เพราะเมนส์อั้นไม่ได้ การได้มาซึ่งสิทธิการลาจึงจำเป็น

“สมมติว่าคุณเป็นเมนส์แล้วคุณต้องคุมเครื่องทอผ้า”

คำพูดเปรียบเปรยจากผู้ (เคย) มีประจำเดือนคนหนึ่งที่พร้อมเล่าด้วยประสบการณ์ตรงและไม่มีใครเหมือนได้

“ในขณะที่คุณต้องก้มต่อด้ายหลังเครื่องแล้วเกิดอาการหน้ามืดเพราะเป็นเมนส์ มันก็ก่อให้เกิดอันตรายเนื่องจากการทำงานใช่เปล่าล่ะ”

การมองเห็นถึงปัญหาที่ใครหลาย ๆ คนอาจนึกไม่ออก

ภาพ เสื้อเมนส์มาลาได้ ที่กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมจัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์ข้อเรียกร้องให้มีวันลาหยุดสำหรับผู้ที่มีประจำเดือน

ภาพโดย นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

เมนส์ ประจำเดือน รอบเดือน เลือดเดือน ฯลฯ คำพูดมากมายที่เอามาใช้เรียกสภาวะที่เลือดไหลออกจากจิ๋มของผู้มีเมนส์ พอเข้าสู่ช่วงวัยหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่มีจิ๋มอาจจะเป็นสักช่วงอายุ 10 ขวบ 11 ขวบ หรือเผลอ ๆ บางคนก็มีตั้งแต่ 9 ขวบ หรืออาจจะมากกว่านี้แล้วแต่ฮอร์โมนของร่างกาย สภาวะดังกล่าวที่บอกไปก็จะเกิดขึ้นแบบที่เรียกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้มีจิ๋มต้องเจอ ถ้าเลือดไหลออกมาอย่างเดียวแน่นอนว่าโลกเรามาไกลถึงขั้นมีนวัตกรรมที่เรียกว่าผ้าอนามัย แต่ในความเป็นจริงที่เหล่าผู้มีประจำเดือนต้องเผชิญมันมีมากกว่านี้น่ะสิ !

เราแนะนำให้ลองจินตนาการตามว่าถ้าในวันนี้เป็นเช้าวันจันทร์ (แค่นี้ก็แย่แล้ว) และยังตื่นมาพร้อมกับอาการปวดท้องบิด ที่รุนแรงและพ่วงความรู้สึกอยากอาเจียนออกจากปากมาด้วย สภาวะแบบนี้ดูเป็นเรื่องที่ทรมานมาก แต่สำหรับเหล่าผู้มีประจำเดือนนั้นยังคงต้องลุกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัวเตรียมพร้อมเพื่อไปทำงาน และหลังจากกินข้าวเช้าก็ต้องกรอกยาเข้าปากเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ทำงานต่อไปได้ แต่ถ้ามีวันหยุดให้ในวันที่ต้องทรมานขนาดนี้ เราคิดว่าคงจะดีไม่น้อย จริงไหม ?

อาการทรมานหลากหลายที่ผู้มีประจำเดือนต้องประสบ แต่หากจะเลือกขอลาพักจากการทำงานก็ต้องเอาไปผสมรวมกับวันหยุดลาป่วยทำให้โควตาลาป่วยเหลือน้อยลง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้ถูกบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ดันกลับไม่ถูกให้ความสำคัญสักนิด ถ้าพูดแบบนี้ความหวังก็จะดูค่อย ๆ ลาลับหายไป แต่ในประเทศไทยนั้นมีภาคประชาชนที่กำลังผลักดันเรื่อง #เมนส์มาลาได้ เพื่อให้ทุกคนที่มีเมนส์เลือกหยุดพักในวันที่ปวดท้อง

การเดินหน้าต่อสู้อย่างเต็มกำลังของภาคประชาชน

ภาพ คุณศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ตัวแทนจากกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม ที่กำลังให้สัมภาษณ์ในประเด็นการขับเคลื่อนเรื่อง เมนส์มาลาได้

ภาพโดย นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

“ไม่เคยได้ยินว่ากลุ่มไหนทำมาก่อน แต่เริ่มต้นจากการคุยกันครั้งแรกของเครือข่ายที่ทำงานเรื่องผู้หญิงและ LBT+”

เราได้พูดคุยกับพี่ศุ ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา และพี่แสงฝาง นิภาพร จิตมานนท์ ตัวแทนจากกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม คำถามแรก ๆ ที่เริ่มพูดคุยกัน เราตั้งคำถามไปว่า ‘จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนประเด็นนี้คืออะไร’ คำตอบจากพี่ศุคือ เรื่องมันเริ่มมาจากที่ว่าไม่เคยเห็นใครลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้ ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและพบเจอได้กับผู้มีประจำเดือนหลาย ๆ คน แต่คนส่วนน้อยที่จะเห็นว่ามันจำเป็น เลยนำไปพูดคุยกันในตอนที่ได้มีโอกาสประชุมเครือข่ายที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายที่ทำการประชุมในคราวนั้นเห็นด้วยและยินดีที่จะร่วมขับเคลื่อนประเด็นนี้กันต่อไป มีเครือข่ายทั่วประเทศไทยที่ยินดีช่วยเหลือตามความถนัดของแต่ละองค์กร กลุ่มองค์กรที่เข้าร่วมประชุมในตอนนั้นก็จะมีกลุ่มหิ่งห้อยน้อย กลุ่มการเมืองหลังบ้าน กลุ่มฟื้นสุข และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นเมนส์มาลาได้

ส่วนทางฝั่งเชียงใหม่จะเป็นกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมจะเป็นองค์กรหลักที่ขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยการวิธีการขับเคลื่อนก็จะมีตั้งแต่การล่ารายชื่อให้คนลงรายมือชื่อว่าเห็นด้วยกับการให้มีวันหยุดประเดือนไหม การจัดประชุมเสวนา การเดินขบวนในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันแรงงาน วันสตรีสากล และพี่ศุยังเล่าเป็นมุกตลกขำ ๆ ว่าทุกครั้งที่ทางองค์กรได้มีการเดินทางไปร่วมงานกับเครือข่ายไหน ทางองค์กรเองก็จะพยายามสอดแทรกประเด็นนี้เข้าไปพูดด้วย อย่างน้อยก็มีคนรู้จักและสนใจเพิ่มมากขึ้น หรือในบางทีก็ใช้ความสนิทใจเข้าพูดคุยเพื่อให้คนที่พูดคุยอยู่ตระหนักถึงประเด็นสำคัญนี้อีกด้วย ถือว่าแนบเนียนมากในการทำงาน

อีกหนึ่งวิธีการขับเคลื่อนที่ถือว่าสำคัญมากในการเรียกร้องคือการยื่นหนังสือให้ทางฝั่งหน่วยงานราชการรับรู้เพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนที่ภาคประชาชนอาจจะทำเองไม่ได้ เลยทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นซึ่งก็คือ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมเดินหน้ายื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายด้านสตรีและเนื่องในโอกาสสัปดาห์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กปี 2566 ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งข้อเรียกร้องมีดังนี้

1. ขอให้มีการกำหนดวันหยุดโดยได้รับค่าจ้างให้กับคนทำงานทุกคนในวันที่เป็นประจำเดือน

2. ขอให้รัฐจัดให้มีผ้าอนามัยแจกฟรีทั่วประเทศ

3. ขอให้รัฐจัดสวัสดิการให้กับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติและสถานะ

4. ขอให้รัฐจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกกรณีในสถานการณ์ฉุกเฉิน

หลังจากการยื่นหนังสือทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้มีหนังสือตอบกลับมาในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2567 รายละเอียดที่มีในหนังสือก็มีการพูดถึงข้อเรียกร้อง ผลการดำเนินงานและการขับเคลื่อนเชิงพัฒนา แนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอต่อองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ภาพ ตัวแทนจากกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมกำลังอธิบายภาพกิจกรรมการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องนโยบายด้านสตรี และเนื่องในโอกาสสัปดาห์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กปี 2566 วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

ภาพโดย นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

ในด้านของเรื่องวันลาหยุดประจำเดือนทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีการตอบกลับมาในด้านของแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า

‘ขอความร่วมมือสถานประกอบการ ภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความพร้อมกำหนดวันหยุดโดยได้รับค่าจ้างให้กับคนทำงานทุกคนในวันที่เป็นประจำเดือน’

‘ส่งเสริมให้สถานประกอบการ จัดกิจกรรมเพื่อสังคม Corporate Social Responsibility (CSR) ยื่นข้อเรียกร้องผ่านคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ’

นอกจากนี้มีรายละเอียดที่เป็นข้อเสนอต่อกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมว่า ‘ให้เสนอข้อเรียกร้องผ่านองค์การด้านแรงงาน เช่น สหภาพแรงงาน/สภาแรงงาน โดยผ่านระบบไตรภาคี’ นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีในการตอบกลับมาของหน่วยงานราชการที่ยังพอเห็นความสำคัญในข้อเรียกร้อง แต่ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปก็คงต้องติดตามต่อ

ภาพ หนังสือตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (กญธ.)

ทางภาคประชาชนร่วมต่อสู้กันอย่างเต็มที่ และยังมีอุปสรรคมากมายที่ต้องฟันฝ่า หนึ่งในปัญหาใหญ่คือความเข้าใจของคนทั่วไป

“พี่เลยอยากได้งานวิจัยที่มันชัดว่าในระยะสั้นหรือระยะยาว เกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพผู้หญิง แต่มันยังไม่มีทุนวิจัยในเรื่องนี้ไง”

เพราะในโลกที่วิทยาศาสตร์แทบจะเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ ความสำคัญของงานวิจัยเลยเป็นหลักฐานชั้นดีในการพิสูจน์ความเจ็บปวดของผู้มีประจำเดือน นอกจากนี้ยังมีความยากลำบากในแง่มุมของการที่ต้องทำให้ฝั่งผู้ประกอบการเห็นด้วยและยอมรับอีก ในโลกของทุนนิยม ความเจ็บปวดของเนื้อตัวร่างกายของผู้มีประจำเดือนนั้นยังคงต้องพิสูจน์กันอยู่ร่ำไป

รอวันที่ไทยเท่าทัน

ประเทศล่าสุดที่มีการประกาศให้ลาหยุดในวันที่ปวดประจำเดือนคือประเทศสเปน ซึ่งนับได้ว่าเป็นประเทศแรกในประเทศฝั่งยุโรปที่มีการประกาศออกมา แต่ในฝั่งเอเชียนั้นก็มีหลายประเทศที่มีสวัสดิการนี้ ได้แก่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป อย่างเช่น ไต้หวันมีข้อกำหนดว่าให้ลูกจ้างลาได้เดือนละ 1 วัน โดยได้รับค่าจ้างกึ่งหนึ่ง และถ้าลาเกิน 3 วันต่อปี ก็จะนับเป็นลาป่วย ซึ่งถ้าพูดกันตามความเป็นจริงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการตระหนักรู้และให้ความสำคัญ แต่ในเรื่องของประสิทธิภาพสวัสดิการอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยต่อไปเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น ส่วนในฝั่งทวีปอื่น ๆ ก็จะเป็นทวีปแอฟริกาคือ ประเทศแซมเบีย

ถ้าเทียบกับสัดส่วนของประเทศทั้งหมดในโลก ประเทศที่มีการอนุญาตให้ลายังถือว่าเป็นจำนวนน้อยมาก ๆ ที่เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้

จากการต่อสู้ของภาคประชาชน ประเทศไทยเรายังคงมีหวังที่จะทำให้เรื่องนี้ถูกให้ความสำคัญขึ้นมาได้ บางทีอาจจะเป็นประเทศต่อไปในทวีปเอเชียที่มีการอนุญาตให้ลาประจำเดือนก็ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งฝั่งภาคประชาชน เอกชน และรัฐ หันมามองและให้ความสำคัญ ถ้าได้มีสวัสดิการนี้คงเป็นเรื่องน่ายินดีที่สังคมไทยเข้าใจสิทธิของผู้มีประเดือนมากขึ้นอีกหนึ่งขั้น

“เห็นประเทศอื่นมีก็ดีใจ และอยากได้บ้าง”

ภาพ บูธกิจกรรมของกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม จากงานจิ๋มเฟสติวัล 2 วันที่ 31 – 1 กันยายน 2567 ณ กาลิเลโอเอซิส กรุงเทพมหานคร

ภาพโดย กุลปริยา โนนทัน

ความหวังและการก้าวต่อ

ณ ขณะนี้การขับเคลื่อนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังเรียกร้องต่อภาครัฐ และรณรงค์ให้ภาคประชาชนเข้าใจในประเด็นที่กำลังขับเคลื่อน และมีการล่ารายชื่อคนที่เห็นด้วยต่อประเด็นตามองค์กรขับเคลื่อนต่าง ๆ ก็มีการจัดงานเพื่อพูดกล่าวถึงประเด็นเมนส์มาลาได้อยู่เรื่อย ๆ เช่น งาน Our Voices Our Change ที่จัดโดยกลุ่มหิ่งห้อยน้อย นักศึกษา และเครือข่ายอื่น ๆ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2567 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และงานจิ๋มเฟสติวัล 2 ที่จัดไปในวันที่ 31 – 1 กันยายน พ.ศ.2567 ณ กาลิเลโอเอซิส กรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มการเมืองหลังบ้าน ในงานนี้ก็มีการกล่าวถึงประเด็นเมนส์มาลาได้ด้วยเช่นกัน

“สำหรับพี่ จะภูมิใจมากเลยถ้ามันเรียกร้องได้ก่อนพี่ตาย” พี่ศุกล่าวออกมาด้วยน้ำเสียงที่จริงใจมากตั้งแต่คุยกันมา พี่ศุยังบอกอีกว่า ในทุก ๆ วันที่ทำการเรียกร้องตัวเขาไม่เคยมองว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อตัวเองเลยสักครั้ง แต่ทุกครั้งที่เลือกจะเรียกร้องอะไรสักอย่าง เขามองไปข้างหน้าเสมอว่าคนรุ่นหลังจะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในยุคที่เขากำลังอยู่

“อย่างน้อย ๆ ประกาศเป็นกฎกระทรวง” นี่คือคำตอบในตอนที่เราตั้งคำถามไปว่า อะไรคือจุดมุ่งหวังของการขับเคลื่อนนี้

“เราอยากให้มันเกิดขึ้น เพราะว่าในฐานะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบปวดท้องประจำเดือน เราก็อยากให้มันเกิดขึ้น” พี่แสงฝางก็ยังคงย้ำชัดกับเราว่ายังคงมีความหวังกับเรื่องนี้ และยังกล่าวอีกว่าอยากให้นายจ้างเข้าใจ เพราะเขาเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยทำงานโรงงานมาก่อน มันไม่ได้มีอะไรมากมายที่นายจ้างเสีย และทางฝั่งลูกจ้างก็ได้ในสิ่งที่ต้องการ และพี่แสงฝางยังย้ำชัดอีกครั้งว่า

“อยากให้มันผลักดันให้เป็นกฎหมายออกมาให้ไวที่สุด อยากให้มันสำเร็จไว ๆ อยากให้มันเกิดผลให้เห็นไว ๆ เราตั้งใจทำมาก ๆ”

ภาพ คุณศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา และคุณนิภาพร จิตมานนท์ ตัวแทนจากกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม

ภาพโดย นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

ในฐานะที่ผู้เขียนเกิดมาพร้อมจิ๋ม แต่ไม่มีอาการปวดท้องหนักเท่ากับผู้มีประจำเดือนคนอื่น ๆ แต่เราก็อยากให้มีการอนุญาตให้ลาในวันที่ปวดท้องเมนส์ ไม่ใช่เพราะต้องการแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องนี้ แต่เป็นความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ที่ต้องทนทุกข์กับอาการปวดท้องเมนส์เป็นอย่างดี เราไม่อยากเห็นใครสักคนต้องดันทุรังมาทำงานในวันที่ไม่พร้อม ในฐานะที่ต้องเป็นแรงงานในอนาคต การเป็นแรงงานก็ย่ำแย่และไร้ความหวังพออยู่แล้ว ในทางกลับกันเราก็อยากให้ชีวิตแรงงานมีสวัสดิการดี ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตจริง ๆ ในเรื่อง #เมนส์มาลาได้ นี้ ไม่ได้มีใครเสียประโยชน์อะไรมากมาย ถ้าทางฝั่งนายจ้างพยายามทำความเข้าใจ ฝั่งรัฐเข้าช่วยเหลือ และภาคประชาชนหันมาให้ความสำคัญ เราเชื่อว่าชีวิตแรงงานในประเทศไทยจะต้องมีความหวังอยู่บ้าง และสุดท้ายที่อยากจะฝากถ้าในวันหนึ่งเรื่องนี้ผ่านเป็นกฎกระทรวงขึ้นมา เราไม่อยากเห็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในที่ทำงาน และก็ไม่อยากเห็นเพศไหนหรือใครสักคนเกิดสภาวะ What about me Syndrome ขึ้นมา

ผู้เขียน : กุลปริยา โนนทัน

พิสูจน์อักษร : เกสรา คล้ายแก้ว

ภาพปก : จิราพัชร พิทักษ์เมธี

ช่างภาพ: กุลปริยา โนนทัน, นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

อ้างอิง

#เมนส์มาลาได้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานหญิงในภาคเหนือ เพราะการเป็นประจำเดือนไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนควรมีสิทธิ์ได้ลาพัก

สเปนผ่านกฎหมาย ‘Menstrual Leave’ อนุญาตให้ลาปวดประจำเดือน 3 วัน/เดือน

เมื่อสังคมไม่อนุญาตให้ ‘ผู้มีประจำเดือน’ ได้สิทธิหยุดงาน การเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ จึงกลายเป็นแค่เรื่องเห็นแก่ตัว

จิ๋มเฟส X เปิดบ้านการเมืองหลังบ้าน

งาน Our Voices Our Change

หนังสือตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (กธญ.). (15 มกราคม 2567). สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด