เมื่อขยะท่องสู่โลกแห่งการแปรรูป พร้อมผลผลิตที่สร้างประโยชน์ได้

0

.

“ถ้าไม่คัดแยกแล้วใส่รวม ๆ ไปก็เหมือนฝากทิ้ง
ขยะที่อยู่กับเราก็แค่ย้ายไปอยู่ที่เขาเท่านั้นเอง”

.

.

ขยะที่เราล้วนมองเห็นอยู่ในทุก ๆ วัน กำลังถูกแปรเปลี่ยนสถานะให้มีมูลค่ามากกว่านั้น สอดคล้องกับคำกล่าวจาก ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดร.เป้า Green Road อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้พูดถึงความสำคัญของการแยกขยะและสิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้น เพราะการกำจัดขยะพลาสติกให้หมดไปแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมนุษย์ยังคงต้องพึ่งพาพลาสติกในการดำรงชีวิต แต่ทว่าหากเราคัดแยกและนำไปก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขยะพลาสติกก็สามารถกลายเป็นทรัพยากรแหล่งที่สองของมนุษย์ได้

.

เช่นเดียวกับ ‘ชินโกโต’ โรงงานเผาขยะที่ใหญ่ที่สุดในโตเกียว หนึ่งในตัวอย่างของการนำขยะมาเป็นแหล่งทรัพยากรที่ได้รับทั้งไฟฟ้า พร้อมกับการกำจัดขยะไปในตัว ซึ่งผงคาร์บอนหรือขี้เถ้าที่ได้จากการเผาขยะนั้น สามารถนำไปถมทะเลในบ้านเราอย่างเช่นในจังหวัดกรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันเขตบางขุนเทียนกำลังเผชิญกับการถูกน้ำทะเลรุกคืบกัดเซาะ หากประเทศไทยมีการนำเอาแนวคิดดังกล่าวเหมือนชินโกโตมาประยุกต์กับบางขุนเทียน อาจเกิดประสิทธิภาพในการถมทะเลด้วยผงคาร์บอน สอดคล้องกับฝั่งของประเทศญี่ปุ่นที่นำเอาผงคาร์บอนไปสร้างแผ่นดิน ซึ่งทุกปีในขณะเดียวกัน ขยะพลาสติกก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันไพโรไลซิสได้ถึง 500 ลิตรต่อตัน

.

นอกจากนี้ ขยะพลาสติกยังได้เข้ามามีส่วนสำคัญในงานดีไซน์เชิงสถาปัตย์อีกด้วย ซึ่งมาจากการประยุกต์เอาพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งมาพัฒนา ผ่านการนำโมเดลของบริษัทจัดการขยะในโรงพยาบาลอย่าง บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด มาพัฒนาผ่านการออกแบบของ OpenBox ที่ช่วยเสริมอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราวเกาะฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยที่มีที่นวดฝ่ามือผ่อนคลาย หรือทางเดินที่มีที่นวดฝ่าเท้า จะเห็นได้ว่าทั้งหมดล้วนนำเอาวัสดุพลาสติกมารีไซเคิลด้วยกันทั้งสิ้น

.

.

“พลาสติกกับยางมะตอยก็เหมือนข้าวกับแป้ง มันทดแทนกันได้ 
เพราะพลาสติกกับยางมะตอยเป็นปิโตรเคมีที่มาจากการกลั่นของปิโตรเลียมเหมือนกัน”

.

มากกว่าไปนั้น ผศ.ดร.เวชสวรรค์ ยังได้คิดค้นโปรเจกต์ ‘เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นวัสดุทดแทน’ โดยเริ่มศึกษาจากงานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับการทดลองแปรรูปขยะ และนำมาปรับเปลี่ยนวิธีการให้เข้ากับบริบททางภูมิประเทศในไทย จากการศึกษาพบว่า ขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลนั้นมีแหล่งกำเนิดเดียวกับยางมะตอย ถือว่าเป็นปิโตรเคมีเช่นกัน จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ และเมื่อได้ทดลองทำการแปรรูป ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์นั้นสูงขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ทว่าในปัจจุบัน ผศ.ดร.เวชสวรรค์ สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้แข็งแรงขึ้นได้เกือบ 300 เปอร์เซ็นต์เป็นเท่าตัว

.

ระหว่างดำเนินขั้นตอน โปรเจกต์ดังกล่าวได้เริ่มขยายใหญ่ขึ้น โดยการเริ่มเก็บขยะในมหาวิทยาลัยมาทดลองทำเป็นบล็อกปูถนน และหลังคา ก่อนจะพบว่าประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่สร้างจากขยะพลาสติกบางอันนั้นมีสูงกว่าต้นฉบับ ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของกลุ่ม Green Road ที่ประกอบไปด้วยนักศึกษาจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จำนวน 9 คน พร้อมกับอาจารย์อีก 1 ท่าน

.

“พลาสติกไม่น่าจะหมดจากโลก คนยังมีความจำเป็นต้องกินต้องใช้ร่วมกับตัวที่เป็นขยะพลาสติกอยู่ 
อาจารย์จึงให้ความสำคัญของการคัดแยกมากกว่าการลด”

.

ขณะเดียวกัน เหล่าถุงพลาสติก ถุงยืด และถุงเย็น (พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ: LDPE) ที่ปกติไม่สามารถขายเป็นเงินได้ แต่มีความบางเบาและจุดหลอมเหลวต่ำประมาณ 130-140 องศา จึงสามารถขึ้นรูปเป็นบล็อกปูถนน เฟอร์นิเจอร์ หรือผลิตภัณฑ์รูปทรงใด ๆ ก็ได้เมื่อถูกย่อยละเอียด และหลอมด้วยความร้อนผ่านเครื่องหลอม โดยผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดของโปรเจกต์ Green Road ล้วนมีสัดส่วนขยะและวัสดุอื่น ๆ แตกต่างกันไป 

.

ปัจจุบันเหล่าพลาสติกดังกล่าวสามารถนำมาทดแทนทรายได้เป็นที่เรียบร้อย ในอีกด้านหนึ่งขยะพลาสติกเองก็สามารถนำมาทดแทนน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลรอบต่ำได้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการนำขยะกลับมาเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านกระบวนการแปรรูปต่าง ๆ  เห็นได้ว่าจากกระบวนการนำขยะมาแปรรูปให้เกิดเป็นมิติใหม่ ล้วนสร้างผลประโยชน์และก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่เพิ่มมูลค่าให้กับขยะได้มากกว่าเดิม สอดคล้องกับแนวคิดการรีไซเคิลที่ทั่วมุมโลกพยายามคิดค้นเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ตามมา ซึ่งในอนาคตอาจเห็นการสร้างมูลค่าของบางสิ่งที่มีคุณภาพนอกเหนือไปจากผลงานจาก ‘ดร. เป้า’ ที่ได้รังสรรค์อยู่ ณ ขณะนี้ และโลกอาจริเริ่มเข้าสู่กระบวนการแห่งความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม

.

เขียน พัทธนันท์ สวนมะลิ, ธนภัทร์ คำลือเกียร
ภาพ พัทธนันท์ สวนมะลิ

อ้างอิง
พัทธนันท์ สวนมะลิ. (2564).  ดร.เป้า Green Road ทางไปต่อของพลาสติก
ที่จะไม่จบลงด้วยการเป็นขยะอีกต่อไป
ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ. (2564).  11 เครื่องใช้เก๋ไก๋ที่นักออกแบบไทย Upcycling จากขยะเหลือใช้
กระทรวงพลังงาน. (2562).  น้ำมันจากขยะพลาสติก
MGR Online. (2561).  ปัญหาโรงไฟฟ้าจากขยะและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ทำให้คนไทยไม่ยอมรับ
วิชิตา คะแนนสิน. (2562). คุยกับ ‘เวชสวรรค์ หล้ากาศ’ ว่าด้วยเรื่อง ‘ทิ้งพลาสติกอย่างไรให้กลายเป็นถนน’

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *