คู่มือความงามที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไม่อยากบอกคุณ
ว่ากันว่าหนึ่งในวิธีการขอบคุณตัวเองที่ดีสุด คือการลงทุนกับตัวเอง ซึ่งไม่ได้มีเพียงการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อลับตนให้คมอยู่เสมอเท่านั้น การลงทุนกับสุขภาพร่างกายและความงามซึ่งเป็นภาชนะห่อหุ้มจิตวิญญาณของเราในทุกวัน ๆ ก็เป็นการขอบคุณและเสริมสร้างความมั่นใจที่มีแต่ได้กับได้เช่นกัน แต่ทำไมล่ะ ยิ่งเราลงทุนกับผลิตภัณฑ์ความงามไปเท่าไหร่ก็ยังไม่สามารถสัมผัสถึงความพอใจในจุดที่พอดีกับตัวของเราได้สักที
กลเม็ดลับของเหล่าผลิตภัณฑ์ความงาม
ทุกครั้งเมื่อคนส่วนใหญ่ลืมตาจากภวังค์แห่งความฝัน สิ่งแรกที่เราทำคือการเอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์ที่ข้างเตียงนอนแล้วเข้าโซเชียลมีเดียเพื่ออัพเดตข่าวสาร ขณะเดียวกันโดยที่ไม่รู้ตัวโฆษณานับหมื่นชิ้นก็ได้ไหลผ่านตาของคุณไป มิหนำซ้ำหน้าฟีดข่าวของคุณยังเต็มไปด้วยภาพดาราสาวสวยร่างเพรียวสุดจะเพอร์เฟค หนุ่มนายแบบหน้าเกลี้ยงเกลาหุ่นกำยำ หรือแม้แต่เพื่อนของคุณเองก็ดูดีสุด ๆ ไปเลย วันนี้คุณจึงตัดสินใจจะไปซื้อครีมลดจุดด่างดำมาอีกหลอดหนึ่งจากร้านใกล้บ้าน แต่เหตุไฉนเพียงเสี้ยววินาทีโฆษณาจึงมีผลกับคุณได้มากขนาดนี้
หากจะเริ่มที่ไหนซักแห่งอาจเป็นเจ้าก้อนไขมันสี่เหลี่ยมมีฟองหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘สบู่’ ซึ่งไม่อาจระบุต้นกำเนิดที่แน่ชัดได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่แต่อาจย้อนไปไกลได้ถึง 2,800 ปีก่อนคริสตกาลในอาณาจักรบาบิโลนยุคเมโสโปเตเมียและถูกใช้ทำความสะอาดทั่วไปในครัวเรือน ก่อนที่มันจะได้รับความนิยมนำมาใช้ชำระร่างกายโดยทั่วไป เมื่อมีข้อยืนยันทางการแพทย์ว่า แบคทีเรีย คือตัวการของโรคภัย ผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านสุขอนามัยและการสุขาภิบาลในโลกตะวันตกหลังสิ้นสุดการระบาดของอหิวาตกโรคที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้านในศตวรรษที่ 18
เพื่อส่งเสริมให้มีการซื้อสบู่มาใช้อย่างแพร่หลายจึงมีการผลิตสบู่หลากชนิดทั้งเพื่อความงามราคาแพงหรือสบู่เพื่อชนชั้นแรงงานจำหน่ายในราคาถูก โดยที่สินค้าทั้งสองชิ้นไม่มีความแตกต่างในด้านสรรพคุณเลย แต่สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างคือวิธีการตลาด โดยมีทั้งการนำบุคคลมีชื่อเสียงมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ การใช้เพศเป็นจุดขาย การสร้างสัญลักษณ์ความศิวิไลซ์ การใช้ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อ้างอิงที่เข้าใจได้ยาก และการสร้างความรู้สึกเหนือกว่าของความขาวด้วยการนำเชื้อชาติและสีผิวที่แตกต่างเปรียบเทียบมาเป็นจุดขาย เป็นต้น
ผลของการตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยหลังการระบาดที่กล่าวมานั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ มีแชล ฟูโก (Michel Foucault) นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ความคิด นักทฤษฎีสังคมชาวฝรั่งเศสได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่องอำนาจ (Biopower) ที่เข้ามาควบคุมชีวิตทางอ้อมเกิดจากการปลูกฝังด้วยภาษาจนเกิดวาทกรรมของคนกลุ่มหนึ่งผ่านสังคมหรือสถาบันต่าง ๆ เช่น สื่อ ดารา อินฟลูเอนเซอร์และโฆษณา จนสร้างวินัยในการควบคุมตนให้อยู่ภายใต้อำนาจซึ่งในที่นี้คือมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) ทำให้สังคมมุ่งเสาะหาแต่ความปกติ (ที่ถูกสร้างขึ้น) พยายามเป็นตามที่สังคมคาดหวังและการสวนครรลองของสังคมด้วยการมีอยู่ของสิ่งที่เป็นธรรมชาติในตัวของเราอย่าง สิว รูปร่าง และ สีผิว ที่กลับกลายเป็นโรคร้ายที่ต้องถูกกำจัดทิ้งเพื่อจะได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่รู้สึกไม่แปลกแยก
แล้วเราจะเชื่อคำที่โฆษณารับประกันได้มากแค่ไหนและเคล็ดลับของการสร้างสุขภาพที่ดีนั้นมีอยู่จริงอยู่หรือไม่
ธรรมชาติของผิวมนุษย์
ผิวหนัง คืออวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่ป้องกันกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็นและอวัยวะภายใน เสมือนกำแพงอิฐ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจะมีขนที่ผิวหนังเช่นเดียวกันกับมนุษย์ พวกเรามีขนเส้นเล็กทั่วตัว บริเวณฐานของพวกมันจะเป็นต่อมรูขุมขนที่ปล่อยสารคล้ายกับขี้ผึ้งเรียกว่า ‘ซีบัม’ ช่วยปกป้องหล่อลื่นผิวเราจึงรู้สึกว่าและทำให้ผิวมีสภาพเป็นกรดอ่อนประมาณระดับ Ph 5.5 ควบคุมสมดุลการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ประจำถิ่น (Microflora) และทำให้แบคทีเรีย หรือ จุลชีพก่อโรคเติบโตได้ยาก
ในหนึ่งวันเรามีการชำระร่างกายหลายครั้งด้วยสบู่ชนิดก้อนหรือเหลว สบู่เป็นสารเคมีที่มีค่าเป็นด่างสูงประมาณ Ph 8-10 มีคุณสมบัติกำจัดสิ่งสกปรก สารเคมีระคายเคืองผิว มลพิษ และจุลินทรีย์ที่ก่อโรค ในอดีตเราใช้เพียงสบู่เพื่อทำความสะอาดทุกส่วนในร่างกาย ผลเสียคือสบู่เปลี่ยนค่ากรดด่างบนผิวทำให้ค่าความเป็นกรดด่างของผิวเสียสมดุลและขัดขวางการเติบโตของผู้อาศัยตัวเล็กที่มีประโยชน์อย่างจุลินทรีย์บนผิวหนัง เป็นเหตุว่าทำไมเราจึงรู้สึกผิวแห้งและคันหลังอาบน้ำแต่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 30 นาทีเท่านั้นก่อนกลับมาสู่ภาวะเดิม
แบรนด์เครื่องสำอางจึงเล็งเห็นโอกาสต่อยอดและเข็นสินค้าใช้เป็นชุดชักชวนให้เราซื้อมาใช้ควบคู่กัน เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้บริโภคจะคาดหวังผลของผลิตภัณฑ์แต่บางครั้งมันก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง มิหนำซ้ำก็อาจเกิดอาการแพ้เนื่องจากในบางผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมสารที่ก่อให้เกิดการระคายผิวอย่าง เอสเซนส์เชียลออยล์ น้ำหอม แอลกอฮอล์ และซิลิโคน หรือเพราะใช้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์จำนวนมากเกินไปจนผิวรับไม่ไหว
กระแสความงามในฉบับ K–Beauty
หนึ่งในขั้นตอนการลงผลิตภัณฑ์ดูแลที่ได้รับความสนใจและมีการพูดถึงเป็นวงกว้างคือ กิจวัตรการดูแลผิว 10 ขั้นตอนในแบบคนเกาหลี (10-step Korean skincare routine) ที่รับความนิยมไปทั่วโลกของ ชาร์ลอต โช (Charlotte Cho) ผู้บริหาร Soko Glam ผลิตภัณฑ์ความงามของเกาหลี K-Beauty ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ตัวแทนของเธอได้อธิบายว่า “ขั้นตอนแรกคือทำความสะอาดหน้าด้วยคลีนซิ่งออยล์ ตามด้วยคลีนซิ่งที่มีเนื้อเป็นน้ำ/เจล/ครีม เพราะ K-Beauty เชื่อมั่นในการทำความสะอาดสองครั้ง หลังจากนี้จะมีการลงผลัดเซลล์ผิว ปรับสีผิวด้วยโทนเนอร์ และทาเอสเซ้นส์ ต่อมาคือส่วนที่สนุก: การมาส์กหน้า! หลังจากที่คุณเพลิดเพลินไปกับมันแล้ว ก็ถึงเวลาทาครีมบำรุงรอบดวงตา มอยส์เจอไรเซอร์ และที่สำคัญที่สุดคือ ครีมกันแดด”
บางทีคุณอาจไม่จำเป็นต้องซื้อมันทั้งหมดเพราะผลิตภัณฑ์และส่วนผสมเพียงหยิบมือก็ทำให้เห็นผลได้เพราะแม้ว่ากิจวัตร 10 ขั้นตอนจะเป็นที่นิยมในเกาหลี แต่คนเกาหลีเองก็มีการเลือกใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นเท่านั้นเช่นกัน แต่เรื่องนี้มักจะเกิดความเข้าใจผิดและถูกนำเสนอซ้ำ ๆ ว่าต้องปฏิบัติครบทุกขั้นตอนทางบริษัท Soko Glam เองได้อธิบายว่าขั้นตอน 10 ขั้นตอนไม่ได้หมายถึงการต้องซื้อผลิตภัณฑ์มากมายมาครอบครอง แต่เกี่ยวกับการมีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวและความกังวลของแต่ละคนซึ่งเลือกออกแบบขั้นตอนได้เอง
เป้าหมายสูงสุดของกิจวัตรการดูแลผิวคือปรับสภาพผิวให้ทำงานได้ดีและแก้ปัญหาจุดที่เราต้องการ คริสตินา โฮลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผิวในซานฟรานซิสโกกล่าวกับนิวยอร์กไทมส์ว่า “กิจวัตรด้านความงามเป็นโอกาสที่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ” ผิวของเราเปลี่ยนแปลงไปตามอายุผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เราใช้ก็เช่นกัน “มันไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างความสมบูรณ์แบบ”
ในความเป็นจริงแล้วผิวของเรานั้นมีกระบวนการทำงานของมันเองตามธรรมชาติ การใช้ผลิตภัณฑ์จำนวนมากจึงเป็นการรบกวนการทำงานของผิว เคล็ดลับของผิวที่สุขภาพดี คือ จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไม่ควรเกิน 6-7 อย่างและควรปล่อยกลไกของผิวได้ทำหน้าที่ของมัน นอกจากนี้ผิวยังสะท้อนสภาวะของร่างกายจึงควรกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดื่มน้ำ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพความต้องการของแต่ละบุคคลด้วย
ความนิยมเวชสำอางความงามของคนไทย
ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่ให้ความสำคัญกับความงามเป็นอันดับต้น ๆ Euromonitor บริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องสถิติ และข้อมูลต่าง ๆ ทางการตลาดเผยข้อมูลอุตสาหกรรมความงามคนไทยบริโภคปี พ.ศ.2564 แม้จะเป็นช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ก็ยังเติบโต 5% มูลค่ารวม 1.447 แสนล้านบาท แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare) 57.5% ผลิตภัณฑ์ผม (hair) 21% เครื่องสำอาง (makeup) 15.5% น้ำหอม (fragrance) 6% แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในเรื่องการดูแลผิวและความงามของคนไทยในระดับหนึ่ง จากตัวเลขนี้เป็นเพียงมูลค่าจากแบรนด์เคาน์เตอร์ที่ได้รับมาตรฐาน ด้วยความที่ราคาผลิตภัณฑ์ความงามที่จำหน่ายในไทยมีราคาสูงขณะที่รายได้ต่ำ จึงประสบปัญหาของปลอมและครีมตัวแทนที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง แต่กระนั้นสังคมไทยเองก็มีความคาดหวังและกรอบความงามต่อตัวบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นชัดเจน คือ ความขาว การที่ความขาวกลายเป็นค่านิยมทำให้คนที่มีสีผิวคล้ำรู้สึกแปลกแยกและต้องหาทางรักษา หลายครั้งที่มาตรฐานความงามนี้เปิดโอกาสให้คนรู้จัก เพื่อน ญาติสนิท หรือคนในครอบครัวเองหยิบยกมาเป็นประเด็นสนทนาหลายครั้งก็ทำร้ายจิตใจผู้ฟังโดยไม่รู้ตัว ขาดความมั่นใจและเกิดความไม่สบายใจทุกครั้งที่ต้องร่วมงานที่มีคนรู้จักมาก ๆ
ชิษณุชา ตุ๊เสมี่ยง ชายหนุ่มนักศึกษาอายุ 20 ปี ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีประสบการณ์จากการความพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพราะต้องการเสริมความมั่นใจตามค่านิยมความขาวในไทย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ครอบครัวคนจีนฝั่งแม่ผิวขาวกันเขามักจะพูดว่านี่ลูกเก็บมาเลี้ยงรึเปล่าเขาก็พูดเล่น ๆ พอเรายิ่งโตมาก็มาเจอกับสังคมมอต้นไปคุยกับใครชอบใครก็ไม่มีใครชอบกลับ เลยคิดว่าด้วยความที่เราดำรึเปล่า หน้าตาไม่ดีรึเปล่า” ไม่นานหลังจากนั้นเขาได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ครีมตามท้องตลาดที่ ทั้งมีการกินอาหารเสริมและเข้าคลินิกความงามโดยให้ผลลัพธ์ทันตาอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน ภายหลังได้ทราบว่าในครีมนั้นมีสารปรอทผสมอยู่ทำให้ผิวของเขาบางและไวต่อแสง และที่คลินิกมีการใช้สารสเตียรอยด์ที่ทำให้สิวหายไว เขาจึงตัดสินใจเลิกใช้และปรึกษากับแม่ แล้วเข้ารับการตรวจหลัง “เด็กแค่นี้พึ่งอายุ 16 เองค่าไตไม่ควรจะเยอะขนาดนี่ ค่าไตควรจะเป็น 0 หรือ1 แต่ค่าไตเรามันขึ้นไป7-8 ซึ่งมันเกินไปมา เราเลยแอดมิทเลยนอนโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน พอออกจากโรงพยาบาลชีวิตเราก็เปลี่ยนไปเลย” ในเวลาต่อมาเขาเข้ารับการฟอกและเปลี่ยนไตซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาทุกวันนี้
ครั้งหนึ่งเขาเคยรู้สึกท้อแท้กับชีวิตจนเกือบฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเขาได้ยินคำตอบจากคนรักและแรงกำลังใจจากคนรอบข้าง “หยุดทุกอย่างแล้วมีแฟนคนแรก เลยถามว่าเธอโอเคไหมที่เรามีสิว แล้วแฟนก็ตอบโอเคดิ” มุมมองความงามกับความมั่นใจเขาจึงเปลี่ยนไป
ทั้งนี้ ในปี 2553 และ ปี 2564 เคยเกิดการระบาดของครีมที่อ้างสรรพคุณช่วยให้ผิวขาว โดยพบผู้เสียชีวิตจากการแพ้สารปรอทที่อยู่ในครีม จนทำตับวายและเสียชีวิตในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ระบุถึงสารเคมีที่เป็นอันตรายทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ สารไฮโดรควิโนน อาจทำให้เกิดเป็น ฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง กรดวิตามินเอ เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และ สเตียรอยด์ หากใช้เป็นเวลานานจะเกิดด่างขาว ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้จดแจ้งและมีสารอันตรายยังมีการจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดและบนโลกออนไลน์
ชิษณุชายังให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า “การดูแลตัวเองเป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่ไม่อยากให้ยึดติดการกับความขาวอย่างเดียว การที่หน้าตาดีทำให้เรามั่นใจก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เรารู้สึกว่าการเป็นตัวของตัวเองมันก็ดีอยู่แล้ว อาจจะรักษาให้ผิวดีขึ้นแต่ไม่ควรไปซื้อครีมตามเน็ต ตามท้องตลาดเลย เพราะว่าอันตรายแม้ว่ามันจะดูปลอดภัย แต่เขาก็อาจจะใส่สารอะไรลงไปหรือผลิตปลอมทางที่ดีก็ไม่ควรใช้ หากมีข้อสงสัยทางที่ดีควรไปปรึกษาเภสัชก็ได้ หรืออาจจะไปโรงพยาบาลผิวหนังจะดีที่สุด”
ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติความงาม
ตั้งแต่คลื่นแห่งโลกาภิวัตน์ลูกแรกถาโถมสู่ประชาคมโลกในศตวรรษที่ 19 จนมาถึงปัจจุบันในยุคที่การสื่อสารแลกเปลี่ยนทำให้คนที่อยู่ห่างกันครึ่งซักโลกได้ใกล้ชิดกันเพียงเอื้อม ระยะทางและความแตกต่างทางวัฒนธรรมก็กลายเป็นเหมือนเส้นบาง ๆ มันเริ่มผลิดอกออกผล เราต่างเปิดรับความหลากหลายที่ทำให้โลกทัศน์กว้างขึ้นและเปลี่ยนมุมมองของใครหลาย ๆ คน ในเรื่องความงามก็เช่นกันเราได้เห็นความงามหลากหลายรูปแบบที่ทำให้ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ
แม้ว่าความขาวจะเป็นมาตรฐานงามที่อยู่มาอย่างยาวนาน ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด และฝังรากลึกในสังคม แต่ความหลากหลายเป็นปัจเจกบุคคลและการแบ่งปันความคิดเห็นในเรื่องสิทธิส่วนบุคคลก็มีมากขึ้นเช่นกัน ทุกคนต่างมีความชื่นชอบส่วนตัว ไม่ควรมีใครต้องรู้สึกกดดัน ไม่ว่าคุณจะอยากผิวขาวหรืออยากที่จะสวยมีผิวสุขภาพที่ดีเพราะมันช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ เพียงแต่ควรรู้เท่าทัน ศึกษา และเรียนรู้ที่จะรักตัวเองให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้หลงเชื่อตามกลไกการตลาดและค่านิยมความงามที่ถูกสร้างโดยคนกลุ่มเดียว “Beauty หรือความงามนั้นไม่ผิด แต่ Standard และคนที่เชิดชูมันต่างหากที่สร้างความเจ็บปวดให้คนอื่นและตัวเอง”
อ้างอิง
- Anonymous. (2013). The history of soap. Retrieved from https://www.stenders-cosmetics.com/en/articles/soaps-history
- Cole, A. (Producer). (2018). Netflix Vox Explain [Television series episode]. Vox Media.
- Kari Molvar, (n.d). How to Build a Skin Care Routine. Retrieved 16 August 2022, from https://www.nytimes.com/guides/tmagazine/skincare-routine
- Marketeer Team. (2021). ลอรีอัล ประเทศไทย มั่นใจตลาดความงามกลับมารุ่ง Beauty Tech ตัวหนุน. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2565, จาก https://marketeeronline.co/archives/266777
- Nicole Baylock, (2021). How the Korean 10-step skincare routine evolved into skincare minimalism. Retrieved 16 August 2022, from https://www.verygoodlight.com/2021/02/26/korean-skincare-routine-minimalism/
- (ชัษณุชา ตุ๊เสงี่ยม, สัมภาษณ์, 12 สิงหาคม 2565)
- ทักษอร ภุชงประเวศ, ความคลั่งผิวขาวในสังคมไทย (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558), หน้า 2-22.
- ไม่ระบุผู้เขียน.(ม.ป.ท.). ค่า pH คืออะไร. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2565, จาก https://sebamedthai.com/ph5-5/
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. มูลนิธิวิกิมีเดีย. อัปเดต 12 สิงหาคม 2565, 18.41 UTC. สารานุกรมออนไลน์. เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/สบู่. อินเทอร์เน็ต. เข้าถึงเมื่อ 15 สิงหาคม 2565.
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (2564). อย. เตือนอย่าใช้ครีมเถื่อน อ้างขาวใส อันตรายถึงตาย.
- สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2565, จาก https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/153277/