พื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ มีมากพอหรือยัง?

0

หากมีการตั้งคำถาม กับผู้คนทั่วไปที่เดินขวักไขว่ไปมาในเมืองใหญ่ ถึงสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน หลายคนคงนึกถึงเทคโนโลยีเป็นอย่างแรก  ผู้คนให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความเจริญก้าวหน้า และความศิวิไลซ์ในสังคม จนมองข้ามสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้รับประโยชน์จากพวกเขาเหล่านั้นมากที่สุด นั่นคือ “ป่าไม้ และพื้นที่สีเขียว”  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ป่าไม้เป็นแหล่งที่มาของอาหารและวัตถุดิบในการดำรงชีพ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำหรับการอุปโภคบริโภค และที่สำคัญป่าไม้ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ป่าไม้มีส่วนช่วยในการสร้างอากาศที่บริสุทธิ์ให้แก่เมืองของเรา แต่ในปัจจุบันสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวกลับลดลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นอย่างนี้มนุษย์อาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวได้อีกต่อไป…

ชุมชนเมืองเริ่มขยาย แต่ป่าใหญ่เริ่มลดลง

            กาลเวลาเริ่มหมุนผ่าน ผู้คนในสังคมเริ่มเข้าสู่สังคมเมืองมากขึ้น ประชากรต่างหลั่งไหลเข้าสู่เขตเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่และเมืองเศรษฐกิจอย่าง กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้ต้องมีการขยับขยายผังเมืองเพื่อรองรับจำนวนประชากร ในปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างผุดขึ้นมากมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองนั้นกำลังทยอยหายไป ผังเมืองกำลังขยับขยายพื้นที่โดยไม่คำนึงถึงการลดลงของพื้นที่สีเขียว  จากบทความของ สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี กล่าวว่า สาเหตุที่พื้นที่สีเขียวในเมืองถูกรุกล้ำอย่างไม่ใยดีนั้น เนื่องจากพื้นที่สีเขียวไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการพัฒนาเพื่อประกอบการในเชิงพาณิชย์จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า 

            องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ว่า เมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อจำนวนประชากร 1 คน แต่อัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ยังน้อยกว่ากำหนด อย่างเช่น กรุงเทพฯ ที่นับวันยิ่งมีประชากรหนาแน่น หากนับรวมประชากรแฝงในกรุงเทพฯ คาดว่ามีราวๆ 10 ล้านคน ขณะที่พื้นที่สีเขียวมีเพียง 35 ล้าน ตารางเมตร คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น (Propertytoday, 2564) ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์ เป็นประเทศเล็กๆที่มีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรมากเป็นอันดับต้นๆของโลก เพราะมีนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ดี เช่น สิ่งปลูกสร้างต้องมีพื้นที่สีเขียว และมีการออกแบบสำหรับปลูกต้นไม้ มีการปลูกต้นไม้ทดแทนต้นที่ตัดไปอยู่เสมอ แสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์มีนโยบายการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองได้เป็นอย่างดีเพื่อให้ผู้คนและธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้โดยไม่รุกล้ำซึ่งกันและกัน  พื้นที่สีเขียวในเมืองมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร หากพื้นที่สีเขียวลดลงเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบมากมายต่อผู้คนในหลายๆด้าน จนในที่สุดการที่ไม่มีป่าไม้ อาจลดทอนความสุขในการดำเนินชีวิตของผู้คนได้

ชีวิตจะดีได้อย่างไร หากไม่มีพื้นที่สีเขียว

ชัญญา จันทร์สิงห์ จาก The MOMENTUM ได้กล่าวถึงผลกระทบจากการลดลงของพื้นที่ป่าว่า หากพื้นที่สีเขียวลดลง แน่นอนว่าสภาพภูมิอากาศย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้นในวิกฤตภาวะโลกร้อน วัฏจักรของน้ำถูกทำลายจนนำไปสู่ความแห้งแล้งของพื้นที่  นอกจากนี้แหล่งโอโซนในเมืองอาจหายไป ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ในอีกแง่หนึ่งหากสวนสาธารณะที่มีต้นไม้มากมาย ถูกรุกล้ำ ชาวเมืองจะไม่มีพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ไม่มีพื้นที่สำหรับการออกกำลังกายที่ร่มรื่น จนนำไปสู่การเกิดสภาวะเครียดทางจิตใจ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวนั้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากร ดังนั้นการรักษาพื้นที่สีเขียวจึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในเขตชุมชนเมืองด้วยเช่นกัน

            อย่างที่ทราบกันดีว่าป่าไม้ ให้ประโยชน์ต่อผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการฟื้นฟูสภาพอากาศ หรือแม้กระทั่งสภาพจิตใจของผู้คน หากผู้คนอาศัยอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี ป่าไม้ที่เขียวขจีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดและความเศร้าหมองลงได้ จากงานวิจัยของแพทย์หญิง จีน่า เซาธ์ แพทย์ประจำแผนกฉุกเฉินแห่งมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า เขตชุมชนหรือเขตเมืองที่มีพื้นที่รกร้าง มักมีการเกิดอาชญากรรมอยู่บ่อยครั้ง และผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีพื้นที่รกร้างอยู่มาก มักมีอัตราการเกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังจากที่ได้มีการฟื้นฟูพื้นที่รกร้างเหล่านั้นให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้และหญ้าในพื้นที่นั้นๆ ผู้คนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆได้ ผลวิจัยพบว่า หลังจากฟื้นฟูพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สีเขียวมีอัตราการซึมเศร้าของผู้คนลดลงราว 40% การก่ออาชญากรรมลดลงถึง 10% จะเห็นได้ว่าการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เป็นสวนสาธารณะในเมือง หรือเป็นที่สาธารณะสำหรับการออกกำลังกายและการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในสังคม ส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอยู่ไม่น้อย ทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตดีๆอีกด้านหนึ่งของชุมชนเมือง

นับวันรอที่ ‘ปอด’ ของเมืองใหญ่จะกลับมา

            หากปอดของมนุษย์มีหน้าที่สำคัญในระบบหายใจ โดยแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายและขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา รวมถึงหน้าที่ฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดงเพื่อนำไปใช้ในส่วนต่างๆของร่างกายให้ร่างกายทำงานได้อย่างแข็งแรงและสมบูรณ์ พื้นที่สีเขียวก็เปรียบเสมือนปอดของเมืองใหญ่ ที่มีหน้าที่สำคัญคือทำให้อากาศบริสุทธิ์ และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ทำให้มนุษย์มีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี แนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ ยังมีอีกหลายวิธี  ยกตัวอย่างโครงการ ‘สวนผักคนเมืองเชียงใหม่’ ที่ได้นำพื้นที่บ่อขยะมาปรับเปลี่ยนเป็นแปลงเกษตร เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่สีเขียวและเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชน ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในด้าน ‘อากาศสะอาด และ อาหารสมบูรณ์’ อารียา ติวะสุระเดช อาสาสมัครสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า ‘สวนผักคนเมืองนั้นถือว่าเป็นโครงการเริ่มต้นการฟื้นฟู และพัฒนาพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ถึงแม้จะเป็นเพียงแปลงผัก แต่ก็ยังสร้างความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหาร เพราะการที่พื้นที่สีเขียวลดลงมันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ปริมาณคาร์บอน แต่ส่งผลกระทบกับโครงข่ายธรรมชาติที่โยงใยกันอีกหลายแห่ง’ พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆของการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวที่มีประโยชน์ต่อประชาชน

            การจัดทำโครงการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวของรัฐเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูธรรมชาติในเมืองให้อุดมสมบูรณ์ได้ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง จะเห็นได้ว่าในหนึ่งปีมีโครงการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวอยู่หลายโครงการ  คำถามคือ โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเหล่านั้นเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่? หรือเป็นเพียงการสร้างพื้นที่สีเขียวแค่ชั่วครู่และไม่มีการพัฒนาหรือดูแลรักษาต่อไป การที่จะสามารถทำให้การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในเมืองเป็นไปได้อย่างมั่นคงและสมบูรณ์ ประชาชนควรมีส่วนร่วมหรือได้รับผลประโยชน์จากโครงการนั้นๆด้วย เช่น โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเชียงใหม่ชุมชนหมื่นสาร ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกไม้ฟอกอากาศในบ้านตนเอง ดูแลต้นไม้ตามตรอกซอยในชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดกับถนนคนเดินวัวลาย และมีนักท่องเที่ยวสัญจรไปมาอยู่มาก การปรับภูมิทัศน์พื้นที่สีเขียวของชุมชนจึงได้รับความสนใจจากผู้คนในระแวกนั้นอยู่ไม่น้อย หากหน่วยงานรัฐปรับรูปแบบการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมและมีความน่าสนใจสำหรับประชาชน พื้นที่เหล่านั้นอาจได้รับการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นอยู่เสมอ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียวได้อย่างยั่งยืนไม่มากก็น้อย

การบุกรุกพื้นที่ป่าและธรรมชาติในเมืองใหญ่ เป็นสิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย เนื่องจากปริมาณพื้นที่สีเขียวยังคงไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร การขยับขยายผังเมืองยังคงรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ หากพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ลดลง แน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสุขภาพกายหรือจิตใจ ดังนั้น การร่วมมือฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องช่วยกัน และหวังว่าจำนวนพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่จะมีมากพอต่อจำนวนประชากร
จนกลายเป็นเมืองที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ในสักวัน

“ไม่มีคนป่าอยู่ได้ แต่คนจะอยู่ได้อย่างไร หากไม่มีป่า”

เรียบเรียงโดย ปรินทรณ์ เทพกูล

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ชัญญา จันทร์สิงห์. (2562), ไม่มีคนป่าอยู่ได้ ถ้าไม่มีป่าคนอยู่ไม่ได้ เพราะเราต่างพึ่งป่า. สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2564, จาก https://themomentum.co/forest-of-thailand/

สินีนาถ สุกลรัตนเมธี. (2562), พื้นที่สีเขียวในเมือง ต้องมีการวางแผนเชิงรุก. สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2564, จาก https://www.matichon.co.th/article/news_1585145.

เมธิรา เกษมสันต์. (2562), City in a Garden แนวคิด’เมืองในสวน’ แนวคิดเกาะเล็กๆ ซึ่งมีทรัพยากรจำกัด กลายมาเป็นประเทศที่มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรมากเป็นอันดับต้นๆของโลก. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2564, จาก https://readthecloud.co/singapore-city-in-a-garden/

CondoNewb. (2564). สัดส่วนพื้นที่สีเขียวใน กรุงเทพฯ มีไม่พอจริงหรือ?. สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2564, จาก https://www.condonewb.com/insight/1642/พื้นที่สีเขียว.

PropertyToday. (มปป.), กรุงเทพ พื้นที่สีเขียว Green Space น้อยกว่ามาตรฐานเกือบ 3 เท่า. สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2564, จาก https://www.propertytoday.in.th/news/พื้นที่สีเขียว. Voathai. (2561). พื้นที่สีเขียวในเมืองช่วยลด ‘โรคซึมเศร้า’ และ ‘อาชญากรรม’. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://www.voathai.com/a/green-space-crime-depression-tk/4595755.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *