เชียงใหม่ สวรรค์ของคนรักวัฒนธรรมแจ๊ส

0

.

‘If you have to ask what jazz is, you will never know.’

               จากวลีแสนคลาสสิกของ Louis Armstrong (หลุยส์ อาร์มสตรอง) หรือที่รู้จักกันในนามของเอกลักษณ์แห่งแจ๊ส คำพูดของเขาเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงดนตรี หากได้ฟังแบบผ่าน ๆ คงคิดว่าเป็นการอำเล่น เพราะมองว่าดนตรีประเภทนี้ก็คงจะมีหลักการเหมือนดนตรีทั่วไป แต่แท้จริงแล้วดนตรีแจ๊สอาจจะเป็นอะไรมากกว่าที่คุณคิด ทั้งความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และพัฒนาการของผู้สร้างสรรค์ทำนอง ทำให้แจ๊สมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ แล้วแจ๊สในจังหวัดเชียงใหม่ล่ะ คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า ความพิเศษและเสน่ห์ของมันอยู่ที่จุดใด ทำไมเชียงใหม่ถึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมแจ๊ส

.

อดีต ปัจจุบัน และปัจจัยสำคัญของแจ๊สในประเทศไทย

               ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าประเภทของดนตรีแจ๊สก็ยิ่งแผ่ขยายมากขึ้น นายณัฐวุฒิ พลอยศรี นักดนตรีจากวง Interplayers ได้กล่าวถึงยุคสมัยของแจ๊สว่า ในอดีตแจ๊สมักเป็นแบบขับร้อง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดนตรีแนวบรรเลงก็ได้เป็นที่นิยมและแตกแขนงไปเป็นแนวอื่น วงดนตรีของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาจากยุค Bebop เช่นกัน

               “ถ้าพูดถึงจากในยุคก่อน มันจะเป็น Standard jazz ก็คือเป็นเพลงที่มีคนร้อง หลังจากนั้นก็จะเป็นดนตรีบรรเลง เรียกว่า ยุค Bebop หลังจากยุคนี้มันก็ได้แตกยอดออกมาอีกแขนงหนึ่ง แต่ขอพูดถึงในวงที่พี่เล่น เราเล่นแบบ Straight-ahead jazz ครับ ส่วนอีกแบบเรียกว่า Modern jazz  ซึ่งจะเป็นยุคใหม่ละ เวลาเล่นก็จะมีตอบสนองกันทันทีอะไรอย่างนี้”

               หากพูดถึงแจ๊สในประเทศไทย จากบทความวิจัยเรื่อง พลวัตของดนตรีแจ๊สในวัฒนธรรมไทยของ นายกมลธรรม เกื้อบุตร ก็ได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพลงแจ๊สดำรงอยู่มาอย่างยาวนานว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนดนตรีแจ๊สในระดับปริญญาตรี ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือมหาวิทยาลัยรังสิต นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้สังคมไทยมองเห็นคุณค่าของดนตรีแจ๊สมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มาก แต่ความนิยมที่สูงขึ้นบ่งบอกได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพัฒนาการของนักดนตรีที่ทำให้แจ๊สมีอะไรใหม่ ๆ 

               “ในความคิดส่วนตัวของพี่นะ นักดนตรีเขาเหมือนเป็นยอดมนุษย์ พอเขาเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยเหมือนกับพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วแต่จินตนาการของนักดนตรีจะพาไปอะ พี่คิดว่าอย่างนั้น” (สนาธร รัตนภูมิภิญโญ)

.

นิยามและเสน่ห์ของดนตรีแจ๊ส

               จาก ‘ตำราทฤษฎีดนตรีแจ๊สและการอิมโพรไวส์’ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรัช เลาห์วีระพานิช ได้กล่าวถึงความแตกต่างและเสน่ห์ของแจ๊สที่ไม่เหมือนใครว่า ดนตรีแจ๊สไม่มีข้อจำกัดในด้านของการสร้างสรรค์เสียงเพลง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน และนักดนตรีทุกคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แม้ว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ก็มีกฎเฉพาะตัว  นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้แจ๊สไม่เหมือนดนตรีประเภทอื่น

               พ.ญ.สนาธร รัตนภูมิภิญโญ เจ้าของร้านอาหารบาร์แจ๊สชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่อย่าง The Mellowship เธอก็ได้กล่าวถึงดนตรีแจ๊สในแบบฉบับของเธอว่า มันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น เพราะการเล่นเครื่องดนตรีแทนการสื่อสารด้วยคำพูด สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ของการเล่นแจ๊สจริง ๆ มันเป็นแรงดึงดูดที่ก่อให้เกิดร้าน The Mellowship ขึ้นมา

               “โดยส่วนตัวเริ่มฟังแจ๊สตั้งแต่ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยนี่แหละ ความเห็นของพี่คือ พี่ชอบเพราะรู้สึกว่ามันเป็นดนตรีที่เขาเล่นแต่ละรอบก็จะไม่เหมือนกัน มีการเล่นแบบ improvisation เสน่ห์ที่พี่ชอบก็คือตรงนี้ มันเหมือนกับเป็นการสื่อสารว่า ณ เวลานั้นผู้เล่นเขาคิดอะไรอยู่ แล้วเขาจะสื่อสารกับวงอย่างไรดี แล้วมันมีเสน่ห์ตรงที่ว่า สมาชิกของวงผ่านความเข้าใจทางด้านดนตรีโดยที่ไม่ต้องเป็นคำพูด แต่คือเขาเล่นด้วยกันก็เหมือนเขาคุยกันแล้ว”

.

สิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมแจ๊สมีความพิเศษที่เชียงใหม่

               คุณอาจจะสงสัยว่านอกจากในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครแล้ว ทำไมแจ๊สถึงได้รับความนิยมอย่างมากในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเรื่องจริงที่ว่าแจ๊สไม่อาจเติบโตได้ในทุกที่ แล้วเหตุผลอะไรที่ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งแจ๊สล่ะ

               ในบทความของ วีณา บารมี จากเว็บไซต์ Once ได้มีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับงาน Chiang Mai Jazz Festival พวกเขาได้ลงความเห็นว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีบรรยากาศที่ทำให้คนเข้ากับแจ๊สได้ดี เนื่องจากเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ความหลากหลายจึงมารวมอยู่ที่นี่และมันก็พิเศษ นอกเหนือจากนี้ยังเป็นเพราะนักดนตรีมีมิตรภาพที่แน่นแฟ้น ดนตรีแจ๊สจึงอยู่ในชีวิตประจำวันโดยที่ไม่ต้องจัดงานเฟสติวัลด้วยซ้ำ

               โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสไปงาน Chiang Mai Jazz Festival 2021 รู้สึกเห็นด้วยมาก ๆ ตรงที่ว่า แจ๊สในเชียงใหม่เป็นบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทุกคนที่อยู่รอบตัวต่างก็สนุกไปกับเสียงเพลง แม้ว่าวงดนตรีที่ขึ้นมาเล่นจะมีแนวเพลงแตกต่างกัน แต่ทุกคนพร้อมก็ที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ หากคุณได้ลองสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ก็คงจะรู้สึกว่านักดนตรีที่นี่มีลายเซ็นเป็นของตัวเอง เอกลักษณ์และเสน่ห์ของเมืองแห่งแจ๊สก็คงหน้าตาประมาณนี้

               “พี่ว่านักดนตรีเชียงใหม่เก่งมากทุกคนเลยนะ เก่งจริง ๆ คืออย่างพี่ไปดูรู้สึกแบบ พระเจ้าช่วย เก่งมาก คือเชียงใหม่ก็มีเสน่ห์แบบเป็นเจ้าฝีมือเหมือนกันแหละ” (สนาธร รัตนภูมิภิญโญ)

.

การปรับตัวของร้านแจ๊สในสถานการณ์ Covid-19

               แม้ว่าดนตรีจะเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ แต่สถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ก็ส่งผลกระทบต่อวงการแจ๊สพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นทางร้าน นักดนตรี หรือผู้ชมที่โหยหาในเสียงเพลง ทำให้หลายร้านในจังหวัดเชียงใหม่ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้แจ๊สยังคงอยู่ต่อไปได้ ร้าน The Mellowship ของ พ.ญ.สนาธร รัตนภูมิภิญโญ เองก็เป็นหนึ่งในนั้น

               “จากเดิมที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงกลางคืน เราก็เปลี่ยนมาเปิดช่วงกลางวัน ก็จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเปิดร้านไม่ได้ เราก็เลยชวนนักดนตรีมาไลฟ์ลง Facebook บ้าง นั่นก็เป็นสิ่งที่พอจะช่วยเหลือเขาได้ โดยส่วนตัวพี่คิดว่า การเล่นดนตรีของเขาไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ดนตรีสำหรับเขาคือความสุขไง เขาก็แค่อยากจะเล่นให้ใครสักคนฟัง”

               อิทธิพลของวัฒนธรรมแจ๊สอาจจะไม่ได้เข้าถึงใครหลายคนและยังคงเป็นความนิยมเฉพาะกลุ่ม แต่แจ๊สในเชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าทึ่ง หากคุณลองเปิดใจมองแจ๊สในมุมมองใหม่ อาจจะพบความพิเศษในแบบที่คุณเองคาดไม่ถึงก็เป็นได้

.

‘Jazz is democracy in music’ – Wynton Marsalis

.

เขียน นุชจรี โพธิ์นิยม

เรียบเรียง รินรดา ศรีเรือง

.

อ้างอิง

วีณา บารมี.(2563). คุยกับ 3 ตัวจริงสายแจ๊สและงาน Chiang Mai Street Jazz Festival เทศกาลที่คนรักดนตรีต้องไปสักครั้ง

ธีรัช เลาห์วีระพานิช.(2562). ดนตรีแจ๊สคืออะไร

กมลธรรม เกื้อบุตร. (2561). พลวัตของดนตรีแจ๊สในวัฒนธรรมไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *