พนักงานเก็บขยะในไทย : งานหนัก เงินเดือนน้อย ค่าครองชีพสูงกว่า “ค่าแรง”

   ‘คุณทิ้ง เราเก็บ’ นิยามสั้น ๆ ของ ‘พนักงานเก็บขยะ’ หน่วยงานรักษาความสะอาดผู้เป็นกำลังสำคัญในการกำจัดและเก็บกวาดขยะให้อยู่ในที่ทางของมัน เมื่อ ‘ขยะ’ คือสิ่งสกปรกที่หลายคนไม่อยากสัมผัสทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นชวนให้เวียนหัวจนต้องรีบนำไปทิ้งให้ไกล

   คนทั่วไปมักจะทิ้งขยะตามที่ต่าง ๆ แม้จะมีคนบางกลุ่มที่ไม่ยอมทิ้งขยะในพื้นที่ที่เหมาะสม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้มีใครสนใจที่จะเก็บมันไปทิ้งให้ถูกที่อยู่ดี เพราะต่างถือคติที่ว่า ก็ฉันไม่ได้ทิ้ง แล้วทำไมจะต้องเก็บด้วยล่ะ? แต่สำหรับพนักงานเก็บขยะแล้ว พวกเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะการเก็บขยะคือ ‘หน้าที่’ ของพวกเขา

   “เงินวันละสามร้อยถามว่ามากไหม สำหรับลุงมันก็มากนะ แต่มันจะดีกว่านี้ถ้ามันมากขึ้นมาอีกสัก 100-200 บาท เพราะสมัยนี้ค่ากับข้าวค่าก๋วยเตี๋ยวมันไม่ได้ 20-30 บาท เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ค่าข้าวลุงคนเดียวสามมื้อก็ปาไป 150 แล้ว ไหนจะค่าขนมลูกอีก วันนึงได้มาก็หมด ไม่เหลือเก็บเลย ถ้าค่าใช้จ่ายเดี๋ยวนี้มันเท่าเมื่อก่อนนะ 300 บาทลุงก็อยู่ได้สบาย

   ลุงแสวง หรือ แสวง ไชยเจริญ พนักงานเก็บขยะศูนย์บริหารจัดการชีวมวลครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัย 54 ปี เล่าว่า เขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงมาก เรียนจบแค่ชั้นป.6 เท่านั้น ในตอนที่เริ่มทำงานเก็บขยะใหม่ ๆ ก็ได้เงินเดือนแค่ 9,000 บาท แต่ก็อดทนและตั้งใจทำงานนี้มาเรื่อย ๆ โดยไม่คิดลาออกไปทำอาชีพอื่น เนื่องจากมีภาระที่ต้องดูแล ปัจจุบันนี้ลุงแสวงทำงานเก็บขยะมาแล้ว 5 ปี และเพิ่งได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ตอนนี้ลุงแสวงมีเงินเดือนอยู่ที่ 9,300 บาท ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เยอะมากนักถ้าเทียบกับค่าครองชีพที่ต้องจ่าย

ในหนึ่งวัน พนักงานเก็บขยะต้องทำอะไรบ้าง ?             

   รถบรรทุกขยะสีเหลืองคันใหญ่แล่นไปบนถนนตามเส้นทางประจำอย่างทุกวัน ปรากฏภาพของคนจำนวน 2-3 คน ที่โหนอยู่ตรงส่วนท้ายของคันรถ หยิบเอาถุงขยะสีดำที่ผู้คนทิ้งไว้เพื่อนำไปคัดแยกประเภทและเข้าสู่กระบวนการในการกำจัดขยะ

   “กรอบการทำงานจริง ๆ เราอยู่ประมาณสัก 10 ชั่วโมง เราทำตั้งแต่ตี 2 รถจะออกจากสถานที่ทำงาน เข้ามาสู่ระบบขนถ่าย พอเที่ยงก็เสร็จหมดแล้ว ซึ่งหมายความว่าเราทำประมาณ 8-10 ชั่วโมง”

   นายประสพชัย แขกอ้อย วิศวกรสุขาภิบาล หัวหน้างานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานเก็บขยะว่า โดยทั่วไปพนักงานเก็บขยะสังกัดเทศบาลต่าง ๆ ใช้เวลาในการทำงานประมาณ 10 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มทำงานตั้งแต่ช่วง 02.00 น. ของทุกวัน และต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้เสร็จสิ้นก่อนรุ่งสาง

   พวกเขาจะขับรถไปตามเส้นทางและจอดรถเพื่อเก็บขยะตามจุดที่มีการจัดให้ทิ้ง โดยจะต้องใช้เวลาในการทำงานให้น้อยที่สุด เพราะต้องเก็บขยะให้หมดก่อนที่ผู้คนจะตื่นมาใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อไม่เกิดปัญหาขยะล้นถังตามมาทีหลัง เมื่อเก็บจนครบทุกพื้นที่ของเขตรับผิดชอบแล้ว ก็จะคัดแยกขยะแต่ละประเภทออกจากกัน เช่น ขยะประเภทขวดแก้ว หรือขวดพลาสติก หลังจากนั้นจึงนำไปทิ้งยังพื้นที่ฝังกลบ

พนักงานเก็บขยะกับความเสี่ยงจากการทำงาน

   “ที่เสี่ยงแน่ ๆ เรื่องหนึ่งเลยก็คือเรื่องสุขภาพ ใคร ๆ ก็รู้ว่าคนเก็บขยะเนี่ยทำงานอยู่กับเชื้อโรค บางครั้งเราก็อาจจะป่วยหรือเสี่ยงติดเชื้อจากขยะติดเชื้อ ถึงจะแยกถังขยะติดเชื้อกับถังขยะทั่วไป แต่กับบางคนเขาก็มักง่ายไม่แยกประเภทขยะกันก็มี ยิ่งพอมีโควิดระบาดมานี่ยิ่งหนักเลย อันนี้น่ะเสี่ยงที่สุดแล้ว”

   ลุงแสวง เล่าถึงความเสี่ยงจากการทำงานเก็บขยะว่า สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดและเป็นเหมือนศัตรูของพนักงานเก็บขยะคือการที่ผู้คนไม่ยอมแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง ทำให้มีบางครั้งที่พนักงานเก็บขยะมักจะโดนพวกเศษไม้ลูกชิ้น เศษแก้วที่แตก ทิ่มตำหรือบาดมืออยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงของการติดเชื้อจากการทำงานอีกด้วย

   งานเก็บขยะเป็นงานที่หนัก มีความใกล้ชิดกับสิ่งปฏิกูล สารเคมี และยังมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคระบุว่า ฝุ่นละอองและกลิ่นจากกองขยะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอด โรคภูมิแพ้ ยิ่งไปกว่านั้นหากสัมผัสกับขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟนีออนแตก แบตเตอรี่เก่า อาจได้รับสารพิษปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม จนนำไปสู่โรคเรื้อรังทางระบบประสาท สมอง หลอดเลือด อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

ในหนึ่งเดือน พนักงานเก็บขยะในประเทศไทยทำเงินได้กี่บาท?

   9,000 บาท คือจำนวนเงินที่ลูกจ้างทั่วไปนั้นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่า ช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2555-2566) อัตราค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยนั้นถูกปรับจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 340 บาทต่อวัน ซึ่งเท่ากับว่าค่าแรงของคนไทยเพิ่มขึ้นมาเพียง 40 บาทต่อวันเท่านั้น  

   อาชีพพนักงานเก็บขยะเองก็ได้รับเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท หรืออาจจะได้มากกว่านั้น หากพวกเขาเป็นพนักงานในกลุ่มที่มีสิทธิ์ได้รับ ‘ค่าเสี่ยงภัย’ จากการทำงาน โดยอาชีพพนักงานรักษาความสะอาดในประเทศไทยนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พนักงานฝ่ายจัดเก็บขยะมูลฝอย พนักงานกวาดถนน และพนักงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งพนักงานเก็บขยะแต่ละประเภทก็จะได้รับค่าเสี่ยงภัยที่แตกต่างกันออกไปตามปริมาณ ทักษะ และความเสี่ยงของงาน

   “ปัจจุบันพนักงานเก็บขยะถ้าเป็นหน่วยของรัฐ ก็จะมีรายได้แค่ 9,000 บาท แล้วบวกเงินสนับสนุนค่าครองชีพอีก 1,000 บาท แล้วก็บวกค่าเสี่ยงภัยต่อสุขภาพอีกประมาณ1,500 บาท”

   นายประสพชัย ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานเก็บขยะอีกว่า โดยทั่วไปแล้วพนักงานเก็บขยะจะมีเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 9,000 บาท และมีเงินสนับสนุนค่าครองชีพอีก 1,000 บาท ดังนั้น ในหนึ่งเดือน พนักงานเก็บขยะในสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่จะมีรายได้ไม่ต่ำว่า 10,000 บาท และหากเป็นพนักงานเก็บขยะประเภทจัดเก็บขยะมูลฝอย และพนักงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อในขณะทำงาน ก็จะได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยอีกจำนวน 1,500 บาท

   นอกจากเงินเดือนที่ต้องได้ประจำในทุกเดือน ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ยังมี ‘สวัสดิการ’ ให้พนักงานเก็บขยะอีกด้วย ซึ่งประเภทของพนักงานเก็บขยะในไทย มีทั้งแบบที่เป็นลูกจ้างประจำและลูกจ้างทั่วไป โดยลูกจ้างประจำจะได้รับสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการพลเรือนสามัญ เช่น การลา สวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล สวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร บำเหน็จ และบำนาญ ในขณะที่ลูกจ้างทั่วไปนั้นได้รับเพียงประกันสังคม เงินสนับสนุนค่าครองชีพ และค่าเสี่ยงภัย

พนักงานเก็บขยะประเทศเกาหลีใต้ เงินเดือนเท่าไหร่?

   ประเทศเกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับขยะเป็นอย่างมาก โดยกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับการทิ้งขยะอย่างเข้มงวดและปลูกฝังนิสัยการคัดแยกขยะให้กับประชาชน เพราะพวกเขาถือว่าเรื่องความสะอาดนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นอาชีพพนักงานเก็บขยะในประเทศเกาหลีใต้จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ถูกยกให้เป็นแรงงานมีฝีมือและจัดเป็นข้าราชการทั่วไป โดยมีสวัสดิการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตของพนักงานเก็บขยะ เช่น เงินสนับสนุนทุนการศึกษาของบุตรหลาน และการพิจารณาขึ้นเงินเดือนในทุกปี เป็นต้น

   จากข้อมูลของเว็บไซต์ Naver ระบุว่าพนักงานเก็บขยะในประเทศเกาหลีใต้มีเงินเดือนอยู่ที่ 880,000 – 1,100,000 บาทต่อปี หรือประมาณเดือนละ 87,000 บาท ในขณะที่ค่าครองชีพโดยเฉลี่ยของประเทศเกาหลีนั้นอยู่ที่ประมาณเดือนละ 38,169 บาท พอลองเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว พนักงานเก็บขยะของไทยจะต้องทำงานเกือบ 10 เดือน ถึงจะได้เงินเดือนเทียบเท่ากับพนักงานเก็บขยะของเกาหลีใต้ที่ทำงานแค่เดือนเดียว เป็นอัตราส่วนที่ฟังแล้วน่าตกใจและหดหู่อย่างบอกไม่ถูก

   ปัจจุบันประเทศไทยมีพนักงานเก็บขยะจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ จึงไม่สามารถรับสวัสดิการเทียบเท่าพนักงานข้าราชการทั่วไป ส่งผลให้พวกเขาต้องพบเจอกับปัญหาเงินเดือนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง จนนำไปสู่การสร้างภาระหนี้สินที่มากขึ้น

   สิ่งที่สามารถทำให้กลุ่มอาชีพนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ คือการที่รัฐบาลตระหนักว่าอาชีพพนักงานเก็บขยะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กับอาชีพอื่น ๆ อย่างน้อยก็ควรช่วยสนับสนุนสวัสดิการด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมและจัดหาอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการทำงาน รวมทั้งปรับมาตรการในการคัดแยกขยะให้เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว หากพวกเราคัดแยกขยะและทิ้งได้อย่างถูกที่ ถูกวิธี ก็จะสามารถช่วยลดภาระงานของพนักงานเก็บขยะลงได้  

   อาชีพพนักงานเก็บขยะ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีเกียรติและน่ายกย่อง เพราะพวกเขาคอยจัดการสิ่งสกปรกที่ใครหลายคนไม่อยากจับต้อง ไม่อยากนึกเลยว่า บ้านเมืองในวันที่ไม่มีพวกเขานั้นมันจะเป็นอย่างไร คงจะเป็นเมืองที่มีแต่กลิ่นเหม็นเน่าจากของเน่าเสียที่ไม่ได้รับการฝังกลบอย่างถูกที่หรือเปล่านะ หากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมืองไทย…พัง…แน่…

อ้างอิง

ddc.moph.go.th

mol.go.th

naver.com

samyan-mitrtown.com

tpso.moc.go.th

เขียน ชลธิฌา สุนันท์เสวก, สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

เรียบเรียง นลินี ค้ากำยาน

ภาพ ธนรัชต์ ใจดี

พิสูจน์อักษร กัลย์ธิดา สิริจรรยากร, ชลธิฌา สุนันท์เสวก