แรงงานข้ามชาติ ‘ชีวิต’ ‘สิทธิ’ และ ‘ความหวัง’

0

 แรงงานข้ามชาติ ‘ชีวิต’ ‘สิทธิ’ และ ‘ความหวัง’

     ปัจจุบันโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลง ทั้งอัตราการเกิดที่น้อยลง ส่งผลให้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ส่วนคนรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มในการย้ายประเทศเพิ่มขึ้น ปัญหาที่ตามมา คือการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะงานประเภท 3D ได้แก่ งานหนัก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานอันตราย (Dangerous) เพราะงานเหล่านี้เป็นงานประเภทที่แรงงานไทยไม่นิยม เมื่อคนในอยากออก ก็จำเป็นต้องดึงคนนอกเข้ามา แรงงานข้ามชาติจึงกลายเป็นกำลังสำคัญและแรงงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

แรงงานข้ามชาติ = สัตว์เศรษฐกิจ? พลเมืองชั้นสอง?

     “แรงงานข้ามชาติ”  ได้ยินคำนี้ฟังแล้วอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็นคำว่า “แรงงานต่างด้าว” แล้วล่ะก็เราจะนึกได้ทันทีว่าหมายถึงแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชาและลาว ซึ่งจริง ๆ แล้วคำว่า “คนต่างด้าว” เป็นคำที่ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ว่าหมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและกำหนดไว้ว่าคนต่างด้าวจะทำงานได้เมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางานหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีมอบหมายเท่านั้น อีกทั้งคำนี้ยังเป็นคำไทยเดิมอีกด้วย เพราะคำว่า “ด้าว” นั้น แปลว่า “ดินแดน” คำว่าแรงงานต่างด้าว จึงแปลได้ว่า แรงงานต่างดินแดนนั่นเอง ส่วนคำว่า “แรงงานข้ามชาติ” นั้น องค์การสหประชาชาติได้กำหนดความหมายไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของบรรดาแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัวของเหล่านั้นไว้ในมาตรา 2 ว่าหมายถึง บุคคลซึ่งจะถูกว่าจ้างให้ทำงาน กำลังถูกว่าจ้าง หรือเคยถูกว่าจ้างให้ทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนในรัฐที่ตนไม่ได้เป็นคนชาตินั้น

     แม้คำว่า “แรงงานต่างด้าว” จะเป็นคำที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และสองคำนี้จะมีความหมายใกล้เคียงกัน แต่กลับแบ่งแยกชนชั้นและการเลือกปฎิบัติของคนไทยได้อย่างชัดเจน คงไม่มีใครเรียกแรงงานที่มาจากประเทศแถบยุโรป ผิวขาว ผมทองที่มาทำหน้าที่สอนหนังสือในไทยว่าครูต่างด้าว ส่วนใหญ่ก็จะเรียกว่าครูต่างชาติทั้งนั้น แต่แรงงานเข็นผักในตลาดมหาชัย หรือคนงานในแคมป์ก่อสร้างที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชา และลาวกลับถูกเรียกว่าแรงงานต่างด้าวทั้ง ๆ ที่เป็นแรงงานข้ามชาติเหมือนกัน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร จึงมีแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยซึ่งหนึ่งในข้อเรียกร้องนั้น คือ ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า “แรงงานต่างด้าว” ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น “แรงงานข้ามชาติ” เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย

     นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้เรียกเปรียบเปรยแรงงานข้ามชาติอย่างคำว่า ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ ตามนิยามความหมายของลัทธิมาร์กซิสต์ (Marxism) มุ่งเน้นไปที่ “การต่อสู้ทางชนชั้น” ระหว่างชนชั้นแรงงานกับชนชั้นนายทุนในระบอบทุนนิยม ที่กำหนดให้ชนชั้นแรงงานเป็นเพียงหนึ่งในพลังการผลิตที่สำคัญร่วมกับ ทุน เครื่องมือและที่ดิน หรืออีกคำที่น่าสนใจอย่างคำว่า ‘พลเมืองชั้นสอง’ ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า second class citizen ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ถูกเลือกปฎิบัติจากการแบ่งแยก เชื้อชาติ สีผิว ถูกจำกัดสิทธิ และโอกาสทางสังคม ถูกละเลยเพิกเฉย ไม่ได้สวัสดิการทางสังคมอย่างที่ควรจะเป็นซึ่งส่วนใหญ่คำว่าพลเมืองชั้นสองนี้ จะใช้กับคนที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศหรือย้ายประเทศ แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านและอพยพเข้ามาในไทยนี้ บางครั้งอาจเรียกได้ว่าพวกเขาเป็น “พลเมืองชั้นสาม” ด้วยซ้ำ

เพราะข้ามชาติ จึงถูกชาติมองข้าม

     แรงงานข้ามชาติที่อพยพมาในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา กัมพูชาและลาว มากกว่าร้อยละ 90 เป็นชาวพม่าที่มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น พม่า มอญ ทวาย คะฉิ่น คะยา ไทยใหญ่ อาระกัน กระเหรี่ยง ปะหล่อง ปะโอ ลาหู่ อาข่า ฯลฯ มีทั้งแรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะ ทั้งที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน  แรงงานเหล่านี้มีความหวังเพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต แต่แล้วกลับต้องผิดหวังเพราะภาครัฐไทยนั้นมองข้ามการมีอยู่ของพวกเขา ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงพอเมื่อเทียบกับแรงงานไทย นายจ้างเองก็ยังมองข้ามความสำคัญของแรงงานเหล่านี้ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้แรงงานเหล่านี้จำใจต้องยอมทำงานด้วย ‘ความไม่รู้’  ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาที่ตามมา เช่น การใช้แรงงานผิดกฎหมาย การกดขี่แรงงาน และอาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมและค้ามนุษย์ได้ 

     นอกจากแรงงานแล้ว อีกสิ่งที่เรามองข้าม คือ เด็กข้ามชาติ หรือลูกหลานของแรงงานข้ามชาติที่อพยพตามครอบครัวมาอยู่ในไทย หากกล่าวว่าเด็กคือเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าที่พร้อมเติบโตกลางป่าใหญ่ ลูกของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้คงเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ขาดการรดน้ำ พรวนดิน ไม่มีโอกาสได้เติบโตในป่าเหมือนเด็กไทยในวัยเดียวกัน

     นางเอ แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาวัย 53 ปี อาศัยอยู่บ้านเช่าแห่งหนึ่งในเขตบางขุนศรี กรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยนางเอเล่าว่า เธอกับสามีและลูก2คนมาอยู่ที่ไทยได้ประมาณ4-5ปีแล้ว จริง ๆ แล้วนางเอมีลูก3คน แต่อีกคนอาศัยอยู่กับยายที่ประเทศเมียนมา เธอและสามีเป็นลูกจ้างโรงเก็บของเก่า ได้ค่าตอบแทนเป็นรายวัน ประหยัดหน่อยก็พอเหลือเก็บส่งกลับไปให้ครอบครัวที่ประเทศเมียนมา 

     เมื่อถามว่าปกติแล้วเด็ก ๆ ทำอะไรตอนที่นางเอและสามีไปทำงาน นางเอบอกว่า ลูกก็จะวิ่งเล่นอยู่แถว ๆ บ้านเช่าซึ่งไม่ไกลจากโรงเก็บของเก่าที่เธอทำงานมากนัก บางทีก็วิ่งเล่นกับหลานของเจ้าของบ้านเช่า หรือบางทีก่อนจะถึงวันพระคนแก่แถวนั้นก็จะจ้างลูกสาวคนโตให้ไปทำความสะอาดศาลาวัด

“ไม่รู้ที่ไหนเรียนได้ คงได้เรียนไม่มากหรอก”

สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถามถึงเหตุผลว่าทำไมไม่ให้ลูกไปโรงเรียน คำตอบของนางเอทำให้ชวนคิดไม่น้อย พอถามนางเออีกว่ารู้มั้ยว่าลูกเข้าเรียนในไทยได้นะ นางเอก็ตอบทันทีว่า “ไม่รู้” 

ไม่ได้มีเพียงแค่นางเอที่ไม่รู้ เจ้าของบ้านเช่าที่( นั่งฟังอยู่ข้าง ๆ ) ช่วยติดต่อประสานการสัมภาษณ์กับนางเอก็ไม่รู้เหมือนกันว่าลูกของนางเอ รวมไปถึงเด็กข้ามชาติคนอื่น ๆ ก็สามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนไทยได้ 

     ประเทศไทยรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานให้เด็กที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยรวมถึงไม่มีหลักฐานการแสดงตน สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาของไทยได้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 ก.ค. 2548 ที่ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เป็นการเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา ทั้งการรับเข้าเรียน ลงทะเบียนนักเรียน นักศึกษาและการออกหลักฐานทางการศึกษา พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่กลุ่มบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย

     แล้วมีเด็กและแรงงานข้ามชาติอีกเท่าไหร่ที่ถูก ‘มองข้าม’ และต้องเสียโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ด้วย ‘ความไม่รู้’ ?

โรคระบาดไม่เลือกสัญชาติ

     ช่วง3ปีที่มีการระบาดของโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบ แรงงานข้ามชาติก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอีกสิ่งที่สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในไทยได้อย่างชัดเจน 

     หากยังจำกันได้ เมื่อปลายปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหญ่ที่แพกุ้งตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่ประกอบอาชีพรับจ้างในตลาด ทางภาครัฐจึงต้องมีมาตรการปิดล้อมตลาดกลางกุ้ง รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะ สถานประกอบการ  อาทิ สนามกีฬา สนามมวย โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและเชื่อมโยงกับแรงงานข้ามชาติและประกาศให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่ต้องควบคุมสูงสุดจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน แรงงานเหล่านี้จึงไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดได้อันเนื่องมาจากมาตรการของรัฐ และเมื่อตลาดซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพในการสร้างรายได้ปิด ก็ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้ต้องมีสถานะว่างงาน นายจ้างก็ยังไม่มีการจ่ายชดเชยรายได้ บ้างก็ถูกเลิกจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้างก็ไม่สามารถย้ายนายจ้างได้โดยง่าย เมื่อรายได้ไม่มี แต่ชีวิตก็ยังต้องกินต้องใช้อยู่ แรงงานเหล่านี้จึงต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดท่ามกลางโรคระบาดโดยที่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

เมื่อฉันตกเป็นจำเลยของสังคม?

พม่าตีกรุงแตกอีกแล้ว’ 

‘เสียกรุงครั้งที่3’ 

“ปืนใหญ่ยิงเข้ามาที่สมุทรสาครแล้ว รอบนี้เป็นกระสุนอัดโควิด” 

     หากนี่เป็นข้อสอบสักข้อ โจทย์คงไม่พ้นที่จะถามว่า ประโยคดังกล่าวข้างต้น ผู้พูดรู้สึกอย่างไร? หากถามเช่นนี้ อาจตอบได้ว่า ไม่รู้สิ ฉันไม่ได้เป็นผู้พูดนี่ ฉันไม่รู้สึกอะไรหรอก แล้วถ้าถามว่าคนฟังรู้สึกอย่างไรล่ะ? คนพูดก็พูดแบบตลก แต่คนฟังน้ำตาตกใน ประโยคมากมายที่สังคมออนไลน์พูดคุยกันอย่างสนุก แต่เป็นความทุกข์ของแรงงานที่ต้องตกเป็นจำเลยสังคม

     ตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์เอเล่าถึงช่วงการเกิดคลัสเตอร์ตลาดแพกุ้งมหาชัยที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติเช่นเดียวกับเธอ เธอบอกว่า สงสารเพื่อนแรงงานที่ตลาดมหาชัย เธอเองก็มีเพื่อนที่ทำงานอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ตอนเกิดการระบาด สังคมมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแรงงานเมียนมาไม่น้อย แม้เธอไม่ได้เป็นแรงงานที่ตลาดแพกุ้ง ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร แม้เจ้าของบ้านเช่าที่ให้เช่าจะใจดีปฎิบัติและพูดคุยกับเธอปกติ แต่เธอก็รู้สึกอึดอัดใจไม่น้อยเพราะกลัวถูกเหมารวมว่าเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด  นี่คืออีกผลกระทบที่แรงงานข้ามชาติต้องพบเจอ

     อีกด้านหนึ่งคำแถลงการณ์ผ่านสื่อของ ‘ลุง’ คนหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันมาตลอด7ปี ก็ยังสะท้อนความจริงที่ว่าในสายตาของรัฐพวกเขาเป็นเพียงแค่เครื่องจักรหรือสัตว์เศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญและเป็นแรงงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย หากมองย้อนกลับมา แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้สร้างอะไรให้กับชาติได้มากมาย แล้วชาติไทยล่ะให้อะไรกับแรงงานข้ามชาติบ้าง?

บรรณานุกรม

Varun Nayyar and Aakriti Thapar. (2563). India migrant workers paid heaviest price for Covid crisis. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://www.bbc.com/news/av/world-asia-india-55434594

ชัยยศ ยงค์เจริญชัย.(2563). โควิด-19 : แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายกับความยากลำบากในการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://www.bbc.com/thai/52407804

Workpointtoday. (2564). เสวนา ‘แรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด: จะวนลูปหรือมูฟออน’ พบการแก้ปัญหาภาครัฐยังไม่เพียงพอ. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://workpointtoday.com/migrants-211216/

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2560). ปัญหาแรงงานต่างด้าว ภาครัฐต้องเข้มงวดเรื่องกฎหมา . สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://www.prachachat.net/csr-hr/news-77430

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์. (2564). สามชาติเด่นแรงงาน ทักษะข้ามชาติในประเทศไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://tdri.or.th/2021/05/skilled-migrants/

Passport Visa Workpermit. (2563). การจ้างแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย 1 คน ต้องรู้อะไรบ้าง? . สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://www.passport.co.th/mustknow/began-to-hire-foreign-workers/

นรากร ศรีเที่ยง .(2564) .แรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพในรัฐไทย กรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติ จังหวัดสมุทรสาคร . สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://www.amnesty.or.th/latest/blog/921/

Marketeeronline .(2563) .ประเทศไทยมี แรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานมากเท่าไร. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://marketeeronline.co/archives/202730

เจาะลึกระบบสุขภาพ .(2563).ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาโควิดในแรงงานต่างด้าวจังหวัดสมุทรสาคร. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://www.hfocus.org/content/2021/02/20990

มูลนิธิรักษ์ไทย .(2564).ศูนย์การเรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร.  สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://www.raksthai.org/en/projects-content.php?category=2&sort=&id=52 podcastธันยพร บัวทอง .(2562). แรงงานข้ามชาติ : ความไม่รู้และความเข้าใจผิดที่ปิดกั้นสิทธิทางการศึกษาของลูกแรงงานข้ามชาติ.  สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2565, จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-48856200

เขียนและเรียบเรียง เอมพิกา ศรีอุดร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *