แฟชั่น เพศไหน ใครกำหนด

0


เมื่อโลกของเราเปิดกว้างมากขึ้น ผู้คนได้ทำลายกรอบของสังคมที่เคยถูกปิดกั้น แล้วก้าวออกมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง จึงทำให้เกิดการยอมรับความคิดใหม่ๆ หนึ่งในนั้นคือ “ความเท่าเทียมในด้านแฟชั่น”



อดีตเครื่องแต่งกายมีเพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและป้องกันสัตว์ต่างๆเท่านั้น

เสื้อผ้ามนุษย์ ในยุคแรกเริ่ม

ย้อนกลับไปในอดีตมนุษย์ยุคแรกไม่ได้แบ่งเครื่องแต่งกายออกตามเพศสภาพ ใช้เพียงหนังสัตว์ ฟาง หรือใบไม้มาทำเป็นลักษณะคล้ายกระโปรง เพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและป้องกันสัตว์ต่างๆเท่านั้น เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการทอผ้า เสื้อผ้าจึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีอารยะมากขึ้นแต่ยังคงอยู่ในรูปทรงกระโปรงแบบเดิม(Rattanapon, 2563) เช่นเดียวกับวัฒนธรรมกรีก โรมัน ผู้ชายยังคงใส่กระโปรงโดยจะใส่เป็นผ้าคลุมหลวม ๆ ยาวตลอดตัวไม่ได้แบ่งข้างเป็นขาซ้ายขาขวา ง่ายต่อการตัดเย็บและสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ต่อมากางเกงถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับวัฒนธรรมการขี่ม้าเพื่อป้องกันการเสียดสีระหว่างขาหนีบกับอานม้าและความคล่องตัวขณะขึ้นลง ในภายหลังการใส่กางเกงขี่ม้าได้เข้าไปมีอิทธิพลต่อเพศชายในรูปแบบของทหารหรือนักรบมาตั้งแต่นั้น

เขื่อน  ภัทรดนัย


“เสื้อผ้าไม่มีเพศ เเต่เราไปตีกรอบกันเองว่าเพศไหนต้องใส่อะไร”

เขื่อน  ภัทรดนัย
ศิลปิน

การก่อเกิดของ Androgynous Fashion

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้เริ่มเกิดแฟชั่นที่เรียกว่า Androgynous ซึ่งในความหมายทางชีววิทยาคือ คนที่ร่างกายมีส่วนผสมทั้ง Masculine (ความเป็นชาย) และ Feminine (ความเป็นหญิง) ในคนคนเดียว หากแปลตามสายแฟชั่น หมายถึง คนที่มีสไตล์การแต่งตัวยากที่จะแยกแยะได้ว่าเป็น Masculine หรือ Feminine ซึ่งสไตล์การแต่งตัวแนวนี้ก็กำลังมาแรงมาในปัจจุบัน(Warangkana, 2565) ทำลายภาพจำเดิม ๆ ว่าผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ผู้ชายต้องใส่กางเกง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือ gender ไหน เพียงแค่มีใจรักก็สามารถแต่งได้ทั้งนั้น

สมัยก่อนผู้หญิงต้องใส่คอร์เซ็ต ผ้าลูกไม้ และกระโปรงพะรุงพะรัง จนมีคนได้ตั้งคำถามถึงการใส่เสื้อผ้าของผู้หญิงว่าทำถึงต้องใส่แบบนี้ ทำไมถึงใส่เสื้อผ้าแบบผู้ชายไม่ได้ คน ๆ นั้นก็คือ “Coco Chanel” เธอจึงได้ตัดเย็บกางเกงสำหรับผู้หญิงขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1913 ให้ผู้หญิงได้ก้าวออกจากกระโปรงยาวแบบยุควิคตอเรียน (ปลายศตวรรษที่ 19) แล้วสามารถก้าวเดินหรือทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างกระฉับกระเฉง เหมือนเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าแรกเลยว่าการแต่งตัวแบบผู้ชาย ผู้หญิงก็สามารถแต่งได้เหมือนกัน

คาร่า เดเลวีน

ในเวลาต่อมาคนที่มารับไม้ต่อก็คือ Yves Saint Laurent ที่ให้กำเนิดชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงที่มีส่วนเว้าโค้งเข้ากับรูปร่างของผู้หญิงเป็นครั้งแรกในปี 1966 สามารถนับได้ว่า Chanel เหมือนคลื่นลูกแรกที่เปิดประตู ส่วน YSL เปรียบเสมือนคลื่นลูกสองที่มาเสริมพลังให้กับวงการแฟชั่น ในการก้าวออกจากภาพจำเดิมๆ ของการแต่งกายตามเพศ

ขณะเดียวกันเพศชายก็เริ่มสนใจแฟชั่น Androgynous เช่นกัน โดยเรียกว่า “The Peacock Revolution” มาจากธรรมชาติของ นกยูง (Peacock) โดยเพศผู้จะมีสีที่สวยและสดกว่าเพศหญิง ในตอนนั้นจึงเป็นยุคที่ผู้ชายแต่งตัวสีสันจัดจ้านด้วยเนื้อผ้าและลวดลายใหม่ ๆ แต่ก็ยังคงอยู่ในรูปแบบชุดสูทที่ผู้ชายนิยมใส่ ซึ่งคนที่เข้ามามีบทบาทเด่น ๆ ในเรื่องนี้ก็คือ Jimi Hendrix ศิลปินที่ทรงอิทธิพลต่อดนตรี ได้แต่งกายด้วยสีสันลวดลายจัดจ้านขึ้นแสดงโชว์ นับได้ว่าเป็นนิยามของความเท่และยังเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งตัวให้ผู้ชายหลาย ๆ คน ในยุคนั้น

Jimi Hendrix



Androgynous Fashion อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

แต่การแต่งตัวแบบ Androgynous Fashion จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องจัดจ้านฉูดฉาดหรือแฟชั่นมากขนาดนั้นก็ได้ เพราะว่า  Androgynous Fashion มันได้มีการแทรกซึมอยู่กับการใช้ชีวิตทั่วไปของคนเราอยู่แล้วเพียงแต่เราไม่สังเกตและคิดไม่ถึง อาจเป็นเพราะศาสนา วัฒนธรรม หรือประเพณีในสังคมของกลุ่มคนเหล่านั้นหล่อหลอมมาให้มีแต่งการแบบ Androgynous Fashion โดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นชายชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศหรือชาวมุสลิมที่ใส่ “โสร่ง” หรือผ้านุ่งในชีวิตประจำวันที่ฝรั่งมองแล้วอาจเทียบเคียงได้กับกระโปรง  หรือการที่หนุ่ม ๆ ชาวสกอตยังนุ่ง “คิลต์” (Kilt) เครื่องแต่งกายท่อนล่างอัดจีบลายตารางสำหรับผู้ชาย ซึ่งถือเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ประจำชาติสกอตแลนด์ (Opolop, 2561)

นอกจากนี้ในโรงเรียนบางแห่งเองก็เปิดให้นักเรียนมีอิสระในการแต่งตัวโดยที่ไม่ได้กำหนดเครื่องแบบนักเรียนตามเพศ หลายประเทศในโลกหรือเขตปกครองต่างก็เริ่มที่จะเปิดกว้างในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักรที่ยังคงให้นักเรียนสวมชุดนักเรียนไปโรงเรียนอยู่ แต่เริ่มพิจารณาที่จะไม่ใช้ชุดนักเรียนที่แยกเพศของเด็ก ๆ  ซึ่งโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอังกฤษ อนุญาตให้นักเรียนชายสามารถสวมกระโปรงไปโรงเรียนได้ ในส่วนของนักเรียนหญิงก็สามารถสวมกางเกงได้ มาต่อที่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างมากก็คือ ไต้หวัน รัฐบาลไต้หวันได้ประกาศยกเลิกนโยบายที่ให้นักเรียนแต่งชุดนักเรียนแบบเจาะจงเพศ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ก็ยังมีออสเตรเลียที่ให้นักเรียนสามารถใส่ชุดนักเรียนตามเพศที่ตัวเองต้องการ เช่นเดียวกันกับ เม็กซิโก ไอร์แลนด์ และญี่ปุ่น (Jiratchaya, 2563)

ไดม่อน จาตุรงค์



กระแสสังคมสังคมไทยเกี่ยวกับ Crossdress  และ Androgynous Fashion

แฟชั่นแบบ Crossdress หรือ การแต่งกายข้ามเพศ ที่เป็นเพศกำเนิดของตัวเอง ส่วนใหญ่ผู้ชายแท้จะนิยมแต่งกายตามเพศหญิง เช่น การใส่กระโปรง การสวมรองเท้าส้นสูง ซึ่งมีมานานแล้ว แต่ในไทยยังไม่ค่อยนิยมมากนัก ถึงอย่างนั้น จาตุรงค์ ลอยใหม่ (ไดม่อน) Fashion VDO Creator หรือ Influencer ผู้เป็นที่รู้จักในวงการแต่งตัว Crossdress ได้กล่าวถึงการที่สังคมเราเริ่มเปิดกว้างเรื่องการแต่งตัวมากกว่าเมื่อก่อนอยู่บ้าง “การแต่งตัวในประเทศไทยถ้าเทียบกับในช่วง 2 – 3 ปีก่อน ตอนนี้เปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่เปิดเหมือนกัน”

สะท้อนให้เห็นอีกมุมนึงที่ยังมีคนไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับคนที่ยังถูกคำกล่าวที่ว่า “ไปใส่กระโปรงไป” ตีกรอบอยู่ เหมือนเป็นการนำกระโปรง มาเป็นคำว่ากล่าวต่อผู้ชายที่ไม่เป็นสุภาพบุรุษหรือไม่กล้าหาญ ซึ่งผู้ชายใส่เสื้อผ้าผู้หญิงก็จะดูอ่อนแอไม่มีแรงที่จะช่วยเหลือใคร แต่ในทางกลับกันผู้หญิงที่แต่งแบบผู้ชายมักพบเป็นเรื่องปกติและได้เปรียบในเรื่องนี้ เพราะถ้าแต่งตัวแบบเพศตรงข้ามก็จะถูกยอมรับโดยทั่วไปว่า เป็นหญิงแกร่ง ดูทะมัดทะแมง คล่องตัว และพึ่งพาตนเองได้

เจมส์ ธีรดนย์

“เพศในแฟชั่นมันหายไปเยอะแล้ว ถึงแม้จะยังแบ่งเป็นคอลเล็กชั่นผู้หญิง ผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นยูนิเซ็กส์ แล้วแต่ว่าใครจะชอบแบบไหน”

 เจมส์ ธีรดนย์
               ศิลปิน/นักแสดง

ถึงแม้ว่าในไทยจะเป็นเรื่องยากที่คนจะหันมาแต่งตัวแบบ Androgynous แต่ก็ยังมีศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงกว้างออกมาแต่งตัวแนวนี้กันมากหน้าหลายตา เช่น ตน ต้นหน ที่มีการใส่กระโปรงและทาเล็บ ติดตามได้จากการโพสรูปลงอินสตราแกรมส่วนตัว เขื่อน K-OTIC ก็ได้ออกมาใส่ชุดคู่กับคุณแม่  เจมส์ ธีรดนย์ ที่ใส่รองเท้าค่อนข้างมีส้นเหมือนรองเท้าส้นสูงของผู้หญิง และศิลปินคนอื่นๆ เช่น พีพี กฤษฏ์,  บิว จักรพันธ์, เจฟ ซาเตอร์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วได้แรงบันดาลใจหรือความกล้ามาจากศิลปินต่างชาติที่แต่ละครชื่นชอบนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เสื้อผ้าทั้งต่างประเทศและของไทยหลายแบรนด์ที่เริ่มให้ความสำคัญและออกแบบเสื้อผ้าสินค้าสไตล์ Androgynous หรือ Unisex เช่น W’menswear , Seeker x Retriever , Painkiller Atelier หรือแม้แต่ในงาน “Siam Paragon Bangkok International Fashion Week 2022” หรือ BIFW2022 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-25 กันยายนที่ผ่านมา มีแบรนด์เสื้อผ้าของไทยที่ดีไซด์เสื้อผ้าในลักษณ์ของ Androgynous อยู่ในคอลเลคชั่นเช่น ISSUE , KLOSET, POEM ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะขับเคลื่อนและสนับสนุนวัฒนธรรมการแต่งกายใหม่ๆในสังคมไทย

หากมองอีกแง่การแต่งกายเป็นเพียงศิลปะที่แสดงบนเรือนร่างรูปแบบนึง ไม่มีเพศ เป็นความสนุก ความสวยงาม ไม่ควรนำมาเป็นสิ่งแบ่งแยกหรือตัดสินใคร และหากตัดความคิดเดิมๆ ออกไป จะเห็นว่ามันก็คือการที่คนๆ นึงค้นหาสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับตัวเอง เพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และถึงแม้ว่าตอนนี้การแต่งตัวในประเทศไทยยังไม่เปิดกว้างมากนัก แต่หวังว่าในอนาคตความคิดและจิตใจของคนเราจะเปิดกว้างและก้าวทันเหมือนเทคโนโลยี



“มันไม่เกี่ยวกับผู้หญิงในชุดเสื้อผ้าผู้ชายหรืออะไรพวกนั้น มันเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่ดูดีกับทั้งคู่มากกว่ามันเกี่ยวกับความทันสมัย”

Jonathan Anderson
 ผู้ก่อตั้ง J.W. Anderson











เรียบเรียงโดย โยษิตา แสงจันทร์, เมทิกา เกษสังข์

แหล่งอ้างอิงบทความ

คาลิล พิศสุวรรณ. (ม.ป.ป.).  กระโปรงของผู้หญิง กางเกงของผู้ชาย ในวันที่ผู้ชายลุกขึ้นมาใส่กระโปรง. สืบค้น 30 กรกฎาคม 2565,  จาก   https://adaymagazine.com/man-skirt/

จิรัชญา. (2562).  ผู้ชายสวมกระโปรง? ผู้หญิงใส่กางเกง? สำรวจนโยบาย gender-neutral uniform จากทั่วโลก.  สืบค้น 30 กรกฎาคม 2565,  จาก   https://thematter.co/social/education/gender-neutral-uniform/123011

ภัชรกรณ์ โสตติมานนท์. (2565).  Unisex มากกว่าแฟชั่นคือความเท่าเทียม. สืบค้น 30 กรกฎาคม 2565,  จากhttps://waymagazine.org/unisex-fashion/

สลิลา มหันเชิดชูวงศ์. (2564). Androgynous Fashion ผู้ชายใส่กระโปรงเป็นเรื่องธรรมดาจ้ะ. สืบค้น 30 กรกฎาคม 2565,  จาก https://www.ili-co.me/u/2021/06/body-know-androgynousfashion

Kimberly Chrisman. (2015).  A Brief History of Unisex Fashion. Retrieved 30 July 2022, from   https://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2015/04/when-unisex-was-the-new-black/390168/

Opolop Poppy. (2562). โอเคไหม หากผู้ชายยุคใหม่จะใส่กระโปรงจนเป็นเรื่องปกติ. สืบค้น 30 กรกฎาคม 2565,  จาก  https://thestandard.co/should-men-wear-skirts/

Rattanapon Sae-jun. (2563). ทำไมผู้ชายไม่ใส่ “กระโปรง” ว่าด้วยที่มาของเสื้อผ้า และความเท่าเทียมทางเพศ. สืบค้น   15 สิงหาคม 2565, จาก https://thewmtd.com/history-of-skirt/

แหล่งข้อมูลบุคคล

จาตุรงค์ ลอยใหม่ (ไดม่อน) Fashion VDO Creator หรือ Influencer

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *