“ พี่ๆ กุหลาบ 20 บาท ช่วยหน่อย ”

       คุณยังจดจำช่วงชีวิตในวัยเด็กได้หรือไม่ แสงรุ่งอรุณต้อนรับการไปโรงเรียน ความสนุก ความสดใส ความไร้เดียงสา นั่นคือสิ่งที่เด็กหญิงบันทึกไว้ในใจ หยิบสมุดใส่กระเป๋าสีชมพู เอาสีใหม่ไปอวดเพื่อน เล่นกระโดดยางในตอนพักเที่ยง พอนึกถึงก็อยากย้อนกลับไปเสมอ เพราะความทรงจำยังจางในใจ 

ภาพ ธัญญาภรณ์ โสภาฮุย

       หากถามอีกว่า “เรื่องกังวลมากที่สุดของคุณในวัยนั้น” คุณอาจจะตอบว่าอาจจะเป็นตอนที่ทำยางลบหาย หรือตอนเพื่อนยืมสีแล้วไม่เอาวางที่เดิม ถ้าวัยเด็กคุณเป็นเช่นนี้ คงจินตนาการไม่ออกว่าการที่ต้องเริ่มทำงาน ตั้งแต่ยังจำความไม่ได้จะเป็นอย่างไร 

       ในคืนท่องราตรีนี้ สถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา คนเหล่านั้นต่างออกมาเสพสุข ทิ้งความเศร้าตรมในจิตใจตน ไม่ว่าจะเสียงเพลง หรือเครื่องดื่มหมักดีกรี ท่วงทำนองบทเพลงขับขานเริ่มบรรเลงขึ้น ผู้คนเริ่มโยกตามจังหวะ เพลงแจ๊สกับสุรายาเมา ช่างเป็นอะไรที่เข้ากันเสียเหลือเกิน  

       แต่กลับมีสิ่งหนึ่ง ที่เมื่อมองกี่ครั้งก็ไม่น่ามาอยู่ตรงนี้ได้ “เจ้าตัวจิ๋ว” ด้วยความสูงที่เพียงแค่ร้อยต้น ๆ คงไม่พ้นเด็กสาวเป็นแน่แท้ ในมือซ้ายของเธอเต็มไปด้วยดอกไม้สีแดง แขนข้างซ้ายยังมีข้าวเกรียบแกล้มสุรารสเลิศ สิ่งของที่เธอหอบหิ้วพันธนาการเจ้าตัวไว้ หากใครมองมา คงเห็นเด็กหญิงในท่าทางที่ทุลักทุเลน่าพิกล “ดูเหมือนมนุษย์คนนี้จะอัธยาศัยดีเป็นพิเศษ” ฉันคิดในใจ เธอเดินเข้าไปพูดคุยกับผู้คนเกือบทุกโต๊ะ น่าแปลกใจที่ตอนนี้เวลาก็เลยมาค่อนคืนแล้ว ฝากถามมัจจุราชแห่งรัตติกาล “เหตุใดถึงมีเจ้าเด็กน้อยคนนี้อยู่ในสถานที่อโคจรยามวิกาล ตอนนี้ควรนอนหลับฝันดีอยู่บนเตียงหรือเปล่า ” ฉันใคร่รู้

มรดกความจน ที่หนูไม่เคยได้เลือก

“ บางครอบครัวสืบทอดมรดกมาตั้งแต่รุ่นก่อนหน้า รุ่นตัวเองก็ยังยากจน และกำลังจะสืบทอดไปยังรุ่นลูก ”

       ประโยคข้างต้น มาจากบทความเรื่อง มรดกความจน ของสุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน  หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในความคิดของฉัน จะมีสักกี่เหตุผลที่เด็กตัวเล็ก ๆ ต้องออกมาดิ้นรนเพื่อปากท้อง ไม่ได้เลี้ยงดูเพียงแค่ตัวเอง แต่ต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัว 

       คงหนีไม่พ้นคำว่า เงิน ที่เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต เพราะไม่มีเงิน เท่ากับ ไม่มีข้าวกิน ในยุคทุนนิยมที่ทุกอย่างขับเคลื่อนไปด้วยเม็ดเงิน จะทำอะไรก็ต้องมีเงิน โดยเฉพาะการมีลูก ถึงมีวลีคุ้นหูที่ว่า มีลูกเมื่อพร้อม แต่นั่นก็ไม่ใช่เพียงแค่เงินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความพร้อมทางด้านจิตใจ ในการดูแลให้เด็กคนนึงเติบโตมามีคุณภาพอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็มีเด็กจำนวนมากที่ต้องเกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อม โดยที่เขาไม่สามารถเลือกพ่อแม่ได้เลย

       เด็กหญิงตัวเล็กวัยสิบสองปี เธอเล่าว่า เมื่อก่อนได้อาศัยอยู่บนดอยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย แต่พออายุได้สามสี่ขวบก็ได้ย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ เธอเริ่มขายของตั้งแต่ยังเด็ก ขายมาหลายอย่างทั้งขนมและดอกไม้ พ่อเป็นคนพามาปล่อยไว้ร้านนี้ แล้วก็พาน้องไปขายอีกที่หนึ่งตอนนี้เธอจึงได้อยู่คนเดียว 

       เจ้าเด็กสนทนาด้วยท่าทีเป็นมิตร “บางทีหนูก็ง่วงบ้างอะพี่ เที่ยงคืน ตีหนึ่ง” เธอพูดไปพลางยื่นดอกไม้ให้ฉันซื้อ และเริ่มเผยความในใจว่า หากเธอนั้นขายของไม่หมด ก็ไม่ได้กลับ ซึ่งขณะนี้ก็เกือบจะหมดวันแล้ว ดอกไม้ยังเต็มมือของเธออยู่เลย แต่แม้ต้องทำงานดึกดื่นมากเพียงไร วันรุ่งขึ้นเธอยังต้องตื่นเช้าเพื่อไปโรงเรียน เป็นเรื่องน่ายินดีปนน่ากังวลไปด้วย การเรียนจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร หากผู้เรียนไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ แต่อย่างน้อยการได้เรียนก็ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว ฉันเชื่อได้ว่าหากเธอเลือกได้ เธอคงอยากนอนเต็มอิ่มบนเตียงที่แสนนุ่ม และหลับไปด้วยความรู้สึกสบายใจ เธอได้ตื่นเช้าเพื่อไปโรงเรียนเหมือนเด็กคนอื่น แต่โลกความเป็นจริง เด็กหญิงจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง สุดท้ายในเมื่อเลือกไม่ได้ ท้องมันยังร้องอยู่ ชีวิตก็ต้องไปต่อ

        ภาพ ธันยชนก อินทะรังษี


แรงงานจำยอม

       แรงงานเด็ก ตามนิยามของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หมายถึง เด็กที่มีอายุ 15 ปีแต่ไม่ถึง 18 ปี ทำงานโดยมีนายจ้างและได้รับค่าจ้างตอบแทนจากการทำงาน 

       แรงงานเด็ก ตามนิยามของมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2563) หมายถึง บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์

       ข้อมูลจากกรมสวัสดิการคุ้มครอง และแรงงาน ไตรมาสแรกของปี 2566 พบว่ามีแรงงานเด็กในประเทศไทย 179,805 คน คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของจำนวนแรงงงานทั้งหมดในประเทศ จำแนกเป็นผู้ทำงาน 166,977 คน ผู้ว่างงาน 10,296 คน และเป็นผู้รอฤดูกาล 2,532 คน เห็นได้ว่ามีเด็กกว่าแสนคนที่ตกอยู่ในตลาดแรงงาน เป็นเพศชาย 121,209 คน เพศหญิง 45,768  คน มัธยมต้นเป็นระดับการศึกษาสูงสุดของแรงงานเด็กที่จบมากที่สุด ซึ่งก็คือการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลจัดให้เรียนฟรี เพราะการจะเรียนต่อในมัธยมปลายต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย หลายคนเลยเลือกที่จะไม่ไปต่อ และมีแรงงานเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาถึงห้าพันกว่าคน  เห็นได้ว่ามีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่หลุดจากระบบการศึกษา 

        ภูมิภาคที่มีแรงงานเด็กมากที่สุดคือ ภาคกลาง ภาคที่มีการกระจุกตัวของประชากรเป็นจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 34.3 ของเด็กทั้งหมดที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 76,917 คน และจังหวัดที่มีมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกรุงเทพมหานคร เมืองแห่งความศรีวิไลแต่ก็มีความเหลื่อมล้ำมากไม่แพ้ความทันสมัย มากถึงร้อยละ 15.7 หรือ 12,050 คน แรงงานเด็กส่วนมากได้รับค่าจ้างอยู่ที่ 5,501 – 10,000 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าบางคนอาจจะได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำไป และอาชีพที่นิยมมากที่สุดคืออาชีพรับจ้าง 

        ILO ( International Labour Organization ) องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ได้พูดถึงแรงงานเด็กว่า มีเด็กกว่า 160 ล้านคนบนโลกกำลังตกอยู่ในสถานะของแรงงาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างมากนาย กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าว “การคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมทุกคนจะช่วยให้ครอบครัวสามารถให้เด็ก ๆ ได้เรียนหนังสือ  แม้ในยามที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ การลงทุนเพิ่มขึ้นในการพัฒนาชนบทและงานที่มีคุณค่าในภาคเกษตรกรรมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เราอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญและขึ้นอยู่กับเราเป็นอย่างมากว่าจะทำอย่างไร นี่เป็นเวลาที่จะแสดงความมุ่งมั่น และพลังอีกครั้งที่จะก้าวผ่านจุดวิกฤต และหยุดยั้งวงจรแห่งความยากจนและการใช้แรงงานเด็ก” 

ผู้ให้ผู้ยิ่งใหญ่

        ภาพ ธันยชนก อินทะรังษี

“เราไม่ได้ให้เพียงแค่เงิน แต่เราให้ความรักเขาด้วย สอนให้เขาใช้ชีวิต เสริมสร้างจิตใจให้เขา เพื่อให้เขาต่อสู้ได้ในอนาคต ได้มีอนาคตที่สดใส ”

       มูลนิธิเอ็มเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นหนึ่งในมูลนิธิที่ดูแลเด็กด้อยโอกาสที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และมีความเป็นอยู่ที่ลำบากทั้งในและต่างประเทศ อย่างในเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ มากไปกว่านั้นคือประเทศปากีสถาน ได้สร้างโรงเรียนสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา คุณพิชัย ชัยตัน รองประธานกรรมการมูลนิธิ ได้พูดถึงการทำงานว่าทางมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ได้ดูแลเด็ก ๆ ผ่านบ้านเด็กกำพร้าคือให้ทุนการศึกษา และปัจจัยสี่ที่จำเป็นในชีวิต  

       บรรยากาศการพูดคุยเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นความตั้งใจ และใจรักของคนในมูลนิธิ ที่อยากจะช่วยเหลือ อยากให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโต ได้มีชีวิต ได้มีความฝันอย่างที่เด็กคนหนึ่งอยากจะมี และได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การช่วยเหลือนี้อาจจะเป็นการช่วยเหลือเพียงเรื่องเล็กน้อยหากเทียบกับโลกใบนี้ แต่สำหรับเด็กเหล่านี้ที่ได้รับโอกาสคงเหมือนของขวัญจากพระเจ้า

       ในเวลานี้เด็กบางคนกำลังวุ่นอยู่กับโจทย์คณิต ที่คิดเท่าไหร่ก็ไม่ออก บางคนกำลังนั่งคำนวณความเร็วในการเคลื่อนที่ของเครื่องบิน  หรือบางคนอาจจะกำลังสงสัยทำไมเราต้องมาจำโครโมโซมของผีเสื้อ แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยกำลังคิดว่าวันนี้จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อข้าว เอาเงินที่ไหนไปเรียนต่อ เอาเงินที่ไหนไปซื้อยา เด็กที่ควรจะนั่งเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียน กับต้องออกไปทำงานหาเงิน 

       ฉันเชื่อว่า ทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้น่าจะต้องเป็นเรื่องของรัฐที่เขามาช่วยดูถึงสวัสดิการความเป็นอยู่ การศึกษาของเด็กเหล่านี้ เพราะคงไม่สามารถปฏิเสธได้ในเรื่องที่ว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินชีวิตต่อในอนาคต แต่หากเด็กเหล่านั้นยังอยู่ในวังวนเหล่านั้นยังไม่ได้รับการศึกษา คงเป็นไปได้ยากที่ชีวิตจะได้มุ่งสู่การประสบความสำเร็จ เพราะเพียงแค่หาเงินมาซื้อข้าวประทังชีวิตในแต่ละวันก็ยากแล้ว 

แหล่งอ้างอิง

What is child labour

World Day Against Child Labour

แรงงานเด็กเพิ่มขึ้น 160 ล้านคนทั่วโลก – ครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ

การใช้รางงานเด็กแบบที่เลวร้ายที่สุด

ความเคลื่อนไหวแรงงานเด็ก

มรดกความจน

Credit

เขียน ธัญญาภรณ์ โสภาฮุย

เรียบเรียง ธันยชนก อินทะรังษี