เมื่อรถติดไม่ได้ทำให้แค่คนหัวร้อน : ถอดบทเรียนบนถนนที่เรามองข้าม

0

ในแต่ละวันเราต้องเดินทางไปหลายสถานที่และบางครั้งเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอรถติดจากช่วงเวลาเร่งด่วน ไฟแดงถี่ยิบ ไฟเขียวน้อยนิด หรือน้ำขังรอการระบาย ทำให้เราเสียเวลาไปไม่น้อย แต่เราเคยคำนวณเวลาที่เสียไปจากการเดินทางหรือไม่ การเดินทางในแต่ละครั้งของเราส่งผลกับอะไรมาดูคำตอบไปพร้อมกัน

วันหนึ่งมนุษย์ควรใช้ระยะเวลาในการเดินทางไปกลับที่ทำงานไม่เกิน 1 ชั่วโมง
                                                                                                        รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา กล่าว

ผู้คนในเมืองใหญ่ทั่วโลกมีเวลาเดินทางไปกลับที่ทำงานที่ใช้เวลานาน เช่น ลอนดอนประเทศอังกฤษใช้เวลาเฉลี่ย 60 นาทีต่อวัน นิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลาเฉลี่ย 81.6 นาทีต่อวัน ส่วนกรุงเทพมหานครประเทศไทยใช้เวลาเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน และที่น่าสนใจคือเวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจังหวัดเชียงใหม่เองมีลักษณะเมืองใหญ่แบบกรุงเทพฯจึงเกิดปัญหาด้านการเดินทางใกล้เคียงกัน
         แบบสำรวจพฤติกรรมการเดินทางส่วนใหญ่ผู้ทำแบบสำรวจที่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่คิดว่าตนเองใช้เวลาเดินทางแต่ละวันประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง เจอปัญหารถติดไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐานเวลาการเดินทางของโลกแต่ไม่นานเท่าในกรุงเทพมหานคร และหนึ่งในสาเหตุของรถติดที่ผู้ทำแบบสำรวจพฤติกรรมการเดินทางเจอคือปัญหาไฟแดงที่มีเวลานานและแยกไฟแดงที่ติดกัน
          จากคู่มือมาตรฐานด้านการจัดระบบการจราจร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแยกไฟแดงและคํานวณความยาวจังหวะสัญญาณให้กับแต่ละเฟส หรือเวลาสัญญาณไฟว่าต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์จราจรตลอดจากการใช้รถผ่านแยกนี้มีปริมาณเท่าไรหรือตามสัดส่วนปริมาณจราจรต่อความจุของแต่ละทิศทางอย่างเท่าเทียมกัน จึงจะทำให้การจราจรเป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิ่งที่คนทำบนรถเมื่อเดินทางหรือเจอปัญหารถติดเพื่อไม่ให้หัวร้อนมีอะไรบ้าง
         
เมื่อเดินทางเป็นเวลานานหรือเจอรถติดเราคงเลี่ยงความเบื่อหน่ายหรืออาการหัวร้อนไม่ได้ แต่ละคนจึงมีกิจกรรมที่ทำเพื่อผ่อนคลายและเกิดประโยชน์ต่างกัน เราได้สำรวจกิจกรรมที่คนชอบทำระหว่างเดินทาง อันดับแรกที่คนชอบทำบนรถมากที่สุดคือ ฟังเพลง รองลงมาคือ เล่นโซเชียลมีเดีย แต่งหน้า ทานอาหาร การถ่ายภาพ หรือแม้แต่ปรับกระจกรถ โดยให้เหตุผลที่น่าสนใจ เช่น กลัวสายเลยต้องทำทุกอย่างบนรถเพราะกลัวรถติดระหว่างทางด้วย , ทำให้ตัวเองผ่อนคลาย ไม่เอาอารมณ์ไปจดจ่ออยู่กับการที่รถติด เพราะจะทำให้หงุดหงิดง่าย , ทำให้มีสติและก็ตื่นตัวที่สุด เป็นต้น แต่รู้หรือไม่ถึงจะแก้เบื่อได้แต่คุณก็ใช้เวลาบนถนนนานและส่งผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศด้วย

สาเหตุมลพิษทางอากาศในเชียงใหม่เกิดจากควันรถยนต์

“การจราจรปล่อยพวกก๊าซออกมาเยอะและปล่อยออกมาตลอดทั้งปี”
                                                                                   ดร.แสวง กาวิชัย กล่าว

         นักวิจัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.แสวง กาวิชัย กล่าวว่าการจราจรในเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชียงใหม่ “หากพูดถึงมลพิษที่เกิดจากการจราจรแล้วจะเป็นในส่วนของตัวเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่” ซึ่งสอดคล้องกับภาครัฐที่จัดโครงการ “ตรวจ-จับ ปรับจริง ห้ามใช้รถยนต์ควันดำ” ของเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและให้ความสำคัญกับการตรวจจับรถควันดำ เพื่อไม่ให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง
        
นอกจากนี้ดร.แสวง กาวิชัย กล่าวถึงสาเหตุอีก 3 อย่างที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศของเชียงใหม่ ได้แก่ 1.สภาพภูมิประเทศ 2.สภาพภูมิอากาศ 3.การเผาป่าและการเผาเพื่อการเกษตร “ในการเผาไม่ได้เป็นแค่ฝุ่นอย่างเดียวมันมีแก๊สต่างๆ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน”  โดยแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพอากาศในเชียงใหม่ตอนนี้ทำได้เพียงแก้ไขตามสถานการณ์และพยายามใช้นโยบายการควบคุมการเผาและสร้างมลพิษให้มากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถห้ามไม่ให้มีการเผาได้ ด้วยเหตุผลของชาวบ้านว่า “เผามาแบบนี้ตั้งแต่เมื่อก่อนแล้ว”   
          ด้านนายฤทธิรงค์ เกษสังข์ หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลของนโยบายเพื่อควบคุมการเผาไร่ของคนในพื้นที่ที่ดูแลว่าต้องมีการกรอกแบบบันทึกคำร้องการเผาผ่านระบบแอปพลิเคชัน FireD มายัง อบต.จากนั้นทำการส่งเรื่องไปอำเภอและจังหวัด เพื่อเก็บข้อมูลและควบคุมการปล่อยมลพิษจากการเผาชีวมวล “ตอนนี้ห้ามไม่ได้เลยปรับวิธีมาเป็นขออนุญาตเผ่าผ่านระบบ”

มลพิษจากรถยนต์ที่ใช้มีอะไรบ้างที่ส่งผลต่อสภาพอากาศ

          รถยนต์แต่ละชนิดปล่อยก๊าซพิษออกมาต่างกันไป จากการทำแบบสำรวจยานพาหนะที่ใช้เดินทางประจำ อันดับ 1 คือ รถยนต์ส่วนตัว รองลงมาคือ รถจักรยานยนต์ และ รถโดยสารสาธารณะ โดยกรมควบคุมมลพิษได้ให้ข้อมูลว่า รถเครื่องยนต์เบนซิน จะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO)มากกว่าและปล่อยออกมามากสุดขณะรถจอดติดเครื่องเดินเบาและจอดนิ่งอยู่กับที่ ส่วนรถเครื่องยนต์ดีเซล จะปล่อย PM2.5 มากกว่า ซึ่งช่วงที่ปล่อยออกมามากคือช่วงที่รถกำลังเร่งความเร็วและปล่อยควันดำออกมาเป็นสาเหตุให้เกิดมลพิษทางอากาศและโลกร้อน ซึ่งโลกร้อนทวีความรุนแรงจึงมีการจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 เพื่อบรรลุเป้าหมายการตัดลดการปล่อยคาร์บอนจนกระทั่งถึงเป้าหมายเป็นศูนย์ภายในปี 2050

แนวทางการแก้ไขด้านการคมนาคมเรื่องมลพิษทางอากาศและสภาพภูมิอากาศโลกจาก COP 26

          การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ในด้านของแนวทางการเปลี่ยนวิถีการเดินทาง มีแนวโน้มหลักคือการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นพาหนะหลัก โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าราคาของรถยนต์ไฟฟ้าอาจถูกลงเทียบเท่ากับรถยนต์เบนซินหรือดีเซลในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงทางเลือกอื่น เช่น การเช่ารถยนต์ไฟฟ้า หรือตลาดมือสองซึ่งอาจเป็นวิธีเข้าถึงที่ถูกกว่า หลายประเทศและบริษัทผลิตยานยนต์ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ รถประจำทาง และรถบรรทุก ส่วนระดับบุคคลสิ่งที่พวกเราสามารถทำได้คือการใช้รถยนต์ให้น้อยลง และเพิ่มการเดินหรือปั่นจักรยานให้มากขึ้น

          ในประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พัฒนากลไกภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งเปิดโอกาสให้ชุมชนและเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการกับกระทรวงอื่นๆ โดยภาคอุตสาหกรรมจะปรับให้การผลิตสินค้าและการบริการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นหรือพลังงานทดแทน การปรับปรุงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการใช้พลังงานการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า          

         ทั้งนี้ ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ชื่อ EleX By EGAT รองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2564 มีจำนวน 15 แห่ง และคาดการณ์ว่าภายในปี 2565 จะมีสถานีชาร์จไฟฟ้าประมาณ 50 แห่ง ตามห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร นอกจากนี้รัฐบาลมีนโยบายให้ส่วนงานราชการที่ต้องการจัดซื้อหรือเช่ารถยนต์ใหม่ให้เน้นใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก

           จะเห็นได้ว่าเรื่องใกล้ตัวที่เราอาจมองว่ารถติดทำให้เราหงุดหงิด มันมีเรื่องราวอีกแง่มุมที่เป็นปัญหาระดับโลกอย่างปัญหามลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่เราอาจมองข้าม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนจะหันมาสนใจและร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องสภาพอากาศ ไม่ใช่เพียงแค่พูดเพื่อให้ดูดี แต่ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เหมือนคำพูดของเกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่า

“อยากให้คุณทำราวกับว่าบ้านกำลังถูกไฟไม้เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”

เรียบเรียงโดย เมทิกา เกษสังข์

แหล่งข้อมูลเว็บไซต์
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา. 2564. COP26 กับการเปลี่ยนแปลง | วิจารย์ สิมาฉายา. สืบค้น 12 ธันวาคม 2564,
จาก https://www.bangkokbiznews.com/columnist/976801
ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล. 2564. 7 ประเด็นสำคัญ จาก COP26 เปลี่ยนแปลงชีวิตเรายังไง. สืบค้น 12 ธันวาคม 2564,
จาก https://www.thansettakij.com/lifestyle/503953
รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา. 2562. ทุกวันนี้เราใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานเกินไปหรือเปล่า. สืบค้น 12 ธันวาคม 2564,
จาก https://www.baania.com/article
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. มปก. มลพิษทางอากาศ. สืบค้น 12 ธันวาคม 2564,
จาก https://datacenter.zdeqp.go.th/knowledge

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *