาพ เสียง เพื่อสร้างจุดขายชวนให้น่าติดตาม
และสุดท้ายการที่จะเป็นศิลปินนั้นต้องมีเงินทุนสำรองในการใช้จ่ายสำหรับผลิตและสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานเพลงเป็นไปได้อย่างราบรื่นและสำเร็จตรงตามเป้าหมายที่วางไว้นั่นเอง
การเป็นศิลปินอิสระในแบบ “ดารารัญชน์”
ดารารัญชน์ศิลปินโฟล์คซองอิสระ เจ้าของบทเพลง “นอนก่อน และ ฤดูที่เธอชอบ” จาก 2 หนุ่มที่ชื่อ “ชิค ปุณญา เทศดรุณ และ อ๊อฟ พงศธร ยะวงค์” จากรั้ววิศวะ มช. พวกเขามี เขียนไขและวานิช และ ดวงดาว เดียวดาย เป็นศิลปินต้นแบบในสร้างสรรค์ผลงานรวมไปถึงต้นแบบในการใช้ชีวิตอีกด้วย
“การได้ฟังเพลงโฟล์คซอง ทำให้รู้สึกอยากมีเพลงเป็นของตัวเองบ้าง และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำวง”
( ชิค ปุณญา เทศดรุณ)
ชิค และอ๊อฟทั้งคู่ต่างชอบแนวเพลงโฟล์คซอง เนื่องด้วยเพลงโฟลค์ซองเป็นเพลงที่ชิลล์ ฟังสบาย การเดินคอร์ดเพลงก็ง่ายทั้งคู่มีความใฝ่ฝันอยากทำเพลงแนวนี้บ้างจึงได้ชวนกันเริ่มต้นทำวงด้วยกัน ถึงแม้ในตอนแรกจะมีแค่อ๊อฟที่เล่นกีต้าร์เป็นเท่านั้น แต่อ๊อฟก็ได้สอนชิคสำหรับการเริ่มเล่นกีต้าร์ และได้ผลิตผลงานอยู่บ่อยครั้งโดยเผยแพร่ Youtube “ดารารัญชน์” นั่นเอง
“การมีความอิสระ แบบอย่างที่ตนเองต้องการเป็น ไม่ฝืน ไม่ต้องเหมือนใคร”
(อ๊อฟ พงศธร ยะวงค์)
การที่ทั้งคู่ได้มีโอกาสได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับวงเขียนไขและวานิช ในเรื่องของการทำงานภายใต้การเป็นศิลปินอิสระ วงเขียนไขและวานิชได้แนะนำเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งการทำงานของวงเขียนไขและวานิชต้องการความอิสระ สร้างผลงานตามความรู้สึก ไม่ต้องไปรีบร้อนอะไร ค่อย ๆ พัฒนาผลงานเพลงออกมา และความอิสระทำให้เราสามารถแสดงออกความเป็นตัวตนของเราได้อย่างชัดเจน ทั้งคู่จึงตกตะกอนทางความคิด นำไปสู่แนวทางการทำงานของวงดารารัญชน์ในนามศิลปินอิสระ
“การที่ได้เป็นศิลปินอิสระ มันก็ดีนะ แต่ว่าข้อเสียมันก็มีเหมือนกัน”
( ชิค ปุณญา เทศดรุณ)
การที่เราไม่มีสังกัด ไม่มีคนคอยดัน ทำให้รายได้ของเราไม่คงที่ นอกจากนั้นวงเราแต่ละคนมีต้นทุนสำหรับการทำงานเพลงที่น้อย ห้องอัดก็ต้องเช่า คนมิกซ์และมาสเตอร์เพลงก็ต้องจ้าง เครื่องดนตรีก็มีไม่เยอะ จึงเป็นเหตุให้ทั้ง 2 คนต้องทำงานอย่างอื่นเพื่อหาเงินนำมาใช้จ่ายสำหรับการสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้บางครั้งก็ท้อบ้าง เราเลยมองการทำเพลงให้เป็นงานอดิเรกมากกว่า จะได้ทำให้เราคลายความกังวลลงไปบ้าง
“ในปัจจุบันศิลปินผันตัวเป็นศิลปินอิสระมีมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าเราสามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าหากมีการพัฒนาอยู่เสมอ”
(อ๊อฟ พงศธร ยะวงค์)
บางทีการอยู่ภายใต้สังกัดเนี่ย เราอาจจะมั่นคงก็จริงแต่บางครั้งเราก็ต้องสูญเสียความเป็นตัวเอง อาจทำให้เราผลิตผลงานไม่ดี เกิดจากความกดดันและการตีกรอบจากต้นสังกัด ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่เมื่อเลือกที่จะเป็นศิลปินอิสระแสดงว่าเราต้องพร้อมพัฒนาตนเองอยู่ตลอด เพราะไม่มีคนคอยดัน ทำให้เกิดการกระตุ้นและตื่นตัวตลอด มันก็เป็นสิ่งที่ดีนะ ถ้าเราไม่กระตุ้นตัวเองเราก็จะไม่พัฒนา ยืนอยู่กับที่และเราก็จะอยู่ไม่ได้ แข่งกับใครก็ไม่ได้
มองอนาคตของอุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเรา
“เราคิดว่าอนาคตอุตสาหกรรมเพลงบ้านเรา น่าจะเติบโตมากขึ้น
เพราะค่านิยมการทำเพลงแล้วรวยมันถูกปลูกฝังไป”
(อ๊อฟ พงศธร ยะวงค์)
ชิคและอ๊อฟ กล่าวว่า ในสมัยนี้วัยที่จะเริ่มหาเงินได้อย่างรวดเร็วน่าจะเป็นช่วยวัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่ใช้เงินเก่งจึงอยากแบ่งเบาภาระพ่อแม่ และค่านิยมการทำเพลงแล้วรวยนั้นถูกตั้งเป็นค่านิยมของศิลปิน เนื่องจากตัวอย่างศิลปินอิสระที่เป็นวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นมากมาย อย่างเช่น 1Mill Diamond Saran เนี่ย จึงกำเนิดเป็นบรรทัดฐานว่าถ้าอยากมีเงินใช้เร็ว ๆ ก็ต้องทำเพลง
“เราไม่กังวลหรอกว่าแนวเพลง โฟล์คซองของเราจะถูกลืม คนที่ฟังมันก็มีแวะวนมาฟังเรื่อยๆ”
( ชิค ปุณญา เทศดรุณ)
แนวเพลงในปัจจุบันมันจะมีมาใหม่เรื่อย ๆ แหละคนชอบอันไหนก็ไปฟังอันนั้น ถ้าเค้าคิดอยากจะฟังโฟล์คซองเค้าก็คงจะกลับมาฟังบ้างแหละ เราดีใจนะที่วงการศิลปินจะมีศิลปินมากมาย มันสามารถช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเพลงให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง
“เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็ส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระจายผลงานของเราให้เป็นที่รู้จักแก่สาธารณะ”
( ชิค ปุณญา เทศดรุณ)
เราต้องรู้เท่าทันและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีอยู่เสมอ เพราะเทคโนโลยีเนี่ยแหละ เป็นตัวกลางที่ดีเลยที่จะช่วยให้เราขายผลงานได้และสร้างชื่อเสียงให้แก่เรา ที่เรายังทำวงดนตรีอยู่ได้ก็เพราะมันนี้แหละ ถึงแม้จะยังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายแต่มันก็ทยอยนำเสนอผลงานเราให้คนอื่นรู้จักทีละน้อยดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ชิคและอ๊อฟได้กล่าวทิ้งท้าย
หากเรามีความขยัน อดทน มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน เปิดใจรับสิ่งใหม่เสมอสำหรับการผลิตผลงานเพลงเราจะสามารถผลิตผลงานเพลงที่ดีออกมาได้แน่นอน แต่ว่าเราต้องมีแผนสำรองด้วย แผนสำรองในที่นี้คือถ้าทำแล้วยังได้ผลตอบรับไม่ดี เราก็พักไปทำอย่างอื่นก่อน รอจังหวะดี ๆ ค่อยกลับมาทำใหม่ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและเราจะได้ไม่ต้องอคติกับวงการเพลงในอนาคตอุตสาหกรรมทางดนตรีในประเทศไทย จะเป็นที่นิยมและเติบโตมากขึ้นเราอาจจะได้เห็นผลงานเพลงคุณภาพจากศิลปินหน้าใหม่มาผลักดันวงการเพลงไทย หรืออาจจะมีเพลงไทยที่ได้รับความนิยมในระดับสากลไม่มากก็น้อย
เรียบเรียง พชร กันธะวัง
แหล่งอ้างอิง
1. Now Listen PR. (2021). The Complete Guide to Becoming an Independent Artist!. สืบค้นจาก, https://nowlistenpr.com/hot-topic/f/the-complete-guide-to-becoming-an-independent-artist
2. Workpointtoday. (2564). T-POP ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก้าวต่อไปของ CEA ในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรี. สืค้นจาก, https://workpointtoday.com/t-pop-cea/
3. Madeleine Amos. (2022). Music trends 2022 – how artists can stay ahead of the curve. สืบค้นจาก, https://routenote.com/blog/music-trends-2022-how-artists-can-stay-ahead-of-the-curve/
4. ALEX GARDNER. (2018). 10 Insider Tips For All Independent Artists. สืบค้นจาก, https://www.complex.com/pigeons-and-planes/2018/05/independent-artist-tools-tips/
5. Dararunch | ดารารัญชน์ https://www.youtube.com/channel/UCeJ1si8y1e4eefUiWXBL7JA