คนจนมีบ้านไม่ได้เหรอ?

0

คนจนมีบ้านไม่ได้เหรอ?

ถ้านิยามถึงความยากจน กลุ่มคนรวยหรือกลุ่มคนชนชั้นกลางอาจจะไม่คุ้นชินกับนิยามของคำนี้ แต่กลุ่มคนยากจนทั้งคุ้นชินในนิยามของคำนี้และรสชาติของการใช้ชีวิตแบบนั้นดี

——————————————————————————————————————–

ความยากจนคืออะไร


นิยามของความยากจนหากบอกกล่าวผ่านตัวหนังสือ ก็คงจะเป็น

“ไม่มีกิน ไม่พอกิน รายได้น้อย ไม่มีที่ทำกิน มีหนี้ ป่วย สุขภาพไม่ดี หรือพิการ…”

“ ไม่มีที่ดินทำกิน การศึกษาต่ำ ไม่มีงานทำ รายได้น้อย ขาดแคลนเงินทุนหรือทรัพย์สิน ปัญหาสุขภาพ…”

และสุดท้าย

“ ไม่พอกิน มีหนี้ ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีบ้านเป็นของตัวเองหรือสภาพบ้านไม่ดี ขาดแคลนอาหาร มีปัญหาสุขภาพเพราะไม่มีเงินรักษา …”

[สมจัย จิตสุชน 2548 (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย: TDRI)]

แต่ถึงแม้ว่าจะมีนิยามอีกกี่ความหมาย ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ลึกซึ้งเท่าคนยากจนที่ต้องใช้ชีวิตวนลูปอยู่แบบนั้นไม่รู้จบ และความยากจนไม่ได้มีที่มาแค่รายได้น้อย แต่ความยากจนทั้งน่ากลัวและหาทางแก้ไขได้ยากกว่านั้นมาก มากจนกลุ่มคนชนชั้นกลางหรือคนรวยคาดไม่ถึง แล้วคาดไม่ถึงยังไงน่ะเหรอ ก็จนแล้วเข้าถึงการศึกษาได้อย่างจำกัด จนแล้วตายเร็ว จนแล้วไม่มีที่อยู่อาศัย และที่อยู่อาศัยนี่แหละ คือสิ่งที่เป็นปัญหาหลักของคนยากจน

——————————————————————————————————————–

จนแล้วไม่มีที่อยู่

ที่อยู่อาศัยก็จัดอยู่ในปัจจัย 4 ที่มนุษย์ทุกคนต้องการ และการจะมีที่อยู่อาศัยสำหรับคนยากจนมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อไม่มีความเท่าเทียมทางสังคม ทั้งค่าแรงงานรายวัน สวัสดิการต่างๆของทางรัฐ รวมถึงโอกาสในการใช้ชีวิต ดังนั้นในสายตาของกลุ่มคนรวยหรือคนชนชั้นกลางจึงมองว่าคนยากจนเป็นสังคนที่เสื่อมโทรม และเป็นปัญหาของสังคมเพิ่มบล็อก

“อาจจะฟังดูโหดร้ายไปเสียหน่อย แต่การมองโลกของคนจนผ่านเลนส์สายตาของคนรายได้ปกติอย่างพวกเรานั้น เป็นการมองปัญหาจากหอคอยงาช้างที่ไม่ได้เข้าใจถึงปัญหาและบริบทโลกของคนจนจริงๆ”

[หนังสือ เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economic)]

ผู้คนเหล่านี้จึงหาทางออกด้วยการอยู่อาศัยรวมกันในชุมชนแออัด เช่าพื้นที่อยู่หรือบุกรุกพื้นที่สาธารณะ แต่ก็แลกมาด้วยการที่จะต้องอยู่ภายใต้สังคมที่ไม่ปลอดภัยเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของมลภาวะที่ย่ำแย่ การทิ้งขยะมูลฝอย น้ำเน่าขัง หรือแม้แต่การก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างรุนแรง เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาแหล่งมั่วสุม และปัญหาอาชญากรรมเพิ่มบล็อก

“ บุกรุกแล้วไม่สร้างปัญหาก็ดี แต่บุกรุกแล้วสร้างปัญหาก็ยิ่งแย่ ”

——————————————————————————————————————–

แล้วรัฐทำอะไรเพื่อคนจนบ้าง

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ image-3.png

รัฐสวัสดิการเป็นสวัสดิการที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกันและครอบคลุม จริงหรือ?

ถ้าเท่าเทียมและครอบคลุม แล้วทำไมประชาชนถึงยังต้องแย่งชิงกันเหมือนของแจกฟรีที่ใครเร็วก็ได้ไป จำนวนเงินที่ได้ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายรายเดือน และปัญหาช่องว่างสวัสดิการของประเทศไทยที่ภาครัฐยังไม่เล็งเห็นหรือเห็นแล้วแต่ก็ปล่อยเลยตามเลย อันดับแรกยกให้ในเรื่องของข้อจำกัดในการเข้าถึง เป็นสิ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะเป็นความจริงอย่างที่สุด

ข้อจำกัดในการเข้าถึง จำกัดการรับรู้ข่าวสารสวัสดิการ รวมถึงขั้นตอนต่างๆ อย่างการดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อลงทะเบียน และการตรวจสอบสิทธิต้องใช้อินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟน กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้จึงอาจจะไม่รับรู้ข่าวสาร หรือไม่สามารถลงทะเบียนได้แม้ว่าจะมีหน่วยงานรับลงทะเบียนก็ตาม กลุ่มคนเหล่านี้จึงตกหล่นจากการได้รับสวัสดิการ นอกจากนี้การลงทะเบียนยังต้องใช้เอกสารหลายฉบับ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หากไม่มีเอกสารเหล่านี้ก็จะไม่สามารถลงทะเบียนได้ ยกตัวอย่างได้จากที่กล่าวมาข้างต้น คนยากจนที่ต้องเช่าพื้นที่อยู่อาศัยหรืออาศัยพื้นที่สาธารณะอยู่ก็จะไม่สามารถรับสวัสดิการนี้ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากไม่มีเอกสารเหล่านั้นในการรองรับ

แต่ถึงแม้ว่าจะได้รับเงินจากสวัสดิการแล้ว ก็ยังคงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เฉลี่ยการใช้รายจ่ายในแต่ละเดือน อยู่ที่ 2,763 บาท/คน/เดือน นั่นหมายความว่าถ้าจะใช้ชีวิตให้อยู่ได้ 1 เดือนในประเทศไทยต้องใช้เงินประมาณ 3,000 บาท แต่เงินที่ได้จากสวัสดิการกลับมีน้อยกว่ามาก เช่น ผู้พิการได้รับเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท/เดือน ส่วนผู้สูงอายุได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเริ่มต้นที่ 600 บาท/เดือน เงินที่ได้จากสวัสดิการจึงยังไม่เพียงพอต่อการใช้ในชีวิตจริง

รัฐยังมีอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนที่พักอาศัยให้คนยากจน ที่ทุกคนอาจจะลืมกันไปแล้วว่ามีโครงการนี้อยู่ นั่นก็คือโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ไม่แน่ใจว่าสร้างโครงการนี้มาเพื่อแก้ปัญหาคนยากจนไม่มีที่อยู่จริงหรือเปล่า เป้าหมายโครงการบ้านเอื้ออาทร คือการสร้างบ้านให้กับประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1 ล้านหลัง มีทั้งคอนโด บ้านเดี่ยว บ้านแถว และบ้านแฝด ราคาอยู่ในช่วง 400,000 ถึง 700,000 บาท ตั้งหลักเกณฑ์ให้กับผู้มีรายได้ครัวเรือนเดือนละไม่เกิน 10,000 ถึง 15,000 บาท อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะได้คำตอบแล้วว่าโครงการนี้คนยากจนไม่มีทางซื้อหรือเช่าได้แน่นอน รายได้รายวันแค่ใช้จ่ายยังไม่พอ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนจ่ายในแต่ละเดือน การนำโครงการบ้านเอื้ออาทรไปปฏิบัติจึงมีแต่ปัญหา คนยากจนมีรายได้น้อยไม่มีโอกาสที่จะซื้อได้เพราะว่าธนาคารที่ทำการปล่อยกู้กำหนดคุณสมบัติของผู้ซื้อมากจนเกินไป คนที่จะสามารถซื้อได้ก็ยังเป็นคนชนชั้นกลางหรือคนรวยอยู่ดี

ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการหรือโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อคนยากจน สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนได้ทุกด้าน พวกเขาก็ยังคงต้องดิ้นรนเอาตัวรอดอยู่ในสังคมที่ไม่เท่าเทียมแบบนี้ต่อไป หากยังไม่เห็นภาพว่าพวกเขาต้องดิ้นรนอย่างไรบ้าง จึงขอยกตัวอย่างกรณีการโดนไล่ที่ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ข้างวัดป่าแดงมหาวิหาร ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านบริเวณนั้น พบว่าเจ้าอาวาสวัดป่าแดงได้มีการจ้างทนายไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ของวัด ถึงแม้ว่าจะเป็นการเช่าพื้นที่อยู่อาศัยและชาวบ้านก็ได้มีการปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยมาเป็นเวลานานแล้ว โดยทางเจ้าอาวาสได้ให้เหตุผลในการไล่ที่ชาวบ้านว่า เพียงเพื่อจะนำพื้นที่ไปปรับหน้าดิน

“ตอนแรกเจ้าอาวาสบอกว่าขอกั้นเขตชุมชนกับวัด แล้วยังไงไม่รู้เจ้าอาวาสบอกว่าทางกรรมการเถรสมาคมเขาสั่งมาให้ไล่ชาวบ้านออก แล้วเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ได้มีการขึ้นไปถามเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสบอกว่าเขาเป็นคนไล่เอง เขาเป็นคนดำเนินเรื่องไปขอทางเถรสมาคมให้ชาวบ้านออกไปเอง พอถามว่าจะเอาไปทำอะไรเขาบอกยังไม่มีแพลนจะทำอะไร ให้ชาวบ้านออกเฉยๆ ปรับหน้าดิน สัญญาตามจริงเขาทำให้เรา 5 ปี ปี 61 ถึง วันที่ 14 มีนา 66 พอปี 64 หมด ปี 65 เขาไม่ต่อสัญญาให้เรา เขาก็ไล่ๆเรา เขาให้ออกใน 30 วันบ้าง พอ 30 วันเราไม่ออก เราก็ขึ้นไปถามว่าทำไมไม่ต่อสัญญาให้ เขาบอกว่ามีงบมาสร้างอะไรสักอย่างแต่ก็ไม่มี เจ้าอาวาสก็ตอบไม่ได้ ได้มีการไกล่เกลี่ยไป 2 รอบแล้ว เราไปไกล่เกลี่ยทางอัยการ อัยการบอกว่าถ้าจะให้ชาวบ้านออกก็ต้องหาที่อยู่ให้ชาวบ้านใหม่ ถ้าไม่งั้นชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน ทางวัดไม่มีอะไรตอบแทนสักอย่าง อ้างว่ากรมพุทธฯไล่อย่างเดียว”

ถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้ววัดมีสิทธิ์ที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ได้ เพราะจากคำนิยามการบังคับขับไล่ ว่าเป็นการถอดถอนบุคคล ครอบครัว และชุมชนอย่างถาวรหรือชั่วคราว จากบ้านหรือที่ดินที่พวกเขาครอบครอง โดยไม่มีบทบัญญัติและการเข้าถึงรูปแบบทางกฎหมายหรือการคุ้มครองอื่นๆ ที่เหมาะสม ชาวบ้านต้องส่งมอบพื้นที่คืนให้กับวัดผู้ให้เช่า แต่ถ้าหากเราปรับเปลี่ยนวิธีจากการไล่ที่มาเป็นพูดคุยไกล่เกลี่ยกัน เหตุการณ์นี้ก็คงไม่สร้างปัญหาให้กับทั้งสองฝ่ายมากถึงเพียงนี้

——————————————————————————————————————–

ไม่มีปัญหาใดที่ไม่มีทางแก้ไข

มีประโยคหนึ่งของ รศ.ดร. ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์

“รัฐควรจะกำจัดความจน ไม่ใช่ฅนจน แต่รัฐคอยแต่จะกำจัดคนจนอยู่เรื่อยเพื่อไม่ให้ใครมาเห็นความจน”

เพราะถ้าทางหน่วยงานรัฐสามารถดำเนินการได้ดีแล้ว คงจะเป็นการลดช่องว่างของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามทางด้านของการเคหะแห่งชาติได้พยายามปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ประชาชนอยู่เสมอ แต่ปรากฏว่ามักจะมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่มีรายได้ปานกลาง เช่น ข้าราชการ พ่อค้า ในการแก้ไขแต่ละครั้ง และก็ละเลยคนที่มีรายได้น้อยหรือคนยากจนไปอยู่ดี โดยทางเคหะให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการเก็บดอกผลที่ได้แน่นอน ถ้าเทียบกับคนจนอาจจะไม่ได้ทุนคืน รัฐควรจะมีการเก็บรักษาและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ดินที่เป็นระบบและได้มาตรฐานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

แต่ทั้งนี้สิ่งที่เราสามารถปฏิบัติได้เองและเป็นสิทธิ์ของเราต่อให้เป็นคนยากจน ก็คือตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนที่จะตกลงทำสัญญาเช่ากับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ หรืออย่างไร ควรตรวจสอบดูก่อนว่าพื้นที่นั้นมีการขอกั้นเขตจัดประโยชน์หรือไม่ หรือตรวจสอบว่ามีการขออนุญาตจากหน่วยงานในสังกัดสำหรับการให้เช่าพื้นที่แล้วหรือไม่ และที่สำคัญควรตรวจสอบว่าคนที่เราติดต่อขอเช่า มีสิทธิครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่เช่า เป็นผู้ให้เช่าตามกฎหมายหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นเราจ่ายค่าเช่าให้กับคนที่ไม่มีสิทธิ์ เงินก็สูญเปล่า

“ตราบใดที่ประชาชนยังไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินที่อยู่อาศัยได้ การแก้ปัญหาความยากจน คงแก้ได้ยาก”

ปัญหาทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพียงเพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อผู้ที่มีรายได้น้อยหรือคนยากจน แม้ว่าประเทศไทยจะมีระดับรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นกลับไม่ได้ถูกจัดสรรให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ก็ยังคงหวังว่าปัญหานี้จะได้รับความสนใจมากขึ้นและดำเนินการเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการจัดหาที่อยู่ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยหรือคนยากจน

ถึงตรงนี้ทุกคนคงพอทราบกันแล้วว่าความยากจนเป็นเช่นไร และคงไม่มีใครที่ปรารถนาที่จะเป็นเช่นนั้น

ผู้เขียน : ธัญนันท์ กิติธนสวัสดิ์ , ชลธิญา จิตตาคำ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *