ไมโครพลาสติกซ่อนอยู่ในทุกที่แม้แต่ใน “ร่างกาย”

ไมโครพลาสติกคืออะไร เกิดมาจากอะไร ? ไมโครพลาสติก คือ อนุภาคขนาดเล็กของพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตรขึ้นไป ไมโครพลาสติกบางชิ้นนั้นมีขนาดเล็กมากจนกระทั่งมนุษย์ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยลักษณะส่วนใหญ่ของไมโครพลาสติกนั้นจะมีลักษณะเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่น วงกลม วงรี สี่เหลี่ยม และอื่น ๆ การก่อตัวของไมโครพลาสติกนั้น มีหลากหลายที่มา ทั้งด้วยความตั้งใจและความไม่ตั้งใจ โดยทั่วไปไมโครพลาสติกนั้นจะเกิดขึ้นจากการย่อยสลายผ่านระยะเวลาการใช้งานของพลาสติกขนาดใหญ่ หรือการแตกกระจายของพลาสติกจากการใช้พลาสติกเกินความสามารถของมัน และการตั้งใจสร้างพลาสติกขนาดเล็กเพื่อใช้ประกอบการทำอุตสาหกรรม

ไมโครพลาสติกที่มนุษย์เราคุ้นชินและสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้นมีอยู่ด้วยกันสองประเภทหลัก ได้แก่ ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary Microplastic) และไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary Microplastic) ซึ่งทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกัน

 ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary Microplastic) เป็นพลาสติกประเภทที่ถูกใช้ในวงการอุตสาหกรรม กล่าวคือ เป็นพวกไมโครพลาสติกที่ถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็กเพื่อนำไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์ในการผลิต หรือ นำไปใช้เจาะจงเฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ ที่นำไปใช้ผลิตภาชนะใส่สิ่งของ กลิตเตอร์ ใช้สำหรับการตกแต่งอาหาร และ เม็ดบีดส์ ที่นำไปใช้ในสิ่งของเครื่องใช้ คุณอาจคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เช่น ยาสีฟันที่มีเม็ดขัดฟัน โฟมล้างหน้าที่มีเม็ดขัดผิว และอื่น ๆ โดยข้อเสียขนาดใหญ่จากไมโครพลาสติกประเภทปฐมภูมิ คือ เป็นไมโครพลาสติกที่แพร่กระจายสู่ธรรมชาติได้ง่าย เนื่องจากกระบวนการอุตสาหกรรมต้องทิ้งของเสียหลังกระบวนการผลิต การแพร่กระจายของไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary Microplastic) เป็นพลาสติกประเภทที่มีต้นกำเนิดมาจากการย่อยสลาย หรือการแตกหักของมาโครพลาสติก (Macroplastic) ทั้งจากการสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานและย่อยสลายตามธรรมชาติ และจากกระบวนการทางวิทยศาสตร์ เช่น ทางเคมี ชีวภาพ และแสงอาทิตย์ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ขวดน้ำ ถุงพลาสติก อวนจับปลา เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อเสียของไมโครพลาสติกทุติยภูมิ คือ เมื่อโครงสร้างของมันได้รับการย่อยสลายจนกระทั่งมีขนาดที่เล็กลง ไมโครพลาสติกจะแปรสภาพเป็นสารแขวนลอยปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศ และแม่น้ำ

(ภาพถ่ายโดย พรหมพิริยะ ชวนกระโทก)

ไมโครพลาสติกกระจายอยู่ที่ใดบ้าง ?

ไมโครพลาสติกที่มีสถานะเป็นสารแขวนลอยนั้นสามารถอยู่ได้ในทุกสถานที่เป็นระยะเวลานานถึง 450 ปี ก่อนเข้ากระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ ดังนั้นเราควรพึงระวังภัยอันตรายจากมัน เนื่องจากไมโครพลาสติกนั้นมีขนาดเป็นอนุภาคอะตอมที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เราจึงไม่สามารถทราบได้ว่ามันจะมาจากทิศทางใดบ้าง

ไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?

การเข้าสู่ร่างกายของไมโครพลาสติกนั้นมีหลากหลายช่องทาง ทั้งการนำเข้าผ่านการสัมผัส และการไม่สัมผัส รูปแบบการนำไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายแบบไม่สัมผัส ได้แก่ การสูดดม ในด้านของสิ่งแวดล้อม อากาศ และน้ำเป็นหนทางการนำไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายแบบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างเต็มที่ หากต้องการป้องกัน การป้องกันเหล่านั้นอาจส่งผลให้ให้การใช้ชีวิตประจำวันขาดความคล่องแคล่วไป เช่น การสวมหน้ากากกรองสารระดับไมโคร หรือการซื้อเครื่องกรองน้ำระดับอนุภาค ซึ่งการ-แก้ปัญหาด้านนี้อาจทำให้เสียทรัพย์เกินไปโดยใช่เหตุ ไมโครพลาสติกนั้นมักแพร่กระจายไปยังสิ่งแวดล้อม ที่เราจำเป็นต้องดำเนินชีวิตอยู่ภายในนั้น การนำไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายจึงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสาเหตุหลักมักจะเกิดจากการบริโภคของเราเอง ไมโครพลาสติกนั้นได้แทรกแซงเข้ามาในห่วงโซ่อาหารและวนบรรจบมาถึงร่างกายของเรา มนุษย์ทุกคนใช้หลากหลายผลิตภัณฑ์ ในแต่ละผลิตภัณฑ์ล้วนมีส่วนประกอบ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งเมื่อพลาสติกถูกใช้มาก ๆ ในรูปแบบของการใช้เพียงครั้งเดียว ก็ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายในระยะเวลาอันสั้น ขยะพลาสติกเหล่านี้จึงถูกนำไปทิ้งในที่ที่ไม่ควรจะทิ้ง เช่น การฝังลงดิน การทิ้งลงแหล่งน้ำ แม่น้ำ ทะเล ที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าสัตว์เลี้ยง เมื่อสัตว์เหล่านั้นบริโภค ร่างกายก็จะซึมซับพลาสติกเหล่านั้นเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการซึมเข้าสู่ร่างกายทางสารเคมี หรือการที่สัตว์กินพลาสติกเหล่านั้นเข้าไปเอง ทั้งนี้ ผู้ที่รับผลเสียรายต่อไปในห่วงโซ่อาหาร ได้แก่ มนุษย์ ซึ่งจำเป็นต้องบริโภคสัตว์เหล่านั้นเพื่อการดำรงอยู่ กล่าวคือ การนำไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายนั้นมีระบบการทำงานแบบห่วงโซ่อาหาร เริ่มจาก เราใช้พลาสติกเกินจำนวนจนย่อยสลายไม่ทัน – เราทิ้งขยะพลาสติกลงไปในสิ่งแวดล้อม – พลาสติกถูกย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติก – ไมโครพลาสติกซึมซับเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่น – เราต้องบริโภคสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อการดำรงชีวิต

(ภาพถ่ายโดย พรหมพิริยะ ชวนกระโทก)

ผลกระทบจากไมโครพลาสติกที่มีต่อสุขภาพ

หากร่างกายของเรานั้นมีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ภายในเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ การทำงานของไมโครพลาสติกในร่างกายนั้นจะฝังเข้าไปในอวัยวะภายในหรือเนื้อเยื่อ และย่อยสลายภายในร่างกาย ถูกแปรสภาพเป็นสารพิษนานาชนิด ทำหน้าที่เป็นชนวนระเบิด หรือ ตัวเร่งเวลาระเบิด โดยที่ผลกระทบนั้นจะออกมาต่างกันในแต่ละบุคคล และแต่ละช่วงอายุ กล่าวคือ หากมีโรคที่ส่งต่อจากพันธุกรรมอยู่แล้ว ไมโครพลาสติกนั้นจะทำหน้าที่เป็นตัวเร่งเวลาระเบิดให้โรคนั้นเกิดขึ้นก่อนเวลาที่ควรจะเป็น เช่น โรคที่ปกติแล้วจะเป็นในตอนมีอายุมาก ไมโครพลาสติกก็จะไปกระตุ้นให้โรคนั้นเกิดก่อนที่จะถึงวัยอันควร แต่ในกรณีที่ไม่มีโรคส่งต่อทางพันธุกรรม ไมโครพลาสติกจะทำหน้าที่เป็นตัวก่อชนวนระเบิด ปล่อยสารพิษทางเคมีให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น รบกวนฮอร์โมนเพศชายและทำให้เกิดโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ส่งผลให้พัฒนาการของเด็กเล็กสุ่มเสี่ยงการเกิดออทิสติกเทียม ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด โดยไปอุดตันตามหลอดเลือดทำให้เลือดหล่อเลี้ยงอวัยวะได้ลำบาก นอกจากนี้ไมโคร พลาสติกเป็นตัวกลางนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายให้ทำให้เกิดโรคเล็ก ๆ ประปรายไปจนถึงโรคร้ายอย่างมะเร็ง

วิธีการป้องกันไม่ให้ไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย

เนื่องจากปัญหาไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายนั้นสาเหตุหลักมาจากการใช้พลาสติกและการบริโภคของมนุษย์ วิธีการแก้ไขและป้องกันก็ควรที่จะเริ่มที่มนุษย์ และการเลือกบริโภคให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นางสาวสุรพิญช์ พูลประเสริฐ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยีนาโน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แนะนำวิธีป้องกันไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย และการลดใช้พลาสติกแบบยั่งยืนว่า “ควรงดใช้พลาสติกในทุกกริยาการใช้ชีวิตประจำวัน เริ่มจากง่าย ๆ เช่น ทิ้งขยะพลาสติกให้ถูกวิธี คัดแยกประเภทขยะให้อยู่ในประเภทของมัน ไม่ทิ้งลงแหล่งธรรมชาติ, การพกถุงผ้าไปซื้อสินค้า และปฏิเสธการรับถุงพลาสติก, พกแก้วน้ำและหลอดแบบวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พลาสติกเพื่อลดการซื้อน้ำขวดหรือใช้แก้วและหลอดพลาสติก, ลดการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ และเปลี่ยนเป็นการทำอาหารรับประทานเอง หรือรับประทานที่ร้านเพื่อลดการใช้พลาสติก, การทำอาหารเองยังสามารถเลือกวัตถุดิบได้อย่างปลอดภัย ได้ทราบที่มาของมื้ออาหารทุกขั้นตอน และทานอาหารทะเลให้น้อยมื้อลงกว่าเมื่อก่อนเพื่อลดความเสี่ยงในการนำไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย” จะเห็นได้ว่า วิธีป้องกันที่ควรมุ่งเน้นที่สุด คือการลดใช้วัสดุพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เพื่อให้จำนวนขยะพลาสติกนั้นลดลง และทำลายห่วงโซ่อาหารที่มีไมโคร-พลาสติกผสมอยู่ในนั้นหายไป

(ภาพถ่ายโดย พรหมพิริยะ ชวนกระโทก)

ผู้เขียน พรหมพิริยะ ชวนกระโทก

เรียบเรียง สุชาลินี สุขุมทอง

พิสูจน์อักษร ฐิติมา ยิ้มประเสริฐ และ สุชาลินี สุขุมทอง

ภาพปก ลักษณา บุญญาปฏิภา

แหล่งอ้างอิงปฐมภูมิ

  • สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567
  • นางสาวสุรพิญช์ พูลประเสริฐ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยศาสตร์ สาขาวัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยีนาโน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567

แหล่งอ้างอิงทุติยภูมิ

Petromat. (2565). ไมโครพลาสติก : ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์. https://petromat.org/home/microplastics-human-health-impacts/  สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567

Eucerin. (2567). Microplastics in Skincare Products.ไมโครพลาสติก คืออะไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567

 Amarc. (2566). ไมโครพลาสติก ภัยเงียบในห่วงโซ่อาหาร. https://amarc.co.th/microplastics-knowledge/  สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567

Thecommons. (2566). 9 Ways to Avoid Microplastics at Home. https://www.thecommons.earth/blog/how-to-avoid-microplastics สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567

BBCNEWS ไทย. (2019). มนุษย์รับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายนับแสนอนุภาคต่อปี. BBCNEWS. https://www.bbc.com/thai/features-48541027# สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567

Thai PBS. (2563). ช็อก! คนเสี่ยงกินพลาสติก 5 กรัมต่อสัปดาห์เทียบบัตรเครดิต. Thai PBS. https://www.thaipbs.or.th/news/content/287817 สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567

ศีลาวุธ ดำรงศิริ ,เพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์. (2019). ไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำจืดและแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค. สิ่งแวดล้อมไทย. https://ej.eric.chula.ac.th/article/view/82 สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567