เพราะความสุขลดลงเมื่อโตขึ้น
เคยคิดกันไหมว่าทำไมยิ่งเราโตความสุขของเราก็เหมือนลดลง และมีความสุขยากขึ้น เมื่อตอนที่เรายังเป็นเด็กเรามักจะมีความสุขกับอะไรหลายอย่างได้ง่ายดาย แค่ได้เล่นกับเพื่อน ได้ของเล่นใหม่เราก็มีความสุขแล้ว แต่พอโตขึ้นด้วยความที่เรารู้อะไรหลายๆอย่างมากขึ้น มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเติบโตและต้องใช้ความคิดมากขึ้น ความสุขจากที่เคยมีได้ง่ายๆกลับยากขึ้น
ช่วงวัยที่มีความสุขและไม่มีความสุข
ข้อมูลการสำรวจข้อมูลครั้งใหญ่ถึง 7 ครั้งเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิตของคนทั่วโลกจาก 51 ประเทศ จำนวน 1.3 ล้านคน พบว่าช่วงอายุที่มีความสุขมากที่สุดในชีวิตจะอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย อายุประมาณ 18 ปี ไปจนถึงอายุ 20 ต้น ๆ จากนั้นความสุขจะลดระดับลงเรื่อย ๆ ซึ่งช่วงอายุที่มีความสุขน้อยที่สุด คือวัยกลางคนช่วงอายุ 40 ปลาย ๆ ก่อนที่กราฟจะค่อย ๆ กลับมาทะยานขึ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 50 ต้น ๆ และกลับไปพีคสุดในช่วงวัยชรา ช่วงวัยรุ่นและวัยชราที่มีความสุขที่สุดนั้น เพราะว่าทั้งสองช่วงอายุมีหลายสิ่งที่คล้ายกันคือภาระหน้าที่ที่มีไม่มาก วัยรุ่นเป็นวัยที่มีหน้าที่คือการศึกษาหาความรู้ ส่วนวัยชราเป็นวัยที่เป็นช่วงปลายของชีวิตหน้าที่หรือภาระต่างๆก็หมดไปใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองและครอบครัว และวัยกลางคนที่มีความสุขน้อยที่สุขเพราะว่าวัยนี้เป็นวัยที่ภาระหน้าที่เยอะมาก ทั้งการทำงาน ครอบครัว การที่ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว การอยากได้การยอมรับ การอยากได้ความสำเร็จในชีวิต
ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น แน่นอนมุมมองในชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เรามีความสุขกับอะไรเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นใหม่ เพื่อนใหม่ พอโตขึ้นเรากลับไม่สามารถพอใจกับอะไรเล็กๆได้ เราต้องใช้ความคิดมากขึ้น วงสังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เราไม่แปลกแยก เราก็ต้องทำตามคนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต ข้าวของเครื่องใช้ จนทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม และปัญหาต่างๆที่เคยพบเจอด้วยประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้นเรื่อยๆบางอย่างก็อาจกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย
เพราะสังคมและความสัมพันธ์ทำให้เรามีความสุขน้อยลง
เมื่อเราเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ สังคมและความสัมพันธ์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะทำให้เรานั้นมีความสุข เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานสิ่งที่มาเป็นตัวแปรเลยก็คือเงินและการได้รับความยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เราไม่มีความสุข อย่างเช่นการที่ได้เห็นคนอื่นได้ทำงานที่มีเงินเดือนสูงๆ ได้ไปเรียนที่ต่างประเทศจนนำมากดดันตัวเองว่าทำไมเราถึงทำไม่ได้แบบเขา เอาเขามาเปรียบเทียบกับเราจนเราเครียดและความสุขหายไป แม้แต่การโดนปฏิเสธหรือโดนเมินในความสัมพันธ์เช่นกัน การทำงานหรือการกดดันตัวเองมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะสิ้นยินดี หรือ Anhedonia โดยเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า อาการคือทุกอย่างเป็นสีเทาไปหมด สิ้นหวังกับชีวิต อารมณ์ดิ่งจนทำร้ายตัวเอง ความต้องการทางเพศลดลงหรือรวมไปถึงไม่มีความสุขในสิ่งที่ชอบเหมือนเดิมด้วย
แน่นอนว่าเมื่อเราเริ่มโตขึ้นนั้นเราก็จะมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคน ทั้งหน้าที่ที่เราชอบและหน้าที่ที่เราไม่ได้ชอบ โดยขณะที่เรายังอยู่วัยมัธยมหรือเด็กกว่านั้น เรามักจะได้ยินหรือได้เห็นสิ่งที่คุณครูหรือพ่อแม่คอยพร่ำบอกเสมอว่าเราทุกคนล้วนมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ อย่างคำพูดที่ว่า “ฉันนอนหลับและฝันว่าชีวิตคือสิ่งสวยงาม แต่ตื่นมาพบว่าชีวิตคือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ” ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หลายคนมีความสุขน้อยลง เพราะว่าอาจจะได้ทำงานหรือมีภาระที่ต้องดูแลมากเกินไป หรือรวมไปถึงการโดนบังคับให้ทำหน้าที่ที่เราไม่ชอบ อย่างเช่น การโดนเจ้านายบังคับให้เราทำงานออกรับหน้าแทน ทั้งที่เราเป็นคนเก็บตัวหรือพูดไม่เก่ง เป็นต้น แต่การที่เราได้ทำหน้าที่ที่ไม่ชอบก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เรามีความสุขน้อยลงอย่างเดียว เพราะว่าบางทีเมื่อเราพบจุดที่มันใช่สำหรับเรา เราอาจจะมีความสุขที่เพิ่มขึ้นจากหน้าที่นี้ก็เป็นได้
ความรู้สึกโหยหาช่วงเวลาในอดีตมีชื่อเรียกทางจิตวิทยาว่า ‘Nostalgia’
ในอดีตอาการ Nostalgia เคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ย้ายถิ่นฐาน คล้ายกับอาการคิดถึงบ้าน (Homesick) จนต่อมาพบว่า Nostalgia เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับทุกคน อีกทั้งยังส่งผลดีต่อจิตใจอีกด้วย ในปัจจุบันจึงมีการใช้คำนี้สื่อถึงความรู้สึกอบอุ่นในหัวใจเมื่อนึกถึง สถานที่ ผู้คน หรือเหตุการณ์บางสิ่งบางอย่างที่เคยประสบพบเจอในอดีต นักจิตวิทยา Clay Routledge กล่าวถึงในงานวิจัย Nostalgia: Content, Triggers, Functions ไว้ว่า ภาวะความรู้สึก Nostalgia สามารถทำให้เกิดความรู้สึกทางบวก ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ในสังคม ส่งเสริมให้มองเห็นถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตในแง่ดี มากกว่าจมอยู่กับความรู้สึกแย่ที่เจอมาเพราะบางครั้งการนำความทรงจำเก่าๆ ให้หวนกลับมาอีกครั้ง อาจสามารถช่วยเป็นยาสมานแผลให้ลืมความเจ็บปวดของความเป็นผู้ใหญ่ที่พบเจอในชีวิตประจำวันไปได้
หลายคนมักจะเคยนึกถึงสมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็กและวิ่งเล่นสนุกไปวัน ๆ อยู่บ่อยครั้ง พอได้นึกถึงช่วงเวลาดีๆ ในอดีตแล้ว เราพบว่าเราอยากจะย้อนเวลากลับไป อาจจะทำให้เรานั้นได้มีความสุขมากขึ้น ลืมเรื่องราวร้าย ๆ ไปได้ การปล่อยจินตนาการในวัยเด็กให้ออกมาโลดแล่นอีกครั้ง และกลับไปเป็นเด็กอีกสักที จะร้องไห้หรือหัวเราะกับเรื่องไร้สาระแบบเด็กๆ สักเรื่องสักครั้งก็ไม่เห็นจะเป็นไร โดยเรียกภาวะนี้ว่า Nostalgia หรือภาวะรู้สึกโหยหาอดีต คือความรู้สึกอบอุ่นใจ สบายใจที่เรานึกถึงช่วงอดีตที่ผ่านมานั่นเอง ซึ่งการนึกถึงวัยเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร เพราะมีผลการวิจัยจาก Darya Zabelina และ Michael Robinson บอกว่า ยิ่ง ‘ทำตัวเป็นเป็นเด็ก’ ยิ่งช่วยเพิ่ม ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ได้ เพราะความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ทำให้เป็นคนกล้าคิด กล้าถาม ช่างสงสัย ช่างสังเกต และกล้าที่จะแสดงอารมณ์ต่างๆ ในขณะที่ความเป็นผู้ใหญ่ ทำให้ต้องจำกัดอยู่เพียงแต่ในกรอบชุดความคิดเล็กๆ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ และไม่กล้าที่จะแสดงออกอารมณ์ออกมา
จะทำอย่างไรให้มีความสุขในวัยผู้ใหญ่
“ระบายออกมาบ้าง” ถ้าหากว่ามีเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจหรือทำให้หนักใจ ควรจะระบายความรู้สึกนั้นออกมากับคนที่เรารู้สึกไว้ใจและคนที่เขาพร้อมจะรับฟังเรา เผื่อจะทำให้เราได้รู้สึกดีขึ้นมาบ้างในวันที่รู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้ว การเก็บปัญหาต่างๆไว้กับตัวนอกจากจะทำให้ไม่มีความสุขแล้ว หากมันสะสมเรื่อยๆวันหนึ่งมันอาจทำให้เราเครียด และมีปัญหาทางสุขภาพทั้งทางจิตหรือทางกายตามมาได้ นอกจากนี้หากเราไม่อยากระบายกับคนอื่นเราก็สามารถระบายด้วยวิธีอื่น อย่างเช่นการเขียนไดอารี่ได้
“ฝึกความผ่อนคลาย” รู้จักยืดหยุ่นอารมณ์ของตัวเอง ไม่เครียดกดดันตัวเองมากไป หางานอดิเรก หรือสิ่งที่ชอบทำบ้างในเวลาว่าง ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง การปลูกต้นไม้ ทำสิ่งที่ชอบสามารถทำให้เราผ่อนคลายได้ คลายอารมณ์ความเครียดความกดดันจากปัญหาต่างๆ
“ออกกำลังกาย” แน่นอนว่าการออกกำลังกายอย่างพอดีนั้นก่อให้เกิดผลดีต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการมีความสุขในวัยผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้เรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้ว ยังทำให้สุขภาพจิตเราปลอดโปร่งขึ้นอีก
“พักผ่อนให้เพียงพอ” การโหมทำงานหนักอย่างต่อเนื่องจนร่างกายและจิตใจอ่อนล้า การนอนดึกมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับสภาวะอารมณ์ ผู้ที่นอนหลับไม่เพียงพออย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตแย่กว่าคนทั่วไป จึงจำเป็นอย่างมากที่ในแต่ละวันเราควรมีช่วงเวลานอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง หรือหากนอนไม่หลับก็ไม่ควรลุกไปทำสิ่งอื่น ให้เอนหลังนอนพักที่เตียง นึกทบทวนในเรื่องที่มีความสุข อาจจะเป็นความสุขในอดีตหรือสิ่งอื่น ๆ ที่คิดว่าจะทำให้เรามีความสุขก็ได้ และงดการใช้อุปกรณ์สื่อสารก่อนนอน
“เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส” นำความเบื่อตัวเองคนเก่าและอยากเปลี่ยนแปลงมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ออกไปลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น เรียนภาษาต่างประเทศเพิ่ม ออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ใหม่ ๆ แบบวางแผนด้วยตัวเอง ฝึกทักษะใหม่ ๆ ที่มีให้เลือกมากมาย เราอาจค้นพบสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและทำให้ชีวิตมีความหมายได้มากขึ้น
“ดูแลจิตใจตัวเอง” หลายครั้งที่สภาวะอารมณ์ของเราอ่อนไหวจากการคิดต่อเติมในสิ่งที่เราเห็นหรือได้ยิน แน่นอนว่าเราคงห้ามเหตุการณ์ภายนอกไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่เราสามารถควบคุมจิตใจของเราไม่ให้ไหวเอนตามเรื่องต่าง ๆ มากจนเกินพอดี เช่น ลดความอยากรู้เรื่องราวของผู้อื่น ลดการเปรียบเทียบลง มองข้ามในเรื่องที่ไม่พึงประสงค์บางเรื่องบ้าง มองข้อดีและขอบคุณในสิ่งที่ตัวเองมีแม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อย และเชื่อมั่นว่าแต่ละคนมีจุดที่ตัวเองมีความสุขแตกต่างกัน
การเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้นมักจะแลกมาด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ว่าการเป็นผู้ใหญ่นั้นก็มีเรื่องดี ๆ มากมายที่วัยเด็กไม่สามารถทำได้ และการเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่ยากและง่าย เพียงแต่เราพร้อมเผชิญกับมันและยอมรับมัน เราก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขได้
อ้างอิง
ถ้าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มันยากนัก ให้เวลาตัวเองกลับไปเป็นเด็กบ้างก็ดี รู้จักกับอาการ ‘Nostalgia’
อายุช่วงไหน? ถึงมีความสุขมากที่สุด
เพิ่มความสุขลดการเจ็บปวดในการเติบโต
Writer : ชนกนันท์ บุญมี
Co-writer : ดวงกมล ตามพหัต, เมขลา พนรัญชน์
photo : วิทยธรรม ธีรศานติธรรม