บัณฑิตว่างงาน หรือสังคมสร้างกรอบ ?

เมื่อตลาดแรงงานไม่ให้โอกาสเด็กจบใหม่ เพียงเพราะต้องการคนที่มีประสบการณ์ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ ?

นักเรียนไทยส่วนใหญ่ถูกสังคมกำหนดขอบเขตการศึกษาไว้ให้ตั้งแต่กำเนิด เช่น ระดับชั้นมัธยม-ปลายจะต้องเรียนสายวิทย์ – คณิต เพื่อให้มีทางเลือกที่หลากลายในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย จะต้องเรียนสายวิทยาศาตร์สุขภาพ หรือคณะที่จบไปแล้วมีงานรองรับแน่นอน เพื่อความมั่นคงทางอาชีพ ต้องเรียนให้จบภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาหลาย ๆ คน ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน ก่อให้เกิดการแข่งขัน และเมื่อเป้าหมายเหล่านั้นถูกแก่งแย่งจนพื้นที่เต็ม ส่งผลให้มีคนบางกลุ่มหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือต้องหันไปศึกษาในสิ่งที่ไม่เป็นที่นิยมในสังคม และมักจะถูกตราหน้าว่าไม่ประสบความสำเร็จ

เพราะการศึกษาไทยส่งเด็กไปรับใช้ทุนนิยม
หลายครอบครัวในประเทศไทยถูกปลูกฝังค่านิยมการประกอบอาชีพที่มั่นคงและเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ครอบครัวโดยการเข้าไปทำงานในระบบข้าราชการ แต่ความหวังของครอบครัวก็ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจระบบข้าราชการ เนื่องจากมองว่าเป็นอาชีพที่เงินเดือนน้อย ถึงแม้จะเพิ่มขึ้นทีละนิดตามตำแหน่งที่ได้รับ ก็ยากที่จะก้าวกระโดดไปในตำแหน่งที่สูงกว่า หรือเรียกได้ว่าไม่มีโอกาสที่จะรวย เนื่องด้วยระบบเส้นสาย และการทำงานภายใน จึงส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่หันไปสนใจสายงานเอกชนมากกว่า ก่อให้เกิดการแข่งขันในหมู่เด็กจบใหม่ เพื่อแย่งชิงตำแหน่งอาชีพที่มีความต้องการมาก จึงส่งผลให้มีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จและคนที่จำเป็นต้องว่างงาน

Fem Rest เคยกล่าวไว้ในบทความ เรื่อง “ทุนนิยมทำให้นักเรียนขูดรีดตัวเอง”ว่า มหาวิทยาลัยมิได้มีสาขาที่เปิดกว้างเพื่อรองรับความหลากหลายของนักศึกษา ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยมุ่งผลิตแรงงานที่เป็นพิมพ์เดียวกัน เพื่อส่งออกไปรับใช้ทุนนิยม และคนที่มิได้เป็นที่ต้องการของระบอบทุนนิยม จึงจำเป็นต้องหันหน้ามาพึ่งระบอบสังคมนิยม หรือข้าราชการเพื่อความอยู่รอด เนื่องจากความมั่นคงของอาชีพข้าราชการนั้นมีมากกว่า ทั้งเงินบำนาญหลังเกษียณ และสวัสดิการต่าง ๆ แม้เศรษฐกิจจะย่ำแย่เพียงใด อาชีพข้าราชการก็ยังได้เงินเดือนตามปกติ ไม่มีการจ้างให้ออกเช่นเดียวกับบริษัทเอกชน

สังคมคือผู้หล่อหลอมความคิดเด็กโดยไม่รู้ตัว

เนื่องจากระบบการศึกษาของไทยมีระบบที่ให้เด็กเลือกแผนการเรียนที่จะศึกษาตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย และแต่ละแผนการเรียนก็มีข้อจำกัดในการเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เช่น เรียนสายวิทย์-คณิต สามารถเลือกเรียนคณะต่าง ๆ ในระดับมหาวิทยาลัยได้มากกว่าสายศิลป์ (ภาษา/คำนวณ) ซึ่งบางครั้ง การเลือกแผนการเรียนตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเลือกเองหรือเลือกตามเพื่อนก็ตาม หรือเรียกได้ว่า “เลือกผิดชีวิตเปลี่ยน”

จากบทความของ The Standard  เรื่อง “วิกฤตเด็กจบปริญญาตรีหางานทำไม่ได้มากที่สุด” ได้กล่าวถึงความต้องการของนายจ้างที่ต้องการ Soft Skills ที่นอกเหนือจากทักษะเฉพาะทางวิชาชีพ เช่น ทักษะการ-สื่อสาร ทักษะทางด้านภาษา เป็นต้น ซึ่งบางครั้งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่มีสอน ส่งผลให้นายจ้างมองว่านักศึกษาจบใหม่ที่เตรียมตัวเป็นลูกจ้างนั้นยังขาดทักษะที่องค์กรต้องการ เป็นเหตุให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีทักษะเฉพาะที่โดดเด่น และตรงกับสายงานที่เปิดรับสมัคร แต่ถ้าหากขาด Soft Skills บางอย่างไปอาจส่งผลให้ถูกปัดตกและนับว่าขาดคุณสมบัติไปโดยปริยาย

แม้ว่าการเลือกเรียนสายวิทย์ – คณิต จะง่ายต่อการเข้าศึกษาในคณะที่เป็นที่ต้องการของสังคมในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเรียนจบแล้ว บริษัทกลับต้องการทักษะบางอย่างที่การศึกษาในวัยมัธยมเลือกที่จะมองข้าม และให้ความสนใจน้อย นั่นคือ การเลือกเรียนสายศิลป์ – ภาษา เนื่องจากการมีทักษะเฉพาะสำหรับสาขาที่เราเรียนมานั้นคงไม่เพียงพอ เนื่องจากนายจ้างยังต้องการทักษะพิเศษอื่น ๆ เช่น การสื่อสาร ภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่ 3 ที่เรียกได้ว่าเป็น Soft Skills ซึ่งสำคัญอย่างมากในการทำงาน

ความต้องการของสังคมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การเลือกรับคนเข้าทำงานขององค์กรต่าง ๆ เปลี่ยนไปด้วย ข้อมูลจากสถาบันวิจัย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “พลวัตและความท้าทายของตลาดแรงงานไทย” จากสถิติพบว่า ในปี 1985 มีจำนวนแรงงานที่ศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาหรือน้อยกว่านั้น เป็นจำนวน 80% ของแรงงาน และลดลงเรื่อย ๆ ในปีต่อมา และเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปี 2022 พบว่า ผู้ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป มักจะมีโอกาสมากกว่าในการถูกรับเข้าทำงาน

“ผมไม่ได้ตั้งใจหางานทันที ตอนนี้กำลังพิจารณาเรียนต่อปริญญาโทก่อนจะได้มีโอกาสทำงานที่ดีขึ้น”
คุณภาสกร บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “Students fear for job prospects” จาก Bangkok Post

จะเห็นได้ว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าไร เงื่อนไขการรับคนเข้าทำงานยิ่งมีมากขึ้น เช่น ทักษะเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิ่งที่เรียนมา ใบปริญญาที่มากกว่า 1 ใบ ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และประสบการณ์ที่ได้สั่ง-สมมา ล้วนส่งผลให้มีทั้งผู้ที่ถูกเลือกให้อยู่ต่อ และผู้ที่ถูกผลักออกจากตลาดแรงงาน ท้ายที่สุด ผู้ที่ถูกผลักออกก็ได้กลายเป็นบุคคลว่างงานในที่สุด

แม้ว่าพวกเขาจะถูกผลักออกจากตลาดแรงงาน แต่กลุ่มคนที่ว่างงานเหล่านี้ก็ยังมีความหวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถมีงานทำได้อีกครั้ง จากการช่วยเหลือ และการจัดการที่ดีจากรัฐบาล ทั้งในด้านการจัดหางาน และชดเชย เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงตำแหน่งงานที่ต้องการ และมีความถนัดในวิชาชีพนั้น ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีรายได้มาจุนเจือตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องเตะฝุ่นไปวัน ๆ และการแก้ปัญหาการว่างงานนี้ อาจช่วยให้ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ปัญหาคนไร้บ้าน ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนลดลงได้

อ้างอิง
dindeng
thestandard
www.pier.or.th
bangkokpost

เขียน รัตติยากร มติอภิวัฒน์
เรียบเรียง ธนวินท์ สุภาอินทร์, ลักษณา บุญญาปฏิภา, สิริกร วงศ์กันทะ, สุชาลินี สุขุมทอง, หทัยทิพย์ ตารินทร์
พิสูจน์อักษร สุชาลินี สุขุมทอง
ภาพปก สิริกร วงศ์กันทะ