ชีวิตคุณภาพจากการนอน
การนอนคือ การดับเครื่องของร่างกายเพียงชั่วคราว
“นอนไม่ดึกมาก แต่กว่าจะหลับจริง ๆ ก็ใกล้เช้าแล้ว” เมื่อนอนไม่หลับก็ส่งผลให้ร่างกายไม่สดชื่น เบื่อหน่าย มีอาการเบลอระหว่างวัน ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วการไม่นอนก็เหมือนการเปิดเครื่องยนต์ไว้ตลอดเวลา หากไม่ได้มีการหยุดพักก็จะส่งผลให้เครื่องยนต์เสียบ่อยครั้งและมีอุณหภูมิสูงอยู่เสมอ ก็เหมือนกับร่างกายของคนที่หากไม่ได้พักผ่อนหรือนอนหลับให้เพียงพอ ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อล่มป่วยไปแล้วก็ยากที่จะกลับมามีร่างกายแข็งแรงดังเดิมได้
ร่างกายที่เริ่มถอยหลัง จนกลายเป็นพิษร้ายของการนอน
การนอนหลับ เป็นกิจกรรมพื้นฐานที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นช่วงที่สมองและร่างกายใช้เวลาในการนอนเพื่อซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ดีขึ้น ปัญหาการนอนไม่หลับของคนไทยนั้น กรมสุขภาพจิตเผยว่า ประชาชนไทยนอนไม่หลับช่วงกลางคืน หรือหลับไม่พอมากถึงร้อยละ 30-40 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 ใน 5 คน ชี้ส่งผลกระทบการดำเนินชีวิตในช่วงกลางวัน ทั้งยังเสี่ยงให้เป็นโรคต่าง ๆ รวมถึงทำให้อายุสั้น อาจเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนต่างต้องการความช่วยเหลือจากปัญหาการนอนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต เพราะสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่คือพิษร้ายที่กำลังทำให้ความแข็งแรงของสุขภาพร่างกายถดถอยลง
พิษร้ายของการนอนไม่หลับ คือ การที่เราพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ นอนไม่เต็มอิ่ม ปัญหาเหล่านี้จะสะสมมาเรื่อย ๆ จนร่างกายเรานั้นได้เปิดรับโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย การพักผ่อนไม่เพียงพอเหมือนกับพิษร้ายที่พร้อมจะเข้ามาสู่ร่างกายเมื่อมีภาวะไม่แข็งแรงเต็มที่และไม่ได้นอนเป็นเวลานาน เพราะโรคที่มาจากการพักผ่อนน้อยนั้นมีอยู่มาก นอกเหนือจากการนอนน้อยแล้วนั้น ยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่าง ๆ ตามมาด้วย แต่การที่เราได้พักผ่อนเพียงพอ นอนตามเวลาที่เหมาะสม ก็เหมือนเป็นเกราะกันพิษร้ายที่จะเข้ามาทำลายร่างกาย ฉะนั้นการนอนที่เหมาะสมจึงเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการรักษาร่างกาย อีกทั้งยังเป็นยาสุขภาพให้ห่างไกลกับโรคอีกด้วย
“การนอนไม่เพียงพอทำให้สุขภาพร่างกายถอยหลัง“ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอร์ริก ประเทศอังกฤษ และโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยเนเปิลส์ เฟเดรีโกที่ 2 ประเทศอิตาลี ค้นพบว่าคนที่หลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงในแต่ละคืนนั้น มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรถึง 12% หรืออาจเสียชีวิตก่อนอายุ 65 ปีนั่นเอง ซึ่งมากกว่าคนที่นอนหลับ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน พวกเขาชี้ให้เห็นว่าการอดนอนสัมพันธ์กับโรคร้ายต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเบาหวานประเภท2 และโรคคอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น เชแฟรนช์เชสโก้ คาพุคคิโอ ศาสตราจารย์ผู้นำโปรแกรมการนอนหลับเพื่อสุขภาพและสังคม จากมหาวิทยาลัยวอร์ริก และแพทย์ที่ปรึกษาของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรัฐในโคเวนทรี อธิบายว่า การนอนหลับระยะสั้นอาจเป็นสาเหตุของสุขภาพที่ไม่ดี โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานในสังคมสมัยใหม่
ยิ่งรายได้น้อย ยิ่งได้นอนน้อย
ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ ประชากรในแถบเอเชียทรมานกับการนอนหลับไม่เพียงพอมากกว่าประชากรในแถบตะวันตก จากสถิติขององค์การนอนหลับโลกในปี 2013 เผยว่า จำนวนผู้นอนหลับต่ำกว่า 7 ชั่วโมงในญี่ปุ่นมีมากถึง 66% ของประชากรทั้งหมด เอาชนะมหาอำนาจอย่างอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนี จึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นจะกลายเป็นประเทศผู้สูญเสียมูลค่า GDP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยรายงานแรนด์ยุโรประบุว่า ปี 2016 ญี่ปุ่นสูญเสีย GDP ไปมากถึง 2.92% จากเดิม 1.86% คิดเป็นเงินกว่า 138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
จากผลการศึกษาที่กล้าวมาข้างต้นล้วนชี้อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า หากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ประชาชนทุกคนควรได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม
แต่ในมุมกลับกัน ปัจจัยด้านเศรษฐกิจกลับถูกสงสัยว่าเป็นตัวการอันดับแรก ๆ ที่บ่อนทำลายคุณภาพการนอนของคนในสังคม มีการศึกษาเกี่ยวกับมิติของการพักผ่อนที่สัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อย ชี้ว่าคนจนถูกปล้นชิงเวลาในการนอนมากกว่าคนรวย
หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งชิคาโก ซึ่งเผยแพร่ใน American Journal of Epidemiology(2006) เผยว่า ผู้มีรายได้สูงมีเวลานอนหลับมากกว่าผู้มีรายได้ต่ำ เนื่องจากฝ่ายหลังมักถูกกดดันให้ทำงานหลายประเภทและต้องทำงานข้ามคืน การทำงานหนักนอกจากทำให้อดนอน ยังก่อให้เกิดความเครียดสูงจนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ภาวะ วิตกกังวลในเวลาพักผ่อน และเกิดโรคทางกายอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในหมู่ผู้มีรายได้น้อย
หากคนเราไม่ได้กินอาหารจนเกิดความรู้สึกหิว หลังจากที่ได้กินอาหารเข้าไปแล้ว คุณก็จะรู้สึกอิ่มรวมถึงได้รับพลังงานและสารอาหารชดเชยเข้าไปในร่างกายได้เหมือนปกติ แต่ในกรณีที่ไม่ได้นอนหลับนั้นไม่สามารถที่จะนอนหลับชดเชยย้อนหลังได้ การที่ไม่ได้นอนหลับในจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอรวมไปถึงการนอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพนั้นจะทำให้คุณเกิดภาวะอดนอน(Sleep Deprivation) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดังนี้
เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด : มีหลายงานวิจัยที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงการมีภาวะความดันสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน(หัวใจวาย) โรคหลอดเลือดสมอง
รายได้สูงแลกกับหนี้นอน
มีบุคคลจากหลากหลายอาชีพที่มีรูปแบบของการปฏิบัติงานที่เสี่ยงต่อการอดนอนหรือเกิดภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงาน เช่น อาชีพนักบิน ซึ่งกรณีตัวอย่างของการอดนอนที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบร่างกายเกิดขึ้นกับนักบินของสายการบินแห่งหนึ่งในต่างประเทศที่เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก โดยจากการสืบสวนพบว่า นักบินประจำเที่ยวบินได้รับจำนวนชั่วโมงการทำงานยาวนานต่อเนื่องถึง 72 ชั่วโมง และได้พักเพียงเล็กน้อยก่อนจะต้องทำการบินในครั้งต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษย์ปัจจัยจากองค์การนาซ่าได้เข้ามาช่วยวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติในครั้งนี้ พบว่า เวลานอนของนักบินไม่เพียงพอ ซึ่งตามปกติมนุษย์ควรจะได้นอนหลับ 6 ชั่วโมงต่อวัน เพราะเมื่อนอนน้อยจำนวนเวลานี้ก็จะเกิด “หนี้การหลับ(sleep debt)” ขึ้น
เมื่อหนี้การหลับสะสมเพิ่มขึ้นก็จะเกิดความเหนื่อยล้าสะสมตามไปด้วย ซึ่งกัปตันในเที่ยวบินนี้มีหนี้การหลับที่สูงมาก ทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานลดลง 50% เช่น ความทรงจำ การตัดสินใจ ความระมัดระวัง ปฏิกิริยาตอบรับ ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ จากกรณีอุบัติเหตุเครื่องบินตกครั้งดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญจึงสรุปว่าเกิดขึ้นจากความเหนื่อยล้าสะสมและการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ ทำให้กัปตันมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด นำไปสู่การเปลี่ยนกฎการบินที่มีการจำกัดชั่วโมงบินของพนักงาน
นอกจากกรณีดังกล่าว คุณอาจจะเคยเห็นบุคคลจากสายงานต่าง ๆ ที่อยู่ในคลิปตามสื่อสาธารณะที่แสดงพฤติกรรมหงุดหงิดฉุนเฉียว มีการโต้เถียงอย่างรุนแรงกับผู้รับบริการ ซึ่งหลายครั้งเมื่อสืบไปก็พบว่ามาจากสภาวะการอดนอนเพราะมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานมากเกินไป เช่น อาชีพบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
ปิดท้ายหลับง่ายด้วยใบบัวบก
ใบบัวบกเป็นสมุนไพรบำรุงภายใน เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาว่าน้ำใบบัวบกสามารถช่วยแก้ฟกช้ำภายในหรือแก้ช้ำใจได้ แต่นอกจากสรรพคุณแก้ช้ำแล้วนั้น ใบบัวบกยังช่วยเสริมการทำงานของกาบา(GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยรักษาสมดุลของจิตใจ ลดความกระวนกระวาย ช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลายลงได้ ทำให้สามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น โดยแค่เพียงรับประทานเป็นประจำก่อนนอนก็จะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ปัจจุบันนี้มีการผลิตสารสกัดจากใบบัวบกเป็นยาบำรุงสมอง สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ก่อนทำการซื้อโปรดสังเกตมาตรฐานและเลขจดแจ้งขออนุญาตจาก อย. ทุกครั้ง
จากสถิติพบว่ามากกว่า 20 ล้านคนในประเทศไทยป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับ และมีการใช้ยานอนหลับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้หลายระบบ ดังนั้นการเลือกใช้สมุนไพรเป็นตัวช่วยในการปรับสมดุลการนอนจะช่วยให้ร่างกายได้รับผลกระทบจากการใช้ยานอนหลับน้อยลงและทำให้หลับได้ง่ายขึ้น
“การนอนหลับ คือ กลไกที่ธรรมชาติรังสรรค์ให้มนุษย์ใน 3 เสาหลักสุขภาพดี ซึ่งควบคู่กับการทานอาหารและการออกกำลังกาย”
ผู้เขียน พลอยชมภู ฮ่มป่า
เรียบเรียง ปวริศา อนุขุน
พิสูจน์อักษร ฐิติมา ยิ้มประเสริฐ, ปวริศา อนุขุน
ภาพปก ณัฐธยาน์ แท่นทอง
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
วัชรี แสงสาย พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครราชสีมา
นพ. นรชาติ รัตนชาตะ จิตแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา
WARWICK THE UNIVERSITY OF WARWICK: Short Sleep Increases Risk of Death & Over Long Sleep Can Indicate Serious Illness สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2566 https://warwick.ac.uk
สสส. นอนไม่หลับ..ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม หนึ่งในปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทย สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2566 https://www.thaihealth.or.th
น้ำใบบัวบก https://cooking.kapook.com/view72595.html