เจาะลึก “Hospitel” สวัสดิการทางเลือกแบบใหม่

0

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด – 19 เป็นที่กังวลและส่งผลกระทบในสังคมมากขึ้น การรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลรัฐเองเริ่มลำบากเนื่องจากการขาดแคลนอุปกรณ์ บุคลากร และสำคัญที่สุดคือเตียงสำหรับผู้ป่วย ตั้งแต่เฝ้ารอดูอาการจนถึงขั้นสาหัส ดังนั้นภาครัฐจึงเกิดแนวคิด “Hospitel” หรือชื่อไทยว่า “หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ” สถานพยาบาลชั่วคราวกลุ่มผู้ไม่ได้มีอาการรุนแรงหรือกลุ่มสีเขียว โดยรัฐยืนยันว่าการดูแลผู้ป่วยจะฟรีไม่มีค่าใช่จ่าย คำถามคือจริงหรือไม่ อย่างไร

เริ่มกันที่ Hospitel คืออะไร 

Hospitel   มาจากคำสองคำรวมกันคือ Hospital แปลว่า โรงพยาบาล และคำว่า Hotel แปลว่า โรงแรม สองคำนี้เมื่อรวมกันจึงหมายถึง สถานพยาบาลที่ใช้พื้นที่โรงแรมในการดำเนินการ วัตถุประสงค์หลักตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) 

  1. ช่วยลดความแออัดของเตียงผู้ป่วย โควิด – 19 จากโรงพยาบาลหลัก
  2. ส่งเสริมการดูแล ผู้ป่วย Covid – 19 อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นผู้ป่วย กลุ่มไม่มีอาการ/ อาการน้อย ก่อนจำหน่ายกลับบ้าน เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย Covid – 19 ในสถานการณ์การระบาดที่รุนแรง (การยริหารจัดการเตียง และการใช้ทรับพยากรโดยเฉพาะ PPE อย่างคุ้มค่า)
  3. ส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม รวมทั้งสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน 

ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือความเพิ่มสะดวกให้แกผู้ป่วยที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เช่น การใช้ห้องน้ำ การใช้บริการทีมแพทย์ หรือการใช้อุปกรณ์อุปโภคบริโภค ฯลฯ 

โดยแนวทางของโรงแรมที่สามารถเปลี่ยนเป็น Hospitel ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 

  • ต้องเป็นโรงแรมที่มีห้องพักมกกว่า 30 ห้องขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 -7 วันและมีผลถ่ายปอดที่คงที่
  • ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
  • ผู้ป่วยไม่มี กรณีมีโรคประจำตัว ต้องควบคุมอาการได้ดี ต้องจัดยาให้พร้อมสำหรับผู้ป่วยรับประทานด้วยตัวเองจนตลบตามแผนการรักษาของแพทย์ 
  • โรงพยาบาลต้นทางยินดีรับผู้ป่วยกลับเข้ารักษาที่ดรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง 
  • สำคัญที่สุดคือไม่มีค่าใช่จ่ายสำหรับผู้ที่มีประกันสังคม หรือบัตรทอง แม้ว่าสิทธิดังกล่าวจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่เข้ารักษา ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้เช่นกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

เช็คลิสต์ Hospitel ใครบ้างที่เข้าเกณฑ์ 

จากประกาศของ กระทรงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เกณฑ์การเข้ารับรักษาของผู้ป่วยในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจนี้จะแตกต่างจากของโรงพยาบาลสนาม นอกจากเป็นผู้ป่วยอายุไม่เกิน  50 ปี  ไม่ใช่เด็ก ไม่ตั้งครรภ์  ไม่มีผลเอกซเรย์คงที่ มีคุณสมบัติอื่นดังนี้

1. ผู้ป่วยยืนยันที่ไม่มีอาการ หลังนอนโรงพยาบาล 4-7 วัน เมื่อไม่มีภาวะแทรกซ้อนให้พักต่อที่  Hospitel จนครบ 10 วัน (และครบ14 วันในกรณีสงสัยเชื้อกลายพันธุ์)

2. ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการ ไม่มีภาวะเสี่ยง/ภาวะร่วม หลังนอนโรงพยาบาล 4-7 วันเมื่ออาการดีขึ้นให้พักต่อที่ Hospitel จนครบ 10 วัน (และ14 วันในกรณีสงสัยเชื้อกลายพันธุ์)

3. ผู้ป่วยยืนยันโควิดที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี ที่ไม่มีอาการ หรือ ไม่มีภาวะเสี่ยง/ภาวะอื่นร่วม เข้าพักรักษา สังเกตอาการที่ Hospitel จนครบ 10 วัน (และ 14 วันในกรณีสงสัยเชื้อกลายพันธุ์)

4. ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจแนะนำให้ เอกซเรย์ปอดทุกราย หากปอดผิดปกติควรอยู่โรงพยาบาล

โรงพยาบาลสนาม VS Hospitel ต่างกันอย่างไร

โรงพยาบาลสนามไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแค่ในโรงแรมเท่านั้น เพราะโรงพยาบาลสนามคือสถานพยาบาลนอกเขตพื้นที่ให้แก่ผู้ป่วยคอย ผู้ป่วยไม่มีอาการในพื้นที่ที่ควบคุม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงาน โดยตำแหน่งที่ตั้งเป็นได้ทั้ง วัด โรงเรียน ค่ายฝึกสอนทหาร โรงยิม เป็นต้น 

ถึงอย่างนั้น จำนวนเตียงในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามจะมีมากกว่า เพราะอาจจะเป็นศูนย์ใหญ่ มีการควบคุมการติดต่อของเชื้อ ดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นทั้งหมดและอัตราส่วนการดูแลของพยาบาลต่อจำนวนคนไข้จะมากกว่าของหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ ซึ่งตามคุณสมบัติจะต้องมีหมอประจำ 1 คน และพยาบาลดูแลอัตราส่วนละ 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล 

ประชาชนคือคนที่ได้ประโยชน์…จริงหรือ ?

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยกับทีมสำนักข่าวประชาชาติธุรกิจว่า “ การขาดแคลนเตียงของภาครัฐเป็นโอกาสของโรงพยาบาลเอกชน โดยตั้งแต่การระบาดโควิดสายพันธุ์อังกฤษในเดือน เม.ย. 2564 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงมาก ทำให้คาดว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มขึ้นจาก หนึ่ง การตรวจโรคโควิดที่เพิ่มขึ้น สอง จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่เพิ่มขึ้นและ สาม รายได้จากการทำ hospital ”

โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มปรับตัวจากการประสบปัญหาขาดแคลนผู้ป่วยเนื่องจากสถานการณ์การ ระบาดและประชาชนเลือกเข้าใช้บริการกับทางโรงพยาบาลรัฐ ดังนั้นเมื่อมีโครงการ Hospitel เข้ามาโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งใช้โอกาสนี้เริ่มจัดทำบริการแบบเสริม อาทิ เข้าตรวจหาเชื้อ โควิด – 19 ในราคา 3,000 บาทและมีบริการ Hospitel รองรับเพิ่มให้ของโรงพยาบาลเพชรเวชโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มีแบบเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ คำตอบคือ มี แม้ว่ามีกรณีที่เรามีบัตรทอง มีประกันสังคม หรือประกันชีวิตสามารถ เป็นทางเลือกไม่ต้องจ่ายได้แต่หากบางท่านที่ไม่มีสิทธิอะไรเลย ไม่มีประกัน อาจจะต้องเข้ารับรักษาแบบที่มีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะถ้าอยากซื้อสวัสดิการความสะดวกสบายที่ไม่ต้องไปแออัดกับโรงพยาบาลรัฐ อาทิ

· รพ.ธนบุรี กับ โรงแรมพลูแมน สุขุมวิท ที่มีบริการให้คืนละ 1,750 – 2,000 บาท ไม่รวมค่าบริการ อื่นๆ 

· โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์รวมค่าบริการ 7 วัน อยู่ที่ 19,500 บาท 

· โรงพยาบาลเกษมราษฏร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์รวมค่าบริการ 12 วัน 24,000 บาท เป็นต้น

สรุปแล้ว Hospitel มีข้อดีข้อเสียอย่างไร 

ข้อดีของการเกิดโครงการ Hospitel ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรม และโรงพยาบาลเอกชนมีโอกาสในการเสนอ บริการแก่ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ผู้ประกอบการประเภทโรงแรมจะได้มีรายได้เข้ามาบ้าง ลดปัญหาการขาดลูกค้าเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาด นอกจากนี้ยังลดภาระบางส่วนของรัฐบาลในส่วนที่ไม่สามารถจัดการเองได้ โดยเฉพาะความหนาแน่นของผู้เข้าตรวจ ผู้เฝ้าดูอาการ และผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ 

ข้อดีเพียงส่วนหนึ่งสามารถสะท้อนความสำคัญของการมีอยู่ของหอผู้ป่วยเฉพาะกิจได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งสามารถสะท้อนช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย รวมถึงการเข้าควบคุมที่ไม่ทั่วถึงมากพอของรัฐบาล เช่น กรณีมีการเรียกเก็บค่ารถ Ambulance กับประชาชนของโรงพยาบาลเอกชน หรือมูลค่าการเข้ารับการรักษาเกือบถึงหนึ่งล้านบาทของโรงพยาบาลในบางแห่ง โรงพยาบาลเอกชนหลายที่ที่ใช้โอกาสนี้ในการเอาเปรียบประชาชน ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากกรณีนี้อีกหนึ่งประเด็นที่สามารถมองเห็นคือ ถ้าอยากได้บริการที่ดีกว่า ส่วนตัวกว่า รวดเร็วกว่าคนอื่นๆ คุณต้องเป็นคนที่มีฐานะทางการเงิน และสังคมพอสมควรเลยทีเดียว    

หากภาครัฐสามารถพัฒนาความพร้อมทางด้านการแพทย์และเสนอการบริการให้เกิดการทั่วถึงมากกว่านี้ การมีทางเลือกที่ดีกว่าควรอยู่ในระดับเสมอภาคให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้ารับบริการได้ มากกว่าการเป็นทางเลือกให้เฉพาะผู้มีทรัพยากรหรือสถานะทางสังคมสูงกว่าเท่านั้น

ปัจจุบันมีผู้ถือสิทธิบัตรทองตามข้อมูล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำนวน 48.5 ล้านคน ผู้ถือบัตรคนจน 11.4 ล้านคน และผู้ถือสิทธิประกันสังคม จากข้อมูลสถิติกองทุน ประกันสังคม ตามมาตรา 39 , 40 อยู่ที่ 1.9 ล้านคน และ 6.1 ล้านคน ตามลำดับ รัฐอุ้มประชาชนจำนวนมากไว้ในฐานะผู้สงเคราะห์ทางการเงิน มากกว่าการพัฒนาให้ประชาชนมีสถานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกัน และในจำนวนนี้เลยเราไม่รู้เลยว่าสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้เทียบเท่ากับเขตพื้นที่ที่มีหอผู้ป่วยเฉพาะกิจตั้งไว้หรือไม่

ยกกรณีต่างประเทศเข้ามาเป็นตัวอย่าง ที่มีบริการการตรวจหาเชื้อตามร้านขายยาทั่วไป ปักหมุดที่สาธารณะซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นที่บริการในการอัดฉีดวัคซีน หรือจะเข้าฉีดวัคซีนจากที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานพยาบาล เป็นแค่ศูนย์ฉีดธรรมดาไม่ต้องมีพิธีอะไรมาก ในต่างจังหวัดหรือถิ่นที่ไกลจากความพัฒนาอาจไม่มีโรงแรมที่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็น หอผู้ป่วยเฉพาะกิจให้ผู้เฝ้าดูอาการพักพิงได้ ชาวบ้านก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะทราบหรือมีความรู้ในการเข้าถึง และอาจกลัวการโดนเรียกเก็บค่าบริการจากภาคเอกชน

สุดท้ายก็จะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ตกหล่นไปจากการได้รับสวัสดิการทางเลือกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการบริการยังกระจุกอยู่เพียงในตัวจังหวัดท่องเที่ยวหรือเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *