ถุงยาง : ธุรกิจ มายาคติ และการปรับเปลี่ยน 

“ตื้อ ดึ่ง” เสียงคุ้นหูจากร้านสะดวกซื้อโดยนายทุนผูกขาด ประตูบานเลื่อนถูกเปิดอัตโนมัติ พร้อมเสียงต้อนรับจากแรงงานนักศึกษาพาร์ทไทม์ หันหน้าไปที่จุดชำระเงิน และก้มลงมองกล่องสี่เหลี่ยมจตุรัสวางเรียงราย หลาย ๆ คน คงมีภาพจำเดียวกัน เพราะกล่องนี้จะถูกวางไว้ตำแหน่งเดิมทุกร้าน กล่องที่ว่านั่น เขาเรียกว่ากล่อง “ถุงยาง”

ถุงยางไทยส่งไกลทั่วโลก

ภาพถุงยางอนามัย (2024). ภาพโดย นิพพิชฌน์ ไชยรักษา

หากเราจะกล่าวถึงยี่ห้อถุงยางอนามัยที่คนไทยพอจะคุ้นหู และวางขายกันให้เห็นอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ จะเห็นได้ว่า มีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้น เพราะตลาดของถุงยางอนามัยในไทย ถูกนับว่าเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย ซึ่งส่วนแบ่งทางการตลาดก็เป็นข้อย้ำชัดว่าเป็นเช่นนั้น โดยข้อมูลจากการรายงานประจำปี 2565 ของบริษัทไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ามีอยู่จำนวน 3 ยี่ห้อหลักที่ครองตลาดถุงยางอยู่ ณ ขณะนั้น ซึ่งนั่นก็คือ Durex, Onetouch และ Okamoto โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 51, ร้อยละ 33 และร้อยละ 10 ตามลำดับ มียี่ห้ออื่น ๆ ที่ไม่ถูกระบุแบบเจาะจงอีกร้อยละ 6 ดังนั้นคนไทยจึงจะคุ้นหูคุ้นตาอยู่เพียงไม่กี่ยี่ห้อ และมีตัวเลือกที่น้อยมาก หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ

ในปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกถุงยางอนามัยมากที่สุดในโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่สูงถึงร้อยละ 44 โดยประเทศที่นำเข้าถุงยางอนามัยจากไทยมากที่สุด คือ จีน สหรัฐอเมริกา​ เวียดนาม  ตามลำดับ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการส่งออกถุงยางไทยคือ เป็นสินค้าในกลุ่มที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนแบ่งร้อยละ 2.34 เมื่อเทียบกับยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยทุกประเภท อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจถูกเรียกได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการผลิตถุงยางเพื่อส่งออกให้คนในโลกได้ใช้เพื่อคุมกำเนิดกัน

ห้ามมี ห้ามพูดถึง ห้ามส่งเสริม

“ไร้สาระอะ เรามองว่ามันไร้สาระนะ เซ็กซ์มันเป็นเรื่องห้ามไม่ได้เนอะ เอาจริงมันก็ห้ามตัวเองได้แหละ

แต่ถ้าเราจะมีเซ็กซ์มันก็ควรที่จะต้องป้องกัน ในกรณีที่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจว่าเราอยากจะมีลูก”

เสียงจากผู้ใช้ถุงยางอนามัย เตชินท์ รุ่งวัฒนโสภณ ที่ตอกกลับสังคมเมืองไทยเมืองพุทธ ถึงการมองเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องต้องห้าม คือ ห้ามมี  ห้ามพูดถึง และห้ามส่งเสริม เพราะเป็นเรื่องน่าอาย และภาพจำต่อถุงยางของสังคมยังคงเป็นเรื่องตลก ถ้าเราเดินเข้าไปหยิบซื้อก็กังวลว่าจะโดนจับจ้องจากสังคม แต่เตชินท์กล่าวว่า ถุงยางมีความสำคัญในการคุมกำเนิด ดังนั้นควรจะมีการสอนในโรงเรียนเพื่อไม่ให้เกิดภาวะท้องไม่พร้อม และเขาฝากทิ้งท้ายว่า “เราว่ามันเป็นที่ตัวคนซื้อถูกหล่อหลอมจากสังคมนะ อย่าไปอายที่ซื้อถุงยาง” 

ภาพผู้ให้สัมภาษณ์ นายเตชินท์ รุ่งวัฒนโสภณ (2024). ภาพโดย กุลปริยา โนนทัน

ความดัดจริตของสังคมไทยอีกอย่างที่เห็นได้ชัด คือมีการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลของถุงยางด้วยการโฆษณา ดังนั้นการโฆษณาถุงยางอนามัยทำได้ยากมาก เพราะเต็มไปด้วยข้อห้ามจุกจิก โดยห้ามพูดถึงเรื่องความเสียว ความอึดทึกทน แถมยังห้ามโชว์ตัวผลิตภัณฑ์ ข้อหลังสุดเป็นการสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า เราจะมองถุงยางเป็นสิ่งปกติได้อย่างไร ถ้าสื่อโฆษณายังคงถูกปิดกั้นอยู่เรื่อย ๆ มากไปกว่านั้น ยังมีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณา ถุงยางอนามัยถูกนับรวมว่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ตาม พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งการโฆษณามีการกำหนดไว้ในมาตรา 57 ว่าการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อน ผู้อนุญาตที่ว่าก็คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณานั้นมีหนึ่งข้อที่บอกว่า ‘ไม่กระทบต่อวัฒนธรรมจารีตประเพณีของประเทศไทย’ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องทางเพศในประเทศไทยไม่ถูกยอมรับให้พูดถึงในที่สาธารณะได้ จึงจะเห็นได้ว่าเวลาโฆษณาถุงยาง ถ้าพูดถึงเรื่องทางเพศโต้ง ๆ จะไม่ถูกอนุญาตนั่นเอง

กลับกัน ถ้าเปรียบเทียบกับการทำการโฆษณาในต่างประเทศจะมีการทำที่แตกต่างกันมาก เพราะฝั่งทางต่างประเทศมีความเปิดกว้าง และพูดถึงอย่างตรงไปตรงมากว่า เช่น โฆษณาหนึ่งในต่างประเทศของยี่ห้อ Durex ที่สร้างขึ้นโดยเอเจนซี่ McCann Erikson ในปี พ.ศ. 2549 มีการนำ Street art มาใช้ในการทำโฆษณา โดยการพ่นสีรูปถุงยางอนามัยบนพื้นที่ทางเท้า  ถ้าเป็นประเทศไทยลองทำแบบนี้ กระทงแรก คือการทำ Street art มักถูกมองว่าเป็นศิลปะที่ทำให้พื้นที่ในสังคมสกปรก และกระทงสอง คือการพูดถึงถุงยางอนามัยในพื้นที่สาธารณะ ติดหล่มทั้งขึ้นทั้งล่อง

ภาพความฝันเปื้อนรอยน้ำตา

“ฉันถูกเธอปลุกจากฝัน เพื่อพบว่าสวรรค์คือนรก 

ในท้องมีอีกชีวิต ที่ฉันเฝ้าคิดว่านี่คืออนาคต”

ไรม์จากเพลง รักคือฝันไป ที่ถูกดัดแปลงโดยแรปเปอร์หญิง มิลลิ ในรายการเดอะแรปเปอร์ ที่สะท้อนถึงการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น แม้ว่าประเทศไทยจะผลิตถุงยางอนามัยสูงที่สุดในโลก แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีจำนวนเยาวชนค่อนข้างสูงที่ตั้งครรภ์ด้วยความไม่พร้อม ซึ่งต้นตอของปัญหาเกิดมาจากโครงสร้างทางสังคม ทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศให้เด็กวัยรุ่นในระบบการศึกษา อีกทางหนึ่งคือการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ตัว ความเจ็บช้ำได้กัดกินความฝันของเด็กหญิงกว่าหลายพันชีวิต นั่นจึงทำให้ประเทศไทยยังคงต้องพัฒนาต่อไป

“ไม่ใช่เพราะคนไม่รู้จักถุงยาง แต่ปัญหาคือทำไมไม่ใช้”

ภาพผู้ให้สัมภาษณ์ นางสาวณัฐมน สะเภาคำ (2024). ภาพโดย กุลปริยา โนนทัน

ณัฐมน สะเภาคำ นักวิจัยอิสระสายสตรีนิยมและผู้ก่อตั้งกลุ่ม Sapphic Pride (Feminist LBQ+ advocacy) กล่าวว่า ตั้งแต่เรียนมัธยมโรงเรียนไม่เคยมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับถุงยางอนามัยเลยสักครั้ง ถึงแม้จะมีวิชาสุขศึกษา แต่ก็เป็นเพียงการสอนสรีระร่างกาย “นี่คือจู๋ นี่คือจิ๋ม” ซึ่งเรารู้มาตั้งแต่ประถม ทั้งที่เราอายุสิบสาม เราพร้อมที่จะมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่บทเรียนมันยังไม่ไปถึงตรงนั้น แต่กำลังสอนอยู่ว่าลักษณะร่างกายเราเป็นยังไง ณัฐมนรู้สึกว่ามันควรจะสอนตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว  ซึ่งระบบการศึกษายังบกพร่องในส่วนนี้ โดยทางโรงเรียนควรเปิดวงสนทนาให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะเด็ก ๆ ก็มักจะพูดคุยเรื่องนี้กันอยู่แล้ว และมีครูคอยให้ความรู้เรื่องที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของการใช้ถุงยาง เรารู้สึกว่าถ้ามันเป็นแบบนั้นได้ก็คงน่าจะดี

รัฐบาลหรือคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ควรจะให้ความสำคัญมากพอเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ที่ปลอดภัย นักวิจัยอิสระสายสตรีนิยมกล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับวาระของรัฐบาลต้องจริงจังกับมันถึงจะได้ผล ในสังคมไทยมักจะปิดกั้นสำหรับเด็กผู้หญิง แต่จะเปิดกว้างสำหรับเด็กผู้ชาย ทีนี้พอเด็กผู้หญิงไม่มีความรู้ ถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ แม้แต่การที่จะช่วยตัวเอง หรือการเข้าใจสรีระของตัวเอง มันทำให้ผู้หญิงมีความอ่อนต่อโลก จริง ๆ ผู้หญิงเราเองก็ควรจะรู้ เพราะเราก็เป็นหนึ่งในคนที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ใช้ถุงยาง เราก็จำเป็นที่จะต้องได้ข้อมูลเท่ากันทั้งสองฝ่าย “ถ้าเธอไม่ให้ฉันมีอะไรด้วยแบบไม่ใส่ถุงยาง คือแสดงว่าเธอไม่รักฉัน” แม้แต่เรื่องต่าง ๆ ที่ตามมา จึงทำให้ผู้หญิงไม่มีความรู้ ก็ไม่กล้าปฏิเสธหรือบอกว่าตนเองชอบอะไรไม่ชอบอะไร คิดว่าความเข้าใจผิดของสังคม ถ้ามองมันเป็นแก่นกลางหลัก การที่เราปิดกั้นเรื่องเพศสำหรับคนที่เป็นเพศหญิง และเปิดกว้างสำหรับคนที่เป็นเพศชายมากเกินไป มันควรจะเสมอกันเพื่อจะช่วยกันบอก ช่วยกันปรับเพื่อให้การมีเพศสัมพันธ์ที่ดีและปลอดภัย

แม้คนในประเทศเริ่มมีการคุมกำเนิดกันมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าวิถีการดำรงชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง มีความหลากหลายทางเพศ ความต้องการมีบุตร และจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป แต่จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่าโครงสร้างทางสังคม ไม่ว่าจะระบบการศึกษา ครอบครัว หรือองค์ประกอบโดยรวม ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ด้วยความไม่พร้อม ดังนั้นค่านิยมดั้งเดิมควรจะหมดไป และการสร้างความเข้าใจให้เยาวชนทราบว่า “เรามีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ต้องป้องกันและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก คือการสวมถุงยางอนามัย”

ภาพความแตกต่างในด้านธุรกิจ ที่ประเทศไทยเป็นฐานหลักในการส่งออกถุงยางถึงทั่วโลก แต่ในด้านของสังคม ประเทศไทยยังคงไม่สามารถพูดถึงถุงยางได้อย่างชัดเจน และยังคงเต็มไปด้วยปัญหาท้องไม่พร้อม ที่อาจคาดคะเนได้ว่าเกิดจากการปิดกั้นของสังคม การห้ามพูดถึง การศึกษา ครอบครัว และความปลอดภัยที่ไม่ยอมสอนสำหรับคนเพศหญิง ดังนั้น เราควรจะปรับเปลี่ยน และก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เลิกติดกับดักวาทกรรมประเพณีไทย วัฒนธรรมไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสม และพูดถึงได้อย่างเปิดกว้าง และตะโกนดัง ๆ ว่า “จะมีเพศสัมพันธ์ต้องใส่ถุงยางอนามัยนะโว้ย”

ผู้เขียน : กุลปริยา โนนทัน, ธันยชนก อินทะรังษี 

เรียบเรียง : กุลปริยา โนนทัน, ธันยชนก อินทะรังษี

พิสูจน์อักษร : เกสรา คล้ายแก้ว

ภาพปก : จิราพัชร พิทักษ์เมธี

อ้างอิง

จากครีมหน้าบางสู่ถุงยางอนามัย โหมโฆษณา “คอนดอม” แก้ปัญหา “ท้องวัยรุ่น” 

ไทยส่งออกถุงยางอนามัย อันดับ 1 ของโลก ครองตลาดถึง 44% 

10 Brilliantly Creative Condom Ads 

แบบรายงานข้อมูลประจําปี (56-1) ประจําปี 2563 

รักคือฝันไป | MILLI | PLAYOFF | THE RAPPER 2