อิทธิพลของอนิเมะในชีวิตประจำวัน

0

   

ปัจจุบันนี้ แอนิเมชันญี่ปุ่นหรือที่รู้จักในชื่อ อนิเมะ (Anime) ซึ่งเป็นคำในภาษาญี่ปุ่นที่มาจากคำว่า แอนิเมชัน (Animation) ในภาษาอังกฤษ โดยมีต้นแบบภาษามาจากคำว่า อานีเม่ (Animé) ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาละตินที่แปลว่าการเคลื่อนไหว อนิเมะจึงหมายถึงแอนิเมชันประเภทหนึ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยชาวญี่ปุ่น มีจุดเด่นคือวิชวลเอฟเฟกต์ (Visual Effect) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับรายละเอียดของตัวละคร ทั้งเรื่องเสื้อผ้า ใบหน้า หรือรูปร่างของตัวละครล้วนมีความสมจริงกว่าแอนิเมชันอื่น ๆ อนิเมะจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และด้วยประการนั้นเองทำให้อนิเมะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น

  

  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายคนหันมาใช้บริการสตรีมมิ่งออนไลน์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสตรีมมิ่งเพลง ภาพยนตร์ รวมไปถึงแอนิเมชันญี่ปุ่นก็กลายเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย โดย Film Club Thailand ได้ให้เหตุผลว่าอนิเมะเป็นสื่อที่สามารถรับชมได้ง่าย ใช้เวลาในการรับชมน้อย และมีประเภทของแอนิเมชันให้เลือกอย่างหลากหลาย จึงทำให้อนิเมะกลับมามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนิเมะแนวแอคชั่นสไตล์โชเน็นอย่าง Kimetsu no Yaiba หรือดาบพิฆาตอสูร ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดีและสามารถสร้างรายได้ให้กับวงการแอนิเมชันญี่ปุ่นได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ อนิเมะแนวเซย์เน็นที่มีเนื้อหาซับซ้อนและค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่อย่าง Attack on Titan หรือผ่าผิภพไททัน ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ทำให้การรับชมอนิเมะนั้นไม่ได้จำกัดแค่เด็กอีกต่อไป

    อีกเหตุผลที่ทำให้หลายคนหันกลับมารับชมแอนิเมชันญี่ปุ่นกันมากขึ้น เนื่องจากคอนเทนต์เกี่ยวกับอนิเมะที่สามารถพบเห็นได้ตามสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่เป็นกระแส อย่างเช่นในกรณี Jojo Bizarre Adventure หรือโจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ แม้ว่าจะเป็นแอนิเมชั่นเก่าแล้วก็ตาม แต่ด้วยกระแสของมีม (Meme) จึงดึงดูดให้คนหันมาสนใจอนิเมะกันมากขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าอนิเมะนั้นเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในไม่ช้า

    จากงานวิจัยเรื่องการเรียนรู้วัฒนธรรมสมัยนิยมของญี่ปุ่นผ่านแอนิเมชันและมังงะของนักศึกษายุคเจเนอเรชั่น Z โดยสุรีรัตน์ เรืองประยูร และปฏิยุทธ์ ธันวานนท์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งได้ทำการรวบรวมข้อมูลสถิติในหัวข้อและประเด็นดังกล่าว เพื่อนำมาศึกษาว่าอนิเมะและมังงะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้วัฒนธรรมสมัยนิยมของญี่ปุ่นในด้านต่าง ๆ อย่างไร เช่น ค่านิยม ความเชื่อ แนวคิด แบบแผนการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมทางสังคมต่าง ๆ ที่ปรากฏผ่านตัวละครหลากหลายรูปแบบ ผลสรุปจากงานวิจัยนี้คือ อนิเมะมีอิทธิพลในด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมที่สำคัญและเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วัฒนธรรมสมัยนิยมต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่นควบคู่ไปกับความบันเทิง เพราะนอกจากอนิเมะจะเป็นวัฒนธรรมหลักของชาวญี่ปุ่นแล้ว อนิเมะยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยมในประเทศไทยอีกด้วย

ความน่าสนใจของประเทศญี่ปุ่นคือ มีมุมมองทางวัฒนธรรมที่หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ เช่น เทศกาลโบราณ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน หรือแม้แต่อนิเมะก็ล้วนเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นไปเสียแล้ว โดย JAPANINFO ได้อธิบายถึงอิทธิพลของอนิเมะเอาไว้ว่า อนิเมะเป็นแอนิเมชันที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างอิสระโดยไม่จำกัดอายุผู้ชม แตกต่างจากแอนิเมชันแบบดั้งเดิมที่มุ่งเน้นให้ความบันเทิงเฉพาะเด็ก จึงทำให้อุตสาหกรรมแอนิเมชันญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งหลังจากที่อนิเมะชุดแรก ได้แก่ Dragonball, Astro Boy, Sailor Moon และ Slam Dunk ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้หลายคนเริ่มสนใจเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นและภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Anime Boom” ขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง วงการแอนิเมชันญี่ปุ่นจึงมีการพัฒนาและต่อยอดโดยการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอนิเมะ ทั้งเสื้อผ้า ของใช้ และอีกมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของแฟน ๆ ทุกคน รวมถึงยังเป็นจุดเริ่มต้นของการแต่งคอสเพลย์ (Cosplay) เป็นตัวละครที่พวกเขาชื่นชอบ ซึ่งการแต่งคอสเพลย์ก็ได้รับความนิยมในประเทศทางฝั่งตะวันตกเช่นเดียวกัน

Processed with VSCO with hb2 preset

    อิทธิพลของอนิเมะอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากวงการภาพยนตร์คือ รูปแบบศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยตัวละครของญี่ปุ่นมักจะมีดวงตากลมโตและทรงผมที่เป็นเอกลักษณ์ ทางฝั่งประเทศตะวันตกจึงได้นำรูปแบบศิลปะนั้นมาพัฒนาต่อ หนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับอิทธิพลนี้คือ Avatar : The Last Airbender ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังมีภาคต่อที่มีชื่อว่า The Legend of Korra อีกด้วย

    อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าอิทธิพลของอนิเมะอาจจะไม่ได้มีผลในชีวิตประจำวันของเราโดยตรง แต่การกลับเข้ามามีบทบาทในด้านต่าง ๆ บวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั่นเอง แนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมแอนิเมชันในญี่ปุ่นในอนาคตอาจเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทยก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง :

  1. ภาส พัฒนกำจร, (2563), เมื่อคนกลับมาดูอนิเมะกันมากขึ้นเพราะธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่ง. สืบค้นจาก https://filmclubthailand.com/articles/anime-game/more-anime-coming-to-streaming-platform/
  2. สุรีรัตน์ เรืองประยูร และ ปฏิยุทธ์ ธันวานนท์, (2560), การเรียนรู้วัฒนธรรมสมัยนิยมของญี่ปุ่นผ่านแอนิเมชันและมังงะของนักศึกษายุคเจเนอเรชั่น Z, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. สืบค้นจาก file:///C:/Users/aser/Downloads/75064-Article%20Text-420442-1-10-20181112.pdf
  3. JAPANINFO, (2015), How Has Japanese Anime Influenced the World?. Retrieved from https://jpninfo.com/31964

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *