Refill Store in Chiang Mai ของหมดเอาขวดมาเติมได้

0

.

            รีฟิลล์สโตร์แล้วไง ? จำเป็นขนาดนั้นเลยหรือ ? เป็นคำถามที่ผู้เปิดกิจการรีฟิลล์สโตร์หลายคนต้องเคยเจอ หรือคนที่ใช้บริการนี้แล้วแนะนำต่อก็มักจะต้องเจอคำถามเหล่านี้กลับมาเช่นกัน เราจะพาคุณไปรู้จักกิจการนี้และความจำเป็นของการใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์แบบลดการสร้างขยะพลาสติก

            เมื่อเราซื้อผลิตภัณฑ์ใดก็ตามเมื่อใช้ไปแล้วก็ย่อมมีวันหมด สุดท้ายแล้วขวดบรรจุภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในตอนแรกก็จะกลายเป็นขยะไร้ค่า ต้องกำจัด ในทางกลับกัน เมื่อคุณใช้ผลิตภัณฑ์ในขวดนั้นหมดแล้ว ถ้าของข้างในหมดก็ “เติม” สิ ขนาดรถที่มีน้ำมันเมื่อหมดแล้วก็ยังต้องมีการเติม ไม่ได้ทิ้งรถไปย่อยแล้วซื้อใหม่เสียหน่อย ดังนั้นถ้าของใช้หมดก็สามารถเอาไปเติมผลิตภัณฑ์ด้านในได้ที่ Refill Store ธุรกิจสีเขียวที่ให้บริการโดยการเติมผลิตภัณฑ์ด้านในเพียงคุณเตรียมภาชนะที่ใช้แล้วไปเท่านั้น

.

Refill Store ธุรกิจใหม่ช่วยลดขยะพลาสติก

            ถ้าคุณเป็นคนสายเขียวที่อยากลองใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ไลฟ์สไตล์แบบสร้างขยะให้น้อยที่สุด เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่รู้จัก Refill Store 

            Zero to profit ให้คำนิยามของ “Refill Store” คือร้านขายของชำแบบเติม ที่มีทั้งเครื่องใช้ต่าง ๆ อาหาร และเครื่องเทศ แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่เราสามารถนำภาชนะจากบ้านไปใส่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเองได้ โดยข้อดีของการใช้บริการคือการลดปริมาณขยะพลาสติก ลดการสร้างขยะ และเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของร้านรีฟิลล์สโตร์ คือผลิตภัณฑ์ในร้านล้วนมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก มีส่วนผสมของสารเคมีในปริมาณที่น้อย และยังเป็นผลผลิตที่มาจากชุมชนท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยังสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย

.

Zero waste แนวคิดตั้งต้นของธุรกิจ Refill Store

           “แม้หลายๆคนจะบอกว่าการทำให้ขยะเป็นศูนย์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับเรา zero waste เป็นคำสำคัญที่ช่วยเตือนใจให้เราสร้างขยะให้น้อยที่สุด และพยายามทำให้ขยะจากบ้านของเราส่งออกไปที่บ่อฝังกลบให้เป็นศูนย์ แนวคิดนี้มีความเป็นไปได้ถ้าทุกคนช่วยกัน” 

            คำพูดจากคุณกรวรรณ คันโธ เจ้าของร้าน Normal Shop ที่พูดถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มเปิดร้านรีฟิลล์สโตร์ แม้ว่าคำว่าขยะเป็นศูนย์จะดูเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าพยายามให้มีการสร้างขยะให้น้อยที่สุดได้ มันก็อาจเป็นไปได้ถ้าทุกคนช่วยกันคนละนิด เปรียบเหมือนทฤษฎีผีเสื้อขยับปีกกระทบถึงดวงจันทร์

             “Zero Waste ขยะเหลือศูนย์” ในบทความของไทยรัฐออนไลน์ พูดถึง Zero Waste ไว้ว่า เป็นรูปแบบนึงของการใช้ชีวิตที่ไม่สร้างขยะ หรือสร้างขยะออกไปสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเน้นไปที่การลดการใช้พลาสติก การใช้ซ้ำ และการคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หัวใจหลักของแนวคิดนี้คือ 1A3R

  • Avoid การหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม เช่น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
  • Reduce การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยที่สุด
  • Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่
  • Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่

            จากข้อมูลข้างต้น ถ้าให้อธิบายว่าธุรกิจ Refill Store นำแนวคิดนี้มาเป็นจุดตั้งต้นของการเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร ก็ต้องเริ่มที่ ‘การไม่สร้างขยะพลาสติกเลย’ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ขยะที่ใช้แล้วทิ้งอย่างผลิตภัณฑ์รีฟิลล์ที่มักบรรจุมาในรูปแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง กลายเป็นขยะที่ใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี ถ้าคุณอยากที่จะเติมผลิตภัณฑ์ให้เต็มขวด แทนที่จะไปซื้อขวดใหม่หรือซื้อแบบรีฟิลล์ถุงพลาสติกมาใช้ ลองไปที่ร้านรีฟิลล์สโตร์ดูก่อนดีกว่า เพียงแค่ถือขวดเปล่าไป เท่านั้นก็เปรียบเป็นการ reuse หรือการใช้ซ้ำได้ คุณจะสร้างขยะพลาสติก 1 ชิ้นในเวลา 1 ปี เมื่อคุณเปลี่ยนไปใช้มันซ้ำ ๆ หมดแล้วเติมใหม่ จากขยะชิ้นหนึ่งที่ดูไม่มีอะไรก็กลายเป็นของใช้ที่มีคุณค่าขึ้นมาได้

            จำเป็นไหมกับธุรกิจ Refill Store ? คำถามนี้อาจเกิดขึ้นกับคนทั่วไป แต่ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้ถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติก หรือไปเข้าร่วมจิตอาสา เก็บขยะ และปลูกต้นไม้ ธุรกิจนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จำเป็นกับไลฟ์สไตล์สร้างขยะเป็นศูนย์ ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้า 1 คนสร้างขยะพลาสติก 64.5 กิโลกรัมต่อปี ลองเอาขยะของคนทุกคนที่สร้างใน 1 ปีมากองรวมกันดู มันแทบจะเป็นพื้นที่ 1 จังหวัดได้ และเมื่อนานไปขยะพลาสติกคงล้นโลก แต่ในทางกลับกัน หาก 1 คน สร้างขยะพลาสติก 1 กิโลกรัม เมื่อนำมากองรวมกันแล้วก็คงเป็นแค่เนินเขาเล็กๆ มีที่เดินและอากาศหายใจเพิ่มขึ้นอีก 

.

บรรจุภัณฑ์ = ขยะพลาสติกที่ยากจะกำจัด

            บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีทั้งหมด 7 ชนิด ประกอบด้วย PETE/PET, HDPE, PVC, LDPE, PP, PS และอื่น ๆ โดยพลาสติกที่นิยมนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์มากที่สุดคือ PEPT และ HDPE ซึ่งก็เป็นพลาสติกชนิดที่ธุรกิจรีฟิลล์สโตร์ต้องการจะลดการใช้มากที่สุดเช่นกัน

            ขยะพลาสติกนั้นเป็นวัสดุที่ใช้เวลาในหลุมฝังกลบนานถึง 450 ปีจึงจะย่อยสลายหมด เรียกได้ว่าเทียบเท่ากับคน 1 คนที่เกิดใหม่มากถึง 10 ครั้งเลยทีเดียว นอกจากขยะพลาสติกจะเป็นขยะที่กำจัดยากแล้วยังเข้าสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางดิน น้ำ และอากาศเลยทีเดียว สาเหตุนั้นเกิดมาจากการที่ขยะพลาสติกถูกส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างถูกวิธีเพียงแค่ 19 % เท่านั้น

            บทความ Country & Town House พูดถึงขยะพลาสติกที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลมากถึง91 % จากขยะพลาสติกทั้งหมด เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า ขยะพลาสติกไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้หมดทุกชิ้น ส่วนใหญ่จึงกลายเป็นขยะฝังกลบเสียมากกว่า

            “especially as National Geographic has estimated that a whopping 91 percent of plastic doesn’t actually get recycled”

.

.

Refill Store ในเชียงใหม่และคอมมูนิตี้การสร้างขยะเป็น 0 

            วิถีชีวิตแบบ Zero Waste มีแนวคิดหลักในการลดขยะพลาสติกในรูปแบบ single use ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และยังหาวิธีการกำจัดขยะชิ้นใหญ่อย่างบรรจุภัณฑ์จากสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านอีกด้วย  ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดร้านในรูปแบบ Bulk Store หรือร้านค้าแบบเติมขึ้นมา โดยในเชียงใหม่นั้นมีร้าน Refill Store อยู่ 3 ร้านด้วยกัน ได้แก่

Peace of Mind By ChiangmaiCotton

           เป็นร้านค้าในเชียงใหม่ที่มีแนวคิดว่า อยากจะถ่ายทอดความเรียบง่ายและยั่งยืนของธรรมชาติ ซึ่งภายในร้านมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ งานฝีมือจากชาวบ้านท้องถิ่น และผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดจากวัตถุดิบธรรมชาติ โดยภายในร้านจะมีสเตชั่นสำหรับรีฟิลล์ผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนอยู่ในรูปแบบของสินค้าออร์แกนิกจากคนในพื้นที่ ตั้งแต่แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน หรือแม้กระทั่งยาสีฟัน วิธีการคือนำภาชนะบรรจุไปเติมได้เองจากทางร้าน หรือถ้าไม่มีก็สามารถซื้อบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลาสติกจากทางร้านได้เช่นกัน

FoolFill Corner @ River & Roads 

            River & Road เป็นร้านของฝากน่ารัก ๆ เริ่มต้นจากงานฝีมือของคนในพื้นที่ โดยในร้านจะมีมุม Foolfill Corner เป็นสเตชั่นสำหรับเติมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู และน้ำยาล้างจาน เป็นต้น โดยคุณสมบัติพิเศษของร้านนี้คือ เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ มีการลดปริมาณของสารเคมี สินค้าออร์แกนิกที่คนแพ้ง่ายก็สามารถใช้ได้ และมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะลดขยะพลาสติกได้แล้ว ยังสามารถลดปริมาณของสารเคมีที่จะออกสู่ธรรมชาติเช่นกัน

Normal Shop 

            จากสองร้านข้างต้นจะเป็นธุรกิจของฝากโดยมีสเตชั่นสำหรับเติมผลิตภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของร้าน แต่สำหรับร้าน Normal Shop นั้นเป็นร้าน Refill Store โดยเฉพาะภายในร้านนั้นมีจะมุมเติมน้ำยาที่ใช้ในชีวิตประจำวันยาวจนสุดผนัง วางแยกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่ ครีมนวด น้ำยาล้างจาน และน้ำยาทำความสะอาด โดยน้ำยาดังกล่าวแต่ละชนิดนั้นมีการปรับสูตรให้เป็นธรรมชาติจากวิสาหกิจชุมชน ลดสารเคมี ปลอดภัยสำหรับคนที่แพ้ง่าย รวมถึงเด็ก ๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

.

.

Normal Shop 

            “ด้วยรักในวิถีชีวิตประจำวันแบบเรียบง่าย บรรยากาศในชุมชนลดขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นมิตร และผ่อนคลาย ทำให้การลดขยะตั้งแต่ต้นทางทำได้ทุกวัน จนเป็นเรื่องธรรมดา”

            ร้าน Normal Shop เป็นร้านที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบไร้ขยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับชุมชนลดขยะตั้งแต่ต้นทาง  โดยมาในรูปแบบของร้าน Refill Store ที่เปิดแห่งแรกในเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีการขยายสาขาไปถึงกรุงเทพฯ และนครปฐมอีกด้วย  ซึ่งภายในร้านนั้นเป็นคูหาเล็ก ๆ โดยมีมุมสำหรับเติมน้ำยาที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันวางอยู่ตามจุดต่าง ๆ เช่นกัน

            ขั้นตอนการดำเนินงานที่ทำให้ร้านเป็น Zero Waste Shop มีกระบวนหลายอย่างมาก เช่น ต้องเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับ equipment ที่สามารถใช้ซ้ำได้ สะดวกในการรีฟิลล์ การล้างทำความสะอาด มีความเหมาะสมกับสินค้า และมีขั้นตอนการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ส่งมาจากผู้ผลิตมากกว่าร้านค้าทั่วไป ในบางครั้งเราจะทำงานกับผู้ผลิต โดยช่วยเสนอการจัดส่ง การเปลี่ยนวัสดุและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ไม่ให้เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์กับผู้ผลิต และทำงานกับหน่วยงานที่รับขยะ โดยเราจะส่งต่อขยะในส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้กับหน่วยงานที่เราแน่ใจว่าเขาจะนำไปจัดการได้อย่างเหมาะสม

            Normal Refill เป็นมุมเติมผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้านที่ต้องการช่วยให้ทุกคนลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง โดยสนับสนุนให้มีการนำภาชนะของตัวเองมาเติมที่จุดบริการ มีการหมุนเวียนใช้ซ้ำพลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์และช่วยป้องกันขยะหลุดรอดไปยัง land fill โดยมีความเชื่อว่า สิ่งเล็ก ๆ ที่เราทำทุกวันที่บ้าน เมื่อทุกคนทำกันจนเป็นเรื่องธรรมดาก็จะส่งผลดีที่ยิ่งใหญ่

            สินค้าภายในร้าน Normal Shop เป็นสินค้าปะเภท Household, Body Care, Bio-bright ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อีกทั้งยังปลอดภัยต่อเด็ก สตรีมีครรภ์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการลดมลภาวะทางน้ำจากผลิตภัณฑ์อีกด้วย

            วิธีการใช้บริการง่าย ๆ เพียงแค่นำขวดเปล่าจากบ้านที่ล้างจนสะอาดมาวางบนตราชั่งของทางร้าน กดปุ่ม on ก่อน ตามด้วยปุ่ม tare อีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำหนักเป็น 0 จากนั้นให้นำขวดดังกล่าวไปกดผลิตภัณฑ์น้ำยาที่ต้องการแล้วนำกลับมาวางบนตราชั่งเพื่อตรวจสอบน้ำหนักที่บรรจุได้ โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะต้องทำการ Scan QR Code ที่อยู่บนป้ายแขวนผลิตภัณฑ์เพื่อกรอกปริมาณที่เติมได้แล้วกดชำระเงิน เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้น

.

อนาคตของธุรกิจ Refill Store 

            จากบทความ แชร์ไอเดียธุรกิจหลักจากแนวคิด Refill Store ได้พูดถึง 6 แนวคิดอนาคตของธุรกิจรีฟิลล์สโตร์ โดยพูดถึงการต่อยอดธุรกิจนี้ในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน โดยยกตัวอย่างมาทั้งหมด 3 รูปแบบด้วยกัน นั่นก็คือ

  • ร้าน Refill อาหารสัตว์ เนื่องจากอาหารสัตว์นั้นก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่บรรจุมาในรูปแบบของถุงพลาสติก และเป็นที่ทราบกันดีสำหรับคนเลี้ยงสัตว์ว่า ใน 1 เดือนจะต้องมีการซื้ออาหารสัตว์หลายครั้งและหลายรสชาติเพื่อนำมาผสม เมื่อมาคำนวณดูแล้ว คนเลี้ยงสัตว์ 1 คนสร้างขยะพลาสติกต่อเดือนเป็นจำนวนมากกว่า 10 ถุง ดังนั้นรีฟิลล์สโตร์ในรูปแบบของอาหารสัตว์ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจ
  • ร้าน Refill ข้าวสารทุกชนิด โดยในรูปแบบร้านค้าที่เป็นศูนย์รวมข้าวทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวจ้าว ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวหอมปทุม ข้าวตาแห้ง ข้าวดอย ข้าวกล่ำ ข้าวสังข์หยด และอีกมากมาย นอกจากในร้านที่มีข้าวหลากหลายชนิดแล้ว ข้าวภายร้านก็ต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและการคัดสรรข้าวที่เต็มเมล็ด นอกจากนี้ถ้ามีการสนับสนุนชาวนาตัวเล็ก ๆ ในชุมชนด้วยก็จะเป็นรูปแบบรีฟิลล์สโตร์ในอุดมคติเลยทีเดียว
  • ร้านฝากขายสินค้าจากกลุ่มสมาชิกในเครือ ไอเดียนี้เป็นความคิดของกลุ่มเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มเป็น Young Smart Farmer ที่มีการนำผลผลิตจากเกษตรกรในกลุ่มมาวางจำหน่ายร่วมกันในร้านสมาชิก

            นอกจากนี้ คุณกรวรรณ ขันโธ เจ้าของร้าน Normal Shop ร้านรีฟิลล์สโตร์แห่งแรกในเชียงใหม่ ยังมีการพูดถึงอนาคตของธุรกิจนี้ไว้ว่า

            “ในอนาคตธุรกิจนี้จะมีคนสนใจเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และการสนับสนุนจากภาครัฐ”

            สุดท้ายแล้ว การเติบโตของธุรกิจสีเขียวหรือ Green Business ที่มุ่งเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากผู้บริโภคแล้ว การสนับสนุนและกำลังหลักจากทางภาครัฐก็สำคัญมากเช่นกัน

.

            ท้ายที่สุดแล้วเราไม่สามารถยัดเยียด ตีค่าว่าอะไรดีหรือไม่ดี คุณยังสามารถถือพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเข้ามาเติมผลิตภัณฑ์ที่ร้านรีฟิลล์สโตร์ได้ แน่นอนว่าคุณจะยังได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นเสมอ เราจะเสนออีกทางเลือกให้คุณและส่งต่อพลังบวก แม้ว่าวันนี้อาจไม่สามารถเลิกใช้พลาสติกได้ทันที แต่เราเชื่อว่าคุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองทีละนิดเพื่อโลกใบนี้อย่างแน่นอน

.

เขียน ไพลิน จิตรสวัสดิ์

เรียบเรียง นุชจรี โพธิ์นิยม

ออกแบบโดย ไพลิน จิตรสวัสดิ์

.

อ้างอิง

คุณต้อง กรวรรณ คันโธ เจ้าของร้าน Normal Shop

Charlie Colville. (2022).  A Guide To Refill Stores.

Ngthai. (2021). กว่าจะมาเป็น Refill Station ร้านค้าแบบเติมแห่งแรกของไทย เมื่อธุรกิจช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น.

ชาลิสา เมธานุภาพ. (2019).  7 ร้านรีฟิลทั่วไทย ที่ช่วยให้สร้างขยะน้อยลง.

เจ๊ดร วิภาวดี. (2020). ทำความรู้จัก Zero waste แนวคิดลดขยะเป็นศูนย์.

นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์. (2019). ชนิดบรรจุภัณฑ์พลาสติก.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *