ตาชั่งความเชื่อ : รัฐไทยเป็นกลางทางศาสนาแค่ไหน

0

คุณนับถือศาสนาอยู่ใช่หรือไม่?

ถ้าใช่ คุณจะยินดีไหมหากรัฐอุ้มชูศาสนาที่คุณนับถือเหนือศาสนาอื่น หรือศาสนาอื่นเหนือศาสนาของคุณ?

ถ้าไม่ คุณจะยินดีไหมหากต้องจ่ายภาษีให้กับองค์กรทางศาสนาที่คุณไม่ได้นับถือปีละหลายพันล้านบาท?

คำถามนี้ไม่ได้จะถามหาความสมัครใจหรือเรียกร้องศรัทธาจากคุณ แต่จะชวนวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เราเห็นอยู่ในทุกวันและทุกที่ตั้งแต่เกิดมา ตอนเช้าที่พระบิณฑบาต ในโรงเรียนที่คุณถูกสอนเรื่อง 3 สถาบันหลัก หรือแม้กระทั่งบนสร้อยคอคุณตอนนี้ “ศาสนา” เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากจนบางครั้งเราก็เผลอลืมความสำคัญของมันไป โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่รัฐไทยใช้เป็นเครื่องมือมานาน แต่เพราะความเชื่อและความไม่เชื่อเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมี ซึ่งควรถูกจัดสรรโดยภาครัฐอย่างเท่าเทียม ศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องระดับปัจเจกอีกต่อไปเมื่อควบรวมกับบริบทด้านการเมือง

ผู้ที่จะมาเสนอตาชั่งวัดความเท่าเทียมทางศาสนาในรัฐไทยคือ เจษฎา บัวบาล นักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับพุทธศาสนามาหลายปี ขณะนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก สถาบันเพื่อการศึกษาศาสนาแห่งอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยกัดชะมะดะ เมืองยอกยาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย

ดู เอหิปัสสิโก (Come and see) หรือยัง?

“ผมยังไม่ได้ดูแต่ดูคลิปอาจารย์นิธิพูดสามสิบนาทีนั้นเต็มแล้ว ซึ่งผมเห็นด้วยนะ ในไทยมันให้เสรีภาพไม่เท่ากันอยู่แล้ว อันแรกเลยที่จะยืนยันผ่านกฎหมายคือรัฐธรรมนูญ มันไม่พูดว่าพุทธเป็นศาสนาประจำชาติก็จริงแต่พูดว่า รัฐไทยมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งการพูดแบบนี้เป็นการยืนยันศาสนาประจำชาติไปในตัว”

          นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักคิดนักเขียนด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ถูกสัมภาษณ์ในภาพยนตร์เรื่อง เอหิปัสสิโก (COME AND SEE) ที่ออกฉายไปเมื่อ 6 เมษายน 2564 ใจความหนึ่งในการสัมภาษณ์เขากล่าวว่า “ประเทศนี้ก้าวล่วงเสรีภาพทุกทางในระยะเวลาที่ผ่านมา 3 ปีนี้ …จนกระทั่งการก้าวล่วงเสรีภาพทางความเชื่อมันกลายเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ ไปแล้ว” หากใครอยากฟังคลิปสัมภาษณ์เต็มสามารถชมได้ทาง สัมภาษณ์ฉบับเต็ม อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากสารคดี COME AND SEE เอหิปัสสิโก

รัฐควรสนับสนุนศาสนาหรือไม่?

“จริง ๆ อย่าว่าแต่เสรีภาพที่จะให้คนเลือกเลยนะครับ แต่มันต้องมีเสรีภาพในการไม่เลือกศาสนาด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้กับเอทิสต์อะไรทั้งหลายได้โตด้วย ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าถ้าพูดเรื่องแนวคิดการเป็น Secularism หรือแนวคิดโลกวิสัย รัฐจะต้องไม่มายุ่งกับศาสนา ไม่มายุ่งในที่นี้คือว่า ไม่มาตั้งกรมการศาสนา ไม่มาจัดสำนัก ไม่มาจัดงบประมาณให้แต่ละศาสนาเพราะว่ามันไม่เท่ากัน”

          นอกจากจะยึดถือเสรีภาพในการนับถือ/ไม่นับถือศาสนาแล้ว Secularism หรือแนวคิดโลกวิสัย ยังต้องปกป้องผู้ที่เชื่อ/ไม่เชื่อในเรื่องศาสนาด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่าสิทธิและเสรีภาพจะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียม ความเชื่อหนึ่งไม่อาจถูกด้วยค่าหรือให้ความสำคัญเหนืออีกความเชื่อหนึ่งได้ และไม่มีแนวคิดใดเป็นอิสระจากการถูกวิพากษณ์วิจารณ์หรือตั้งคำถาม แม้ความเชื่อนั้นจะมีผู้ศรัทธามากเพียงใดก็ตาม

          ดังนั้นรัฐโลกวิสัย (Secular state) จึงยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ ลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นรัฐโลกวิสัยเบื้องต้นคือ การไม่สถาปนาศาสนาประจำชาติ นโยบายสาธารณะต้องอำนวยความสะดวกให้กับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติตามความเชื่อ ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอภาคต่อกฎหมายไม่ว่าจะเชื่อ/ไม่เชื่อศาสนาใด และรัฐไม่ให้การสนับสนุนความเชื่อหรือแนวคิดใด ไม่ว่าจะด้วยงบระมาณหรือทรัพยากร เมื่อดูตามลักษณะเหล่านี้แล้ว ไม่ว่าจะเงื่อนไขใดก็เห็นได้ว่ารัฐไทยไม่ใช่รัฐโลกวิสัยแน่นอน

“อย่างตอนนี้ที่เราเป็นอยู่เรามีงบประมาณเข้าสำนักพุทธปีละห้าพันล้าน ในขณะที่ศาสนาอื่นได้น้อยมาก ซึ่งมันไม่แฟร์ แต่เค้าก็อธิบายว่าคนพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ไง แต่เวลาจัดสสรงบประมาณ งบมันมาจากงบ เพราะฉะนั้นเงินพวกนี้มันจึงควรเอาไปใช้เรื่องสาธารณูปโภค ทำถนน ทำยังไงให้คนจนได้มีโอกาสชีวิตที่ดีขึ้นอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ว่ามันเข้าไปที่ศาสนาบางศาสนา”

          จากรายงานงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 ของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติเผยว่าได้รับการจัดสรรงบทั้งสิ้น 4,844,692,500 บาท น้อยลงกว่าปีที่แล้วประมาณ 8 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นงบบุคลากรภาครัฐ 1,600 ล้านบาท งบทำนุบำรุงเกือบ 900 ล้านบาทและงบแผนงานอื่น ๆ ขณะที่งบจากกรมการศาสนาซึ่งสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมได้รับทั้งสิ้น 402,138,000 บาท แบ่งเป็นงบบุคลากรภาครัฐ 33 ล้านบาท งบอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาอื่น งบบูรณะศาสนสถานและงบอุดหนุนบำรุงฐานะจุฬาราชมนตรี รวมกันทั้งสิ้นเกือบ 30 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าแค่งบรวมก็ต่างกันถึง 12 เท่า ทั้งที่เป็นองค์กรทางศาสนาเหมือนกัน

(งบประมาณรายจ่ายศาสนาปี 2564)

ศาสนาในฐานะ 3 สถาบันหลักของไทย

          “ความเป็นไทย” อย่างหนึ่งที่ถูกสร้างมาพร้อมกับอุดมการณ์ชาตินิยมตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยบริบทในช่วงนั้นที่ต้องการรวมความสามัคคีของคนในชาติ และสร้างความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เพื่อความมั่นคงทางการเมือง แต่ไม่ว่าจุดเริ่มต้นของอุดมการณ์นี้จะเป็นเช่นไร ก็ต้องยอมรับว่ามันมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบันจริง ๆ

“ถ้าพูดโดยแนวคิดของรัฐโลกวิสัยมันผิดอยู่แล้ว แล้วมันขัดกับเสรีนิยมประชาธิปไตยด้วย แต่ว่ารัฐไทยมันไม่แคร์เพราะมันไม่ได้เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย อาจารย์ธงชัย(ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา)ใช้คำว่ามันเป็นรัฐราชาชาตินิยม”

“ผมคิดว่าอย่างน้อยความเป็นกษัตริย์ที่โตมา มันคงเข้ากันได้ดีกับความเป็นพุทธมากกว่า กษัตริย์เลยใช้พุทธนี่แหละเป็นเครื่องมือ ก็คือการพระราชทานยศ ศักดิ์ ให้กับพระ เช่นใครดัง ๆ หน่อยก็ให้ยศ มันเป็นวิธีที่อย่างน้อยเค้ายอมอยู่ภายใต้อำนาจตัวเอง  แบบครูบาศรีวิชัยที่มีลูกศิษย์มาก ไปไหนมีคนไปรับทีละพันสองพันแล้วไปโดยที่เค้าเต็มใจด้วยนะ ไม่ใช่ไปเพราะถูกเกณฑ์ไปรับแบบในหลวงปัจจุบันนะครับ”

ถ้าแบบนี้พูดได้ไหมครับว่ามันคือการแลกเปลี่ยน

“ใช่การแลกเปลี่ยนแบบที่ว่าถูกเลย คือการอุปถัมภ์มันมีอีกอย่างหนึ่งถ้าใช้ในทางรัฐกับศาสนา อุปถัมภ์แปลว่าควบคุมครับ ถ้าปล่อยไม่ไปยุ่งกับมันเลยมันก็จะเป็นอิสระ รัฐไทยไม่ค่อยทำครับ”

ก็จะเป็นแบบธรรมกายไหม?

“ถ้าพูดให้ดีธรรมกายมันไม่ได้โตในเรื่องรัฐ Secular และเสรีภาพมากนะครับ ธรรมกายมันก็ยังเกาะรัฐหากินอยู่ แล้วมันมีเคสหนึ่งตอนนั้นคือการบังคับครูให้ไปอบรมกับธรรมกาย การจะทำแบบนั้นได้ก็คือต้องผ่านกระทรวงศึกษาธิการครับ แล้วก็ใช้อำนาจเครือข่ายของสำนักพุทธของกรมการศาสนาให้ช่วยบังคับครูทั่ว ๆ ไปให้ไปอบรมกับตัวเอง”

แสดงว่านอกจากสถาบันกษัตริย์ก็ยังมีสถาบันอื่น ๆ ที่ตอบรับเรื่องศาสนา

“ผมคิดว่าในไทยมันมีปัญหาเรื่องนี้ครับ ปัญหาคือมันเชื่อเรื่องคนดี กลายเป็นว่าพอมาอ้างวาทะกรรมเรื่องคนดี เช่น ส่งครูมาอบรมกับเราสิแล้วเราจะทำให้เป็นคนดี แล้วการปฏิเสธอันนี้มันปฏิเสธยากเพราะปฏิเสธมันเท่ากับเป็นคนชั่ว ต้องยอม ๆ กันไป”

เมื่อศาสนาคือความดีที่ไม่เสรีภาพ

          กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษานั้นเกิดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม โดยนอกจากจะเป็นสิ่งที่ชาวพุทธหลายคนปฏิบัติเกือบจะเป็นประเพณีแล้ว การงดเหล้าเข้าพรรษายังถูกระบุไว้ในกฎหมายอีกด้วย พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กล่าวไว้ว่าห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ถ้าหากฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นั่นหมายความว่าเมื่อซื้อไม่ได้ ก็บริโภคไม่ได้ ปัญหาคือยังมีคนกว่า 5 ล้านคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ (ข้อมูลปี 2561) ทำให้ความหวังดีของภาครัฐในการใช้ศาสนายึดโยงกับกฎหมายดังกล่าวยังมีข้อกังขาอยู่

“คือจริง ๆ มันเคยมีพระเค้าโต้แบบนี้ครับว่านโยบายไม่ขายเหล้านั้นมาจากสสส. ไม่ได้มาจากสำนักงานพุทธ แต่ว่าทั้งนี้มันก็ปฏิเสธไม่ได้ ผมก็เชื่อแหละว่ายังไงมันก็เป็นไอเดียพุทธ (หัวเราะ)”

          ตรงตามที่คุณเจษฎาว่า โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาเกิดขึ้นจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเริ่มมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 การณรงค์นี้ได้รับการตอบรับอย่างดีในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะองค์กรรัฐ เอกชน หรือประชาสังคม จนกระทั่งได้มีพระราชบัญญัติเป็นของตัวเองเมื่อปีพ.ศ. 2551 ดังที่ได้กล่าวไป นี่เองที่ยิ่งทำให้ไทยเข้าใกล้ความเป็นรัฐศาสนาเข้าไปเรื่อย ๆ

“จริง ๆ น่ากลัวหมดเลยนะไม่เฉพาะพุทธหรอก ต่อให้รัฐไทยเป็นรัฐอิสลามขึ้นมาจริง ๆ เผลอ ๆ การขายหมูอะไรก็จะยาก ไม่ใช่เฉพาะขายเหล้า ไม่ว่าศาสนาไหนไม่ควรถูกเอามาเชื่อมโยงการเมืองและมีอำนาจทางการเมืองเลย เพราะว่าถ้าเกิดมีอำนาจ คนพวกนี้ก็จะใช้อำนาจของรัฐนี่แหละไปจัดการให้คนเชื่อตามหลักศาสนาของเค้า ไม่ทำให้เชื่อก็เหอะแต่ว่าทำให้เค้าปฏิบัติไม่ขัดกับหลักศาสนาของเค้า”

ที่เราเรียนกันว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แต่รัฐศาสนาไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนได้ แล้วแบบนี้ศาสนาในตัวมันเองยังจำเป็นที่ต้องอยู่ในชีวิตประวันเรามากขนาดนั้นไหม

“ด้วยการที่ความเป็นคนดีมันนิยามไม่ได้ ว่าดีแบบไหนกันแน่ เพราะฉะนั้นรัฐโลกวิสัยมันจึงบอกว่า งั้นแต่ละศาสนาจะเชื่อว่าคนเป็นคนดียังไงก็แล้วแต่คุณไง ความเป็นคนดีของคุณควรจะอยู่ในกรอบของคุณไม่ใช่มาละเมิดคนอื่น เราไม่สามารถบังคับคนให้เข้ามาอบรมครูกับเราได้ถ้าเป็นรัฐโลกวิสัยนะครับ”

ศาสนาประจำชาติ

          ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2559 ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ เภกะนันทน์ นายกสมาคมสันติสุขโลก พร้อมด้วยสมาชิก เช่น กลุ่มพิทักษ์พระพุทธศาสนา ได้นำรายชื่อประชาชน 1 แสนรายชื่อที่สนับสนุนขอให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ยื่นต่อนายสุพจน์ ไข่มุก รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยให้เหตุผลว่าเพราะประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาพุทธมากกว่า 90% และพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวผู้คนในสังคมมานานจนหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมไทย แม้การเสนอชื่อครั้งนั้นจะถูกตีตกเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่ก็ทำให้เกิดคำถามชวนคิดว่าความเป็นรัฐชาติหรือความเป็นไทยนี้ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบหนึ่งเป็นศาสนาหรือไม่

“ไม่ควรแน่ ๆ อยู่แล้วครับ แต่ผมไม่เชื่อว่าวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมพุทธ ผมคิดว่าถ้ามันจะมีค่านิยมที่ฝังอยู่กับความเป็นไทยบ้าง แล้วมันมาจากความเป็นพุทธ วัฒนธรรมยอมกราบเท้าศิโรราบกับเผด็จการผมว่าอันนี้เป็นวัฒนธรรมพุทธ”

แม้จะไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติ แต่บทบาทของพุทธศาสนาต่อสังคมก็มีมากทั้งพฤตินัยและนิตินัย ยกตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา พระครูอมรธรรมทัต เจ้าอาวาสวัดพันอ้นจังหวัดเชียงใหม่ได้เดินทางไปที่สภ.เมืองเชียงใหม่เพื่อขอแจ้งความดำเนินคดีกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาพร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกคน โดยกล่าวว่าได้กระทำผิดตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา คือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องด้วยมาตรา 67 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า

รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น … และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าในรูปแบบใดและพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วม ในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

แต่เนื่องด้วยฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่ตราพระราชบัญญัติออกมาบังคับใช้ให้เป็นรูปธรรม แม้จะมีการทำงานมากว่า 2 ปีแล้ว การปล่อยให้มีผู้ย่ำยีและบ่อนทำลายศาสนาพุทธถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

“ผมคิดว่ามันเป็นความตลกแต่ถ้าพูดให้จริงก็คือ เมื่อออกกฎหมายแม่มาแล้วไม่ออกกฎหมายลูกปกป้องพุทธศาสนาตามแบบที่พวกนี้เชื่อ ก็ผิดจริง ๆ นะครับ”

กล่าวโดยสรุป รัฐไทยไม่มีความเป็นกลางทางศาสนา

“ถ้าจะให้พูดคือ ความเป็นกลางมันเกิดไม่ได้จริงครับ ตราบที่ไม่แยกศาสนาออกจากรัฐ ถ้าตราบที่ตัวเองจะโอบศาสนาอยู่เช่นในรัฐไทยที่เป็นอยู่ แล้วก็จัดสรรงบภาษีแบบเฉลี่ยค่าหัวกันเลยนะครับ ดูซิว่าเป็นคนพุทธกี่คน คริสต์กี่คน มุสลิมกี่คน งบศาสนาได้มากี่ล้านแล้วเฉลี่ยค่าหัวกัน ก็ไม่ยุติธรรมอยู่ดี”

          อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้อาจช่วยเป็นตาชั่งให้คุณพินิจพิเคราะห์ถึง ความเป็นกลาง ว่าแท้จริงนั้นคืออะไร แน่นอนว่าแต่ละคนก็มีจุดสมดุลเป็นของตัวเอง บางคนอาจยึดมาตรฐานตามแนวโลกวิสัย หรือบางคนอาจยอมให้ตาชั่งเอียงเล็กน้อยในฝั่งความเชื่อของตน ทั้งนี้เพราะเราทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความเชื่อและไม่เชื่อ สิ่งสำคัญนอกจากการตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมแล้วจึงเป็นการตั้งคำถามถึงตัวเราเองด้วย ในฐานะปัจเจกบุคคลเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมแห่งความหลากหลายได้หรือไม่ เราสามารถศรัทธาความเชื่อแนวคิดหนึ่งโดยยังยึดหลักสิทธิมนุษยชนได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นแม้จะมีข้อมูลจากคุณเจษฎามากเพียงใดแต่คุณก็ต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง

กฤษฎา ต๊ะวัน

อ้างอิง

สุรพศ ทวีศักดิ์. สุรพศ ทวีศักดิ์: รัฐโลกวิสัยคืออะไร, 2561.

ธิกานต์ ศรีนารา. การส่งเสริมอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

สุนันทา สุขสุมิตร. งดเหล้าเข้าพรรษามหา, 2555.

ไทยรัฐออนไลน์. พระดังเชียงใหม่ แจ้งความตำรวจ เอาผิด “ชวน-750 ส.ส.-ส.ว.” ผิด ม.157, 2564.

มติชนออนไลน์. “ศพศ” เตรียมยื่นล้านชื่อให้ “บิ๊กตู่” บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติใน รธน, 2559.

Warittha Saejia. ว่าด้วยเหล้าและช่วงเข้าพรรษา : เมื่อกฎจากหนึ่งศาสนาบังคับใช้กับคนทั้งสังคม, 2563.

แกว่งเท้าหาเสี้ยน. ทำไมต้องระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ, 2559.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *