ต้นไม้คอนกรีต: การจัดการปัญหา ‘สาย-เสา’ ไฟฟ้า

0

ธรรมชาติ เศรษฐกิจ และการดำรงชีวิต คือสิ่งที่ผันแปรไปตามกาลเวลา และย่อมมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยไฟฟ้าได้เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในเวลาต่อมาได้เกิดบริษัทผลิตไฟฟ้า ก่อให้เกิดการขยายพื้นที่เพื่อใช้ไฟฟ้าได้กว้างขวางมากขึ้น และหลังจากเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ประเทศไทยประสบกับภาวะปัญหาพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ จึงมีการสำรวจหาพลังงานจากแหล่งทรัพยากรในธรรมชาติมาใช้งาน เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังจังหวัดต่าง ๆ ภายในประเทศอย่างทั่วถึง

ต่อมาสายไฟจึงถูกนำมาใช้ควบคู่กับเสาไฟฟ้า โดยในอดีตเสาไฟฟ้าถูกผลิตขึ้นมาจากวัสดุที่เป็นไม้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนามาเป็นเสาคอนกรีต ด้วยปัจจัยทางทรัพยากรที่เริ่มหายากขึ้น โดยเฉพาะวัสดุจากไม้ อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่สั้น เมื่อเทียบกับคอนกรีตที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทนทาน และมีความแข็งแรงมากกว่า

หากมองข้ามในเรื่องผลประโยชน์ของการกระจายไฟฟ้า เส้นทางการติดตั้งเสาไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเท่านั้น ถึงแม้ว่าเส้นทางการติดตั้งจะเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าก็ตาม ยกตัวอย่างในกรณีของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ที่นำเสาไฟเข้าไปปักในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และในอีกกรณีหนึ่งอย่างการติดตั้งเสาไฟฟ้าในเขตพื้นที่ส่วนบุคคล จังหวัดสุรินทร์ โดยทั้งสองกรณีนี้ ต่างไม่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายตามมา รวมถึงสร้างประเด็นคำถามถึงการทำงานของการไฟฟ้าฯ ว่าแท้จริงแล้วขั้นตอนการดำเนินงานนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่

/

เมื่อต้นไม้ต้องอยู่ร่วมกับเสาไฟฟ้า ปัญหาที่ตามมาจึงเกิดขึ้น

โดยปัญหาที่เห็นอยู่เป็นประจำ คือการเบียดเสียดกันระหว่างต้นไม้กับเสาไฟฟ้าที่เป็นปัญหาใหญ่ของผู้คนและสภาพแวดล้อมภายในเมือง เนื่องจากมีการเติบโตของต้นไม้ที่ค่อย ๆ งอกเงยจนกลายเป็นปัญหาในการทำให้สายไฟเกิดการเกี่ยวพันกัน จึงจำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งไม้เพื่อป้องกันอันตราย ส่งผลให้การตัดแต่งต้นไม้ ได้กลายเป็นภาระให้กับหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในส่วนของการปลูกเสาไฟไปในที่สุด และหากลองสังเกตดูอย่างถี่ถ้วน จะเริ่มเห็นได้ถึงจำนวนต้นไม้ใหญ่ที่เริ่มน้อยลง เพราะการเกิดของต้นไม้ที่มักเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กลับถูกขัดขวางการเจริญเติบโตจากสิ่งก่อสร้างของบ้านเมือง ทำให้การวางเสาไฟฟ้าถูกลดทอนลง

จากการรายงานข่าวของ Voice TV ในหัวข้อเรื่อง “การอยู่ร่วมกันระหว่างต้นไม้และเสาไฟฟ้า” กล่าวว่า ในกรณีปัญหาสายไฟฟ้าในเมืองถูกต้นไม้ปกคลุมเป็นเวลานาน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร อันเป็นสาเหตุทำให้ไฟดับ กระแสไฟรั่ว หรือสายไฟอาจไหม้ได้ หน่วยงานภาครัฐจึงเสนอแนวทางการตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ เพื่อลดการเสียดสีระหว่างสายไฟฟ้าและกิ่งไม้ที่ปกคลุมบริเวณนั้น 

การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น อาจเริ่มต้นด้วยวิธีจากไม่ตัดต้นไม้จนเหี้ยนเพื่อตัดแต่งกิ่งและปรับเปลี่ยนสายรัดสายไฟให้มีประสิทธิภาพโดยทำตามหลักรุกขกรรมและวิศวกรรมศาสตร์เพื่อให้ต้นไม้ยังคงเติบโตได้อย่างเต็มที่ และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจนต้นไม้โค่นล้มลงมาควรคำนึกถึงความแข็งแรงพอของรากต้นไม้ว่าแข็งแรงพอหรือไม่เพื่อที่จะนำสายไฟลงดิน

/

‘รุกขกร’ ผู้จัดการและรักษาต้นไม้ ท่ามกลางโลกแห่งคอนกรีต

ดังนั้นรุกขกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้เชื่อว่า การตัดแต่งกิ่งไม้แบบเบี่ยงทิศ (Directional Pruning) โดยตัดกิ่งหรือลำต้นที่ขวางแนวสายไฟออก จะเป็นการบังคับให้ต้นไม้เติบโตแบบหลบสายไฟได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสูงของเรือนยอดและลำต้นที่ไม่สมดุล เมื่อเจอแรงลมก็อาจทำให้เกิดการหักหรือฉีกขาดได้ง่าย เพราะฉะนั้นการบั่นยอดต้นไม้บางชนิดสามารถทำได้ เพื่อขยายขนาดของลำต้นให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในการยืนต้นได้อย่างมั่นคง บวกกับศาสตร์วิชารุกขกรรมการตัดแต่งที่ถูกวิธี ก็จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตและมีรูปทรงสวยงามได้ เพราะต้นไม้มีถิ่นกำเนิดที่แตกต่างกัน นิสัยและความชอบก็ย่อมแตกต่างกัน ต้นไม้อายุน้อยอาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ แต่ต้นไม้ที่อายุมากก็ยากที่จะปรับตัว

โดยเมื่อกล่าวถึงอาชีพ ‘รุกขกร’ การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ควรเพิ่มข้อเสนอแนะที่ว่าด้วยเรื่องของการติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มระยะห่างความปลอดภัยระหว่างสายไฟฟ้ากับต้นไม้ รวมถึงผลักดันอาชีพนี้หรือผู้ที่มีหน้าที่จัดการและดูแลต้นไม้ หันมาช่วยควบคุมทุกหน่วยงานให้ทราบถึงการตัดสินใจในการดัดแปลงต้นไม้เพื่อปรับสภาพให้เหมาะสมกับการอยู่ร่วมกันของเสาไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ

ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ และหันมารักษาทรัพยากรทางธรรมชาติมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเมือง รวมถึงเพิ่มออกซิเจนและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการจัดการกับต้นไม้เพื่อปลูกเสาไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบเท่านั้น แต่ต้องมาจากความร่วมมือของประชาชน ภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ

/

เมื่อเสาไฟลงสู่ดิน พื้นที่สีเขียวจึงเริ่มเพิ่มพูน

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากปัญหาการปลูกเสาไฟฟ้าลงสู่พื้นดินย่อมสร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน ต่างจากประเทศที่นำสายไฟลงใต้ดิน ยกตัวอย่างในเมืองไทเป ประเทศไต้หวัน ตามที่คุณภูษณิศา กมลนรเทพ เขียนไว้ในเว็บไซต์ Greenary จะเห็นได้ว่าบ้านเมืองเกือบเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว เนื่องจากไม่มีเสาไฟฟ้าหรือสายไฟไปกีดขวางกิ่งก้านของต้นไม้ ส่งผลให้เมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและไม่ต้องจัดหาเจ้าหน้าที่มาคอยตัดกิ่งไม้ที่เกรงว่าจะก่อให้เกิดอันตรายจากการไปพันเข้ากับสายไฟ

กล่าวได้เช่นเดียวกันว่าการปลูกเสาไฟฟ้าเป็นการลดพื้นที่สีเขียวอย่างชัดเจน ต้นไม้พร้อมกับอากาศบริสุทธิ์ต่างเริ่มถูกรุกรานด้วยสิ่งก่อสร้างที่แทรกซึมเข้ามาด้วยวิธีการโค่นล้ม เช่นเดียวกับการนำเสนอจากโพสต์ทูเดย์ที่ได้เคยเขียนไว้ในบทความเกี่ยวกับประเด็นของอัตราการลดลงสำหรับพื้นที่สีเขียวจากมุมมองของคุณช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง เธอเล็งเห็นถึงปรากฏการณ์ที่เพิ่มขึ้นของผู้คนในโลกออนไลน์ ซึ่งเริ่มหันมาตระหนักถึงปัญหาพื้นที่สีเขียวลดลงจากการปลูกเสาไฟฟ้า อีกทั้งยังมีองค์กรกว่า 70 แห่งออกมาร้องเรียนภาครัฐให้เห็นถึงคุณค่าของต้นไม้ที่ช่วยสร้างสาธารณประโยชน์มากมาย เช่น การสร้างอากาศที่ดี การใช้บำบัดผู้ป่วยทางด้านจิตใจ ตลอดจนเป็นสินทรัพย์ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอีกด้วย

เช่นเดียวกับในบทความหนึ่งใน a day BULLETIN ที่กล่าวว่าต้นไม้มากกว่า 1,800 ต้นที่เสี่ยงจะล้มจากต้นไม้ 3,000,000 ต้นในกรุงเทพมหานคร อันเนื่องจากการสร้างระบบสาธารณูปโภคและอุปโภคลงใต้ดินและทำให้การปลูกต้นไม้ในบริเวณหลายที่ในกรุงเทพมหานครมีปัญหามาก สาเหตุเกิดจากการเลือกพันธ์ไม้ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ทำให้ต้นไม้ส่วนใหญ่มีรากแก้วไม่แข็งแรงจึงไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ปัญหาเสาไฟฟ้าเข้ามาแทนที่ธรรมชาติยังพ่วงมาด้วยปัญหาการจัดระเบียบสายไฟฟ้าที่หากว่าแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ นอกจากจะสร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้กับเมืองแล้ว ยังทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงเสาไฟฟ้ามีความปลอดภัย ไม่ส่งผลอันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สิน แต่ในปัจจุบัน บนเสาไฟฟ้าไม่ได้มีเพียงสายไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งแรงดันกระแสไฟฟ้าไปยังต่างจังหวัด หรือสายไฟฟ้าแรงต่ำที่นำไปใช้ในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังมีสายสื่อสารประเภทอื่น ๆ อีกด้วย

สายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าเกิดจากการที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ อนุญาตให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นำสายมาพาดไว้ สายสื่อสารดังกล่าวยกตัวอย่าง คือ สายสัญญาณอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีสายเคเบิลทีวี และสายไฟฟ้าที่ให้บริการสาธารณะ อีกทั้งยังเป็นกิจการส่วนตนของภาคเอกชนอีกมากมาย ทั้งที่ยังสามารถใช้งานได้ในปัจจุบัน หรือเสื่อมคุณภาพไปแล้ว ไม่แปลกที่เสาไฟฟ้าในปัจจุบันจะมีสายไฟชนิดต่าง ๆ เกี่ยวพันกันจนยุ่งเหยิง  

ท้ายที่สุด สายไฟในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องถูกนำมาใช้งานกับตัวเสาด้วยกันอย่างขาดไม่ได้ เป็นสิ่งที่ทางประชาชน เอกชน และภาครัฐยังไม่สามารถลงมือจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างจริงจัง ทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ส่วนตัวเพื่อเข้าไปทำการติดตั้งเสาไฟฟ้า กรณีดังกล่าวยังคงมีให้ได้เห็นกันอยู่เป็นระยะ อีกทั้งยังมีการจัดการสายไฟฟ้าต่างชนิดนับหลายประเภทที่พันกันอย่างไม่เป็นระเบียบ การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคควรมีมาตราการในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเป็นระบบให้เกิดขึ้น และยับยั้งการทำลายธรรมชาติให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะปฏิบัติได้

/

ปัญหาดังกล่าวต้องเริ่มด้วยการแก้ไขจากทั้งทางภาครัฐและเอกชน ทุกหน่วยงานควรเริ่มต้นในการตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หากต้องทำการก่อสร้างบางอย่างตามมา รวมถึงควรเลือกวิธีดำเนินงานให้อยู่ภายในขอบเขตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะสามารถสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นได้ระหว่างสังคมเมืองและสิ่งแวดล้อมในท้ายที่สุด

/

แหล่งข้อมูล

ภูษณิศา กมลนรเทพ. (2563). ชีวิตคนเมืองเฮลท์ตี้ที่ออกแบบได้ แค่เพิ่มการดีไซน์พื้นที่สีเขียว. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564. จากเว็บไซต์: https://www.greenery.org/articles/citytales-green-city/

นิติพันธุ์ สุขอรุณ. (2560). “ต้นไม้คือทรัพย์สิน ไม่ใช่สิ่งกีดขวาง” การไฟฟ้า-กทม.ยอมรับตัดผิดวิธีมาตลอด. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564. จากเว็บไซต์: https://www.posttoday.com/social/local/491901

ธนดิษ ศรียานงค์, พัทธมน วงษ์รัตนะ, ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล. (2561). ป่าในเมือง พื้นที่สีเขียวท่ามกลางป่าคอนกรีต กับการจัดการที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติ. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564. จากเว็บไซต์: https://adaybulletin.com/life-feature-bangkok-urban-forest/20114

ประชาชาติธุรกิจ. (2561). จัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อเมืองที่สวยงามและปลอดภัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564.  จากเว็บไซต์ : https://www.prachachat.net/columns/news-198940

บ้านและสวน. (2561). การบั่นยอด…เป็นการทำร้ายต้นไม้จริงหรือ. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564.  จากเว็บไซต์: https://www.baanlaesuan.com/57698/plant-scoop/tree_maintenance

Voicetv. (2560). การอยู่ร่วมกันระหว่างเสาไฟฟ้ากับต้นไม้. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564.  จากเว็บไซต์: shorturl.at/egqvD 

ไทยรัฐ. (2561). ไม่น่าจะเป็นธรรม. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564. จากเว็บไซต์: https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1452501

MGR Online. (2552). ป่าไม้ยันฟ้องแพ่ง กฟภ.-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งปักเสาไฟฟ้าเขตป่าต่อ. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564. จากเว็บไซต์: https://mgronline.com/local/detail/9520000115348

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2561). ประวัติกิจการไฟฟ้าไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564. จากเว็บไซต์: https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=11&Itemid=152

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2563). ไฟฟ้าไม่มีขา. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564. จากเว็บไซต์: https://www.egat.co.th/egattoday/egattoday/index.php?option=com_k2&view=item&id=11407:09062563tsnews002&Itemid=129

/

ผู้เขียน:

ณัฐนรี งามประดิษฐ์
จิณณวัตร ตรีทิพยรักษ์
จิรภิญญา คันทา
ธนภัทร์ คำลือเกียร
ธัชชัย เงาเดช
นิรมัย มูลคำ
เบญจรัตน์ ดอนเลย
พัทธนันท์ สวนมะลิ
ภูริชญา พันแพง

ช่างภาพ: ณัฐนรี งามประดิษฐ์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *