เปิดม่านธุรกิจที่พัก ขุมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่

ในปัจจุบันหากพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย เชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดอันดับต้น ๆ ที่ใคร ๆ ต่างก็นึกถึง เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นภูเขาและป่าไม้เหมาะแก่การมาพักผ่อนหรือชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติ ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านของศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จึงทำให้เชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง

เสน่ห์แห่ง High Season และความสงบของ Low Season

หากพูดถึงการเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ ทุกคนจะต้องคิดถึงอากาศที่หนาวเย็น การได้ใส่เสื้อกันหนาวหนา ๆ ท่ามกลางบรรยากาศของการนั่งดูหมอกและน้ำค้าง ซึ่งที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นนั้นก็คือช่วงของฤดูหนาวหรือ high season นั่นเอง เป็นฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเยือนมากที่สุดเพราะจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของธรรมชาติอย่างแท้จริง และเมื่อมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจที่พักต่าง ๆ ก็จะเริ่มมีการปรับราคาให้สูงขึ้น เพื่อที่จะเก็บกำไรในส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในช่วงของ low season ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายในการบริหารดูแลที่พักยังเท่าเดิม

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ในช่วงของ low season ราคาที่พักก็จะถูกลง แต่กิจกรรมบางส่วนก็ลดน้อยลงไปด้วย หรือบางที่พักอาจจะมีกิจกรรมอื่นเพิ่มเข้ามา ซึ่งช่วงนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย หรือต้องการความสงบ อยากหลีกหนีความวุ่นวาย อากาศไม่หนาวเย็นมาก ดังนั้นการท่องเที่ยวในช่วง low season ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกดีเลยทีเดียว

ภาพ ร้าน The River Flows Camp เดอะ ริเวอร์ โฟลส์แคมป์ กื้ดช้าง โดย ณัชชากัญญ์ ทูลทรัพย์

ปลายทางการท่องเที่ยว

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ที่พักก็ยังเป็น อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจที่พักในเชียงใหม่นั้นมีความหลากหลาย เพียงพอสำหรับตอบสนองต่อทุกความต้องการของลูกค้า นับตั้งแต่โรงแรมขนาดใหญ่ระดับ 5 ดาวที่มอบความหรูหราและเพรียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ไปจนถึงโรงแรมขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรวมไปถึงโฮสเทล ซึ่งลักษณะของแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับงบประมาณและรูปแบบที่ต้องการท่องเที่ยว หากต้องการที่พักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ครบครันก็มีให้เลือกหลากหลายราคา แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมากเช่นกัน หากต้องการราคาที่ย่อมเยา ใช้เพียงแค่พักผ่อนเวลากลางคืน โฮสเทลย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีในการเข้าพัก ถึงอย่างนั้น ก็มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ต้องการมาพักผ่อนเสพบรรยากาศของธรรมชาติ ต้องการที่พักที่ห่างจากตัวเมือง ที่พักโฮมสเตย์ก็ตอบโจทย์ บางแห่งเป็นโฮมสเตย์แบบชาวบ้านเน้นอยู่กับธรรมชาติ ไม่มีอุปกรณ์อะไรมากมาย ไม่มีไฟฟ้า มองเห็นวิวสวย ๆ ภูเขาป่าไม้ที่เขียวชอุ่มของเชียงใหม่ ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน หรือ โฮมสเตย์รูปแบบใหม่ที่มีอุปกรณ์ครบครันไม่ได้ต่างจากที่พักในตัวเมือง แต่แตกต่างกันเพียงแค่ว่าจะได้เห็นเชียงใหม่ในมุมมอง ที่เราไม่ค่อยได้พบเห็นเมื่ออยู่ในตัวเมือง

ภาพ ร้าน The River Flows Camp เดอะ ริเวอร์ โฟลส์แคมป์ กื้ดช้าง
โดย ณัชชากัญญ์ ทูลทรัพย์

การท่องเที่ยว : แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ธุรกิจที่พักเชียงใหม่

เชียงใหม่เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยพลังขับเคลื่อนจากธรรมชาติอันงดงามและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ล้ำค่า ผลักดันให้เศรษฐกิจของจังหวัดเจริญรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจที่พัก มีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด ทั้งโรงแรมหรู รีสอร์ตท่ามกลางธรรมชาติ และเกสต์เฮาส์ที่สะท้อนเสน่ห์พื้นบ้าน ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การแข่งขันก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผู้ประกอบการต่างต้องแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะทำให้ธุรกิจของตนโดดเด่นท่ามกลางตัวเลือกที่มากมาย การดึงดูดนักท่องเที่ยวในปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่ทำเลที่ตั้งหรือราคาที่พักเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร บางแห่งได้พัฒนาบริการเสริม เช่น การจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม การนำเสนออาหารท้องถิ่นที่มีรสชาติเฉพาะตัว หรือการออกแบบที่พักให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนและธรรมชาติ

การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเชียงใหม่นอกจากสร้างรายได้มหาศาลให้กับจังหวัดแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในท้องถิ่น ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลให้เชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ทรงพลังและมีเสน่ห์

ภาพ ร้าน The River Flows Camp เดอะ ริเวอร์ โฟลส์แคมป์ กื้ดช้าง
โดย ณัชชากัญญ์ ทูลทรัพย์

ขวากหนามบนเส้นทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

แม้ว่าการท่องเที่ยวในเชียงใหม่กำลังเฟื่องฟู เศรษฐกิจกำลังเติบโต แต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในปี พ.ศ. 2562 ได้กลายเป็นวิกฤตที่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ธุรกิจท่องเที่ยวที่เคยเจริญรุ่งเรืองกลับต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดนิ่ง การเดินทางทั้งในและต่างประเทศถูกยกเลิก ส่งผลให้ธุรกิจที่พักจำนวนมากต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงได้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซา ข้อมูลสถิติจากสำนักงานสถิติจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จำนวนห้องพักในเชียงใหม่เริ่มลดน้อยลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 38,757 ห้อง ปี 2563 จำนวน 38,741 ห้อง และในปี 2564 ลดเหลือ 36,085 ห้อง ประกอบกับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 มีผู้เยี่ยมเยือน 11,165,860 คน ปี 2563 จำนวน 6,068,037 คน และปี 2564 เหลือเพียง 3,857,309 คน  

ภาพ ร้าน The River Flows Camp เดอะ ริเวอร์ โฟลส์แคมป์
กื้ดช้าง โดย ณัชชากัญญ์ ทูลทรัพย์

ฟ้าหลังฝน กับการเปลี่ยนแปลง

หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย การท่องเที่ยวกลับมาเป็นที่จับตามองอีกครั้ง ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ หนึ่งโครงการสำคัญอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ทำให้หลายธุรกิจเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจที่พักที่ในปัจจุบันมีจำนวนห้องพักประมาณ 60,000 ห้อง เพิ่มขึ้นจากช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19  อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่พักก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ภาพ ร้าน The River Flows Camp เดอะ ริเวอร์ โฟลส์แคมป์ กื้ดช้าง
โดย ณัชชากัญญ์ ทูลทรัพย์

ผู้ประกอบการหลายแห่งมีการนำเสนอโปรโมชั่นที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น การลดราคาห้องพัก หรือการเพิ่มบริการเสริม เช่น การนวดผ่อนคลายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสบายหลังการเดินทางไกล นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ เช่น การเดินป่าชมธรรมชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความงามของเชียงใหม่อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนั้น ธุรกิจที่พักยังร่วมส่งเสริมสินค้าชุมชน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ OTOP ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน แต่ยังทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและสนับสนุนวิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างแท้จริง

อ้างอิง

สำนักงานสถิติจังหวัดเชียงใหม่

เที่ยวด้วยกัน

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

TDRI

ผู้จัดทำ

ผู้เขียน ณัชชากัญญ์ ทูลทรัพย์

เรียบเรียง กานติมา ลุงจาย

พิสูจน์อักษร ปวริศา อนุขุน

ภาพปก สิริกร วงศ์กันทะ