ว่าด้วยปัญหาของความรุนแรงและผลของมัน

0

ว่าด้วยปัญหาของความรุนแรงและผลของมัน

นับวันนั้น “ความรุนแรง” นั้นได้ปรากฏขึ้นมาในหน้าฟีดของสื่อโซเชียลมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของข้อเท็จจริงดังเช่นในข่าวหรือประวัติศาสตร์ หรือจะเป็นรูปแบบของสื่อให้ความบันเทิงที่ความรุนแรงนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของเรื่องก็ตาม แม้ว่าจะมีการตั้งคำถามอยู่สม่ำเสมอว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ควรจะมีหรือไม่ แต่ใด ๆ ก็ตามนั้นสังคมก็ยังคงติดอยู่ในวังวนความรุนแรงอยู่เสมอ

“ว่าด้วยปํญหาของความรุนแรงและผลของมัน” บทความสารคดีที่อิงชื่อตามรายงานของ นิกิตา ครุฟชอฟ ในนามของ “ว่าด้วยลัทธิบูชาตัวบุคคลและผลลัพธ์ของมัน” ในการประชุมครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตที่ว่าด้วยเรื่องของการกล่าวหา โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำแห่งสหภาพโซเวียตในยุคคอมมิวนิสต์ที่ในยุคสมัยนั้น ความรุนแรงเกิดขึ้นโดยรัฐที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตมากมาย บทความชิ้นนี้มีจุดประสงค์ไม่ต่างกันที่จะนำเสนอเรื่องราวของความรุนแรงตามหน้าสื่อต่างๆ เพื่อบอกให้เห็นทางออกของความรุนแรงให้ตรงตามแนวคิดหลัก “Wellness Exit” ที่กล่าวถึงทางออกของปัญหาสุขภาพต่อไป

(ปล. บทความสารคดีชิ้นนี้จะไม่เอ่ยชื่อของ “ผู้เสียหาย” ในลักษณะใด ๆ โดยเด็ดขาดเพื่อเป็นการให้เกียรติต่อผู้เสียหายรวมไปถึงการรักษาจรรยาบรรณของนักการสื่อสารมวลชนให้เหมาะสม)

(ที่มาภาพ: http://gotomanager.com/content)

โรงเรียนของเรา(ไม่)น่าอยู่

เหตุเกิด ณ จังหวัดศรีสะเกษ ในปี 2563 เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ “เด็กชายคนหนึ่ง” ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งนั้นได้ตัดสินใจผูกคอตายภายในห้องนอนของตัวเอง สร้างความเสียใจให้กับครอบครัวของเด็กชายคนนี้เป็นอย่างมาก รวมไปถึงเรื่องนี้นั้นกลายเป็นข่าวดังที่ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วประเทศ

เหตุผลที่ข่าวดังทั่วประเทศนั้น เป็นเพราะปัญหาของเรื่องนี้เกิดขึ้นจาก “การรังแกภายในโรงเรียน” หรือภาษาง่าย ๆ เรียกว่า “บูลลี่” อีกแล้ว จากรายละเอียดของจดหมายลาตายของเด็กชายผู้นี้ได้ระบุเอาไว้ว่าการที่เขาตัดสินใจเช่นนี้มันเกิดขึ้นเอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเรียนแต่มันเกี่ยวกับเพื่อนในห้องที่ล้อและแกล้งเขาจนทนไม่ไหวจึงได้ตัดสินใจที่จะจบชีวิตของตัวเอง อันแสดงถึงความซึมเศร้าจากการที่ถูกกลั่นแกล้งของเด็กชายคนนี้ซึ่งนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

แต่นี่ไม่ใช่ข่าวเดียวที่แสดงให้เห็นความรุนแรงภายในโรงเรียน เพราะก่อนหน้านี้มีอีกข่าวหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในรั้วโรงเรียนเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าจุดจบนั้นไม่เหมือนกันเท่านั้น ย้อนไปอีกที่ปลายปี 2562 นั้นได้เกิดเหตุสลดขึ้นมาอีกครั้ง จากการที่ “นักเรียนคนหนึ่ง” ในจังหวัดนนทบุรีนั้นได้ขโมยปืนของพ่อตัวเองแล้วสบโอกาสพบเจอกับ “นักเรียนอีกคนหนึ่ง” ก่อนที่จะควักปืนยิงเข้าหน้าผากเสียชีวิต

จากสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นได้พบว่าเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้เสียชีวิตนั้นมักจะคอยกลั่นแกล้งและท้าชกท้าต่อยผู้ก่อเหตุอยู่เสมอ จึงได้คิดก่อเรื่องเช่นนี้ขึ้นมา ซึ่งนี่คือผลของความรุนแรงที่จุดจบนั้นไม่ได้หยุดลงเพียงแค่การฆ่าตัวตายของผู้ประสบเหตุจนสร้างบาดแผลให้กับผู้กระทำเสมอไป แต่ยังมีผลที่กลายเป็นว่าบันดาลโทสะมีมากเกินไปจนผู้ประสบเหตุนั้นเลือกที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้กระทำเช่นกัน

(ที่มาภาพ: https://mgronline.com/qol/detail/9620000102274)

บ้านของฉันก็(ไม่)น่ารื่นอภิรมย์

หากสถานที่ใกล้ตัวอย่างโรงเรียนนั้นยังมีเหตุความรุนแรงมากมายขนาดนี้ ลองย้อนกลับไปที่ “บ้าน”นั้นคงจะเป็นที่สงบไม่น้อยที่จะหลีกหนีสังคมในโรงเรียน กล่าวเช่นนั้นคงเป็นจริงหากทางบ้านนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่โรงเรียน แต่ถ้าไม่ล่ะ? กลับไปอีกครั้งที่ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 “หญิงสาวผู้หนึ่ง” นั้นได้รับคำพิพากษาจากศาลให้จำคุกตลอดชีวิต ในเหตุของการฆาตกรรม ซึ่งการฆาตกรรมครั้งนี้เกิดจากมูลเหตุบางอย่างเกินที่จิตใจของมนุษย์นั้นเกินจะรับไหว

เพราะมูลเหตุนั้นเกิดจากการที่ผู้เป็นพ่อนั้นได้ทำร้ายร่างกายของหญิงสาวผู้นี้ตั้งแต่ยังเด็ก ก่อนที่เวลาจะผ่านไปหลายปีนั้นหญิงสาวก็ได้กระทำการบางอย่างย้อนกลับไปนั่นคือการฆาตกรรมและตัดอวัยวะเพศของผู้เป็นพ่ออย่างโหดเหี้ยม การกระทำครั้งนี้สร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชนเป็นอย่างมากและผลของการกระทำเช่นนี้ของหญิงสาวนั้นก็ได้ปรากฏขึ้นมาตามกฎหมายแล้ว ซึ่งผมไม่ได้จะบอกให้เห็นใจต่อฆาตกรที่ทำเรื่องเช่นนี้แต่หากหยุดคิดกันสักนิดนั้น เหตุของเรื่องนี้มันเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่?

และเรื่องยังไม่จบแต่โดยดี ซ้ำร้ายหญิงสาวยังคงแจ้งข้อหาอีกเรื่องนั้นคือการแจ้งความสามีของตนเองในคดีความเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศต่อลูกสาว โดยในช่วงปี 2560 – 2561 นั้นจากรายละเอียดได้กล่าวเอาไว้ใจความว่าสามีได้ข่มขู่ที่จะทำร้ายและฆ่าหญิงสาวหลายครั้ง ก่อนนำไปสู่เหตุการณ์ล่วงละเมิดลูกสาวของตนเอง ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องในบ้าน เป็นเรื่องในครอบครัวนั้นก็ยังมีเหตุการณ์น่าสลดใจเช่นนี้จากบุพการีที่ก่อความรุนแรงต่อบุตรไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ทั้ง ๆ ที่บ้านควรจะเป็นที่พักกายพักใจแท้ ๆ

(ที่มาภาพ: https://www.bangkokbanksme.com/en/urban-society)

หรือสังคมมัน(ไม่)ดี?

“ครั้งหนึ่งหนูเคยโดนแม่เอาหัวกดน้ำนะพี่”

ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ผมเองก็เคยได้พูดคุยกับน้องสาวคนสนิทผ่านทางแชทในสื่อโซเชียล ทำให้ผมย้อนนึกขึ้นมาได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวนั้นมันกว้างเกินกว่าที่ข่าวนั้นจะออกได้ในทุก ๆ วัน ความรุนแรงในโรงเรียนก็เช่นเดียวกันในฐานะที่ผมเองก็เคยเป็นฝ่ายทำร้ายร่างกายเพื่อนจนเลือดตกยางออกจากการถูกกลั่นแกล้งมาแล้ว

ทั้ง ๆ ที่มีผลการวิจัยออกมาแล้วว่าความรุนแรงนั้นส่งผลทั้งทางกายที่ทำให้มีบาดแผลหรือโรคเครียดหรือทางจิตใจที่สร้างความซึมเศร้ามาก็มากมาย หรือไม่อย่างนั้นทางด้านพฤติกรรมก็ทำให้ผู้ที่ถูกรังแกนั้นกลายเป็นคนก้าวร้าวหรือติดยาเสพติดก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

แต่เราจะทำได้เพียงแค่ออกข่าวหน้าสื่อทุกวันเพื่อที่จะทำให้ผู้กระทำเกิดความกลัวที่จะเสียชื่อเสียงถูกดำเนินคดีความเท่านั้นหรือ? การกระทำเช่นนั้นเป็นเพียงแค่ปลายเหตุเพราะอย่างที่กล่าวไปนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงใช่ว่าจะถูกนำเสนอบ่อยครั้งจนมากเกินไปแล้ว แสดงให้เห็นถึงความเป็นสังคมที่ขนาดในครอบครัวนั้นยังคงเกิดปัญหาขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน

ฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้นั้นคือการที่จำเป็นต้องปลูกฝังภายในสังคมไม่ใช่หรือที่ควรจะต้องลดใช้เหตุผลในการพูดคุยมากกว่าที่จะใช้กำลังในการลงโทษครอบครัว ปัญหาการกลั่นแกล้งเองก็สามารถลดได้ด้วยการที่ต้องสอนให้นักเรียนนั้นรู้จักการยอมรับคนอื่นว่าเขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน และการล่วงละเมิดทางเพศนั้นก็ต้องถูกแก้ไขด้วยการลดแนวชายเป็นใหญ่เพื่อความเท่าเทียมกันภายในสังคม รวมไปถึงการที่ต้องเพิ่มศีลธรรมที่ดีจริง ๆ ต่อคนในสังคม ก่อนที่เหตุการณ์ร้าย ๆ เช่นนี้จะออกมาในลักษณะเช่นนี้อีก เพียงแค่อย่าให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ต้องจบลงด้วยความตายของใครสักคนอีกต่อไปเลย…….

อ้างอิง

วนิดา. (ม.ป.ป.). ความรุนแรงและผลกระทบ. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2564 จาก
https://thaichildprotection.org/data/files/3_5%20impact.pdf

ThaiPBS. (2562) นักเรียน ม.1 ยิงเพื่อนเสียชีวิตในโรงเรียน ปมถูกกลั่นแกล้ง สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2564 จาก https://news.thaipbs.or.th/content/287166

ผู้จัดการออนไลน์. (2563). เศร้าสลด! “น้องมาร์ค” ม.2 น้อยใจโดนเพื่อน “บูลลี่” ผูกคอตาย เขียน จม.บอก “ผมทนไม่ไหวจริงๆ” สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2564 จาก
https://mgronline.com/local/detail/9630000024440

ไทยรัฐ. (2563). ศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต สามีสาวฆ่าตัดจู๋พ่อ คดีข่มขืนลูกสาวตัวเอง สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2564 จาก https://www.thairath.co.th/news/crime/1876279

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *