อีเวนท์สนุกๆ ที่หายไป และแนวทางใหม่ความบันเทิงจากโควิด – 19

0

นับตั้งแต่ที่ไวรัสตัวร้ายอย่าง โควิด – 19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วทุกสารทิศของโลกจนทำให้เหล่าประชากรผู้น่ารักในประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถที่จะประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวันของตัวเองได้อย่างเป็นปกติ ประชากรในประเทศสารขัณฑ์แห่งหนึ่งในแถบเอเชียอาคเนย์ก็เช่นกัน แล้วยิ่งถ้าเป็นงานเทศกาลหรือกิจกรรมพิเศษ (หรือจากนี้ไปทางผู้เขียนจะขอเรียกว่า “อีเวนท์”) ที่มีความสนุกหรืออาจจะแถมวันหยุดยาวเย้ายวนให้ชวนไปเที่ยวไกล ๆ แล้วนั้นก็ต้องหยุดไปเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสตัวร้ายที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกวันนี้ผู้เขียนจะพาท่านผู้อ่านทุกท่านให้ได้รับรู้ว่า ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมานั้นเราพลาดอีเวนท์อะไรไปบ้าง โดยที่จะรวมกิจกรรมที่น่าสนใจทั้งในไทยและทั่วโลกที่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ

“แล้วเธอก็เดินจากไป” งดสงกรานต์ปี 2563 เมษาอยู่แบบแห้ง ๆ

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นอีเวนท์ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเนิ่นนานซึ่งแน่นอนหลายๆท่านเคยมีประสบการณ์หรือความทรงจำดีๆ(รวมถึงไม่ดี)กับอีเวนท์กันแทบทุกคนโดยที่อีเวนท์นี้นั้นมีประสงค์หลักนั่นคือการที่กลับบ้านเกิดของตัวเอง รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ หรือการที่ออกไปสาดน้ำใส่กันโดยที่ไม่โดนชาวบ้านชาวช่องต่อว่า (ถ้าเขาเต็มใจให้สาดนะครับ) แต่ทว่าในปี 2563

เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้นทำให้งานวันสงกรานต์ในปีนั้นต้องถูกยกเลิกกันระนาวรวมไปถึง After Party อย่างเช่นวันไหลบางแสนที่จัดกันทุกปีก็ต้องงดไปด้วย ส่วนวันหยุดนั้นถูกเลื่อนไปในวันที่ 22 กรกฎาคม , 4 กันยายน และ 7 กันยายนตามลำดับ ชดเชยวันที่ 13 – 15 เมษายนที่งดไปอย่างน่าเสียดาย งานนี้นอกจากว่าจะไม่กลับบ้านหรือสนุกกับงานยังต้องทนร้อนในฤดูร้อนของเดือนเมษาอีกด้วย

ในหนังก็โดนยกเลิก สถานการณ์จริงก็ถูกเลื่อน นั่นคือโอลิมปิก 2020

หากท่านผู้อ่านสายภาพยนตร์หรืออนิเมชั่นนั้นไม่น่าจะมีใครไม่รู้จัก “Akira คนไม่ใช่คน” ภาพยนตร์อนิ
เมชั่นไซไฟจากแดนอาทิตย์อุทัยที่มีชื่อเสียงมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เนื้อเรื่องจะกล่าว “นีโอโตเกียว” ในยุคไซเบอร์พังค์*ที่กำลังจะจัดกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 แต่เนื่องด้วยเกิดวิกฤตการณ์เรื่องมนุษย์โดยตัวละครหลักภายในเรื่องจนทำให้บ้านเมืองเละเทะจนไม่สามารถจัดงานในที่สุด นั่นคือเหตุการณ์ในภาพยนตร์โดยที่ไม่สปอย

ส่วนในชีวิตจริงนั้นประเทศญี่ปุ่นยังไม่ได้มีสภาพเป็นสังคมไซเบอร์พังค์และใช้ชื่อเมืองหลวงเป็นโตเกียวเช่นเดิม ซึ่งในยามปกตินั้นประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นประเทศที่ชื่นมื่นไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายผนวกกับวาระของกีฬาโอลิมปิกด้วยแล้วนั้นทำให้การโปรโมตอีเวนท์ด้วยตัวละครจากอนิเมะอย่างสนุกสนานจนกระทั่งการมาถึงของโรคระบาดนามว่าโควิด – 19 นั้นได้แพร่ระบาดทั่วทุกมุมโลกนั้นประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ประเทศปลอดภัยจากโรคดังกล่าวจนทำให้สุดท้ายคณะกรรมการโอลิมปิกและรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นได้ออกประกาศให้กีฬาโอลิมปิกปี2020 เลื่อนมาจัดในปีนี้ (2021) แทน ทำให้ประชากรชาวไทยอดเห็นนักกีฬาฝีมือฉกาจฉกเหรียญทองจากประเทศใด ๆ

ตลกร้ายอย่างหนึ่งคือทั้งเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่องอากิระที่เกิดขึ้นวิกฤตการณ์จนบ้านเมืองพังทลายหรือในสถานการณ์จริงที่เกิดโรคระบาดนั้น กลับเกิดขึ้นในปี 2020 เหมือนกัน เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน หรือแม้แต่งานโอลิมปิกก็ถูกเลื่อนหรือยกเลิกคล้ายกัน ไม่แน่ว่าผู้กำกับภาพยนตร์หรือผู้เขียนมังงะเรื่องนี้นั้นอาจจะมีสัมผัสอะไรบางอย่าง ก็ เป็น ได้……….

  • ไซเบอร์พังค์ หมายถึง สภาพของโลกยุคอนาคตที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยแต่กลับมีสภาพสังคมที่ต่ำทราม เป็นประเภทย่อยของนิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction) หรือไซไฟ ยกตัวอย่างเช่น Blade Runner , Ghost in the shell , Cyberpunk2077 เป็นต้น

นักอ่านเศร้า เล่าออกมาว่างานหนังสือไม่เหมือนเดิม…….

ในเมื่อมาสายภาพยนตร์หรือสายปาร์ตี้กันแล้วนั้น ครั้งนี้มาที่สายนักอ่านซึ่งโดยในปกตินั้น “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” นั้นจะจัดในช่วงต้นปีอยู่เสมอ ๆ ในปี 2020 ก็เช่นเดียวกันแต่เนื่องด้วยสาเหตุเดิมนั้นแม้ว่าตัวอีเวนท์จะไม่ได้ถูกยกเลิกแบบอยู่ดี ๆ ก็หายไลน์ไม่ตอบ แต่ก็มาในรูปแบบออนไลน์แทนในชื่อของ “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติออนไลน์ 24 ชั่วโมง” ซึ่งในยุคสมัยปัจจุบันนั้นเรื่องการซื้อขายออนไลน์นั้นเป็นเรื่องที่ธรรมดาสามัญอยู่แล้วในสังคมที่มีโทรศัพท์มือถือติดตัวกันทุกคน

แต่ทว่านั่นก็ไม่ได้ต่างจากการสั่งซื้อหนังสือจากหน้าเว็บไซต์ตัวแทนจัดจำหน่ายหนังสือเท่าไหร่นัก เพราะอีเวนท์อย่างสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินั้นไม่ได้มีแค่การไปซื้อหนังสือแล้วกลับไปอ่านเท่านั้น แต่ยังเป็นการได้พบปะกับนักเขียนที่ชื่นชอบหรือติดตามผลงานอย่างเนิ่นนาน การที่ได้เดินสำรวจรอบงานแล้วเจอหนังสือที่น่าสนใจแล้วซื้อมาอ่านนั้นมันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่มีแค่ไปร้านหนังสือหรืองานสัปดาห์หนังสือเท่านั้นที่จะทำได้โดยที่เราได้จับหนังสือจริง ๆ ไม่ใช่ E – Book แม้ว่าสุดท้ายแล้วอีเวนท์อาจจะไม่ได้ถูกยกเลิกไปแต่ก็ขาดเสน่ห์
อย่างที่ควรจะเป็นอย่างมากที่เราจะได้พบเจอหนังสือในงานที่มีผู้รักการอ่านมากมายขนาดนี้

30 ปีที่รอคอย หงส์แดงเถลิงชัยถ้วยพรีเมียร์ลีค

หลังจากที่กล่าวถึงแดนอาทิตย์อุทัยไปแล้วนั้น ตอนนี้ผู้เขียนก็พาเดินทางมาที่แดนผู้ดีถิ่นอังกฤษที่มีศึกฟุตบอลที่เรียกได้ว่า คาดเดายากที่สุดในโลกและเดือดดาลที่สุดในโลกอย่างพรีเมียร์ลีคที่ในแต่ละปีนับตั้งแต่ที่เซอร์อาเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยอดกุนซือจากปีศาจแดงนั้นได้ปลดเกษียณทำให้วงการลูกหนังอังกฤษนั้นไม่ได้ผูกขาดไว้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอีกต่อไป ในแต่ละปีนั้นก็จะมีเจ้าลูกหนังได้ถ้วยเป็นศักดิ์ศรีในการแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไป แต่อนิจจาที่ว่าทีมหงส์แดงนามว่า ลิเวอร์พูล นั้นแม้ว่าบางปีจะมีผลงานดีเยี่ยมแต่ก็ต้องอกหักอยู่ร่ำไปมาเป็นระยะเวลา 30 ปี

และในฤดูกาล 2019 – 2020 นั้นในที่สุดหงส์แดงก็ได้เถลิงชัยได้ถ้วยแชมป์พรีเมียร์เสียที (แม้ว่าจะเป็นเพราะแมนเชสเตอร์ซิตี้พ่ายให้กับสิงห์บลูก็ตาม) ด้วยการคุมทีมจากกุนซือชาวเยอรมัน เจอร์เกน คล็อป แม้ว่าบรรยากาศของนักฟุตบอลหรือกุนซือจะดูดีใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก แต่เมื่อมองไปรอบสนามกลับพบกับความว่างเปล่าในสนามแอนฟาล์ดถิ่นหลักของหงส์แดง เหตุเพราะโรคร้าย (อีกแล้ว) นั้นทำให้ก่อนหน้านี้พรีเมียร์ลีกต้องล็อกดาวน์ไประยะหนึ่งก่อนที่จะแข่งขันกันแบบ Social – Distancing ทำให้บรรยากาศการฉลองชัยในรอบ 30 ปีช่างเงียบเหงาเหลือเกินเพราะขาดแฟนบอลผู้จงรักภักดีร่วมเป็นสักขีพยานในการฉลองชัยในครั้งนี้ และในฤดูกาลปัจจุบัน (2020 – 2021) ทีมหงส์แดงก็คงต้องผิดหวังอีกเพราะสภาพคะแนนตอนนี้ช่างดูตึงเครียดเหลือเกิน…….

ลาก่อน…….นักมวยปล้ำผู้เป็นที่รัก……..

และก็มาถึงหัวข้อสุดท้ายที่อาจจะดูค่อนข้างเฉพาะกลุ่มกับวิถีชีวิตคนยุคปีจจุบัน แต่เป็นหนึ่งในความทรงจำของผู้อ่านวัยเด็กหนวดหลาย ๆ ท่าน (หรืออย่างน้อยที่สุดนั้นก็คงเป็นเด็กยุคมิเลนเนียมอย่างผู้เขียน) กับกีฬาเพื่อความบันเทิงดังเช่น มวยปล้ำ ซึ่งน่าจะเป็นกีฬาที่ได้รับผลกระทบหนักพอสมควรเพราะเมื่อโควิด – 19 ระบาดในถิ่นลุงแซมแดนอเมริกันชนนั้น สนามมวยปล้ำก็เงียบเหงาเพราะขาดแฟนพันธุ์แท้เข้ามารับชมเหลือเพียงแค่การถ่ายทอดสดผ่านที่วีเท่านั้นแม้แต่อีเวนท์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง Wrestle mania ครั้งที่ 36 ของ WWE
ก็ตาม

แต่ที่ทำเอาเศร้าที่สุดนั้นคือการจากลาของนักมวยปล้ำคาแรคเตอร์สัปเหร่อในตำนาน The Undertakerนั้นหลังจากการปะทะกับ AJ Style ในอีเวนท์ที่กล่าวไว้ในข้างต้นด้วยรูปแบบของ Cinematic* นั้นเขาก็ได้ตัดสินใจที่จะ “หยุด” การต่อสู้บนสังเวียนผืนผ้าใบเพื่อสุขภาพโดยได้กล่าวอำลาในอีเวนท์ Survivor Series ปี 2020 ซึ่งในช่วงนั้นสหรัฐอเมริกานั้นยังคงมีไอ้ต้าวตัวร้ายอย่าง โควิด – 19 ระบาดอยู่สิ่งที่คณะบริหารทำได้ดีที่สุดนั้นคือการให้ผู้ชมทางบ้านได้เข้ามาชมอีเวนท์ผ่านทางเน็ตเวิร์กเฉพาะของตัวเอง ซึ่งแม้ว่าจะมีคนดูอยู่รอบสนามผ่านจอนั้น มันเทียบไม่ได้เลยกับที่ร่างกายได้สัมผัสกับขอบสนามด้วยความตื่นเต้นและยิ่งเป็นโอกาสที่นักมวยปล้ำในตำนานคนนี้กล่าวอำลาวงการแล้วนั้นมันก็น่าเศร้าที่ว่าแมตซ์สุดท้ายที่เขาปรารถนาให้มันดีนั้นก็เป็นแมตซ์ที่ตัดต่อออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ และการอำลาครั้งนี้ก็ยังไม่ได้ส่งเสียง “Thank You Taker” พร้อมร่างกายที่ควรจะอยู่ในขอบสนามได้อย่างสมศักดิ์ศรี นับเป็นความน่าเสียดายของวงการมวยปล้ำอย่างหนึ่งที่หนักหนาพอสมควร…….

บทสรุปของเรื่องนี้ ทำดีที่สุดแล้ว

แม้ว่าผู้เขียนไม่อาจจะยกอีเวนท์ทั้งหมดบนโลกที่มีในบทความนี้ได้ แต่สิ่งที่ผู้อ่านน่าจะรับรู้ได้จากบทความคืออะไร? นั่นคือการพยายามตอบสนองต่อผู้บริโภคเท่าที่จะทำได้ของสมาคมต่าง ๆ ที่รับผิดชอบต่อเรื่องนี้ย้อนกลับมาที่สัปดาห์หนังสือแห่งชาตินั้น ทางด้านผู้บริโภคอาจจะเสียดายที่ไม่ได้ไปสัมผัสบรรยากาศงานอย่างที่ควรจะเป็น แต่สำหรับผู้ให้บริการนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่จะทำให้ผู้บริโภคนั้นได้รับสิ่งที่ดีที่สุดไปนั่นคือการ
ส่งมอบหนังสือที่ผู้อ่านอยากจะได้รับนั้นมาอยู่ในอ้อมอกแม้ว่าจะเป็นระบบออนไลน์ที่ผู้อ่านสามารถหาได้ตามอินเทอร์เน็ตก็ตาม แต่ถ้าหากว่าผู้ให้บริการยังฝืนดันทุรังที่จะจัดอีเวนท์แบบเดิมต่อไปแล้วมีผู้ติดเชื้อขึ้นมานั้นมันยิ่งผิดต่อศีลธรรมของผู้ให้บริการมากกว่าเดิม

อีเวนท์กีฬาทั้ง โอลิมปิก พรีเมียร์ลีก หรือมวยปล้ำ WWE ก็ตาม โอลิมปิกเลือกที่จะเลื่อนออกไปจัดในปีนี้แทน พรีเมียร์ลีกเลือกที่จะล็อกดาวน์แล้วมาแข่งขันกันใหม่ในแบบที่ไร้คนขอบสนาม WWE เลือกที่จะจัดการแสดงของตัวเองแบบใหม่ทั้ง Cinematic หรือการให้ผู้ชมทางบ้านเข้าชมถ่ายทอดสดผ่านทางเน็ตเวิร์กของตัวเองก็ตามนั้น คือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ฝ่ายบริหารจะทำได้เช่นกัน เพราะถ้าหากพวกเขาเลือกที่จะยึดติดอยู่ขนบเดิม ๆ โดยไม่นึกถึงสถานการณ์นั้นย่อมเป็นเรื่องเสียหายต่อวงการมากเกินคณานับแม้ว่าการแก้ปัญหาแบบนี้
นั้นจะทำให้ผู้รับชมต้องรอหรือเสียอรรถรสก็ตาม

และพูดถึงอีเวนท์งานวันสงกรานต์ที่เลือกที่จะงดไปก่อนในปี 2563 แล้วเพิ่มวันหยุดชดเชยในเดือนที่กล่าวไปแทนนั้นก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน ถ้าหากกล่าวโดยไม่อคติต่อรัฐบาลนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ถ้าหากว่ารัฐบาลยังฝันให้จัดอีเวนท์รูปแบบเดิมต่อไปมันก็ย่อมมีผลเสียต่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างแน่นอน ความผิดพลาดนั้นก็เห็นมาแล้วจากสนามมวยที่กลายเป็นแหล่ง Super Spreader ที่คนของรัฐบาลจะเป็นผู้เกี่ยวข้องเองก็ตาม แต่อย่างน้อยก็งดอีเวนท์เช่นนี้ก็ทำให้ประเทศไทยปลอดภัยจากโควิด – 19 ขึ้นมาบ้างในไม่กี่เดือนต่อมา

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคโดยแท้จริง เพราะถ้าหากว่ายังฝันทำอะไรโดยที่ไม่ดูสถานการณ์ต่อไปนั้นผลเสียย่อมตามมาจนสุดท้ายก็กลายเป็นว่า “เพราะ อีเวนท์นั้น เพราะกิจกรรมนี้ ทำให้เชื้อมันระบาดหนักกว่าเดิม” เสมือนตีตราว่าพวกเขา (ผู้ให้บริการ) เป็นคนเห็นแก่รายได้มากกว่าสุขภาพของผู้บริโภค ฉะนั้นการที่จัดกิจกรรมแบบออนไลน์ , การถ่ายทอดสิ่งที่อยากจะสื่อในรูปแบบใหม่ ๆ หรือการที่งดอีเวนท์ไปจัดใหม่ในวันที่พร้อมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่แย่เลยแม้แต่น้อย เพราะในสถานการณ์เช่นนี้นั้นทุกคนต้องร่วมใจกัน
หยุดแพร่เชื้อให้ดีที่สุด แม้ว่าภาครัฐจะไม่เอาไหนก็ตาม แต่ถ้าหากกล่าวกันตามตรงนั้น ในวันที่ทุกอย่างอยู่เพียงแค่หน้าจอคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์ หรือโทรทัศน์ในวันที่ควรจะเป็นวันที่สนุกสนานอย่างมีความสุข ก็น่าเสียดายไม่น้อยเช่นกันที่เราไม่ได้อรรถรสในการรับชมสิ่งที่ต้องการได้อย่างเต็มที่เลย นี่คงจะเป็นความน่าเบื่อของโลกยุค 4.0 ก็มิปาน แต่เพื่อหยุดตัวร้ายของเรื่องแล้วนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนยอมเสียอรรถรสแห่งความรื่นเริงได้เพื่อทุก ๆ คน

เชิงอรรถ

  1. “ผวา “โควิด-19”! บิ๊กอีเวนต์ “สงกรานต์” 3 จังหวัด ประกาศยกเลิกจัดงานแล้ว” ข่าวหุ้น, 6 มีนาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 22
    มกราคม 2564. https://www.kaohoon.com/content/346160
  2. “ฝันไม่ไหว “โอลิมปิก 2020” เลื่อนไปแข่งปีหน้า หลังโควิด-19 ไม่ทุเลา” ไทยรัฐ, 24 มีนาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม
  3. https://www.thairath.co.th/sport/others/1803224
  4. “ยกเลิก-เลื่อน” อีเว้นท์ไทย-เทศ หนีพิษ “โควิด-19” MGR online, 2 มีนาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2564.
    https://mgronline.com/travel/detail/9630000021207
  5. อาคุงกล่อง “พาช้อปสัปดาห์หนังสือ ครั้งที่ 48 … หนังสือดิ้นได้ไปออนไลน์” Pantip, 26 มีนาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม
  6. https://pantip.com/topic/39747102
  7. “เปิดตัวเลขสถิติที่น่าสนใจตลอด 30 ปี “ลิเวอร์พูล” คว้าแชมป์ลีก 2019-2020” ไทยรัฐ, 30 มิถุนายน 2563, สืบค้นเมื่อ 22
    มกราคม 2564. https://www.thairath.co.th/sport/eurofootball/premierleague/1877625
  8. “รวมภาพบรรยากาศการชูถ้วยแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกของทีมลิเวอร์พูลในรอบ 30 ปี” The Standard, 23 กรกฎาคม 2563,
    สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2564. https://www.youtube.com/watch?v=udWJnVprA64
  9. “สรุป 2020 จะจำไปอีกนาน” RUBSARB production, 18 มกราคม 2564, สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 264.
    https://www.youtube.com/watch?v=jpWVWj9qjEc
  10. “WWE pays tribute to The Undertaker with Final Farewell” WWE, 23 พฤษจิกายน 2563, สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม
  11. https://www.youtube.com/watch?v=8qDw4oqxYC0

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *