นรกและสวรรค์ของ LGBTQ+ ไทย

0

หากพูดถึงประเทศไทยแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าประเทศของไทยมักถูกยกให้เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ มากที่สุดในเอเชีย อีกทั้งยังมีชื่อเสียงมากมายในเรื่องของ LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็นการศัลยกรรมแปลงเพศ, สาวข้ามเพศ นักการเมืองข้ามเพศ และคอนเทนต์ซีรีส์วาย แต่ประเทศไทยกลับไม่รับรองความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศในทางกฎหมาย เมื่อมองดูให้ดี ๆ แล้ว การเป็น LGBTQ+ ในประเทศไทยก็เปรียบเมือนมีชีวิตอยู่ทั้งในสรรค์และในนรกไปพร้อม ๆ กัน

สวรรค์ของการเป็น LGBTQ+ ในไทย

          ประเทศไทย ถือได้ว่าเป็น “สวรรค์ของ LGBTQ+” ซึ่งการนิยามนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยแต่มันคือนิยามที่สามารถใช้ได้จริงในประเทศไทย เพราะประเทศไทยถูกขนานนามว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในเอเชีย แม้เราเองจะมีผู้ที่ยังไม่ยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่ในบริบทความเป็นจริงของสังคม กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย และถือเป็นที่ยอมรับค่อนข้างมากในสังคม เพราะปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ให้การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวาง อีกทั้งในสังคมยังยอมรับการเข้ามามีบทบาททางสังคมของกลุ่ม LGBTQ+มากขึ้นด้วย ดังเช่น การที่เรามีนักการเมืองข้ามเพศ ซึ่งก็คือ “คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (สส.) พรรคก้าวไกล และเป็นประเทศที่ผลิตซีรีส์ความหลากหลายทางเพศเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งยังเป็นเหมือนจุดหมายในการมาผ่าตัดแปลงเพศของคนทั่วทั้งโลก จากคำกล่าวของคุณโจเซฟ วู้ดแมน (Josef  Woodman) ผู้บริหารบริษัท Patients Beyond Borders บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล

และเมื่อปี 2562 นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้วางกลยุทธ์การตลาดโดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพราะมองเห็นศักยภาพในการใช้จ่ายและท่องเที่ยวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศและเนื่องจากประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายทั้งในเอเชีย และระดับโลกปี 2564 กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดโครงการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วาย เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศให้ก้าวไกลได้มากกว่าเดิม แต่แม้ว่าบริบททางสังคมจะยอมรับ และสนับสนุนความหลากหลายทางเพศมากเท่าใด แต่กฎหมายของประเทศกลับไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกันกับบริบทของสังคม แท้จริงแล้วสวรรค์ของLGBTQ+ ที่ว่ากลับถูกตีกรอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่ได้ให้ความเสรีแก่พวกเขาอย่างแท้จริง

นรกของการเป็น LGBTQ+ ในไทย

          สวรรค์ก็ต้องคู่กับนรก มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย การเป็น LGBTQ+ ในไทยเองก็อาจจะเหมือนกับการเดินบนกลีบกุหลาบแต่ว่ากุหลาบนั้นยังมีหนาม เพราะยังมีหลาย ๆ ด้านที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศถูกมองข้าม และไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพ เหมือนกับเพศชาย – หญิง โดยกำเนิด ซึ่งอาจจะดูจำเจในหลายเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศซึ่งก็คือ การสมรสเท่าเทียม (Same Sex Marriage) และการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อของบุคคลข้ามเพศที่ในหลายประเทศทั่วทุกมุมโลกสามารถใช้กฎหมายเหล่านี้ได้แล้ว

            อย่างประเทศข้างเคียงกับประเทศไทยอย่าง “ไต้หวัน” นั้นเป็นประเทศแรกในเอเชียที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกกฎหมาย ฝั่งยุโรป “เนเธอร์แลนด์” ประเทศแรกในโลกที่ให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกกฎหมายในด้านของฝั่งอเมริกา “แคนาดา”ถือเป็นประเทศแรกในอเมริกาที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกกฎหมาย

เห็นได้ว่าหลายประเทศได้มีการขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อสร้างความเสรีให้แก่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ยังคงมีข้อจำกัดด้านกฎหมายมากมาย อีกทั้งการไม่ได้รับความเสรีนี้ก็สร้างความยากลำบากให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ในการใช้ชีวิต ดังเช่น เบส ชิษณุพงศ์ นิธิวนา นักกิจกรรมสตรีข้ามเพศ ผู้ก่อตั้ง Young Pride Club ได้กล่าวถึงความยากลำบากในการที่คำนำหน้าไม่ตรงกับเพศภาพไว้ว่า การที่คำนำหน้าไม่ตรงกับเพศภาพสร้างความลำบากให้แก่เธอมาก เพราะต้องเตรียมเอกสารหลายอย่าง

 “เมื่อเดินทางไปต่างประเทศแล้วต้องทำการยืนยันตัวตน ก็ต้องเตรียมทั้งรูป คำอธิบายต่างๆไว้เสมอ และมันก็อาจก่อให้เกิดความละเมิดเมื่อเราไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็นแต่เค้ากลับค้นหาข้อมูล และอยากรู้ว่าเราเคยเป็นผู้ชายแบบไหน”

คำกล่าวของเธอได้สร้างข้อตระหนักคิดที่ว่า งั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศเราจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อสร้างความเสรีให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลาทางเพศ ให้เค้าสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย เหมือนกับคนในสังคมไทยที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด

แสงสว่างจากปลายอุโมงค์แห่งความเท่าเทียม

          แสงสว่างจากปลายอุโมงค์ที่เริ่มจะแจ่มแจ้งขึ้นนี้มาจากเมื่อวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ผลลงมติที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยนั้นกว่า 219 เสียง ช่วยให้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ได้รับการพิจารณา และในด้านของบุคคลข้ามเพศเองก็ยังมี พ.ร.บ. เปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศในข้อมูลทะเบียนราษฎร และพ.ร.บ.รับรองสิทธิหลังการแปลงเพศ ที่ผลักดันโดยคุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือเจเคเอ็น

            นี่ถือเป็นแสงสว่างสำคัญแห่งความหวังของ LGBTQ+ ในไทยที่จะได้รับสิทธิและเสรีภาพในฐานะที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ แม้อาจจะต้องใช้เวลา ตราบใดที่กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในคืนเดียวฉันใด กฎหมายความเท่าเทียมในไทยก็อาจจะไม่ได้ ได้มาภายในคืนเดียวฉันนั้น “จับมือไปด้วยกันเพื่อเฉลิมให้กับชัยชนะที่แท้จริง คือวันที่จะไม่มีใครต้องเรียกร้องถึงสิทธิเพื่อความหลากหลายเพราะทุกคนถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยแท้จริงในปลายทางอุโมงค์” ดังคำพูดของคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ หนึ่งในแกนนำ Re-Solution

เขียนบท : พิทักษ์ กุศล, ภัสร์ฐิตา พงศ์ถิรวิทย์

ภาพ: ฐิติกานต์ แสงบุญ, ญานิศา แก้วการไร่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *