โควิด-19 คนไร้บ้าน รถไฟ

0

.

“ไม่มีใครกลัว (โควิด-19) สักคน
ไม่กลัวหรอก กลัวโรคอดอย่างเดียว”

.

ประโยคดังกล่าวถูกเอ่ยออกมาจากปากของชายวัยกลางคนที่มีสถานะเป็นคนไร้บ้าน เขาอาศัยอยู่ตรงย่านหัวลำโพง สีหน้าของเขาดูเฉยชาและไร้ความหวาดหวั่น หลังถูกถามถึงมุมมองและความรู้สึกเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ที่ตอนนี้กำลังคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก อีกทั้งยังสร้างความตื่นกลัวไปทั่วโลก 

.

หนึ่งในสถานที่รวมตัวกันของคนไร้บ้านหรือคนยากจนอย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง มักมีบรรดาผู้ใจบุญหรือองค์กรการกุศลขนอาหารและน้ำดื่มมาแจกจ่ายในบริเวณนั้น และเมื่อโรคระบาดได้คุกคามเข้ามา รัฐบาลได้ออกมาตรการห้ามชุมนุมต่าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ส่งผลให้เกิดการกีดกันผู้นำรถขนอาหารมาแจกจ่าย คนไร้บ้านกว่า 50 คนที่มาเข้าแถวรอรับอาหารจึงต้องแยกย้ายกลับไปด้วยความผิดหวัง หลายครั้งยามรถกระบะบรรทุกของเลี้ยวเข้ามาจอด บรรดาคนไร้บ้านผู้หิวโหยจึงพากันวิ่งกรูเข้ามาด้วยความเข้าใจผิดคิดว่ามีการนำอาหารมาแจก 

.

‘กลุ่มเปราะบาง’ คือนิยามของคนไร้บ้านในกรณีนี้ เพราะทุกคนล้วนมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา สาเหตุหลักมาจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้ สอดคล้องกับคำพูดของคุณสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงาที่ว่า “ที่หัวลำโพง คนไร้บ้านจะต้องจ่ายค่าเข้าห้องน้ำครั้งละ 5 บาท อย่างนี้จะให้เขาเข้าไปล้างมือบ่อย ๆ ได้ยังไง บางคนไม่มีเงินติดตัวเลย หรือถ้ามีเงินอยู่บ้าง เขาเก็บเงิน 5 บาทไว้ซื้ออย่างอื่นดีกว่า เขาขาดโอกาส แม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างสถานที่ที่จะล้างมือก็เข้าไม่ถึง”

.

หลายคนอาจเกิดคำถามภายในใจหากมองกลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่ยอมกลับบ้านว่าเหตุใดจึงเลือกอยู่อย่างนั้น ซึ่งคุณสิทธิพลได้อธิบายถึงสาเหตุหลักที่ทำให้คนคนหนึ่งออกมาเร่ร่อนมีสถานะเป็นคนไร้บ้าน ต้องทำความเข้าใจว่าคนไร้บ้านต้องการอิสระในการใช้ชีวิต การกลับไปอยู่บ้านจึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ง่าย แม้จะไม่ได้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ก็ตาม อีกด้านหนึ่งอย่างปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาครอบครัวก็เป็นอีกปัจจัยหลัก หรือต่อให้จะกลับบ้านได้ คนไร้บ้านซึ่งมีสถานะเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่เป็นทุนเดิมก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้สมาชิกในครอบครัว

.

และเมื่อเลือกทางเดินนั้น คนไร้บ้านส่วนใหญ่จึงมีสถานะกลายเป็นคนตกงาน ชายคนหนึ่งซึ่งอาศัยพื้นที่ย่านหัวลำโพงเป็นที่หลับนอนเป็นครั้งคราวบอกว่าปกติประกอบอาชีพก่อสร้าง แต่ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ เขาก็กลายเป็นคนตกงานในทันที ส่งผลให้ในแต่ละวันแทบจะไม่มีเงินพอจะหาซื้อข้าวกิน และเมื่อถูกถามถึงการป้องกันตัวจากโรคระบาด เขาได้ตอบกลับมาว่าทุกคนได้หน้ากากอนามัย แต่ไม่ได้ใช้งาน หลายคนไม่ได้กังวลสักนิดเกี่ยวกับการติดโรค เรื่องหากินประทังชีวิตแลดูจะน่าเป็นห่วงเสียมากกว่า

.

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังมีความกังวลและเป็นห่วงคนไร้บ้านที่มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ (ผบก.รฟ.) ร่วมกับนายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ร่วมกับตำรวจรถไฟเพื่อตรวจสอบ คัดกรอง และแก้ไขปัญหาไร้บ้านและเร่ร่อนในพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง  ในอีกส่วนหนึ่งยังเป็นการป้องกันป้องคนไร้บ้านจากโรคโควิด-19 โดยได้จัดหารองรับไว้ที่ย่านดินแดน และได้ทำความเข้าใจกับคนไร้บ้านเพื่อให้เข้าใจถึงความปลอดภัยจากโรคโควิด-19

.

ในขณะเดียวกัน ณ อาคารผู้โดยสาร สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) หัวลำโพง ลานจอดรถ และบริเวณรอบคลองหัวลำโพง ได้มีการประชาสัมพันธ์พร้อมกับลงพื้นที่สำรวจกลุ่มเป้าหมาย แจกแผ่นพับ และหน้ากากอนามัย เป็นการเชิญชวนคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้ประสบปัญหาทางสังคมให้เข้ารับการคุ้มครองชีวิตเพื่อความปลอดภัยจากสถานการณ์โรคระบาด รวมไปถึงจากสถานะอดอยากจากการตกงาน

.

อย่างไรก็ดี เมื่อเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ทุกอย่างล้วนแสดงให้เห็นถึงความกลัวอดอยากของคนไร้บ้านขึ้นเป็นทวีคูณ และยิ่งต้องเจอกับสภาวการณ์ที่โรคโควิด-19 กำลังคละคลุ้งไปทั่วมุมโลก ไม่ว่าคนไร้บ้านที่ใดก็ตาม ต่างต้องดิ้นรนกันขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐบาลได้เหมือนกับบุคคลทั่วไป แม้ว่าสถานะทางสังคมจะอยู่ชนชั้นล่างสุดก็ตาม ทุกคนควรได้รับสิทธิในการใช้ชีวิตที่ดีและเท่าเทียมกัน

.

ขอขอบคุณรูปภาพจาก: สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
อ้างอิง
สมิตานัน หยงสตาร์ และ ภานุมาศ สงวนวงษ์. (2563).  ไวรัสโคโรนา : “คนไร้บ้าน” จะทำอย่างไรเมื่อรัฐแนะนำให้ “อยู่บ้าน” เพื่อหนีโควิด-19
MRG Online. (2564).  ไวรัสโคโรนา : ตำรวจรถไฟจับมือกรมพัฒนาสังคมฯ แก้ปัญหาคนไร้บ้านเร่รอน “หัวลำโพง”
MRG Online. (2564).  พม. ลงพื้นที่หัวลำโพงช่วยคนไร้บ้าน เร่ร่อน ชวนเข้ารับการคุ้มครอง ให้บริการสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *