มองอนาคตของมนุษย์ผ่านธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ

1

มองอนาคตของมนุษย์ผ่านธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ

เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการนำสิ่งมีชีวิต และผลผลิตมาใช้ประโยชน์ บทความของ Lorient-Technopole ได้เขียนถึงเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ว่า เทคโนโลยีชีวภาพมีมาอย่างยาวนาน เพราะการทำน้ำปลา การหมัก และการดอง เป็นกระบวนการของเทคโนโลยีชีวภาพ ปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านั้นได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มผลผลิต เทคโนโลยีนี้ไม่ได้เน้นแค่เรื่องการแปรรูปหรือถนอมอาหาร แต่ยังสำคัญกับอุตสาหกรรมยาสามัญต่าง ๆ ที่ช่วยรักษาชีวิตของมนุษย์ การขยายและปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิต การวิเคราะห์และวิจัยหายีนที่ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันต่าง ๆ เช่น ควบคุมความแก่ชรา ควบคุมการเกิดโรคอ้วน และสามารถใช้วิเคราะห์วิจัยในการวินิจฉัยคดีต่าง ๆ จากยีน DNA เพื่อหาต้นเหตุ หรือเป็นการพิสูจน์ความเป็นสายเลือดเดียวกัน (BIO-ENGINE, 2560) รวมถึงช่วยในเรื่องของการเกษตรที่ช่วยเหลือเกษตรกรเป็นอย่างดี เพราะสามารถนำไปใช้ร่วมกับเกษตรอินทรีย์ได้ และกระบวนการที่ใช้แปรรูปผลผลิตดังกล่าวในระดับโรงงาน ดังนั้นเทคโนโลยีชีวภาพจึงหมายถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานประกอบด้วยหลายสาขาวิชาผสมผสานกันอยู่ตั้งแต่ชีววิทยา เคมี ไปจนถึงวิศวกรรม อาจเรียกได้ว่าเป็นสหวิทยาการที่นำความรู้ ยิ่งเทคโนโลยีถูกพัฒนาไปมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะส่งผลดีต่อมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น 

ความสำเร็จและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีภาพของไทย

การปฏิวัติทางเทคโนโลยีชีวภาพที่กำลังเกิดขึ้นในไทยมีความสำคัญต่อมนุษยชาติไม่น้อยไปกว่าการปฏิวัติทางเทคโนโลยีสารสนเทศ แม้จะต่างกันบ้างตรงที่ใช้เวลานานกว่าในหนึ่งผลผลิตจากการวิจัย เพราะส่วนหนึ่งเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความเป็นอยู่ของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดเสียก่อน ประเทศไทยอยู่ในแถบร้อนและชื้น มีความหลากหลายทางชีวภาพ เฉพาะพืชอย่างเดียวมีถึงหนึ่งในสิบของสายพันธุ์พืชทั้งหมดในโลก ทั้งยังเป็นดินแดนต้นกำเนิดของพืชสำคัญหลายชนิด เช่น กล้วย เป็นต้น ด้านจุลชีพรวมทั้งพวกเห็ด รา ประเทศไทยก็มีอยู่หลากหลายมาก หลายสายพันธุ์มีคุณสมบัติน่าสนใจ เช่น สามารถฆ่าแมลงได้  ขณะนี้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) สนับสนุนการวิจัยโครงการความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อศึกษาอนุรักษ์และนำความหลากหลายนี้มาใช้ประโยชน์ เช่น นำเชื้อราที่มีคุณสมบัติฆ่าแมลงไปใช้เป็นสารกำจัดแมลง หรือนำไปศึกษาส่วนประกอบเพื่อพัฒนาเป็นสารฆ่าแมลงจากธรรมชาติ เป็นต้น เดิมประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ปัจจุบันอาศัยการส่งออกสินค้าเกษตรนำเงินเข้าประเทศ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเราได้พึ่งอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมากขึ้น นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ เราจำเป็นต้องปรับแนวคิดหลักสำหรับอนาคต ชัดเจนแล้วว่าเราไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมหลายชนิดที่ต้องการแค่แรงงานราคาถูกหรือผลิตผลทางการเกษตรที่มูลค่าผลผลิตต่ำจากการไร้เทคโนโลยี ดังนั้นแนวทางของประเทศไทย คือต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น สามารถแข่งขันในตลาดสากล เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศไทยที่มีต้นทุนอยู่ไม่น้อย ทั้งความรู้ความสามารถด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม วิทยาการการแพทย์ และวิศวกรรมกระบวนการ อีกทั้งลมฟ้าอากาศยังเอื้อหนุนให้ได้ผลิตผลที่ดีมีคุณภาพ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะต้องลงทุนเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีชีวภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

“ประเทศไทยมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความเป็นเลิศ และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านการส่งเสริม Health and wellness innovation, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ส่งเสริมการต่อยอดด้านชีววิทยาศาสตร์ในธุรกิจการท่องเที่ยว และการพัฒนาศูนย์บริการทางการแพทย์ ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนได้โดยผ่านธุรกิจชีววิทยา” (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ, 2561) ปรากฏในวารสารเกษมบัณฑิต ปีที่ 19 ฉบับพิเศษเดือน มีนาคม 2561   

โอกาสทางธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพในไทย

ธุรกิจชีววิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีการใช้นวัตกรรมที่ล้ำสมัยประกอบไปกับต้องมีรูปแบบธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและกลยุทธ์ที่จะสามารถดำเนินการได้จริงทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ควรจะเป็นรูปแบบที่เข้าใจได้โดยหลักการและเหตุผล พิจารณาประเด็นทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นก็เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าดำเนินธุรกิจในแต่ละประเภท โดยรูปแบบธุรกิจต้องมีวิวัฒนาการที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศและควรจะคำนึงถึงความคาดหวังของตลาด อีกทั้งยังจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบนวัตกรรมเพื่อให้สะท้อนความเป็นธรรมชาติของธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ ที่จะเป็นธุรกิจแห่งอนาคตในต่อไป การดำเนินธุรกิจประเภทในประเทศไทยนั้นควรจะมีการดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ไม่หวังผลกำไรเป็นตัวเงินเท่านั้น ต้องพิจารณาทั้ง TBL (Triple Bottom Line) และ TTL (Triple Top Line) เพื่อให้ครอบคลุมในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมไปถึงกลยุทธ์ที่เน้นความเสมอภาคทางสังคม (social equity) ตอบสนองอย่างรวดเร็วกับระบบนิเวศ (ecological sensitivity) และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (economics soundness) ธุรกิจชีววิทยาศาสตร์จำเป็นต้องเตรียมพร้อมกับพยายามที่จะเป็นที่ยอมรับของเหล่านักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพราะในการวิจัยหรือพัฒนานั้นมีความเสี่ยงในการล้มเหลวอย่างมาก นักลงทุนควรจะมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะรองรับกับปัญหาเหล่านี้ เพราะการเริ่มต้นธุรกิจไปสู่การ spin-off ต้องให้ธุรกิจมีองค์ประกอบของรูปแบบธุรกิจและคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของด้าน spin-off ซึ่งในทางธุรกิจชีววิทยานั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการใช้เป็นกลยุทธ์ของการเข้าสู่สากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ดร.ภก.ณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ เลขาธิการ กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า “ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบสำหรับเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพในหลายด้าน ทั้งความเข้มแข็งด้านการศึกษาและการวิจัยด้านชีวภาพทางการแพทย์ (Biomedical Science) ประกอบกับประเทศไทยเป็นแหล่งสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นจุดแข็งในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้ไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภท ผลิตภัณฑ์สมุนไพร Functional Food ชีวเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ Active Pharmaceutical Ingredients (API) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพที่เข้มแข็ง” 

ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน

ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ทำให้ประเทศไทยต้องมีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้ เช่น ก่อตั้งโรงงานวัคซีนที่พร้อมจะขยายขนาดในระดับอุตสาหกรรม และห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองที่มีความปลอดภัยสูง แต่งานวิจัยและพัฒนาด้านโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างจำกัดมาก โดยเฉพาะงานวิจัยพื้นฐานที่จะช่วยให้เราเข้าใจเชื้อไวรัส มากขึ้น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญหลายด้านยังมีไม่เพียงพอ ขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม และปัจจัยเอื้อต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพไปใช้พัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่หากได้รับการสนับสนุนและให้ความสำคัญในการพัฒนาวัคซีนอย่างเต็มที่ผลของการการพัฒนาจะช่วยให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากการผลิตสินค้าที่เน้นจากการผลิตสินค้าปริมาณมาก  ราคาถูกไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูง การยกระดับขั้นของนวัตกรรมที่สูงขึ้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้ายา  อาหารเสริมสุขภาพเป็นจำนวนมาก ลดการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตยา อาหารเสริม อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารเสริมสุขภาพของอาเซียน และความสามารถในการผลิตวัคซีนพื้นฐานเภสัชภัณฑ์และชุดตรวจทางการแพทย์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันนี้ได้อีกด้วย 

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพคือการแสดงถึงความพร้อมในด้านเทคโนโลยี ทรัพยากร และวิทยาการณ์ความรู้ ยิ่งประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ได้เปรียบเรื่องทรัพยากร สภาพอากาศ พืชพันธุ์ ฯลฯ ยิ่งมีโอกาสในการพัฒนาเป็นธุรกิจในด้านการแพทย์ สุขภาพวิจัย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทดลองยีน และวิจัยในอนาคตได้ จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ในไทยแสดงให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมแต่ขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล ปัจจัยที่จะเอื้อนักวิจัยยังไม่มากพอ ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในไทยยังคงรอคอยการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมและแรงผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านชีวภาพที่แข็งแรงได้ในอนาคต

การนำความองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ปรับปรุงใช้กับสิ่งมีชีวิตเพื่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นไปอีกหรือเพื่อให้ตรงตามเป้าหมายเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีชีวภาพนี้สามารถนำมาใช้ได้ในทุกด้าน และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้อย่างมีคุณภาพ เพราะเทคโนโลยีชีวภาพสามารถขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับความปลอดภัยได้  

อ้างอิง

รุจิกาญจน์ สานนท. (2561). โอกาสทางธุรกิจชีววิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศไทยในยุคแห่งนวัตกรรม.  วารสารเกษมบัณฑิต, 19 (พิเศษ), 185. สืบค้นจาก 110023-Article Text-302941-1-10-20180331 (3).pdf

BIO-GINE. (2560).  วิวัฒนาการแห่งการป้องกันและรักษาเพื่อมวลมนุษย์. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564, จาก วิวัฒนาการแห่งการป้องกันและรักษาเพื่อมวลมนุษย์ – การทดลองเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการหาวิธีการรักษาหรือพัฒนาในรูปแบบใหม่ (bio-engine.com)

ไทยโพสต์. (2563).  COVID-19 กับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของไทย. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564, จาก COVID-19 กับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของไทย (thaipost.net)

lorient-technopole. (2563).  เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่เป็นอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564, จาก เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่เป็นอย่างไร – ระบบเทคโนโลยีความก้าวหน้าที่ทั่วโลกให้การยอมรับ (lorient-technopole.com)

bloggang. (2549).  เทคโนโลยีชีวภาพ-โอกาศทองของไทย. สืบค้นสืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564,  จาก บทความ “เทคโนโลยีชีวภาพ-โอกาศทองของไทย” (bloggang.com)

1 thought on “มองอนาคตของมนุษย์ผ่านธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *