งานคราฟต์ งานฝีมือท้องถิ่นที่ไม่เคยหยุดนิ่งกับศิลปินนักเดินทางรุ่นใหม่

0

               เมื่อเรานึกถึงงานคราฟต์ทุกคนคงจะนึกถึงภาพของงานฝีมือต่างๆ ที่มีกลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่น แล้วงานคราฟต์หายไปจากใจของผู้คนมานานเท่าไหร่แล้วนะ?

               ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต จากโทรศัพท์ปุ่มกดกลายเป็นจอสัมผัส เพลงที่เคยฟังจากวิทยุในตอนนี้สามารถเปิดฟังในโทรศัพท์เครื่องเล็กๆได้ หลายสิ่งหลายอย่างมีการพัฒนาขึ้นและเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทุกสิ่งล้วนก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

.

งานคราฟต์เป็นอีกสิ่งที่เดินทางเพื่อทันโลกยุคใหม่เช่นกัน

               แต่เดิมที่งานคราฟต์ถูกจำกัดไว้แค่กลุ่มชุมชนเล็กๆ เป็นงานพื้นถิ่นหรือนิยมทำเป็นของฝาก วางขายในตลาดหรือร้านขายของฝากของชุมชน แต่เมื่อมีโรคระบาดและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มากขึ้น งานคราฟต์จึงมีการพัฒนารูปแบบการผลิต ความสำคัญในการทำให้งานคราฟต์กลับเข้าไปอยู่ในใจของผู้คนอีกครั้ง คือการวางงานให้ถูกที่ ถูกต้อง และเข้าถึง แม้ว่างานคราฟต์กับคนรุ่นใหม่จะมีช่องว่างระหว่างกันบ้าง แต่ก็มีศิลปินรุ่นใหม่ หรือศิลปิน Gen Z  ก้าวเข้ามาในตลาดนักออกแบบมากขึ้น พัฒนาทั้งรูปแบบการผลิตและภาพลักษณ์ของสินค้าขึ้นมาใหม่

.

งานคราฟต์ในปัจจุบัน

               ปัจจุบันงานคราฟต์กลับมานิยมพร้อมกับกระแสของ “เมคเกอร์” การที่ทุกคนอยากที่จะลองมาเป็นนักประดิษฐ์ บวกกับกระแสการใช้ชีวิตแบบ สโลว์ไลฟ์ และไลฟ์สไตล์คนเมือง กล่าวคืองานคราฟต์ไม่ได้เพียงแต่เป็นงานท้องถิ่นเพียงเท่านั้น แต่งานคราฟต์ครอบคลุมไปถึง งานไม้ งานศิลปะ เบียร์คราฟต์ หรือแม้กระทั่งการดริฟกาแฟ ก็เป็นคราฟต์คอฟฟี่เช่นกัน

               การหาสีสันให้ชีวิตด้วยการประดิษฐ์หรือลงมือทำอะไรที่ง่ายๆ ไม่ต้องใช้ความคิดมากมาย ก็เป็นอีกสิ่งที่ไลฟ์สไตล์คนเมืองโหยหา บวกกับงานคราฟต์สามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้นและภาพลักษณ์ใหม่ๆ จากทายาทนักประดิษฐ์รุ่นเก่าได้เข้ามาพัฒนางานคราฟต์ ทำให้ความคิดฝังหัวที่ว่า ‘งานคราฟต์นั้นเชย ท้องถิ่น เป็นได้แค่ของฝาก’ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป

Studio งานคราฟต์ การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำด้วยตัวเอง

               สิ่งหนึ่งที่ศิลปินงานคราฟต์รุ่นใหม่ทำ คือการจัดตั้ง studio และเปิด workshop สำหรับคนที่สนใจอยากจะลองทำงานคราฟต์ด้วยตัวเอง อยากลองสัมผัสการปั้น การระบายสี ย้อมผ้า สิ่งเหล่านี้ทำให้ช่องว่างของงานคราฟต์กับคนรุ่นใหม่ลดลง เมื่อผู้คนได้ลองลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว แม้ว่างานที่ได้ออกมาจะไม่ได้สวยเหมือนกับที่ศิลปินทำ แต่ก็ได้ประสบการณ์จากลองสัมผัสและลงมือทำ และเมื่อรวมกับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่ต้องการมีช่วงเวลาที่พักผ่อนสั้นๆ ได้ลองทำอะไรที่สนุกและไม่เคยทำ การเข้าร่วม workshop งานคราฟต์จึงนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง

               จากบทความของ a must เคยกล่าวว่าเชียงใหม่เปรียบเหมือน ฮับ (ตรอก หรือ ชุมชน) ของศิลปินนักออกแบบ และ The Localist ร้านภายใต้แนวคิด store/studio/stay เกิดจากการรวมกลุ่มกันของ 3 แบรนด์งานคราฟต์ ซึ่งภายในร้านมีการคราฟต์ทั้งหมด 4 เทคนิค งานกระดาษ งานเซรามิก งานเย็บ และงานไม้ไผ่ ภายในร้านจะประกอบด้วย 3 ส่วน มีทั้งการขายงานคราฟต์จากศิลปินชาวเชียงใหม่ บริเวณที่เปิดให้มีกิจกรรมเวิร์คช็อป และห้องพักสำหรับคนที่มาร่วมกิจกรรมและศิลปินนักออกแบบ

.

การเดินทางของ studio งานคราฟต์ผ้าย้อมคราม ผ่านลวดลายของผ้า

               เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนผ่านของงานคราฟต์แล้ว รูปลักษณ์ของงานที่เปลี่ยนไปก็เป็นอีกสิ่งที่โดดเด่นขึ้นมา สตูดิโอ Jibberish ก็เป็นที่อีกที่แสดงออกถึงการเปลี่ยนผ่านของรูปลักษณ์งานได้อย่างชัดเจน “ผ้าย้อมคราม สไตล์ญี่ปุ่น” คุณนัด ณัฐพร วรรณปโกเจ้าของสตูดิโอ Jibberish หญิงสาวนักเดินทางที่นำเอาผ้าย้อมครามสู่ทางเดินใหม่

               Jibberish เป็นแบรนด์ที่ผลิตสินค้าจากผ้าย้อมมาเกือบ 10 ปี ลวดลายบนผ้ามีการผลัดเปลี่ยนตามกาลเวลามาหลายรูปแบบ หลายเทคนิค แต่ลายผ้าย้อมครามของ jijbberish ในปัจจุบันทำให้คุณนัดมีสไตล์ผ้าย้อมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่

“ katazome เทคนิคนี้แหละที่ช่วยเราได้ เพราะพอเราวาดรูปได้นิดหน่อยมันช่วยเรื่องการทำลายบนผ้า ทำให้เรามีลายผ้าเป็นของตัวเอง อัตลักษณ์ในงานของเราก็เลยชัดขึ้นมา”

               เทคนิคการย้อมผ้า katazome เป็นเทคนิคการย้อมผ้าของญี่ปุ่น ใช้วิธีการแกะสลักลวดลายที่ต้องการลงในกระดาษเยื่อไม้พิเศษ หลังจากนั้นนำมาวางผ้าที่ต้องการจะย้อม แล้ววาดกาวข้าวเหนียวลงไป รอให้แห้ง แล้วนำไปย้อมคราม ก็จะได้ผ้าลวดลายน่ารัก เป็นตัวการ์ตูนต่างๆ ตามที่ต้องการ

.

Jibberish ที่เข้าไปอยู่ในใจของคนชอบงานคราฟต์

               อีกเสน่ห์ของ jibberish studio คือการ workshop ที่เปิดโอกาสให้คนที่สนใจในผ้าย้อมครามได้มาสัมผัส ทั้งเนื้อผ้า สีย้อมคราม รวมไปถึงการทำลวดลายด้วยเทคนิคใหม่ คือการทากาวข้าวเหนียวลงบนผ้า ถ้าทากาวหนาหรือบางไป ลายที่ออกมาก็จะไม่เท่ากัน ดังนั้นนอกจากจะได้ลองทำผ้าย้อมครามที่มีผืนเดียวในโลกด้วยตัวเองแล้ว เสน่ห์ของการเวิร์คช็อปอีกอย่างก็คือ การได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้ลองผิดลองถูก เป็นอีกงานอดิเรกที่มีเสน่ห์ของคนรุ่นใหม่

               อีกการเดินทางของสตูดิโอย้อมครามนี้ก็คงจะเป็นการเดินทางของเทคนิค ความใส่ใจ จากแม่สู่ลูก การถ่ายทอดวิชาและวิธี ไม่จำเป็นจะต้องรักษาความดั้งเดิมนั้นไว้ ศิลปินจะต้องมีเส้นทางเป็นของตัวเอง และการเดินทางของสตูดิโอย้อมครามแห่งนี้คงจะไม่มีที่สิ้นสุด

.

งานคราฟต์ = ของฝาก ?

               บทความ playworking space ของ the cloud พูดถึงธุรกิจเกี่ยวกับของฝาก ที่มีการเล่าเรื่องราวผ่านวัฒนธรรมที่หลากหลายของบ้านเกิด บ้านเกิดที่ว่าก็คือจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแห่งการท่องเที่ยวของภาคเหนือ แบรนด์ playwork (เล่นงาน) เป็นแบรนด์ของฝาก ที่ดีไซน์อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของท้องถิ่น ผ่านการวาดมือ บอกเล่าเรื่องราวของบ้านเกิด ถนนนิมมาน ลายเมืองเชียงใหม่ หรือผู้คนรอบกาย ลวดลายส่วนใหญ่ผสมกับความ pop culture ทำให้ฐานลูกค้าของแบรนด์มีทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ

               เป็นอีกตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่างานคราฟต์นั้นมีการพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อที่จะไปอยู่ในใจของผู้คน แม้ playwork จะเป็นร้านขายของฝากเล็กๆ  แต่ก็ใส่ใจรายละเอียด ทุกๆ ชิ้นงานผ่านการสังเกตของคุณอั๋น เจ้าของร้านมาทั้งหมดว่าทำลวดลายแบบไหนถึงจะขายได้ ลูกค้ามีลักษณะนิสัยอย่างไร ล้วนผ่านการคิดมาอย่างหนัก จนกลายเป็น playwork ในปัจจุบันที่อยู่ในใจของคนรักงานคราฟต์

               งานคราฟต์ในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการเลือกซื้อ และรูปแบบการเข้าถึง  เมื่องานคราฟต์เข้าไปอยู่ในมือของศิลปินรุ่นใหม่ งานที่ถ่ายทอดออกมาย่อมแตกต่างจากคนรุ่นเก่า ซึ่งไม่ได้แปลว่าว่างานของรุ่นเก่าไม่ดี แต่หมายความว่า ความชอบและรสนิยมที่มีต่องานคราฟต์นั้นไม่ได้หยุดนิ่ง งานคราฟต์ก็ยังคงความเป็นพื้นบ้าน ความเป็นท้องถิ่น ที่มีความสวยงาม น่ารัก และอบอุ่น กับผู้คนเสมอ ถ้าหากผู้อ่านทุกท่านได้มีโอกาสมาเที่ยวที่เชียงใหม่ก็อยากชวนให้มาตามรอยชุมชนงานคราฟต์ต่างๆ  เพราะเชียงใหม่คือ ฮับ ของศิลปินนักออกแบบอย่างแท้จริง

.

เขียน ไพลิน จิตรสวัสดิ์

ภาพ เกศวริน ศรีปิ่นเป้า , ปัทมพร อิ่มขันต์

เรียบเรียงโดย รินรดา ศรีเรือง

.

อ้างอิง

เดือนเพ็ญ จุ้ยประชา.(2018). The Localist ชุมชนของคนรักงานดีไซน์กับแนวคิด STORE

the cloud .(2020). Future of Thai arts and crafts.

สุทธิดา อุ่นจิต.(2020). Playworking Space.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *