‘ยิ่งสด ยิ่งอร่อย’ อาหารดิบยอดฮิต ไม่เป็นมิตร แถมทำลายสุขภาพ

0

“รสสัมผัสนุ่มลิ้น กลิ่นคาวไม่มี ยิ่งสดยิ่งดี หอมหวานอร่อย”

นี่คือคำบอกเล่าของใครหลาย ๆ คนที่ชื่นชอบการทานเมนูอาหารดิบ เช่น ซอยจุ๊เนื้อ ตำกุ้งสด กุ้งเต้น หมึกช็อต หรือเมนูกึ่งสุกกึ่งดิบอย่างเมนูทะเลดองซีอิ๊ว และมีอีกสารพัดเมนูดิบที่ถูกรังสรร ด้วยเอกลักษณ์รสชาติที่แตกต่างจากอาหารปรุงสุก  หรือ ความเข้ากันได้กับเครื่องจิ้มรสแซ่บ ทำให้เมนูอาหารดิบทั้งหลาย เป็นที่ชื่นชอบ น่าลิ้มลอง และดูเหมือนจะเพิ่มระดับความแปลกใหม่ของอาหารเกินกว่าที่คิด  ฮิตจนติดเทรนด์อาหาร ซึ่งอาจผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย โดยนักคอนเทนท์ครีเอเตอร์สายกินทั้งหลาย ตั้งโต๊ะวางเมนูนี้นั่งทานให้คุณดู และเพิ่มความน่าลิ้มลอง ด้วย รีแอคชั่น การกินเหมือนกับว่าเป็นมื้ออาหารที่อร่อยที่สุด 

ทั้งสด ทั้งดิบ แต่ความนิยมเต็ม 10

ความจริงแล้วการรับประทานเมนูอาหารดิบในไทยมีมานาน อย่างเมนูซอยจุ๊ ที่นำเนื้อวัวสด เลือด ตับ สไบนาง เพี้ยอ่อนมาหั่นแล้วรับประทานกับน้ำจิ้มที่เรียกว่า ‘แจ่วขม’ หรือเมนูก้อยดิบ ที่นำเนื้อวัวสด ๆ คลุกกับเลือด ใส่เครื่องปรุงรส และที่ขาดไม่ได้คือดีวัว  นอกจากเมนูไทยๆ คนไทยยังนิยมเมนูอาหารดิบของประเทศอื่น อย่างซาชิมิ ที่นำเนื้อปลาชนิดต่างๆ เช่น แซลมอน ทูน่า มาแล่เป็นชิ้นบาง ๆ ขนาดพอดีคำ จิ้มด้วยโชยุกับวาซาบิ ให้รสชาติหวาน ๆ กลิ่นสไตล์ญี่ปุ่นแบบสุด ๆ 

และนับวันยิ่งมีการสรรหาเนื้อสัตว์ชนิดอื่น มาทำเป็นซาชิมิปลาสไตล์ไทย โดยการนำปลาน้ำจืดอย่างปลานิลเนื้อดิบ ๆ จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟูด หรืออย่างเมนูสุดไวรัลบนโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นมาได้ไม่นาน นั่นคือ ‘หมึกช็อต’ ที่นำหมึกสดตัวเล็ก ๆ จุ่มหัวลงไปในแก้วช็อตที่มีน้ำจิ้มซีฟูดอยู่ เวลารับประทานก็จะกัดบริเวณหัวก่อน เมนูนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของการทรมานสัตว์และอันตรายจากพยาธิด้วย หรืออีกเมนูที่ก็เป็นไวรัลอยู่ช่วงหนึ่งอย่าง ‘กุ้งเต้น’ เป็นการนำกุ้งฝอยมาทำเป็นยำ เป็นเมนูอาหารทานเล่นที่มีรสชาติจี๊ดจ๊าด 

ความนิยมนี้แสดงให้เห็นได้จากการที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารดิบของประชาชนพบว่า ประชาชนร้อยละ 28 กินอาหารดิบอย่างน้อย 1 อย่าง ถ้าแบ่งเป็นอาหารดิบแต่ละประเภทจะพบว่า ประชาชนร้อยละ 22.2 นิยมกินอาหารทะเลดิบ เช่น ตำกุ้งสด ปลาหมึกช็อต ปลาแซลมอนซาซิมิ ยำปูทะเล, ประชาชนร้อยละ 10.9 นิยมกินสัตว์น้ำจืดดิบ เช่น ยำ/ ตำ/ก้อย กุ้งฝอย ปลาดิบ ปูดิบ หอยดิบ ประชาชนร้อยละ 7.3 นิยมกินเนื้อวัวดิบ เช่น ก้อยเนื้อ ซอยจุ๊ ก้อยมะนาว ลาบเลือด ส้มวัว และประชาชนร้อยละ 5.9 นิยมกินเนื้อหมูดิบ เช่น ก้อยหมู หลู้หมู แหนมหมู

อีกสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของเมนูอาหารดิบคือ มีร้านค้าที่ขายเมนูอาหารดิบเจอได้ทั่วไปตามตลาดนัด หรือข้างทางตามถนน มีร้านค้าตั้งขายหลายร้านก็เท่ากับมีคนซื้อจำนวนไม่น้อย

“กุ้งตายไม่ได้เลยค่ะ ต้องกุ้งเป็น ๆ แบบนี้เลย มันถึงจะหวาน” 

คำบอกเล่าจากแม่ค้าขายกุ้งเต้น แถวสันติธรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เล่าให้ฟังถึงวิธีปรุงเมนูนี้ โดยจะตักกุ้งเป็น ๆ จากตู้กระจกลักษณะแบบตู้เลี้ยงปลา ในตู้จะมีกุ้งฝอยที่ยังมีชีวิต แหวกว่ายไปมาในน้ำเต็มไปหมด เมื่อลูกค้าสั่งเมนู ก็จะตักขึ้นมาสด ๆ นำมาคลุกเคล้ากับน้ำยำที่มีน้ำปลา น้ำตาล พริก มะมาวสด ๆ น้ำปลาร้า ตักขึ้นใส่กล่อง แล้วหยิบกล่องขึ้นมาเขย่าให้น้ำยำคลุกเคล้ากับกุ้ง โดยที่กุ้งยังโดดไปมาเหมือนกำลังเต้นอยู่นั่นเอง โดยจะมีลูกค้าจะแวะเวียนเข้ามาซื้อทั้งวัน วันหนึ่งขายได้หลายพันบาท และกุ้งที่ขายได้ประมาณเกือบ 10 กิโลกรัมต่อวัน แสดงให้เห็นว่า มีคนนิยมรับประทานกุ้งเต้นเป็นจำนวนไม่น้อยเลย

แต่เมนูอาหารเหล่านี้กลับแฝงไปด้วยอันตรายมากมาย ทั้งจากพยาธิในเนื้อสัตว์ หรือความไม่สะอาดของอุปกรณ์ภาชนะที่ใช้หั่นก่อนที่มันจะถูกจัดจานมาให้คุณรับประทาน 

ระวังเจ้าตัวร้ายก่อโรคที่อยู่ในอาหาร

การรับประทานอาหารต่าง ๆ บนโลกนี้ให้ประโยชน์ แต่ถ้ากินมันมากเกินไปหรือไม่ถูกวิธีอาจจะเป็นอันตรายได้โดยไม่รู้ตัว เหมือนอย่างอาหารดิบที่มีรสชาติอร่อยถูกปากอย่างมาก แต่ก็ควรระวังเชื้อโรค แบคทีเรีย สารปนเปื้อน ๙

หลังจากที่เรารับประทานอาหารสักอย่างมา เวลาผ่านไปที่เร็วที่สุดประมาณสองถึงสามชั่วโมง หรือเวลาที่ช้าที่สุดคือหนึ่งหรือสองวัน คุณจะรู้สึกปวดท้องแบบบิดเกร็งอย่างมาก เหมือนลำไส้กำลังบีบรัดกันอยู่ หลังจากนั้นคุณจะต้องวิ่งไปถ่ายหนักที่ห้องน้ำหลายรอบ จนเหนื่อย อ่อนแรง ร่างกายขาดน้ำ หรือบางคนก็อาจจะอาเจียนด้วย นี่เป็นอาการของ ‘อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)’ สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต โดยอาหารดิบมีเชื้อเหล่านี้อยู่ อย่างเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่า (Salmonella) ที่พบมากในเนื้อสัตว์ดิบ สัตว์ปีก ไข่ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ทำให้เกิดอาการท้องร่วง อาเจียน ตะคริวหรือมีไข้ได้ นอกจากนี้ยังมีเชื้ออีโคไล (E.Coli) เป็นแบคทีเรียที่ปกติอาศัยอยู่ในลำไล้ของคนและสัตว์ มีชนิดที่ไม่ก่อโรคและก่อโรค โดยชนิดที่พบในเนื้อสัตว์ดิบจะเป็นชนิดที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องร่วงได้ 

หนึ่งอันตรายที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือ ‘โรคหนอนพยาธิ’ เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานเนื้อที่ไม่ปรุงสุก ทำให้พยาธิเหล่านี้ไม่ตาย เช่น ‘พยาธิตัวตืด’ พบได้ในเนื้อหมูหรือวัว เกิดจากการที่หมูหรือวัวกินไข่ของพยาธิตัวตืดเข้าไป ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนแล้วไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ลักษณะเป็นถุงน้ำใส ๆ ขาว ๆ คล้ายเม็ดสาคู เมื่อคนรับประทานเข้าไปพยาธิก็จะเจริญเติบโตแล้วไปเกาะอยู่ตามผนังลำไส้เล็กเป็นลักษณะพยาธิตัวแบน คล้ายเส้นบะหมี่ที่เรารับประทาน เมื่อเรามีพยาธิชนิดนี้อยู่ในร่างกาย ระยะแรก ๆ อาจจะไม่มีอาการอะไรมาก แต่เมื่อเกิดการสะสมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลานาน จะมีอาการท้องอืด เจ็บบริเวณชายโครง หรือถึงขั้นมีอาการอักเสบของท่อน้ำดี ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับโต หรือกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับได้หรือขั้นร้ายแรงที่สุดคืออาจถึงตายได้เลย 

ยังมีพยาธิอีกหนึ่งชนิดที่พบได้จากการรับประทานปลาน้ำจืดดิบ หอย หรืออาหารหมักดองอย่าง ปราร้า ปลาส้ม นั่นคือ พยาธิใบไม้ตับ เมื่อคนกินถุงซีสต์ตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้เข้าไป (โดยไม่รู้ตัว) จะไปเจริญเติบโตอยู่ที่ท่อน้ำดีที่ตับ มีลักษณะเป็นตัวรี แบนคล้ายใบไม้ อาการที่เกิดขึ้น เมื่อสะสมไปมาก ๆ เป็นเวลานานจะเกิดการอักเสบของท่อน้ำดี ตับโต หรือเป็นมะเร็งตับ ส่วนการรับประทานกุ้งฝอยในเมนู ‘กุ้งเต้น’ มี ‘พยาธิใบไม้ปอด’ เมื่อตัวอ่อนของพยาธิเติบโตจะเข้าไปไชในปอดจะทำให้ปอดอักเสบ เจ็บหน้าอก ไอได้ บางครั้งพยาธิอาจไชไปอวัยวะอื่น อย่างลำไส้เล็ก ตับ สมองหรือตา

อย่างกรณีที่มีป่วยรายหนึ่งที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อต้นปี 2565 เกิดอาการตาขวาบอด สาเหตุมากจาก ‘พยาธิปอดหนู’ ขึ้นตา  เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ชอบรับประทานอาหารเมนูดิบ ๆ โดยกุ้งแช่น้ำปลา ฉะนั้นการกินเมนูที่มีพวกสัตว์น้ำจืด อาจพบพยาธิใบไม้ปอด พยาธิใบไม้ตับ หรือพยาธิปอดหนูได้

ส่วนเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อสัตว์ทะเล เช่น ปลาแซลมอนดิบ ปลาทูน่าดิบนั้น อาจคิดว่าไม่มีพยาธิซึ่งจริง ๆ แล้วพบได้เช่นกัน อย่างพยาธิอะนิซาคิส ที่คนญี่ปุ่นเป็นมากที่สุดในโลก โดยพยาธิชนิดนี้ทำให้มีอาการเลือดออกในกระเพาะ ปวดท้อง หรือท้องเสียได้ ที่น่ากลัวคือพยาธิชนิดนี้ยังไม่มียารักษา หรือถ้าจะรักษาด้วยการใช้ยาถ่ายก็ทำไม่ได้ เพราะตัวพยาธิมันจะฝังอยู่ที่กระเพาะ ต้องผ่าตัดคีบพยาธิออกเท่านั้น แต่พยาธิชนิดนี้สามารถป้องกันได้โดยการแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 – 7 วัน หรือต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง วิธีนี้สามารถฆ่าพยาธิได้ ทำให้คนไทยมักไม่พบคนเป็นโรคนี้เท่าไหร่เนื่องจากต้องนำเข้าปลาแช่แข็งจากต่างประเทศ ท้ายที่สุดแล้ววิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงรับประทานแบบดิบจะดีกว่า 

มีอีกโรคหนึ่งที่เป็นข่าวออกมาว่าเกิดจากการกินเนื้อหมูดิบ นั่นคือ ‘โรคไข้หูดับ’ คือภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococus โดยผู้ผ่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดภาวะแทรกซ้อนหูดับถาวรหรือเสียชีวิตได้เลย สาเหตุของการติดเชื้อนี้ มีอยู่สองทาง คือเกิดจากการสัมผัสชิ้นส่วนเนื้อหมู ทำให้ติดเชื้อผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผลได้ หรืออีกสาเหตุคือ รับประทานหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ฉะนั้นแล้ว แม้ว่าเราจะไม่ได้รับประทานเนื้อหมูดิบก็ตาม แต่คนที่ชื่นชอบการกินหมูกระทะก็ควรระวังเพราะเราอาจจะปิ้งเนื้อหมูไม่สุก ควรเช็คให้แน่ใจว่าสุกดีแล้วก่อนรับประทานเข้าไป

ความสะอาดของเครื่องครัวก็อย่าลืมนึกถึง

ก่อนเมนูอาหารที่รสอร่อยถูกปากจะถูกเรารับประทาน ต้องเริ่มกระบวนการเตรียมวัตถุดิบ โดยอาจจะต้องผ่านการหั่น แล่ หรือสับ เพราะถ้าเรากินเนื้อทั้งชิ้นใหญ่ ๆ จะยากต่อการเคี้ยว ยากต่อการรับรสชาติของความนุ่มเด้ง ความหวานของเนื้อสด ๆ ได้ยาก 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมเนื้อเหล่านี้ก็มีเขียง มีด ซึ่งจริงๆ เขียงไม่ได้เป็นตัวที่ก่อโรค แต่ถ้าเราดูแลรักษาความสะอาดไม่เพียงพอ ก็สามารถเป็นแหล่งเพาะเชื้อจุนลินทรีย์ จนเกิดเชื้อราได้ เมื่อเราใช้เขียงเหล่านี้หั่นเนื้อดิบ ที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก ก็จะทำให้เกิดการปนเปื้อน เมื่อรับประทานเข้าไปก็จะทำให้เราท้องเสีย อาหารเป็นพิษ

 ดังนั้นเมื่อคุณจะออกไปรับประทานเมนูอาหารดิบข้างนอกควรเช็คความสะอาดของร้านให้แน่ใจก็ก่อนว่า สะอาดจริง หรือถ้าเป็นไปได้การปรุงอาหารเองที่บ้านน่าจะสะอาดกว่า เลือกใช้เขียงที่เหมาะสม อย่างเขียงไม้ ทน แข็งแรงกว่าเขียงพลาสติก แต่ต้องทำความสะอาดให้ดี เพราะเกิดเชื้อราขึ้นได้ง่ายกว่ามาก เมื่อใช้เสร็จทุกครั้งก็ควรล้างทำความสะอาดก่อนและหลังใช้ทุกครั้ง ส่วนมีดก็เช่นกัน ถ้าใช้หั่นเนื้อสดแล้วก็ควรล้างทำความสะอาด เช็คให้แห้ง เก็บไว้ให้ดี

สัตว์อื่นกินดิบได้ แต่ทำไมมนุษย์ควรกินสุก

เหตุผลของการที่มนุษย์ต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุก มีหลายสาเหตุทั้งในแง่ของวิวัฒนาการของมนุษย์ที่เกิดจากในสมัยก่อน เป็นการรวมตัวกันรอบกองไฟ ย่างเนื้อที่ล่าได้ เพื่อพบปะ มีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม 

ถ้าในแง่วิทยาศาสตร์อาหาร การปรุงให้สุกเป็นการช่วยให้มนุษย์ย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น กระเพาะกับลำไส้จะได้ไม่ต้องทำงานหนัก และอาหารที่ทิ้งไว้นาน ๆ ข้างนอก เชื้อโรคจะยิ่งจะเจริญโต ยิ่งในประเทศที่มีอากาศร้อน อุณหภูมิที่สูงยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้แบคทีเรียเติบโตไวขึ้น นอกจากมีเชื้อโรคและแบคทีเรียแล้ว ในเนื้อสัตว์ดิบอาจมีพยาธิชนิดต่าง ๆ ตามที่ได้เล่าไป ผักเองก็อาจจะมีพยาธิแฝงอยู่เช่นกัน 

การปรุงอาหารให้สุกจึงเป็นวิธีที่ตัดวงจรการเกิดโรคต่าง ๆ เนื้อสัตว์จึงควรล้างทำความสะอาดก่อนปรุงให้สุก เพราะการผ่านความร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อโรค รับประทานขณะที่อาหารยังร้อน สดใหม่ หากรับประทานไม่หมด ควรเก็บเข้าตู้เย็น ไม่วางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง หากจะนำมารับประทานอีกครั้งก็นำมาอุ่นให้ร้อนก่อน 

น้ำจิ้มแซ่บ ๆ อร่อยปากลำบากท้อง

‘ กินแต่เนื้อเปล่า ๆ ไม่ได้ ต้องจิ้มน้ำจิ้มด้วย เดี๋ยวจะไม่อร่อยกลมกล่อมแบบครบรส ’

เพราะเราคนไทยโตมากับอาหารที่ครบรสทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม โดยการกินอาหารที่รสจัดมากเกินไปก็ไม่ดี น้ำจิ้มที่รับประทานกับเมนูอาหารดิบส่วนใหญ่จะเป็นน้ำจิ้มซีฟู้ดที่รสชาติจัดจ้านเปรี้ยวนำ หวานตาม หรือแจ่วจิ้มพวกซอยจุ๊ก็จะมีรสเค็มนำจากน้ำปลา และเครื่องปรุงที่ดูเหมือนจะลับ แต่ขาดไม่ได้ นั่นคือ ‘ผงชูรส’ หรือ ‘ผงนัว’ ที่จะทำให้รสชาติอร่อยขึ้น ซึ่งทั้งน้ำปลา เกลือ หรือผงชูรสต่างให้โซเดียม  ยิ่งเค็มมากหรือรสชาติจัดจ้านมากเท่าไหร่ เท่ากับมีโซเดียมมากเท่านั้น 

อันตรายจากการกินโซเดียมมากเกินไปก่อให้เกิดการเสื่อมของไต เพราะต้องขับโซเดียมออกจากร่างกาย เมื่อไตเสื่อมจนทำงานได้ลดลง จะทำให้ไตคั่งเกลือ มีการบวมน้ำ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง จนเป็นโรคไตได้ หรืออาจจะมีอาการกระหายน้ำมากกว่าปกติ ปากแห้ง ตาแห้ง อ่อนเพลีย เพราะเป็นภาวะโซเดียมในเลือดสูง 

Raw Food Diet : ทางเลือกการกินอาหารแบบไม่ผ่านการปรุงสุกเลย

มีทางเลือกการรับประทานอาหารแบบหนึ่งที่ชื่อ Raw Food Diet หรือ Raw Foodism มีความเชื่อว่าการรับประทานอาหารที่ไม่ปรุงสุกหรือผ่านความร้อน จะให้ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่า อีกทั้งยังช่วยลดน้ำหนักอีกด้วย ที่กล่าวว่าไม่ผ่านการปรุงสุกคือการที่อาหารไม่ผ่านความร้อนเกิน 40 – 48 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังไม่ผ่านแปรรูปด้วย ซึ่งการรับประทาน Raw food Diet คล้ายกับการกินอาหาร Vegan ที่จะรับประทานพืช ผักเป็นหลัก ต่างกันตรงที่ Raw Food Diet สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ หรือไข่ได้ แต่ต้องไม่ทำให้สุก 

ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการรับประทานอาหารแบบนี้ อย่างประโยชน์ของ Raw Food Diet ที่บอกว่า จะไม่ทำให้เอนไซม์ธรรมชาติถูกทำลายไป ซึ่งความเป็นจริงแล้วเอนไซม์ธรรมชาติชนิดนี้ร่างกายผลิตขึ้นมาเองอยู่แล้ว หรือการไม่ปรุงอาหารให้สุกจะทำให้วิตามินที่อยู่ในอาหารไม่ถูกทำลาย อย่างวิตามินซี วิตามินบี ซึ่งเป็นความจริงที่ถูกต้อง แต่ในทางกลับกัน การปรุงอาหารด้วยความร้อนก็ช่วยเพิ่มสารอาหารบางอย่าง เช่น ไลโคปีน เบตาเคโลทีน อีกทั้งยังมีการโต้เถียงจากทางฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับ Raw Food Diet ว่าการปรุงอาหารด้วยความร้อนให้สุกจะช่วยทำลายเชื้อโรค แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอันตราย ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ได้ ทางเลือกการรับประทานอาหารแบบ Raw Food Diet ยังคงมีประเด็นให้ถกเถียงอยู่อีกมากว่า จริง ๆ แล้ววิธีนี้ให้ประโยชน์มากกว่าจริงหรือไม่

 เพราะความชื่นชอบนั้นไม่มีผิดหรือถูก บางคนอาจจะชอบกินดิบ เพราะสัมผัสเนื้อสด หวาน นุ่ม เด้ง รสชาติอร่อยแบบที่บรรยายได้ยาก แต่หากเลี่ยง หรือเลือกได้ ควรเลือกกินอาหารปรุงสุก สดใหม่ ใส่ใจการกินตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าต้องเสียใจกับการเสียสุขภาพในวันหน้า 

แหล่งอ้างอิง

  • เตือนประชาชนกิน “อาหารดิบ” เสี่ยงพยาธิ-ไข้หูดับ 
https://news.thaipbs.or.th/content/315018
  • ภัยเงียบจาก อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ

 https://mw-wellness.com/health/8837

  • “ก้อย ซอยจุ๊ ปลาดิบ” อาหารเล่าวัฒนธรรม แซ่บแต่เสี่ยงพยาธิก่อโรคตับ https://www.pptvhd36.com/health/care/1265 
  • ให้ซาชิมิเป็นเรื่องของปลาทะเล : เหตุผลที่เราไม่ควรกินหมู ไก่ และปลาน้ำจืดเป็นซาซิมิ https://thematter.co/social/reasons-shouldnt-eat-pork-chicken-and-freshwater-fish-is-sashimi/176790 
  • กินดิบเก่ง! ชอบกินดิบใช่ไหม เลือกยังไงให้ไม่เสี่ยง 

https://www.greenery.org/articles/insight-raw-food/

https://wonderopolis.org/wonder/why-do-we-have-to-cook-meat
  • The Raw Food Diet: A Beginner’s Guide and Review 
https://www.healthline.com/nutrition/raw-food-diet

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *